“เพิ่มพูน-สุรศักดิ์” นั่งเสนาบดี ศธ.รอบ 2 เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเรียนดี มีความสุข ตามแนวทาง จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ต่อเนื่อง เพิ่มเติมสร้างความเท่าเทียมในการศึกษา

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังมอบนโยบายการศึกษาและแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข”ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการอีกสมัยหนึ่ง โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมาตนยึดแนวทางในการทำงาน จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ซึ่งผู้บริหารและข้าราชการทุกคนก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เพื่อให้เรื่องของการศึกษาไปสู่พี่น้องประชาชน สำหรับนโยบายการศึกษาของตนก็ยังคงเป็น เรียนดี มีความสุข คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาเพื่อการดำรงชีวิต โดยการจะมีความสุขได้ก็ต้องลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งหลายเรื่องได้ดำเนินไปแล้ว เช่น การยกเลิกครูเวร การจัดหานักการภารโรง การจัดหาอาหารกลางวันให้นักเรียนขยายโอกาส เป็นต้น

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นโยบายและแนวทางการทำงานก็ยังคงเหมือนเดิม เพราะเชื่อว่าที่ทำมาเรามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่ดีพอและไม่สมบูรณ์พอ ดังนั้นเราจะดำเนินการให้ต่อเนื่องต่อไป เช่น ลดภาระครูและบุคลากรในเรื่องวิทยฐานะจะทำอย่างไรให้มีคุณภาพมากขึ้น ตอนสนองกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาก็ต้องทำด้วยความตั้งใจจริงมุ่งมั่นในการดำเนินการ ส่วนเรื่องเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ก็ยังขับเคลื่อนต่อไปโดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดหาเพื่อให้การดำเนินการขับเคลื่อนเกิดเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาได้มีการมอบนโยบายในระดับโรงเรียนแล้วซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ทั้งนี้สิ่งที่จะต้องเน้นเป็นพิเศษ คือเรื่องการศึกษาเท่าเทียมซึ่งเป็นที่ทราบดีว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ ก็จะต้องมาดำเนินการให้เกิดความเท่าเทียมไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย รวมถึงการศึกษาตลอดชีวิตที่จะต้องทำให้มีความเท่าเทียมในการดำเนินการ หากจำเป็นต้องแก้ไขระเบียบ กฎหมาย ก็จะดำเนินการ นอกจากนี้จะเน้นเรื่องการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะ AI มาใช้ในการเรียนการสอน

“ที่สำคัญยังมีจุดเน้นเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ที่ฝากถึงผู้บริหารให้นำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมและหลักธรรมาภิบาลมาใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาตนมอบนโยบายเน้นเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แต่ปีนี้จะต้องเข้มข้นมากขึ้นโดยนำเรื่องหลักธรรมาภิบาลมาใช้ด้วย ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมก็กำชับให้ปลูกฝังเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานสะอาด และสิ่งที่ผมเน้นย้ำมาก คือ เรื่องการตรวจราชการและการตรวจเยี่ยมต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างประหยัดเรียบง่าย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมืออย่างดี ขอให้ผู้บริหารทุกคนนำไปปฏิบัติด้วย ว่าการตรวจราชการจะต้องไม่สร้างภาระให้ผู้รับการตรวจเยี่ยม ให้อยู่เฉพาะผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น ผู้ไม่เกี่ยวข้องก็ขอร้องว่าไม่ต้องมา  ไม่ปูผ้า ไม่จัดเลี้ยง ไม่ขึ้นป้ายต้อนรับ ไม่ต้องมีของฝาก ไม่ต้องมีสิ่งใดทั้งสิ้น ขอให้ตั้งใจทำงาน ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การศึกษาที่มีคุณภาพได้”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ทั้งนี้ หากให้ประเมินผลงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของตนและผู้บริหาร ศธ.  ตนให้ 100% เพราะทุกคนตั้งใจทำงานกันเต็มที่แล้ว แต่ก็จะเปิดให้ข้าราชการและประชาชนตอบแบบสอบถามร่วมประเมิน  จะได้ทราบข้อบกพร่อง เพื่อนำไปปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษาต่อไป

สวนธนฯร่วมใจ แบ่งปันรอยยิ้ม อิ่มความสุข คลายทุกข์น้ำท่วม

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี ร่วมกับสมาคมผู้ปกครองครูและศิษย์เก่าฯ ,ชมรมครูเก่าฯและเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี

ขอเชิญชวนคณะครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้มีจิตศรัทธา ร่วมบริจาคข้าวสารอาหารแห้งและเครื่องอุปโภค บริโภค เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบอุทกภัย

สามารถนำสิ่งของมาร่วมบริจาคได้ที่บริเวณป้อมยามโรงเรียน ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 20 กันยายน 2567 (ในเวลาราชการ)

กลับมาสานต่อ

หยอก หยอก วันที่ 14 กันยายน 2567 *** “ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน” การทำดีไม่ต้องคอยระแวงใคร แต่หากคดโกง ไม่สุจริต ไม่ซื่อตรง สักวันอาจจะเดือดร้อน เมื่อความจริงเปิดเผย *** หยอก หยอก วันนี้ ขอต้อนรับการกลับมาของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อีกครั้ง … หวังว่ามารอบนี้จะได้เห็นอะไรดี ๆ เกิดขึ้น ที่..วังจันทร์เกษม *** การแถลงนโยบายรัฐบาล “อิ๊ง 1” กรอบใหญ่ด้านการศึกษา คือ ให้ความสำคัญการศึกษาตลอดชีวิต,ช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา,โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน,ลดความเหลื่อมล้ำส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn) ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัด การศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงาน ในอนาคตและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)และ ยังพูดถึงเรื่องคุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ 64.7 คะแนน การวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปี นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน นี่ก็คือ กรอบใหญ่ ๆ ของรัฐบาลที่วางไว้ให้กระทรวงศึกษาธิการเดิน ซึ่งต้องมาคลี่ให้เป็นนโยบายอีกครั้ง *** เกือบ 1 ปีที่ผ่านมา การบริหารภายใต้การนำของ “เสมา1” พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ก็ไม่ได้ขี้เหร่ เพราะได้เรียนรู้การบริหารงานด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี … แต่ทว่าการบริหารหลังบ้านก็มีแต่เรื่องร้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977)จำกัด ฟ้องว่าไม่ดำเนินการตาม TOR กระดาษผิดสเปก และการบอกเลิกสัญญาบางส่วนฯ ซึ่งเป็นที่มาของการฟ้องร้อง และแถมมีเรื่องฟ้องหมิ่นประมาทต่อศาลอาญาโดยจะไต่สวนมูลฟ้องกันในวันที่ 30 กันยายน นี้ … เรื่องนี้ก็คงไม่จบลงง่าย ๆ *** เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายผู้บริหารของกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ที่บอกว่าผู้ใหญ่ขอมาก็คงหนีไม่พ้นข้อครหาว่า “ผู้ใหญ่”ท่านนั้นคือใคร? ตัวจริงหรือตัวปลอม หรือ ไอ้โม่งที่ไหน คนรับและคนทำคำสั่งย่อมรู้แก่ใจ…ถึงตอนนี้ได้ข่าวว่า ผอ.สกร.จังหวัด ที่ได้รับผลกระทบได้ทำหนังสือร้องทุกข์ไปยัง อ.ก.ค.ศ. กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้ทบทวนมติ ร้องทุกข์ต่อ ก.ค.ศ. ร้องเรียนต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ร้องเรียนต่อ ป.ป.ช. และจะดำเนินคดีปกครอง และดำเนินคดีอาญาต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบ ในกรณี อธิบดี และ อ.ก.ค.ศ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 *** เรื่องการสอบ และโยกย้าย ต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะว่าไปเปิดโปงกันบ้างก็ดี ไม่ว่าการสอบเป็นพนักงานราชการ สอบครูผู้ช่วย หรือสอบอะไรก็ตาม รวมถึงการโยกย้ายผู้บริหารสถานศึกษา ก็มีเสียงมากระซิบข้างหูว่า มีผู้ใหญ่ขอให้เขตพื้นที่การศึกษาบางเขตแก้ไขคะแนนวิสัยทัศน์ เพื่อให้คนของตัวเองย้ายไปอยู่โรงเรียนขนาดใหญ่ เรื่องนี้ “เสมา1”รู้หรือยัง…ทำอะไรกันก็อย่าคิดว่าไม่มีใครรู้..จุ๊จุ๊..จิ๊งจกมันเยอะ *** ส่วนเรื่องดราม่าสอบพนักงานราชการ ตำแหน่ง ครูผู้สอน ของ สพม.สระแก้ว ที่การประกาศรายชื่อผู้สอบได้ลำดับที่ 1 น.ส.เบญญาภา เย็นอุดม หายไปจากบัญชีเมื่อมีการประกาศรายชื่อครั้งที่ 2 จากที่ได้อันดับ 1 ในการประกาศครั้งแรกกลับไม่ปรากฏชื่อในการแก้ไขประกาศแม้แต่สำรองก็ยังไม่ติด เรื่องนี้ใครไม่คิดบ้างว่าเกิดอะไรในกอไผ่? เฮ้ออ..ตลกแท้ยุคนี้ ไม่เนียนจริง ๆ … สังคมรอดูอยู่ใครจะรับผิดชอบยังไง *** วันก่อนมีคนเห็นเงาคุ้น ๆ ที่เคยเห็นเข้า ๆ ออก ๆ มาจัดอีเว้นท์ให้นายใหญ่ยุคก่อนเดินตามคนสำคัญท่านหนึ่ง นี่ถ้าเป็นไปอย่างที่คิด เจ้าหน้าที่งานพัสดุคงต้องเหนื่อยอีกรอบ เพราะครั้งก่อนก็พากันแทบกะอักเลือด…555 ***และท้ายสุดก็ยังมีคนเป็นห่วงเรื่องการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอน ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่หนีไม่พ้นอยู่แล้ว เพียงแต่จะทำอย่างไรให้ผู้ใช้เป็นฝ่ายควบคุมและใช้งานเทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ผู้ใช้ถูกควบคุม สั่งการโดยเทคโนโลยี งบประมาณหลายพันล้านที่จะทุ่มลงไปกับเรื่องของเทคโนโลยีการเรียนการสอน การจัดหาอุปกรณ์อย่างแท็บเล็ตหรือโน้ตบุคจะต้องใช้อย่างคุ้มค่าเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญอย่าลืมเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม ที่เทคโนโลยีมันคิดและสั่งการเองไม่ได้ … แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว ..  แต่ที่แน่ ๆ การเรียนด้วยการลงมือปฏิบัติแบบ Active Learning ช่วยได้ ***

อย่าเชื่อ! ศธ.เตือนภัยนักเรียนหลังพบการหลอกลวงทางออนไลน์ แอบอ้างเป็นครูแนะแนวเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและทำธุรกรรมทางการเงิน

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งเหตุการณ์นักเรียนถูกหลอกลวงทางออนไลน์ เหตุเกิดในคืนวันที่ 11 กันยายน 2567 เวลาประมาณ 23.41 น.ผู้หลอกลวงได้สร้างบัญชีปลอมและใช้รูปโปรไฟล์ของครูแนะแนว ทำการติดต่อกับนักเรียนทางแอปพลิเคชันไลน์ Open Chat กลุ่มแนะแนวศึกษาต่อของนักเรียน ม.6 โดยแจ้งว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการยืนยันสถานะบัญชีของกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และขอให้นักเรียนส่งข้อมูลส่วนตัว อาทิ ชื่อ-นามสกุล สถานะบัญชีในแอปพลิเคชัน กยศ. และข้อมูลทางการเงินอื่น ๆ เพื่อทำการแก้ไขปัญหา และอ้างเหตุผลว่านักเรียนมีปัญหาในการยืนยันบัญชีทางการเงิน ทำให้เด็กหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนตัว เลขบัญชีธนาคาร ข้อมูลบัตรเครดิต และรหัส OTP ผ่านทางลิงค์ที่ผู้แอบอ้างส่งมา ทำให้เงินในบัญชีธนาคารของเด็กถูกโอนออกไปยังบัญชี ShopeePay (Thailand) เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,600 บาท

ทั้งนี้ ครูแนะแนวของโรงเรียนได้ทำการตรวจสอบและยืนยันว่า บัญชีผู้ใช้ที่ติดต่อกับนักเรียนไม่ใช่ของครูแนะแนวตัวจริง และครูไม่เคยมีการติดต่อขอให้นักเรียนทำธุรกรรมทางการเงินแต่อย่างใด และเรียกประชุมนักเรียนที่กู้ยืมเงิน กยศ. เพื่อชี้แจงและเตือนภัยเกี่ยวกับการหลอกลวงทางการเงินออนไลน์ทันที พร้อมทั้งขอให้นักเรียนระมัดระวังในการส่งข้อมูลส่วนตัวและการทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลที่ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง

โฆษกกระทรวงศึกษาธิการได้ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียนในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในโลกจริงหรือโลกออนไลน์ รวมทั้งตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับนักเรียนและครูแนะแนวจากการถูกแอบอ้างโดยมิจฉาชีพที่แฝงตัวมาในรูปแบบต่าง ๆ จึงขอความร่วมมือให้ผู้ปกครอง นักเรียน และครู ปฏิบัติตามหลักป้องกันภัยออนไลน์ อย่างเคร่งครัด ดังนี้

1. ระมัดระวังในการส่งข้อมูลส่วนตัวหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินหลีกเลี่ยงการส่งข้อมูลผ่านทางช่องทางออนไลน์ที่ไม่ได้รับการยืนยัน และควรติดต่อกับผู้รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น
2. ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนทำธุรกรรม หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการติดต่อที่อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่หรือครู ให้สอบถามหรือปรึกษากับทางโรงเรียนโดยตรง
3. อย่าหลงเชื่อผู้ที่ติดต่อมาขอข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินโดยไม่ได้รับการยืนยันตัวตน โดยเฉพาะในกรณีที่อ้างถึงการยืนยันข้อมูลการกู้ยืมเงิน กยศ. ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบทางธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ไม่ส่งข้อมูลบัตรเครดิต รหัส OTP หรือข้อมูลการเงินผ่านลิงค์ที่ไม่รู้จัก เพราะอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินในบัญชีหรือการถูกหลอกลวง

“จากกรณีดังกล่าวพบว่ามิจฉาชีพปลอมบัญชีครูแนะแนว ติดต่อขอข้อมูลของนักเรียนในช่วงกลางดึก ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่เวลาที่จะมาขอข้อมูลกัน และหากเกิดปัญหาเอกสารต่าง ๆ นักเรียนควรไปพบครูแนะแนวที่โรงเรียนโดยตรงจะปลอดภัยที่สุด แต่ด้วยความไม่เท่าทันกลโกงจึงทำให้ถูกหลอกไปได้ อย่างไรก็ตามกระทรวงศึกษาธิการยืนยันจะปกป้องนักเรียนไม่ให้ถูกหลอกอีกไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม และจากนี้จะหารือกับกองทุน กยศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงทางออนไลน์ในอนาคต เพื่อปกป้องนักเรียน ครู และบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากมิจฉาชีพ และสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของการทำธุรกรรมทางการเงินในระบบการศึกษา” นายสิริพงศ์ กล่าว

 

“เสมา 1” นำทีมผู้บริหาร ศธ.ลงพื้นที่มอบถุงยังชีพนักเรียน-ครู-บุคลากรประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย

วันที่ 14 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ร่วมคณะผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัย ให้กำลังใจ และมอบถุงยังชีพแก่ครู บุคลากร และนักเรียน นักศึกษาที่ประสบอุทกภัย โดยว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ผู้บริหาร ศธ.ได้แบ่งสายการตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพ ประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค และอาหารแห้ง กระจายไปในหลายๆ จุดที่ประสบอุทกภัย ซึ่งที่โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ) สังกัด สพฐ. เป็นจุดหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งนี้ โดยกระแสน้ำได้ไหลเข้ามาท่วมโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน ในช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำความสูงประมาณ 1.5 เมตร ทางโรงเรียนได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน โดยเร่งอพยพนักเรียนออกจากพื้นที่โรงเรียนและชุมชน ตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงช่วงค่ำ โดยใช้เรือในการลำเลียงนักเรียนออกจากพื้นที่จนปลอดภัยครบทุกคน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการความปลอดภัยที่ สพฐ. ได้กำชับไว้ และการสำรวจความเสียหายเบื้งต้น พบว่า ตัวคานและทรัพย์สินที่อยู่ภายในชั้น 1 ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการติดตามสถานการณ์ของสถานศึกษาที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย พบว่า มีสถานศึกษาหลายแห่งได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยตนได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) สำรวจโรงเรียนในเขตพื้นที่ฯที่รับผิดชอบ โดยดูแลช่วยเหลือในเบื้องต้น และจัดทำแผนบูรณะฟื้นฟู เพื่อดำเนินการได้อย่างรวดเร็วหลังน้ำลด และให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน เป็นประโยชน์ต่อนักเรียน และที่สำคัญต้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องใกล้ชิด เป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบ เพราะมีพยากรณ์อากาศว่า จะมีพายุเข้ามาอีก ซึ่งอาจจะเกิดเหตุน้ำท่วมซ้ำได้ และขอเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ และให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สพฐ. ได้รายงานสถานการณ์สถานศึกษาในสังกัดที่ประสบเหตุอุทกภัยทั่วประเทศ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 14 กันยายน 2567 มีสถานศึกษาใน 25 จังหวัดได้รับผลกระทบ จำนวน 368 โรงเรียน 41 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยจังหวัดเชียงรายมีสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 6 แห่ง มีจำนวนผู้ประสบเหตุอุทกภัย ทั้งสิ้น 16,067 คน จำแนกเป็น นักเรียน จำนวน 14,671 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 5,249 คน และ ครู-บุคลากร จำนวน 1,396 คน ได้รับการเยียวยาแล้ว จำนวน 864 คน ส่วนที่เหลือ 9,954 คนอยู่ระหว่างดำเนินการ เยียวยา” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว

ทั้งนี้ ขอขอบคุณภาครัฐและเอกชนในจังหวัดเชียงราย ที่ให้การสนับสนุนถุงยังชีพ ให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) เชียงรายเขต 1 จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนผาขวางวิทยา โรงเรียนบ้านห้วยทรายขาว โรงเรียนบ้านน้ำลัด โรงเรียนบ้านผาเสริฐ โรงเรียนบ้านเวียงกือนา และโรงเรียนบ้านป่ายางหลวง โรงเรียนบ้านเวียงกือนา และโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย (โรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค )

สพฐ. ปรับโฉมประชุม ผอ.เขตพื้นที่ฯ เปิดโอกาสให้นำเสนอผลงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน “สรุศักดิ์”ชื่นชมเปิดมุมมองผู้บริหาร พร้อมประกาศกลับมาคราวนี้สานต่อนโยบายต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั่วประเทศ ณ ศูนย์ประชุม NICE สวนนงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายธวัชชัย ศรีทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวต้อนรับ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นายพัฒนะ พัฒนทวีดล และ ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ.  ดร.ภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง และนายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.  ผอ.และรอง ผอ.สพท. ทั้ง 245 เขตทั่วประเทศ ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ 77 จังหวัด ผู้อำนวยการสำนักและบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมกว่า 1,000 คน
.
นายสุรศักดิ์  กล่าวว่า ตามที่ทุกท่านได้รับทราบแล้วว่า ได้มีพระบรมราชโองการ ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงศึกษาธิการมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผม เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่ง ที่พวกเราจะได้สานต่อนโยบายการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2567 จะเห็นได้ว่า รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งในงานด้านการศึกษาของประเทศ เพราะ “ทุนมนุษย์ เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจะเร่งส่งเสริม ผลักดัน ให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ” โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้

1. การจัดสรรสวัสดิการ ด้านการศึกษา สาธารณสุขและสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน
2. ส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ ของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม
3. เด็กไทยทุกคน จะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือ ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล
4. ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพ ทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา
5. พัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระและลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ
6. ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษา โดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริง เพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn)
7. ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชน ในการจัดการศึกษาทุกระดับ
8. เฟ้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ที่หลุดจากระบบการศึกษา
9. ส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษา และอุดมศึกษา เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต และรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

“นอกจากนโยบายการจัดการศึกษาแล้ว ยังให้ความสำคัญในเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยในส่วนของเด็กนักเรียน เราควรมุ่งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยธรรมชาติ และปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ และนอกจากภัยดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ ยังประสบกับอุทกภัยอย่างหนัก โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน  ได้ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องชาวภาคเหนือทุกท่าน รวมถึงในจังหวัดอื่น ๆ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัยอยู่ในขณะนี้ และได้ฝากให้ สพฐ. เร่งดูแลและให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วนต่อไป ทั้งนี้ ขอชื่นชมกับการจัดกิจกรรมครั้งนี้ที่ปรับโฉมใหม่ เน้นการนำเสนอผลงานให้เห็นประจักษ์ เพราะจะทำให้ผู้บริหารได้มุมมอง แนวคิด วิธีการบริหารงานด้านการศึกษาที่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น สามารถนำไปบูรณาการ และปรับใช้ตามบริบทในเชิงพื้นที่ต่อไป” รมช.ศึกษาธิการกล่าว


ด้าน ดร.เกศทิพย์  กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กำหนดให้การจัดกิจกรรมในการประชุมฯ ตลอดช่วงระยะเวลา 3 วันนี้ (14-16 กันยายน 2567) ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้แทนสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ได้นำเสนอผลงานการบริหารจัดการองค์กร หรือผลงานที่ภาคภูมิใจที่ประสบผลสำเร็จในการนำนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และนโยบายของ สพฐ. ไปขับเคลื่อนในพื้นที่จนประสบผลสำเร็จและเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการ 5W1H คือ Who What When Where Why และ How นอกจากนี้ จะมีการแจ้งข้อราชการสำคัญ และเตรียมการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะจากกลุ่มพื้นที่ประจำเขตตรวจราชการ ทั้ง 18 เขตตรวจฯ (245 เขตพื้นที่การศึกษา) และสถานศึกษาสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายและจุดเน้น นโยบายระยะเร่งด่วน ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ต่อไป

“การปรับโฉมใหม่ในครั้งนี้ เราจะแบ่งห้องนำเสนอตามภาค จำนวน 5 ห้อง เพื่อให้ทุกเขตนำเสนอครบทุกคนในวันที่ 14 กันยายน 2567 จากนั้นแต่ละภาคจะคัดเลือกผู้แทนภาคที่นำเสนอผลงานได้ยอดเยี่ยมภาคละ 3 คน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวน 5 คน เพราะมีเขตพื้นที่เป็นจำนวนมากกว่าภาคอื่นๆ เพื่อมานำเสนอผลงานต่อห้องประชุมใหญ่ในวันที่ 15 กันยายน 2567 ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ว่าบริบทแต่ละเขตพื้นที่การศึกษา มีวิธีการ มีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้เขตพื้นที่การศึกษาอื่นๆ ได้เห็นวิธีการ แนวทาง และนำไปบูรณาการปรับใช้กับเขตพื้นที่ฯ ของตนเองได้ นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้ ผอ.สพท. และรอง ผอ.สพท. ทั่วประเทศ ได้นำเสนอสิ่งที่ได้รับจากการประชุมสัมมนาด้วย ฉะนั้น การประชุมครั้งนี้ไม่ใช่แค่การมานั่งฟังนโยบาย แล้วรับนโยบายไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมนำเสนอผลงานของเขตพื้นที่ฯ ที่ตนเองรับผิดชอบ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายลงสู่พื้นที่มีประสิทธิภาพเห็นผลเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ทำไมต้องเป็นการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps … ที่นี่มีคำตอบ

แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา (ฉบับปรับปรุง) ที่ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ได้กำหนดเป้าหมายคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของกลุ่มผู้เรียนแต่ละช่วงวัย โดยมีกิจกรรมปฏิรูปที่เหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาให้เกิดศักยภาพสมวัย โดยสิ่งที่พ่อ แม่ และผู้ปกครอง ควรรับรู้ว่าเป้าหมายศักยภาพของบุตรหลานในแต่ละช่วงวัย หรือ ระดับ ควรเป็นเช่นไร นั่นคือ

 ระดับปฐมวัย : เน้นให้เกิดความสามารถ คิดวิเคราะห์เชิงระบบ จัดประสบการณ์ พัฒนาพหุปัญญา   หมายความว่า  เด็กทุกคนจะต้องได้รับการพัฒนาจากความฉลาดที่ติดตัวมาในแต่ละด้าน ไม่เหมือนกันในแต่ละคน และเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาผ่านการจัดประสบการณ์ตรง จนบรรลุเป้าหมายเด็กเกิดความสามารถคิดวิเคราะห์เชิงระบบและแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมเดียวกัน

ส่วน ระดับประถมศึกษา :  เน้นให้จัดประสบการณ์จริงให้กับนักเรียน ให้บูรณาการการเรียนรู้ พัฒนาพหุปัญญา สร้างงาน สร้างนวัตกรรม พัฒนาไปเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นด้วยตัวของนักเรียนเอง  นั่นคือ บุตรหลานของท่านทุกคนต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริงไม่เหมือนในอดีตโดย นักเรียนต้องคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับคุณธรรม ค่านิยมที่ดี แล้วลงมือทำ แก้ปัญหา พัฒนางานตามกิจกรรมที่หลักสูตรให้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ (สมองเรียนรู้ในส่วนของความจำระยะยาว) ไม่เน้นให้สอน โดยให้นักเรียนมุ่งอ่าน ท่องจำ ทำตามตัวอย่างเพื่อเตรียมตัวสอบ ซึ่งเกิดผลเป็นความจำระยะสั้น (สมองเรียนรู้ในส่วนของความจำระยะสั้น) เมื่อนักเรียนสอบเสร็จแล้วก็ลืมไปจนหมดสิ้นอย่างรวดเร็ว จึงไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ตลอดการเรียนรู้ที่ใช้เวลามากว่า 10 ปี ซึ่งตามหลักสูตร บุตรหลานของท่านต้องได้รับการพัฒนาให้สามารถสร้างโครงงาน นวัตกรรม เพื่อนำนวัตกรรมไปช่วยยกระดับอาชีพของครอบครัวได้เลย แต่ที่ผ่านมา นักเรียนบางคน ไม่สามารถแสดงออกทั้งด้านความสามารถในการคิด และการปฏิบัติอย่างเป็นระบบได้เลย

ขณะที่  ระดับมัธยมศึกษา ทั้งตอนต้นและตอนปลาย : นักเรียนต้องมีศักยภาพในการสร้างผลผลิตจากการเรียนรู้ และต่อยอดนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริง สามารถสร้างความรู้ในระดับหลักการ เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตในพื้นฐานวิชาชีพได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ที่เชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจในชุมชน ท้องถิ่น และประเทศ โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย นักเรียนต้องสามารถสร้างความรู้จากการปฏิบัติการเชิงวิจัยในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ในระดับชุมชน เชื่อมโยงกับพหุวัฒนธรรม และบริบทของชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ และระดับสากล  หมายความว่า นักเรียนที่เรียนจบระดับมัธยมศึกษาทั้งตอนต้นและตอนปลาย ต้องมีความสามารถและศักยภาพในการสร้างผลผลิต หรือผลิตภัณฑ์ที่ผ่านกระบวนการวิจัยในระดับสูง และผลที่เกิดต้องเป็นผลผลิตในระดับนวัตกรรม ที่เชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ พหุวัฒนธรรมในระดับชุมชน ท้องถิ่น ภูมิภาค  ระดับประเทศ และระดับสากล

และการที่ผู้เรียนจะไปถึงเป้าหมายอันพึงประสงค์ในของแต่ละช่วงวัยได้นั้น การเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps คือ ทางออก เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์ วิจัย แล้วลงมือปฏิบัติ นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน และพัฒนาจนเกิดเป็นนวัตกรรม ซึ่งสิ่งที่ได้ นอจากองค์ความรู้และวิธีคิดที่จะติดตัวเด็กไปแบบไม่มีวันลืม ที่สำคัญผู้เรียนจะเป็นคนที่คิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นเป็นตอน สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรม สามารถนำไปต่อยอด พัฒนา เพื่อสร้างรายได้ของครอบครัว พัฒนาชุมชน สังคม ประเทศ และระดับสากลได้ มันแมสมาก แต่คำถาม คือ วันนี้บุตรหลานของท่านได้รับการพัฒนาให้เกิดศักยภาพตามช่วงวัยแล้วหรือยัง ?

 

“ธนุ” ส่งหนังสือด่วนจี๋ถึงสพท.ทั่วประเทศ ย้ำอีกครั้งสถานศึกษาทุกแห่งต้องลดภาระการประเมินและเลื่อนเงินเดือนครู

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด  ที่ ศธ 04003/836  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เรรื่องการลดภาระการประเมินผลการปฏิบัติงานและเลื่อนเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปถึง ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต  เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงเวลาของการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปีของข้าราชการครูฯครั้งที่ 2 ( 1ตุลาคม 2567) แต่ปรากฎว่าบางสถานศึกษายังคงต้องจัดนิทรรศการ รวมถึงมีการจัดทำข้อมูลเป็นเอกสาร เพื่อใช้ในการประเมินจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการลดภาระการประเมินผลการปฏิบัติงานและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงเป็นไปตามประกาศมาตรการลดการรายงานของสถานศึกษา และลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ตามแนวทาง 6ล ของ สพฐ. จึงขอให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) มีการตรวจสอบ เน้นย้ำ และกำชับสถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการ ดังนี้

1. งดการจัดนิทรรศการ ลดปริมาณเอกสาร และการจัดทำข้อมูลผลงานที่เป็นรูปเล่มผลงานเพื่อรองรับการประเมินผลการปฏิบัติงานและเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกตำแหน่ง

2. รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีการประเมินจากการจัดการเรียนการสอนจากบริบทจริงในห้องเรียนโดยไม่เพิ่มภาระครู การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศในระบบออนไลน์ เพื่อประกอบการประเมินและนำเสนอผลงาน เช่น การนำเสนอผลงานด้วย Google site, แอปพลิเคชัน Padlet, แอปพลิเคชัน Canva การรวบรวมและจัดส่งผลงานผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ของ google และการจัดทำผลงานในรูปแบบ E-book เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอความอนุเคราะห์ให้ สพท. เน้นย้ำ กำชับ และตรวจสอบการดำเนินการของสถานศึกษาทุกแห่ง ให้ดำเนินการตามมาตรการฯ และแนวทางในการลดภาระการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา อย่างเคร่งครัดต่อไป

โฆษก ศธ.ยืนยัน ศธ.พร้อมเยียวยาผู้เสียหาย สอบครู สพม.สระแก้ว วอนอย่าด่วนตัดสินใครผิด ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีการสอบบรรจุพนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) จังหวัดสระแก้ว ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากสาธารณชนอย่างกว้างขวาง กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญต่อกรณีนี้เป็นอย่างมาก และได้กำชับให้มีการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา ไม่ปกป้องใคร และยึดหลักความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด พร้อมเน้นย้ำถึงความตั้งใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้น เพื่อพิจารณาและตรวจสอบทุกประเด็นที่เกี่ยวข้อง

“ยืนยันว่า กระทรวงศึกษาธิการจะทำงานอย่างโปร่งใส หากพบว่ามีการกระทำที่ผิดพลาดหรือมีการทุจริตเกิดขึ้นจริง ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกดำเนินการลงโทษตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ได้กำชับให้คณะกรรมการสอบสวนฯ ทำงานอย่างรอบคอบและตรวจสอบทุกขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อไม่ให้มีการละเลยรายละเอียดใด ๆ นอกจากนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ได้ให้ความสำคัญในการดูแลผู้เสียหาย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเยียวยาและหาทางออกที่เหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างเร่งด่วนที่สุด พร้อมยืนยันว่าจะไม่ทอดทิ้งผู้เสียหาย และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง”นายสิริพงศ์ กล่าวและว่า ขอให้สังคมและสื่อมวลชนช่วยกันตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ และอย่าเพิ่งด่วนสรุปว่ามีการใช้วิธีแทรกแซงหรือทุจริตใด ๆ ในการประกาศรายชื่อรอบใหม่

โฆษก ศธ. กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับนามสกุลของผู้สอบที่ตรงกับนามสกุลของผู้อำนวยการโรงเรียนในจังหวัดใกล้เคียง อาจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบครั้งนี้ เนื่องจากเป็นคนละเขตพื้นที่ฯ ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบซึ่งจะดำเนินการอย่างละเอียด โปร่งใส เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นสะท้อนถึงความเป็นธรรม และความชัดเจนในทุกประเด็น ขอยืนยันว่าเราจะไม่เข้าข้างคนผิด และหากมีการกระทำที่ไม่โปร่งใสเกิดขึ้นจริง ผู้กระทำความผิดจะต้องได้รับการลงโทษตามนโยบายของกระทรวงที่เน้นความยุติธรรมและโปร่งใส เราจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการตรวจสอบและการแก้ไขปัญหานี้ และจะแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง

สพฐ.ส่งนิติกรหาความจริงที่ สพม.สระแก้ว ยืนยันให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวถึงกรณีการประกาศผลการสรรหาและเลือกสรรพนักงานราชการตำแหน่งครูผู้สอนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) สระแก้ว ที่มีความผิดพลาดว่า ขณะนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงแล้ว โดยวันนี้นิติกรจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ลงพื้นที่ที่ สพม.สระแก้ว ตรวจสอบที่มาที่ไปว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ซึ่งจะต้องสรุปผลภายใน 7 วัน เพราะเป็นเรื่องที่สังคมกำลังจับตา และเป็นอนาคตของคนคนหนึ่ง เขตพื้นที่มาบอกเพียงว่าเป็นความผิดพลาด เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ตั้งใหม่ไม่มีประสบการณ์ไม่ได้

พล...เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วและกำชับให้สพฐ. ดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามยอมรับว่า เรื่องนี้มีความน่าสงสัยหลายประเด็น ก็ต้องรอผลการสืบสวนก่อน  ซึ่งสพฐ.ยืนยันจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเลขาธิการกพฐ. กล่าว