เบญญาภา เย็นอุดม”เปิดใจ” ขอความเป็นธรรม ชื่อหายไปไหน สพม.สระแก้วทำพลาดจริงหรือ?

เมื่อคืนนี้ น.ส.เบญญาภา เย็นอุดม ได้ออกมาโพสต์ Facebook ร้องขอความเป็นธรรมอีกครั้งว่า“ทำไมถึงเป็นแบบนี้ ความหวังของพ่อแม่หายไปหมดแล้ว”โดยระบายความในใจและเขียนรายละเอียด ว่า เมื่อวันที่7 กันยายน 2567 ได้เดินทางเป็นร้อยๆกิโลจากอยุธยาที่ทำงานอยู่  แบกความหวังจะกลับไปดูแลพ่อแม่ที่บ้านสระแก้ว  ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ  นอนดึกทุกคืน   เพื่ออนาคตของตัวเอง  จนถึงวันประกาศผล   น้ำตาแห่งความดีใจ  ความภูมิใจ   แบกความหวังที่หนัก  วิ่งกอดพ่อกับแม่แบบดีใจสุดขีด  #ฉันสอบติดพนักงานราชการทั่วไปอันดับที่1 เอกวิทยาศาสตร์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)สระแก้ว ความตั้งใจของฉัน  ฉันทำได้  ได้กลับมาดูแลคนแก่ที่บ้าน  ลาออกจากที่ทำงาน   เก็บของใช้  คืนหอพัก เตรียมตัวกลับบ้าน  สัปดาห์นี้แล้ว แต่อยู่ดีๆรายชื่ออันดับ1ของฉันหายไป เกิดอะไรขึ้น โทรไปถามทางต้นสังกัดได้รับแค่คำขอโทษ ไม่ได้รับคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้นแล้วฉันต้องทำยังไงต่อไปความรู้สึกของพ่อแม่ฉันใครจะเยียวยา เคว้งไปหมดเลยตอนนี้  เสียใจสุดๆ ขอความเป็นธรรมให้ด้วยค่ะ  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสระแก้ว

ส่วนผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ก็ตอบคำถามเรื่องนี้กับสื่อดังฉบับหนึ่งว่า” ต้องรอผลการตรวจสอบข้อมูลก่อน แต่เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ เพราะตำแหน่งพนักงานราชการ แต่ละเขตพื้นที่ฯจะรับเพียง1-2 ตำแหน่งเท่านั้น แต่ทั้งหมดต้องรอผลการตรวจสอบข้อมูล ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เป็นคำตอบที่เป็นมาตรฐานจริง ๆ

สพฐ.ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดน้ำท่วมภาคเหนือ-อีสาน ผอ.เขต-ผอ.โรงเรียนตัดสินใจได้เลยไม่ต้องรอสั่งการ

วันที่ 12 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมติดตามสถานการณ์เหตุอุทกภัยในเขตพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินการช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย จากผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับผลกระทบและต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อุทกภัย ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และ จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง 8 จังหวัด โดยมีผู้บริหารและผู้อำนวยการสำนักของ สพฐ. เข้าร่วมประชุม อาทิ นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผอ.สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ นายตฤณ ก้านดอกไม้ ผอ.ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. นางสาวลิลิน ทรงผาสุก ผอ.สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน นางสาวสุชาดา สภาพงศ์ ผอ.สำนักอำนวยการ เป็นต้น ณ ห้องประชุมปฏิบัติการ DOC อาคาร สพฐ. 5 ชั้น 9 กระทรวงศึกษาธิการ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบนในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนและสร้างความเสียหายต่ออาคารสถานที่ของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) หลายแห่ง ขอเน้นย้ำให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและผู้บริหารโรงเรียนติดตามสถานการณ์น้ำท่วมจากหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และหน่วยงานปกครองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด พิจารณาดำเนินการได้ทันทีตามความเหมาะสม จำเป็นเร่งด่วน โดยไม่ต้องรอข้อสั่งการ ให้เร่งแจ้งมายัง สพฐ. ส่วนกลาง กรณีขอรับความช่วยเหลือ สนับสนุนกำลังเสริมเพิ่มเติม พร้อมรายงานสถานการณ์ความเสียหายและการดำเนินการแก้ไขในเบื้องต้น ซึ่งในส่วนของการช่วยเหลือ สพฐ. ได้เร่งรัดจัดสรรงบประมาณไปยังเขตพื้นที่ที่ประสบเหตุ เพื่อช่วยคลี่คลายบรรเทาความเดือดร้อนโดยตรง มีการจัดหาถุงยังชีพเพื่อแจกจ่ายให้นักเรียนและครูที่ประสบภัยให้ครบทุกคน ทั้งที่เป็นเครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้ง หรือ น้ำดื่มและอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน สำหรับพื้นที่ที่ถูกตัดน้ำตัดไฟ ทั้งนี้ ขอให้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน อย่างตรงจุด เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ คำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนและครู รวมถึงบุคลากรในพื้นที่เป็นอันดับแรก หากพบเหตุเร่งด่วนที่สามารถช่วยเหลือได้ก็ขอให้ช่วยกัน ด้วยจิตวิญญาณของการช่วยเหลือและสามัคคีร่วมมือร่วมใจ เพื่อฟันฝ่าสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปด้วยกัน

นอกจากนี้ ในจังหวัดที่ประสบเหตุและได้รับความเสียหาย เช่นในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือตอนบน ให้เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ อาคารเรียน อุปกรณ์การเรียนการสอน เพื่อจัดสรรงบประมาณลงไปปรับปรุงซ่อมแซม ให้สามารถกลับมาจัดการเรียนได้ตามปกติโดยเร็ว และในจังหวัดพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดริมแม่น้ำโขง ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ให้ติดตามสถานการณ์มวลน้ำอย่างใกล้ชิด ประสานหน่วยงานปกครองในพื้นที่ เพื่อวางแผนเตรียมการรับมือและเผชิญเหตุ เพื่อมิให้เกิดความเสียหายในอนาคต

“จากสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความห่วงใยต่อความปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยดังกล่าว ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมจนถึงปัจจุบัน มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 8,085 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 979 คน รวมทั้งสิ้น 9,064 คน ซึ่งขณะนี้ได้รับการเยียวยาเรียบร้อยแล้ว จำนวน 6,113 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 12 กันยายน 2567) และจะดำเนินการเยียวยาช่วยเหลือต่อไปจนครบถ้วน พร้อมทั้งได้กำชับให้ สพฐ. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งทางเขตพื้นที่ฯ ก็ได้ดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มความสามารถ ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ หากโรงเรียนใดต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถแจ้งมายังเขตพื้นที่ฯ หรือศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เพื่อได้ดำเนินการดูแลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

“สภาการศึกษา”เปิดรับบริจาค ปันน้ำใจ ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม จังหวัดเชียงราย

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วม ที่จังหวัดชียงราย ตั้งแต่วันที่ 9 – 11 ก.ย. 2567 รวมทั้งสิ้น 5 อำเภอ 20 ตำบล 46 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (10 ชุมชน) ตลาดชุมชนเศรษฐกิจ 2 แห่ง ร้านค้า/สถานประกอบการ 92 แห่ง ราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น 10,499 ครัวเรือน เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 2 คน จากเหตุดินสไลด์ อ.แม่ฟ้าหลวง นั้น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้จัดโครงการ จัดถุงยังชีพ ประกอบด้วย เครื่องอุปโภคบริโภค จำนวน 300 ถุง เพื่อส่งต่อเครือข่ายการศึกษาจังหวัดเชียงราย

และในโอกาสนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมบริจาคสิ่งของอุปโภคบริโภคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันนี้ – 13 กันยายน 2567 โดยจุดรับบริจาคได้ที่กลุ่มช่วยอำนวยการ อาคาร 1 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 99/20 ถ. สุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเบอร์โทรศัพท์ 0 2668 7123 ต่อ กลุ่มช่วยอำนวยการ

นโยบายการศึกษารัฐบาล “อิ๊ง1” ให้ความสำคัญการศึกษาตลอดชีวิต,ช่วยเหลือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา,โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน,ลดความเหลื่อมล้ำ

จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา ของ น.ส.แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยในด้านการศึกษาได้กล่าวว่า คุณภาพและทักษะแรงงานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ เยาวชนและประชากรวัยแรงงานที่มีความรู้อ่านออกเขียนได้ขั้นพื้นฐานต่ำกว่าเกณฑ์ ถึงร้อยละ 64.7 คะแนนวัดผล PISA ของเด็กไทยต่ำสุดในรอบ 20 ปีทุกทักษะ นอกจากนี้ยังมีเด็กและเยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษามากกว่า 1 ล้านคน

รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยในด้านการศึกษา นโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที คือ สร้างรายได้ใหม่
ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground
Economy) เข้าสู่ระบบภาษี เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้ง
อุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน ส่วนในระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลเชื่อว่าทุนมนุษย์เป็นรากฐาน
ที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงต้องเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลัง
และความสามารถ โดย รัฐบาลจะส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคนอย่างเท่าเทียม เด็กไทยทุกคนจะต้องเข้าถึงศูนย์ดูแลเด็กปฐมวัยที่มีมาตรฐาน เมื่อเติบโตก็ได้เรียนหนังสือที่ให้ ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ส่งเสริมการปลดล็อกศักยภาพทั้งด้านศิลปะ วัฒนธรรม และความสามารถทางกีฬา และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน ตอบโจทย์ศักยภาพของผู้เรียน ลดภาระ และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนสองภาษาโดยใช้ AI เป็นตัวช่วย เน้นการสอนทักษะที่ใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตจริงเพื่อการสร้างรายได้ (Learn to Earn)  ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัด การศึกษาทุกระดับ รวมทั้งการเฟ้นหาและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา  พร้อมทั้งส่งเสริมการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงาน ในอนาคตและรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning)

สอศ.จัดกิจกรรมพัฒนาทักษะเยาวชนอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) เป็นประธานพิธีปิด เวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้และถอดบทเรียนการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาทักษะเยาวชนอาชีวศึกษาสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง พร้อมมอบเกียรติบัตร แก่สถานศึกษา 51 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ จัดโดยสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ ร่วมกับ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี โดย

เลขาธิการ กอศ. กล่าวตอนหนึ่งว่า  ขอให้ทุกท่านที่ได้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการถอดบทเรียนจากการศึกษา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งเมล็ดพันธุ์ที่กล้าแข็งในการเติบโตไปในภายภาคหน้าทั้งในองค์กรของและหน่วยงานของรัฐและเอกชน สิ่งที่ได้รับจะเกิดประโยชน์ต่อตัวเอง ต่อสถานศึกษาแล้ว ขอให้ทุกท่านได้ส่งต่อดูแลและพัฒนาชุมชน ซึ่งครั้งนี้ไม่ใช่เวทีแรกที่ได้เห็นฝีมือของผู้เรียนอาชีวะจากการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น ขอให้ทุกท่านได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการเรียนการสอน การดำเนินชีวิต และทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติต่อไป

นายยศพล กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีวิสัยทัศน์ในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูงเพื่อพัฒนาประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สิ่งสำคัญ สอศ. มุ่งหวัง นักเรียนนักศึกษา โดยมีปัจจัย 3 ทักษะ คือ 1. ทักษะด้านวิชาการ จากการเรียนการสอนในสาขาต่างๆ 2.ทักษะวิชาชีพ และ 3. ทักษะชีวิต ซึ่งมีความสอดคล้องกับกิจกรรมเพื่อมุ่งเน้นในการนำเสนอและบทเรียนการดำเนินงานโครงการระดับสถานศึกษาระหว่างเครือข่ายเยาวชนอาชีวศึกษาได้ขยายต่อพลังอาชีวะคิดบวก ส่งต่อรุ่นพี่ รุ่นน้อง และเพื่อนร่วมรุ่น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาต่อยอดถึงชุมชนสังคม ทั้งนี้ มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. จำนวน 51 แห่ง เป็นครู นักเรียน นักศึกษา 255 คน ที่เข้าร่วม ซึ่งมีโครงการที่ต่อยอดถึงชุมชน ที่น่าสนใจ อาทิ โครงการแยก แลก สุข จากวิทยาลัยการอาชีพฝาง โครงการ Organic compost จากวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี โครงการส้มซ่า วัยเก๋า จากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุทัยธานี โครงการรู้มิจ Safe me จากวิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช เป็นต้น จึงถือได้ว่าเป็นการนำร่องสถานศึกษา โดยจะต่อยอดสู่การพัฒนาในสถานศึกษาในสังกัดทั่วประเทศต่อไป

 

‘เพิ่มพูน’ ขอทุกหน่วยงานเฝ้าระวังใกล้ชิด น้ำท่วมแม่สาย ย้ำความร่วมมือเป็นสิ่งสำคัญ จับมือไว้แล้วไปด้วยกันจะไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกหนักจากอิทธิพลของพายุ “ยางิ” ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อคืนที่ผ่านมาหลายหมู่บ้านในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทั้งบ้านถ้ำผาจม ตลาดสายลมจอย บ้านเกาะทราย บ้านไม้ลุงขน บ้านผามควาย บ้านเหมืองแดง ซึ่งเป็นจุดที่ระดับน้ำค่อนข้างสูง โดยตลอดทั้งคืนมีฝนตกมาอย่างหนักและต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่ต้องตัดไฟเนื่องจากอาจเป็นอันตราย ทั้งยังมีครู-นักเรียนติดอยู่ในโรงเรียนทั้งคืน ตลอดจนชาวบ้านที่ต้องเร่งอพยพหนีน้ำรอความช่วยเหลือ ว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ติดตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา และมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของนักเรียนและบุคลากรในพื้นที่ พร้อมสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วอย่างเคร่งครัด รวมทั้งได้เน้นย้ำให้เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดที่ประสบภัยเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความปลอดภัยของนักเรียน สถานศึกษา รวมถึงบุคลากรการศึกษา และให้รายงานสถานการณ์กลับมายังส่วนกลางทุกระยะ เพื่อให้สามารถประสานงานและจัดการความช่วยเหลือได้ทันท่วงที

“สถานการณ์ขณะนี้ ความร่วมมือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ประสานและสนับสนุนซึ่งกันและกัน เราจะต้องจับมือไว้แล้วเดินไปด้วยกัน ไม่มีการทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เชื่อมั่นว่าทุกฝ่ายจะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยความร่วมมือกันอย่างแข็งแกร่ง” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ในส่วนของการช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และการจัดตั้งศูนย์ Fix It Center เพื่อให้บริการซ่อมแซมสิ่งของและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหายแล้ว ขณะนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศกำลังร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อสมทบกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำหรับให้ความช่วยเหลืออีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนมั่นใจว่า กระทรวงศึกษาธิการยืนยันที่จะดำเนินการช่วยเหลือนักเรียน ครู และบุคลากรทุกคนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยดูแลตัวเองและครอบครัวด้วยความระมัดระวัง และหากต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติมสามารถติดต่อประสานหน่วยงานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา

  สพฐ. ย้ำยกระดับลดภาระครู หลังสุ่มตรวจพบสถานศึกษายังให้ครูทำรายงานหรือเอกสารกระดาษอยู่  

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  เปิดเผยว่า ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีการยกระดับการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยประกาศมาตรการลดภาระการรายงานของสถานศึกษาและแจ้งหน่วยงานทุกระดับทราบและถือปฏิบัติ ในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ทดแทนการจัดทำรายงาน/เอกสารด้วยกระดาษ และเน้นย้ำการลดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บข้อมูลและรายงานต่าง ๆ จากสถานศึกษา และจากผลการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สพฐ. ครั้งที่ 36/2567 วันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ประชุมได้มีการหารือร่วมกันเพื่อให้การลดภาระครูมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม ประกอบกับขณะนี้เป็นห้วงเวลาของการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อเลื่อนเงินเดือนประจำปีของข้าราชการครูฯ ครั้งที่ 2 (1 ตุลาคม 2567) ซึ่งจากการสุ่มตรวจสอบการดำเนินการของสถานศึกษาในหลายแห่งพบว่า ยังมีภาระงานครูที่เกิดจากการจัดทำเอกสารผลงานทั้งรูปเล่มรายงานและการจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานเพื่อรองรับการประเมินฯ อยู่

“ฉะนั้น เพื่อให้เป็นไปตามประกาศมาตรการลดการรายงานของสถานศึกษา และลดภาระการประเมินของสถานศึกษา ตามแนวทาง 6ล ของ สพฐ. จึงขอกำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสถานศึกษาทุกแห่ง ห้ามมิให้มีการสั่งการให้ข้าราชการครูฯ ทุกตำแหน่ง จัดนิทรรศการและงดการจัดทำข้อมูลผลงานที่เป็นรูปเล่มเอกสารในปริมาณมากเพื่อรับการประเมินเลื่อนเงินเดือน สำหรับรูปแบบการประเมินผลงาน ให้มีการประเมินจากการจัดการเรียนการสอนจากบริบทจริงในห้องเรียนโดยไม่เพิ่มภาระครู และใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลสารสนเทศในระบบออนไลน์ต่างๆ เพื่อประกอบการประเมินและนำเสนอผลงาน ซึ่ง สพฐ. จะมีหนังสือแจ้งสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและให้มีการตรวจสอบ เน้นย้ำ และกำชับสถานศึกษาทุกแห่งดำเนินการตามมาตรการฯ และแนวทางที่ สพฐ. กำหนดอย่างเคร่งครัดต่อไป” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

“สุรศักดิ์”ห่วงน้ำท่วมเชียงรายสั่งเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เตรียมพร้อมรับมือเน้นย้ำความปลอดภัยเป็นหลัก

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันจากพายุ “ยางิ” ที่ จังหวัดเชียงราย  พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และตน​ มีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างมากและขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเราจะก้าวผ่านสถานการณ์​นี้ไปด้วยกัน โดยตนได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการได้ทันที  ส่วนพื้นที่ใดหากมีรายงานว่าน้ำกำลังมาก็ขอให้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก

“เมื่อเวลา 10.40 น. ได้รับรายงานข้อมูลจากศูนย์ความปลอดภัย สพม. เชียงราย และ สพป.เชียงราย เขต1 พบว่า มี 17 โรงเรียน และ 1 สพม. ได้รับผลกระทบ เช่น น้ำท่วมบริเวณพื้นอาคารเรียน สนามโรงเรียน ดินสไลด์ปิดทางเข้าออกโรงเรียน เป็นต้น เนื่องจากมีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง และปริมาณน้ำในแม่น้ำกกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เอ่อล้นท่วมบริเวณโดยรอบแม่น้ำ ไหลเข้าท่วมในหลายพื้นที่ของอำเภอเมืองเชียงราย ส่งผลให้การจราจรติดขัด หลายเส้นทางปิดการใช้งาน รถยนต์เก๋งรถเล็กไม่สามารถผ่านไปได้ รวมถึงสะพานข้ามแม่น้ำกกทุกสะพานในเขตเมืองเชียงรายปิดการจราจร ส่งผลให้บุคลากรในสังกัด สพม.เชียงราย ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงานได้ และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยดังกล่าว”รมช.ศึกษาธิการกล่าว

นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า เบื้องต้นได้รับรายงานว่า ในระยะเร่งด่วนทาง สพม.เชียงราย และ​ สพป.เชียงราย เขต 1 กำลังจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อมอบให้กับโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด​ พร้อมทั้งมีการกำชับให้ผู้บริหารในทุกกลุ่มงานขนย้ายเอกสารสำคัญและทรัพย์สินทางราชการขึ้นไว้ชั้น 2 เพื่อป้องกันความเสียหาย และเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำกกอย่างใกล้ชิด โดยอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับบุคลากรในสังกัด​ ทั้งนี้ในส่วนของบุคลากรที่ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติงาน ณ สำนักงานเขตพื้นที่ได้ ให้ปฏิบัติงานในรูปแบบออนไลน์ (Work Form Home) พร้อมแจ้งประชาสัมพันธ์สถานการณ์เส้นทางการจราจรเพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับโรงเรียนในสังกัดหรือผู้มาติดต่อประสานงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

สพฐ.ห่วงเรื่องความปลอดภัยทั้ง นักเรียน ครูและบุคลากร กำชับเขตพื้นที่ฯ กำกับ ติดตาม ใกล้ชิด พร้อมช่วยเหลือทันทีเมื่อเกิดเหตุ 

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2567 ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีความเป็นห่วงสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และพบว่าหลายสถานการณ์ไม่ได้รายงานต้นสังกัดโดยทันที หรือรายงานล่าช้า ทำให้การช่วยเหลือและแก้ไขไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้น เลขาธิการ กพฐ. จึงได้มีข้อสั่งการกำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการกำกับติดตามและรายงานเหตุความไม่ปลอดภัย ของนักเรียน ครู และบุคลากร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา มีประสิทธิภาพสูงสุด ทันท่วงที มีความชัดเจนในการปฏิบัติ โดยกำหนดให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) เมื่อได้รับการแจ้งเหตุความไม่ปลอดภัยให้ดำเนินการระงับเหตุหรือบรรเทาเหตุ พร้อมให้การช่วยเหลือทุกด้านอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะอยู่ในสภาวะปกติ พร้อมทั้งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง หากพบว่ามีมูลและผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ หรือบุคลากรของรัฐ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด กำกับติดตาม และรายงานความคืบหน้าให้ผู้บังคับบัญชาทราบอย่างต่อเนื่อง

“กรณีครูและผู้บริหารกระทำความผิด ให้ผู้บังคับบัญชาลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยทันที หากกระทำผิดจริงให้ลงโทษให้เด็ดขาด และในกรณีที่เกิดเหตุรุนแรง หรือเป็นเหตุการณ์ที่ สพท. และสถานศึกษา ไม่สามารถควบคุมหรือบริหารสถานการณ์ความปลอดภัยได้ สพฐ. จะส่งทีมคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาของศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย (ศสป.) สพฐ. หรือ ผู้บริหารระดับสูง สพฐ. ลงพื้นที่บริหารสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยนั้นๆ ทันที พร้อมกันนี้ เลขาธิการ กพฐ. ได้กำชับว่า เมื่อเกิดเหตุความไม่ปลอดภัยขึ้น ขอให้ ผอ.สพท. ลงพื้นที่ดูแลสถานการณ์ด้วยตนเอง และผู้บริหารทุกระดับต้องรับผิดชอบร่วมกัน หากเกิดเหตุการณ์เร่งด่วนขึ้นในพื้นที่สามารถรายงานข้อมูลเบื้องต้นได้ทันทีที่ ศสป.สพฐ. และหากผู้ปกครองหรือประชาชนทั่วไป พบเห็นเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยใดๆ ต่อนักเรียน ก็สามารถแจ้งเหตุเข้ามาได้ที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ศสป.สพท.) ทุกเขตพื้นที่ฯ ทั่วประเทศ หรือ แจ้งเหตุมาที่ ศสป.สพฐ. โทร. 0-2123-8789 ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีกรณีที่ครู และผู้บริหาร กระทำความผิดวินัยอย่างร้ายแรง มีหลักฐานชัดเจน มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงแล้ว สพฐ. จะให้ออกจากราชการไว้ก่อนทันที ดังนั้น ขอให้ครู ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา มีความตระหนักไม่กระทำความผิด ปฏิบัติตนตามจรรยาบรรณของวิชาชีพ ดูแลความปลอดภัย มุ่งประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นสำคัญ” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

41 เขตพื้นที่ฯ ถอดบทเรียนโรงเรียนคุณภาพ หาแนวปฏิบัติขยายผลต่อ

เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ดำเนินโครงการ “ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ ” ตามนโยบายเร่งด่วนของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทำให้โรงเรียนในโครงการฯทั้งหมด จำนวน 1,808 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามบริบทของตนเอง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทั่วประเทศได้จริง สพฐ. จึงมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ซึ่งมีโรงเรียนคุณภาพในพื้นที่ที่มีความเป็นเลิศโดดเด่น ไปทำวิจัยเชิงพัฒนานวัตกรรมยกระดับโรงเรียนคุณภาพตามนโยบาย โดยถอดบทเรียนจากการดำเนินงานบริหารจัดการศึกษาที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีจำนวน สพท.ที่ส่งโครงร่างงานวิจัยมา ทั้งสิ้น 41 เขตพื้นที่การศึกษา และจะเร่งดำเนินการวิจัย ถอดบทเรียนให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีการศึกษา 2567 นี้ เพื่อเป็นข้อมูลพิจารณาหาแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ มาขับเคลื่อน และไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานของโรงเรียนคุณภาพที่กำลังพัฒนายกระดับให้โดดเด่น เป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในการเป็นโรงเรียนหลัก รองรับโรงเรียนเครือข่ายในการเรียนรวม ตลอดจนแบ่งปัน และใช้ทรัพยากรทางการศึกษาร่วมกันอย่างมีคุณภาพต่อไป

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า โครงร่างงานวิจัยที่เขตพื้นที่เสนอมามีหลายหัวข้อที่น่าสนใจ เช่น โครงร่างงานวิจัยถอดบทเรียนการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ รูปแบบการขับเคลื่อนโรงเรียนคุณภาพสู่การเป็นศูนย์กลาง การเรียนรู้และการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สุพรรณบุรี เขต 1 ที่ดำเนินการขับเคลื่อนงานด้วยรูปแบบ/เทคนิค ที่ทำให้เกิดความสำเร็จตามกระบวนการ SPB’1 Seven Steps ซึ่งเป็นกระบวนการเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนเครือข่าย โดยมี 7 ขั้นตอน คือ 1.วิเคราะห์บริบท 2.กำหนดแนวทาง 3.สร้างทีมงานเด่น 4.เน้นการมีส่วนร่วม 5.รวมพลังติดตาม 6.นำผลพัฒนา และ 7.พาชื่นชมยินดีสร้างขวัญกำลังใจ นอกจากนี้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการดำเนินงานการจัดการเรียนรู้เชิงรุก Active Learning และหลักสูตรฐานสมรรถนะ มีการวางแผนบูรณาการใช้ทรัพยากรร่วมกัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามจากการบริหารจัดการสถานศึกษาในภาพรวม พบว่า ปัจจัยสู่ความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีหลายประการที่สำคัญ ได้แก่ 1.การมีส่วนร่วมและได้รับการสนับสนุนชุมชนและผู้ปกครอง 2.คุณภาพของบุคลากรทางการศึกษา ทั้งครู และผู้บริหารโรงเรียนที่มีคุณภาพ มีทักษะ ความสามารถในการสอน และการบริหารจัดการที่ดี 3.โรงเรียนต้องได้รับการจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอ เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม 4.การสนับสนุนจากภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น งบประมาณ การฝึกอบรมครู 5.มีการประเมินและติดตามผลที่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ทราบ ถึงความก้าวหน้า ประสิทธิภาพของโครงการ และทำให้สามารถปรับปรุงแก้ไขในจุดที่ยังมีปัญหาได้อย่างทันท่วงที 6.การสร้างแรงจูงใจและการยกย่องความสำเร็จให้แก่ครู นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียน และ 7.มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น มีความยืดหยุ่นต่อความต้องการของนักเรียนและชุมชนจะช่วยให้การศึกษาในโรงเรียนมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันและสังคมมากขึ้น.