สกร.จัดพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ปี 67 ยูเนสโก เดินหน้าขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชากรโลกให้หมดสิ้นไป

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 โดยมี Ms. Rika Yorozu, Programme Specialist ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก ส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานคร นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) นายเอกราช ชวีวัฒน์ รองอธิบดี สกร. นายชัยพัฒน์ พันธุ์วัฒนสกุล รองอธิบดี สกร. ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหาร บุคลากร สกร.เข้าร่วมกิจกรรม ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวถึงการเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 ว่า นานาประเทศทั่วโลกได้ตระหนักชัดถึงความพยายามของ “ยูเนสโก” ในการผลักดันให้การรู้หนังสือของประชาชนทั่วโลกเป็นวาระแห่งโลก (World Agenda) เพื่อขจัดปัญหาการไม่รู้หนังสือของประชากรโลกให้หมดสิ้นไป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขของประชากร โดยมีจุดเน้นที่มุ่งหวังให้เกิดขึ้นกับประชากรและสังคมโลกทุกระดับซึ่ง แปรเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคมในแต่ละปี และสำหรับในปี พ.ศ. 2567 นี้ “ยูเนสโก” ได้กำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชากรโลก คือ “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประกอบด้วยสังคมที่เรียกว่า สังคมพหุวัฒนธรรม” มีประชากรหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้สมาชิกในสังคมไทยมีวัฒนธรรม ประเพณี ภาษา บรรทัดฐาน และความเชื่อแตกต่างกันอย่างหลากหลาย รัฐบาลทุกรัฐบาลได้พยายามสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสภาพความหลากหลายดังกล่าวเพื่อให้สมาชิกในสังคมยอมรับถึงความหลากหลาย ความเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ในวัฒนธรรมของกันและกันเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขผ่านกลไก “การศึกษา”

ดร.สุเทพ  ประธานในพิธีเปิดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 กล่าวว่า การจัดพิธีเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 โดยปีนี้“ยูเนสโก” ได้กำหนดแนวคิดหลักในการดำเนินการส่งเสริมการรู้หนังสือของประชากรโลก คือ “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีขับเคลื่อนการส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา โดยดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้  1) การส่งเสริมการใช้ภาษาถิ่นหรือการใช้ภาษาแม่ของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ควบคู่กับภาษาไทย และภาษาต่างประเทศในสถานศึกษาในระดับประถมศึกษา 2) การจัดทำหลักสูตรและสื่อการเรียนการสอนที่คำนึงถึงความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน 3) การพัฒนาศักยภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีทักษะในการสอนพหุภาษาและการจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรม การเรียนรู้ที่เคารพและเข้าใจในความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม และ 4) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรชุมชนในรูปแบบหรือประเภทต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการการศึกษาแบบพหุภาษา เช่น กรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา โดยภาพรวมของประชาชนร้อยละ 80 เป็นชาวมุสลิม ใช้ภาษามลายูถิ่นในชีวิตประจำวัน ได้จัดการศึกษาตามแนวทางดังกล่าวของ ศธ.อย่างชัดเจน รวมทั้งจังหวัดในภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศที่มีความหลากหลาย ทางภาษาและวัฒนธรรม โดย สกร.ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชนในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งประสบความสำเร็จในหลายมิติ

นายธนากร   กล่าวว่า การจัดงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 นี้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ได้กำหนดให้มีการจัดงาน ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมการศึกษา แบบพหุภาษา: การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ” โดยผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วย ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพมหานครและคณะ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารและบุคลากรของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งพิธีเฉลิมฉลองงาน“วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ในครั้งนี้ ได้จัดให้มีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการความร่วมมือ ฯ ประจำปี 2567 จำนวน 13 รางวัล พิธีมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณระดับประเทศ ของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ประจำปี 2567 ให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 101 รางวัล พร้อมทั้งมีการบรรยายพิเศษเนื่องในโอกาส “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ”ประจำปี 2567โดย ดร.มิรินด้า บูรรุ่งโรจน์ ประธานศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤตสถาบันวิจัยภาษา และวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนี้ในส่วนของหน่วยงานสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ทั่วประเทศ ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองงาน “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ประจำปี 2567 ในโอกาสนี้อีกด้วย

ทั้งนี้ วันที่ 8 กันยายน ของทุกปี องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ “องค์การยูเนสโก” ประกาศให้เป็น “วันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ” ปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) กำหนดให้มีการจัดงานดังกล่าวขึ้นภายใต้แนวคิด “การส่งเสริมการศึกษาแบบพหุภาษา : การรู้หนังสือเพื่อความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเพื่อสันติภาพ” เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้ประโยชน์จากศักยภาพของการรู้หนังสือ ที่พลิกโฉมไปอย่างสิ้นเชิง ดังนั้นจึงต้องมีการส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกัน การเชื่อมประสานกันในสังคม และก่อให้เกิดสันติภาพ ยิ่งในโลกปัจจุบัน “พหุภาษา” เป็นเรื่องที่คนจำนวนมากเรียนรู้กันจนเป็นเรื่องธรรมดา การสร้างผู้คนให้แข็งแกร่งด้วยการนำภาษาแม่ หรือภาษาที่หนึ่งมาใช้เป็นฐาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการรู้หนังสือและการศึกษา โดยเฉพาะที่เกิดผลต่อสติปัญญา การสอน และเศรษฐกิจสังคมอย่างมีประสิทธิผล จึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งขับเคลื่อน นอกจากวิธีการดังกล่าวจะสามารถช่วยส่งเสริมความเข้าใจซึ่งกันและกันแล้ว ยังรวมไปถึงการเคารพ ให้เกียรติกัน การก่อให้เกิดอัตลักษณ์ของชุมชน และประวัติศาสตร์ที่เข้มแข็งโดยรวม ซึ่งปีนี้ได้มีการคลี่ปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรู้หนังสือในบริบทของพหุภาษา เพื่อผลักดันให้เกิดผลบรรลุสันติภาพอย่างยั่งยืน อีกทั้งเป็นการค้นหาวิธีการแก้ปัญหาที่จะช่วยต่อยอดนโยบายและระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนการบริหารจัดการ การจัดทำโครงการต่าง ๆ และการนำไปปฏิบัติเพื่อให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

 

“ครูเอ” ปิ๊งไอเดียให้ครูชอปสหกรณ์ฯ เตือนพวกวิ่งย้ายจ่ายเป็นกิโล “หมดยุคหรือยัง”

เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษา ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมอบนโยบาย ที่ โรงเรียนบ้านนาจาน อำเภอพิบูลมังสาหาร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อุบลราชธานีเขต 3  โรงเรียนบ้านไร่ อ.ศรีเมืองใหม่ และ โรงเรียนอนุบาลกุดข้าวปุ้น (ศาสนานุเคราะห์) อำเภอตระการพืชผล สพป.อุบลราชธานีเขต 2 โดย นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า วันที่ 12-13 กันยายน 2567 คณะรัฐมนตรีชุดใหม่นำโดยนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการยังคงเป็นพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ และ ตน นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล ก็ยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สำหรับการมาตรวจเยี่ยมสถานศึกษาในจังหวัดอุบลราชธานีวันนี้ได้มีกำหนดการก่อนหน้านี้แล้ว แต่ด้วยเหตุที่จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณจึงได้เลื่อนมาเป็นวันนี้ ทั้งนี้เพื่อมารับฟังปัญหา และ มาดูการขับเคลื่อนนโยบายหนึ่งปีที่ผ่านมาได้บรรลุตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยเฉพาะนโยบายภายใต้ มอตโต้ “เรียนดี มีความสุข” ทำไปแล้วมีข้อสงสัยอะไรหรือไม่


“1 ปีที่ผ่าน กระทรวงศึกษาธิการ ได้ยกเลิกเวรครู จ้างนักการภารโรง และ เงินอุดหนุนอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนขยายโอกาส ม. 1 ถึง ม. 3 โดยจะได้รับเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันทุกคน ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะมาถึงจุดนี้ ถ้าทำได้ง่ายเขาคงทำกันไปนานแล้ว คงไม่ปล่อยมาให้พวกเราทำ ต้องขอบคุณอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่ช่วยผลักดันและให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการในหลาย ๆ เรื่อง เพราะเข้าใจดีว่าครูมีภาระมาก ตั้งแต่เริ่มบรรจุรับราชการ ก็มีภาระในการดำเนินชีวิต กระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีนโยบายในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา หนี้สินครูมาโดยตลอดช่วยเจรจาให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเงินกู้ และสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการ คือ ให้ครูไปชอปปิ้งเลือกดอกเบี้ยที่ถูก ให้ครูสามารถกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดใดก็ได้ ที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าสหกรณ์ที่ตัวเองเป็นสมาชิกในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่จะเกิดการแข่งขันลดดอกเบี้ยให้กับครู อย่างน้อยดอกเบี้ยที่ต่างกัน 1% หรือ 1. 5% ก็ทำให้ชีวิตของครูดีขึ้น ครูสามารถกู้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูจังหวัดได้ทั่วประเทศ“นายสุรศักดิ์ กล่าว

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า พลตำรวจเอกเพิ่มพูน บอกตลอดว่า การโยกย้ายจะต้องไม่มีผลประโยชน์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าที่ไหนพูดคุยกันเรื่องผลประโยชน์ในการโยกย้าย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจะไม่ยอมโดยเด็ดขาด เพราะเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ ถ้าย้ายต้องคิดกันเป็นกิโลเท่าไหร่ซึ่งตนก็เคยได้ยินมา ไม่รู้ว่ายุคนี้หมดไปหรือยัง การโยกย้ายไม่อยากให้มีผลประโยชน์มาแลกเปลี่ยน เพราะนโยบายกระทรวงศึกษาธิการต้องการให้ย้ายกลับบ้าน ครูคืนถิ่น อยากให้กลับบ้าน ไม่อยากให้ใครอยู่ไกลบ้าน รัฐมนตรีอยากให้กำลังใจและเป็นการลดภาระด้วย

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน เคยมีนโยบายเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ขั้นพื้นฐานทุกที่ทุกเวลา (Anywhere Anytime) จะเป็นรูปธรรมในปี 2568 เนื่องจาก ปี 2567 เราไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ เพราะเราเข้ามาตอนที่เขาตั้งงบฯเรียบร้อยมาแล้ว แต่ตอนนี้ ปี 2568 เรื่องทำแอพพลิเคชั่น การทำคอนเทนท์ การทำระบบคลาวด์ ที่จะให้ครูใช้ในการสอน ให้นักเรียนใช้ในการเรียน การแจกอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อป โน้ตบุก โฮมบุก หรือ iPad หรือ แท็บเล็ต ก็ตามอุปกรณ์เหล่านี้ต้องยอมรับว่ามีส่วนสำคัญในการเรียนการสอน เพราะวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก โลกก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่เคยรวดเร็วอย่างนี้มาก่อน สิ่งที่เคยสอนในเทอมนี้เทอมหน้าอาจจะไม่ต้องเรียนแล้วก็ได้ ตอนผมเข้ามาใหม่ ๆ เรียน Coding ตอนนี้อาจจะได้เรียนทั้ง Coding และ ต้องเรียน AI เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นบุคลากรการศึกษาก็มีความจำเป็นซึ่งเราก็ได้รับเกียรติการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีด้านศึกษาอาเซียน ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ที่จังหวัดบุรีรัมย์จนเป็นที่ยอมรับว่าการจัดประชุมครั้งนี้ประเทศไทยจัดได้ยิ่งใหญ่และสมเกียรติมากจนหลายประเทศชื่นชมว่า ประเทศไทยจัดได้เกินมาตรฐานไปแล้วเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดประชุมของผู้นำด้านการศึกษาของอาเซียน

“ในการประชุมดังกล่าวซึ่งรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนได้มารวมตัวกัน จึงได้มีการแลกเปลี่ยนเรื่องของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของโลก การใช้เทคโนโลยีที่จะต้องมารองรับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่จำเป็น ที่เราจะต้องปรับตัว ครูทุกคนจะต้องเป็นต้นแบบ เป็นไอดอลของเด็ก เด็กที่จะต้องใช้เทคโนโลยีผู้ปกครองจะต้องมีส่วนในการช่วยกันดูแล นโยบาย Anywhere Anytime ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา ครูก็ต้องสอนได้ทุกที่ ครูไม่ครบชั้นก็ต้องใช้เทคโนโลยีมาช่วย”นายสุรศักดิ์กล่าว

สพฐ.หนุนโรงเรียนติดโซล่าเซลล์ ใช้พลังงานสะอาด ลดค่าใช้จ่ายสถานศึกษา

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการทีกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)  และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ  โซล่าเซลล์ (Solar Cell) ในสถานศึกษา เพื่อปลูกฝังการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน ตามนโยบายการใช้พลังงานสะอาด ของรัฐบาล และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้ทำ MOU ตั้งแต่วันที่ 29พฤษภาคม 2567 นั้น ล่าสุด มีโรงเรียน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สมัครเข้าร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 2,452 แห่ง แบ่งเป็น สมัครเข้าร่วมโครงการกับ กฟน. 763 แห่ง จำแนกเป็น โรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 495แห่ง โรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) 224  แห่ง โรงเรียนในสังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 22 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) 22 แห่ง  และ สมัครเข้าร่วมโครงการกับ กฟภ.จำนวน 1,689 แห่ง  จำแนกเป็น โรงเรียนสังกัด สพป. 1,178 แห่ง โรงเรียนสังกัด สพม. 470  แห่ง โรงเรียนสังกัด สศศ. 24 แห่ง และ สพท.17 แห่ง ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีทั้งส่วนที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเอกสารการสมัคร ส่วนที่ลงนามในสัญญาให้บริการ ส่วนที่ส่งข้อเสนอ และส่วนที่อยู่ระหว่างการติดตั้งโซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop)

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ล่าสุดมีโรงเรียนที่ได้รับการยื่นข้อเสนอการติดตั้งให้โรงเรียนพิจารณาแล้ว 19แห่ง  ได้ลงนามในสัญญาให้บริการแล้ว 15 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ 9 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนคุรุประชาสรรค์  โรงเรียนทวีธาภิเศก โรงเรียนมัธยมสังคีตวิทยา โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 (ฉะเชิงเทรา) โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ โรงเรียนย่านตาขาวรัฐชนูปถัมภ์ โรงเรียนสวัสดิ์รัตนาภิมุข โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม โรงเรียนบางประกอกวิทยาคม และได้รับการติดตั้งเสร็จแล้ว จำนวน 1 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดอินทาราม ซึ่ง สพฐ.จะดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโซล่าเซลล์ กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องให้หน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อประกอบการพิจารณาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ใช้พลังงานสะอาด ประหยัดค่าใช้จ่ายของสถานศึกษา  

พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน พลังงานสะอาด โดยการติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษา ทั้งรูปแบบติดตั้งบนหลังคา หรือ บนพื้นดิน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้มีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น ที่โรงเรียนวัดอินทาราม กรุงเทพ ได้ติดตั้งโซล่า ขนาดที่ติดตั้ง 272.58 kWp พื้นที่ติดตั้ง 2,000 (ตรม.)  คาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ 330,000 kWh ต่อปี และคาดว่าค่าใช้จ่ายลดลงได้เฉพาะในส่วนของพลังงานไฟฟ้าประมาณ 524,7000 บาทต่อปี ทั้งนี้ ผมขอเชิญชวนโรงเรียนที่สนใจส่งใบสมัครเพิ่มเติมมาได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อตรวจสอบเอกสารสมัครแล้ว จะมีการประเมินศักยภาพของโรงเรียนต่อไป” ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว.

“ธนุ”กำชับพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวัง ป้องกัน ช่วยเหลือภัยจากน้ำท่วม

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้รายงานการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยข้อมูล ณ วันที่ 4 กันยายน 2567  พบว่า ตั้งแต่วันที่ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ถึงปัจจุบัน มีสถานศึกษาใน 19 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่  น่าน พะเยา ลำพูน เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ตาก ตราด ปราจีนบุรี กาญจนบุรี จันทบุรี  สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร สุรินทร์ อ่างทอง และ ภูเก็ต ได้รับผลกระทบ จำนวน 265 โรงเรียน  35 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา มีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 5,819 คน แบ่งเป็น นักเรียน จำนวน 4,955 คน ซึ่งได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแล้ว จำนวน 4,879  คน ครูและบุคลากรฯ จำนวน 864 คน ได้รับการเยียวยาเร่งด่วนแล้ว จำนวน   864  คน

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า แม้ในหลายพื้นที่สถานการณ์ได้ดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีโรงเรียนที่ สพฐ. ยังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด คือ โรงเรียนบ้านห้วยมอญ โรงเรียนบ้านร่มเกล้า และโรงเรียนแม่ขะนิง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาน่าน เขต 1 ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยคล้ายกัน คือ มีน้ำกัดเซาะอาคาร  ประสบปัญหาดินสไลด์และดันอาคาร ทำให้เกิดรอยร้าว ถ้าฝนตกหนักต่อเนื่องอีก 2-3 ครั้ง ดินอาจจะสไลด์ลงมาที่โรงเรียนได้ จึงได้กำชับให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้ง 44 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง คลื่นลมแรง รวมถึงน้ำล้นอ่างเก็บน้ำและน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ตนจึงขอเน้นย้ำ ผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้  โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากร เป็นลำดับแรก

“สพฐ. และ กระทรวงศึกษาธิการมีความเป็นห่วงใยนักเรียน ครูและบุคลากรทุกคนที่ประสบอุทกภัย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อติดตามสถานการณ์และส่งกำลังใจ โดยมอบถุงยังชีพให้ครู นักเรียน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ซึ่งตนได้สั่งการให้ทุกโรงเรียนเร่งสำรวจความเสียหาย และเสนอของบประมาณช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์นักเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอน เพื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จะได้ดำเนินจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้โรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนตามปกติได้โดยเร็ว ส่วนโรงเรียนที่อาคารชำรุดก็จะเร่งสนับสนุนงบประมาณกลางเพื่อซ่อมแซม”  ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าว.

“เสมา 1”ลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมเชียงราย พบน้ำท่วมเพราะไม่มีป่าเป็นเขื่อนชะลอน้ำ สั่ง สพฐ.สอนและปลูกฝังเรื่องการรักษ์ป่า

 

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงการสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ว่า  ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ ตอนนี้หน่วยงานต่าง ๆ กำลังสำรวจความเสียหายอยู่ โดยในเรื่องการช่วยเหลือโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ที่ได้รับความเสียหายนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) จะจัดทีมเข้าไปให้การช่วยเหลือ  แต่จากที่ตนได้ไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนในอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย  ทำให้ได้เห็นมิติที่ดีที่น่าชื่นชม คือ โรงเรียนในพื้นที่มีการให้ความช่วยเหลือกันและกันในการทำความสะอาดอาคารเรียน ห้องเรียน และพื้นที่โดยรอบโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายจากน้ำและดินโคลน  อย่างไรก็ตามตนได้มอบแนวทางให้หอการค้าจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัด ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือโรงเรียนด้วย พร้อมกันนี้ได้มอบให้โรงเรียนและเขตพื้นที่การศึกษาทำคำของบประมาณในการฟื้นฟูโรงเรียนเข้ามา เพื่อจะได้พิจารณาจัดสรรลงไป หากไม่เพียงพอก็จะของบฯกลางไปยังรัฐบาลต่อไป

“เท่าที่เห็นน้ำที่ไหลมาท่วมนั้น ไม่ใช้น้ำใส แต่เป็นน้ำดิน ผมก็บอกไปว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่น้ำป่าไหลหลาก แต่เป็นน้ำไม่มีป่าไหลหลาก  เมื่อไม่มีป่าก็ไม่สามารถชะลอน้ำได้ ทำให้น้ำมาด้วยความรุนแรงและรวดเร็วกว่าน้ำที่มีป่า และยังนำทั้ง หิน ดิน  ทรายมาด้วย  เพราะฉะนั้นผมจึงได้มอบหมายให้ผู้บริหารโรงเรียน ครู และบุคลากร สอนและปลูกฝัง รวมถึงแนะนำนักเรียนและผู้ปกครองให้ตระหนักถึงการไม่มีป่าว่าเป็นอันตราย จึงขอให้ร่วมกันปลูกฝังเรื่องการรักษ์ป่า รักษาป่า ฟื้นฟูป่าให้มีความสมบูรณ์ เพื่อให้เป็นเขื่อนในการป้องกันไม่ให้น้ำไหลหลาก ซึ่ง สพฐ.ก็ดำเนินการได้รวดเร็ว โดยเฉพาะสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)เชียงราย เขต 4 ที่ได้มีการทำคลิปการสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาส่งมาให้ดูแล้ว ถือว่ามีการขับเคลื่อนแล้ว ดังนั้นก็จะมีการขยายผลไปยังเขตพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป”รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าอาคารเรียนได้รับความเสียหาย มีแต่ดินโคลนมาทับถม ซึ่งก็มีการช่วยเหลือกันทำความสะอาด และตอนนี้ก็เปิดการเรียนการสอนได้แล้ว

‘บิ๊กอุ้ม’ ขอบคุณทุกหน่วยงานร่วมมือเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 บรรลุผลเกินคาด

เมื่อวันที่ 4 กันยายน พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยผลการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือจัดงานประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการจัดงานลุ่ล่วงไปด้วยดี และน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งตนอยากให้ขยายผลการประชุมให้มีผลในการพัฒนาการจัดการศึกษาของประเทศต่อไป  นอกจากนี้ที่ประชุมยังรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือPISA ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เชื่อว่า ผลการทดสอบPISA ในปี2025 จะดีขึ้นแน่นอน ทั้งนี้ที่ประชุมได้เน้นย้ำการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน เพราะไม่เพียงสัมพันธ์กับการอ่านโจทย์และตอบคำถาม แต่เป็นการยกระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย พร้อมขอให้ สสวท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมิติและวิธีเดียวกัน และขณะนี้พบปัญหาการสอบแบบ คอมพิวเตอร์เบส ในบางพื้นที่ จึงมอบ สสวท.ประสานเพื่อขอใช้การทดสอบระบบเดิมสำหรับโรงเรียนที่ไม่มีความพร้อม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังติดตามเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ พบว่าบางในพื้นที่ที่ยังล่าช้า ก็ให้มีการเร่งรัดติดตาม พร้อมส่งทีมลงไปช่วยให้ข้อแนะนำ แนวทางปฏิบัติ รวมทั้งแก้ไขปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงมีการขอขยายงบผูกพันในการดำเนินการโครงการต่าง ๆ ด้วย ขณะเดียวกันยังเน้นย้ำการใช้พลังงาน ให้คำนึงถึงการประหยัดพลังงานก่อนในขั้นแรก ตามแนวทางการทำงาน ถูกต้อง รวดเร็ว ประโยชน์ ประหยัด โดยเฉพาะค่าสาธารณูปโภคของโรงเรียนต่าง ๆ โดยเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายตามบริบทและลักษณะการใช้ของโรงเรียนแต่ละพื้นที่

“ในส่วนของการลดการใช้พลังงานนั้น ที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เพื่อลดการใช้พลังงาน ขณะเดียวกันพื้นที่ที่ไฟฟ้าไปไม่ถึงก็มีการผลักดันให้ติดแผงโซล่าเซลล์ เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ ส่วนปัญหาเรื่องการค้างชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำ ค่าไฟ นั้น การแก้ปัญหา ก็ต้องไปดูในภาพรวม ซึ่งนอกจากการลดการใช้พลังงานแล้ว ก็อาจต้องไปดูเรื่องการใช้ทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงจัดให้มีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนตัวเลขการค้างชำระนั้น จะต้องมีการรวบรวมตัวเลขล่าสุด ของปีงบประมาณ 2567 เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยอาจหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอลดหย่อน ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ เนื่องจากเป็นการจัดการศึกษาเพื่อประโยชน์สาธารณะ” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้มีมติอนุมัติเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณรายการอาคารเรียน สำหรับก่อสร้างในเขตแผ่นดินไหว โรงเรียนชุมชนบ้านอุ้งผาง จังหวัดตาก แล้ว

“เล็ง”ทำกฎหมายหักหนี้ครู “เสมา1”สั่งเดินหน้าอบรมความรู้เรื่องวินัยทางการเงิน

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา เปิดเผยว่า  ตามที่ ที่ประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา  เลขาธิการกพฐ. เป็นประธานเมื่อเร็ว ๆ นี้ มอบหมายให้ตนหารือกับอัยการ กรณีศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้ ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ.2551ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย เพื่อหาวิธีการหักเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายนั้น ทั้งนี้ จากคำพิพากษาดังกล่าว เป็นผลให้ระเบียบศธ. ว่าด้วยการหักเงินเดือนฯ พ.ศ.2551 เหมือนไม่เคยมีผลบังคับใช้ เพราะไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยังคงต้องดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดให้ส่วนราชการหักเงิน ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จะต้องมีเงินเดือนสุทธิหลังหักจากหักชำระหนี้แล้วไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ 30 จึงยังสามารถดำเนินการได้ เพียงแต่ต้องมีการเพิ่มเติมรายละเอียด ในเรื่องการเจรจา เพื่อให้ตรงไปตามกรอบวงเงิน ที่ต้องอิงกับระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มและเงินอื่นในลักษณะเดียวกันของปี พ.ศ. 2550 ที่กำหนดไว้ว่า ในการเจรจาจะต้องให้เจ้าหนี้ทั้งหมดมาพิจารณาร่วมกันว่า การหักเงินเพื่อชำระหนี้ เกินกว่าวงเงินของเงินเดือนที่ผู้กู้ได้ใช้หรือไม่ เพราะฉะนั้น คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้ จึงถือเป็นข้อดี ที่ได้เพิ่มเติมการเจรจา กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานต้นสังกัด ไปสั่งการให้เป็นไปตามมติครม.ดังกล่าว ซึ่งเบื้องต้นได้ส่งหนังสือเป็นข้อเสนอแนะไปแล้วส่วนหนึ่ง

“การหักเงินเดือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก็ยังคงต้องให้มีเงินเดือนเหลือใช้ในชีวิตประจำวันไม่น้อยกว่าร้อยละ30 เพียงแต่อาจจะต้องมีการเพิ่มเติมรายละเอียด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะต้องดูข้อกฎหมายให้รัดกุม ส่วนระยะยาวเพื่อไม่ให้มีข้อโต้แย้งในเรื่องข้อกฎหมาย จากผลการพิพากษา ศาลปกครองสูงสุด ก็ได้มีข้อแนะนำว่า หากจะให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย ก็จะต้องจัดทำเป็นกฎหมาย เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าว คงต้องให้มีความยืดหยุดตามสภาพเศรษฐกิจ ปัจจุบันเงินเหลือหักจากการชำระหนี้ร้อยละ30 ก็ถือเป็นจำนวนที่ไม่มากนัก บางคนพอใช้ เพราะมีอาชีพเสริมรองรับและไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ขณะที่บางคนก็อาจจะยังไม่เพียงพอ”รองเลขาธิการกพฐ. กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามหากจะจัดทำเป็นกฎหมาย จะมีผลบังคับใช้เฉพาะในส่วนของศธ. เท่านั้น ส่วนหน่วยงานอื่นก็อาจใช้แนวทางดำเนินการตามศธ.ได้ หรือจัดทำกฎหมายเฉพาะของตนเอง ซึ่งผู้บริหารศธ. และผู้บริหารสพฐ.ทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินการตามนโยบาย เรียนดี มีความสุข  ขณะเดียวกัน พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็วางแนวทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุโดยการจัดอบรม ให้ความรู้เรื่องวินัยทางการเงิน ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก

“อรรถพล”แนะจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน งานวิจัยชี้ชัดพัฒนาทักษะรอบด้านผู้เรียนได้ผล

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเรียนรู้นอกห้องเรียนกําลังเป็นแนวทางการศึกษาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเน้นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพราะมีผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนว่า นอกจากจะเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาทักษะสําคัญในหลายด้านให้แก่ผู้เรียนด้วย ทั้งด้านสังคม อารมณ์ ร่างกาย และการแก้ปัญหา รวมถึงความเข้าใจในการดูแลรักษา สิ่งแวดล้อม

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สำหรับหลักในการจัดการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่มีงานวิจัย รองรับว่าได้ผลจริง เช่น 1) เตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติจริง ไม่ว่าจะเป็นการฝึกฝนให้ ผู้เรียนได้คุ้นเคยกับการเรียนรู้นอกห้องเรียนการเตรียมอุปกรณ์และสถานที่กลางแจ้งที่เหมาะสมสําหรับใช้ในการ จัดกิจกรรม 2) วางแผนกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับทฤษฎีในห้องเรียน เช่น ในวิชาภาษาอังกฤษ จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสในการอธิบายสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นภาษาอังกฤษ และในวิชาคณิตศาสตร์ ให้นักเรียนฝึกการ ประมาณค่าด้วยหน่วยที่ไม่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะทําให้บรรลุวัตถุประสงค์การเรียนรู้เช่นเดียวกับการจัดการเรียนการ สอนในห้องเรียน อีกทั้งยังช่วยให้วิชาต่าง ๆ มีชีวิตชีวามากขึ้น 3) ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นผู้นําในการเรียนรู้ของตนเอง โดยให้ผู้เรียนมีทางเลือกและมีอิสรภาพในการทํากิจกรรมเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจ อีกทั้งยังส่งผลให้การเรียนรู้สนุกสนานและน่าตื่นเต้น ซึ่งผู้สอนมีหน้าที่คอยช่วยสนับสนุนและให้คําชี้แนะ 4) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้ เคลื่อนไหวร่างกายและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ออกกําลังกาย ฝึกฝนทักษะทางวิชาการ และสนุกสนานไปพร้อม ๆ กัน 5) มุ่งเน้นที่การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงกับโลกธรรมชาติ โดยการจัดกิจกรรมที่ปลูกฝังความรับผิดชอบและความใส่ใจในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ซี่งสามารถทําได้ง่าย ๆ ด้วยการให้ผู้เรียนช่วยกันเก็บขยะตามบริเวณโรงเรียน นอกจากเป็นการช่วยกันปรับปรุงสิ่งแวดล้อมแล้วยังเป็นการ ออกกําลังกายเพื่อสุขภาพอีกด้วย 6) ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสได้เรียนรู้ธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้ การเรียนรู้ ท่ามกลางธรรมชาติ ซึ่งสามารถทําได้ง่าย ๆ ด้วยการอ่านหนังสือในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ การเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติเปรียบเสมือนเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เช่น การทําความเข้าใจลักษณะของธรรมชาติ หรือความแตกต่างของที่อยู่อาศัย และการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติเป็นการนําประสบการณ์ที่ได้รับจากธรรมชาติมาช่วยจุดประกายความสนใจและกระตุ้นให้ต่อยอดการเรียนรู้นั้น และ 7) ส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถเตรียมตัวและสนับสนุนการเรียนรู้เพิ่มเติมที่บ้านได้ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสําคัญ

“นอกจากการส่งเสริมให้เรียนรู้นอกห้องเรียนจะช่วยเพิ่มแรงจูงใจและ พัฒนาในระดับบุคคลแล้ว ยังเป็นการช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งเป็นเป้าหมายของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของของสหประชาชาติอีกด้วย”ดร.อรรถพลกล่าว

 

แต่งตั้ง-โยกย้าย ผอ.สกร.จังหวัด วุ่น! จ่อร้องถามหาธรรมาภิบาล-จริยธรรม

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.)ลงนามในคำสั่งกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ที่ 1945/2567 เรื่องย้ายและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งผู้บริหารการศึกษา จำนวน 29 ราย และ คำสั่งที่ 1946/2567 เรื่อง  เปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 12 ราย ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ผอ.สกร.จังหวัดท่านหนึ่งได้ร้องมายัง F0CUSNEWS.in.th ว่า จากการแต่งตั้งโยกย้าย ผอ.สกร.จังหวัด ครั้งนี้ มี ผอ.สกร.จังหวัด หลายคนไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ในการโยกย้าย ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และไม่มีจริยธรรม บอกแต่เพียงว่าผู้ใหญ่ขอมาและแต่งตั้งแต่พวกพ้องตนเองขึ้นมา เช่น ผอ.สกร.จังหวัดอุดรธานี ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดหนองบัวลำภู ผอ.สกร.จังหวัดอุบลราชธานี ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดเลย ผอ.สกร.จังหวัดหนองคาย ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดบึงกาฬ ผอ.สกร.จังหวัดอุตรดิตถ์ ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดราชบุรี ผอ.สกร.จังหวัดพังงา ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดสมุทรสงคราม ผอ.สกร.จังหวัดสมุทรปราการ ย้ายไปเป็น ผอ.สกร.จังหวัดนนทบุรี เป็นต้น โดย ผอ.สกร.จังหวัดที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจะทำหนังสืออุทธรณ์ร้องทุกข์ เรียกร้องความเป็นธรรมไปยังหน่วยงานระดับสูงต่าง ๆ ต่อไป

สพฐ.เปิดโอกาสให้ ผอ.เขตฯนำเสนอผลการปฏิบัติงานในรอบปี ใช้ประกอบพิจารณาโยกย้าย แต่ยังเน้นย้ายคืนถิ่นเป็นอันดับแรก

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ของโรงเรียนและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ว่า ถึงแม้งบประมาณจะออกมาล่าช้าแต่ก็สามารถเบิกจ่ายได้ถึงร้อยละ 96 จากงบประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างเร่งรัดติดตามเป็นรายเขตพื้นที่ฯ และรายโรงเรียน คิดว่าน่าจะเบิกจ่ายก่อหนี้ผูกพันได้ทันวันที่ 30 กันยายนนี้แน่นอน

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รายงานความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัย ว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ. ว่าด้วยการหักเงินเดือนบำนาญข้าราชการเพื่อชำระหนี้เงินกู้. ให้แก่สวัสดิการภายในส่วนราชการและสหกรณ์ พ.ศ. 2551 ไม่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษา จึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ที่ประชุมจึงมอบให้ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. ในฐานะปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาประสานกับทางอัยการ เพื่อหาวิธีการหักเงินเดือนที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ที่สำคัญต้องไม่กระทบกับครูและเขตพื้นที่ฯ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หารือเรื่องการประเมินตามโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA ซึ่งเป็นที่น่ายินดี ว่า นักเรียนของ สพฐ. สามารถเข้าถึงชุดพัฒนาความฉลาดรู้ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่  ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์  และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์  ได้มากถึง 4.6 แสนคนแล้ว ซึ่งเป้าหมาย คือ จะต้องยกระดับการสอบ PISA ปี 2025 ให้สูงขึ้น

“ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เน้นย้ำเรื่องการจัดประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา วันที่ 14-15 กันยายน ที่สวนนงนุช พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งจะเป็นการประชุมผอ.เขตพื้นที่ฯรูปแบบใหม่ โดยจะเปิดโอกาสให้ผอ.เขตพื้นที่ฯ ทุกคนนำเสนอผลปฏิบัติงานของตัวเองในรอบปีที่ผ่านมา ว่าทำอะไรสำเร็จ และภาคภูมิใจ การตอบสนองต่อนโยบายเป็นอย่างไร โดยจะแบ่งการนำเสนอเป็นภาค จากนั้นจะคัดเลือกตัวแทนที่นำเสนอยอดเยี่ยมภาคละ 3 คน ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีจำนวนเขตพื้นที่ฯมากให้มีตัวแทน 5 คน เพื่อให้ตัวแทนแต่ละภาคนำเสนอที่ประชุมใหญ่ ว่า แต่ละเขตพื้นที่ฯ ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลกระทรวง และ สพฐ.ได้สำเร็จมากน้อยแค่ไหน” ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การนำเสนอผลงานครั้งนี้จะมีผลต่อการโยกย้ายหรือไม่ เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า ก็อาจนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณา แต่จะดูเรื่องความต้องการการย้ายคืนถิ่นเป็นหลัก เพราะขณะนี้มีผอ.เขตพื้นที่ฯ หลายคนที่ไปอยู่ต่างภาค ต่างถิ่นหากปฏิบัติหน้าที่นานแล้ว และมีความจำเป็นเดือดร้อนก็จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวเป็นลำดับแรก ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรมว.ศึกษาธิการ  ส่วนเรื่องประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการทำงานก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการพิจารณาเช่นกัน โดยปีนี้จะมีผอ.เขตพื้นที่ฯเกษียณอายุราชการประมาณ 40 คน  ซึ่ง สพฐ.จะดำเนินการย้ายผอ.เขตพื้นที่ฯ ภายในเดือนกันยายนนี้