“เพิ่มพูน”สั่งการสพฐ.รีบส่งงบฯให้โรงเรียนซื้ออุปกรณ์การเรียนการสอนที่ถูกน้ำท่วม “เร่งด่วน”เพื่อให้จัดการเรียนการสอนได้

 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการรการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ได้นำคณะผู้บริหารลงพื้นที่ภาคเหนือเพื่อมอบถุงยังชีพให้ครู นักเรียน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และได้สั่งการให้ทุกโรงเรียนรีบเสนอของบประมาณช่วยเหลือวัสดุอุปรกรณ์นักเรียนที่ใช้ในการเรียนการสอนที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ดำเนินจัดสรรงบฯลงไปช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อให้จัดการเรียนการสอนได้ ส่วนโรงเรียนที่อาคารชำรุดก็ให้ของบฯกลาง

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับตัวเลขนักเรียนที่ได้รับผลกระทบขณะนี้มีจำนวน 5,800 กว่าคน ครู 600 กว่า และโรงเรียนได้รับความเสียหาย 249 โรงเรียน อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือจะแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ ช่วยเหลือเร่งด่วน ที่กระทบต่อการเรียนการสอน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ปลั๊กไฟฟ้า หนังสือแบบเรียน ชุดนักเรียน จะจัดสรรงบฯเหลือจ่าย สพฐ.ไปช่วยเหลือเร่งด่วนก่อน ส่วนอาคารเรียนที่ต้องใช้เวลาในการซ่อมแซมจะของบฯกลางมาดำเนินการ

ปลัด ศธ. – เลขาธิการ กพฐ. – เลขาธิการ ก.ค.ศ. พร้อมใจลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์ สอบคัดเลือก ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา

เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( กพฐ. )และ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา( ก.ค.ศ.)ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์ การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2567 ณ ศูนย์สอบธรรมศาสตร์ รังสิต โดยได้ตรวจสอบความเรียบร้อยของการดำเนินการสอบ และการบริหารจัดการต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในวันนี้เป็นการสอบภาค ก ในช่วงเช้าเป็นการสอบวิชาความรอบรู้เกี่ยวกับการบริหารงานในหน้าที่ และในช่วงบ่ายเป็นการสอบวิชาความสามารถในการการวิเคราะห์กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการนำไปใช้ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับการสอบในวันนี้มีผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งหมดจำนวน 571 ราย มีผู้เข้าสอบจำนวน 567 ราย โดยแบ่งเป็น กลุ่มทั่วไป จำนวน 414 ราย และกลุ่มประสบการณ์ จำนวน 153 ราย และหลังจากการสอบสอบภาค ก เสร็จสิ้นแล้ว สำนักงาน ก.ค.ศ. จะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านภาค ก เพื่อเข้ารับการประเมินภาค ข และภาค ค ภายในวันศุกร์ที่ 6 กันยายน 2567 ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ค.ศ. www.otepc.go.th

“เพิ่มพูน”ควง สพฐ.-สอศ.ไปเชียงรายให้กำลังใจพร้อมมอบถุงยังชีพให้ ครู นักเรียน บุคลากร และประชาชน ที่ถูกน้ำท่วม พร้อมสั่งลงศูนย์ Fix it Centerเปิดครัวช่วยเหลือ เตรียมซ่อมสร้าง

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)พร้อมด้วยผู้บริหาร ศธ.ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพแก่นักเรียน ครู และผู้ปกครอง จุดแรกที่โรงเรียนบ้านใหม่ ตำบลเวียง อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า การเดินทางมาครั้งนี้ ต้องการมาเยี่ยมให้กำลังใจครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และมาติดตามสถานการณ์ดูว่า จะให้ความช่วยเหลือสถานศึกษาที่ถูกน้ำท่วมได้อย่างไร มีอะไรชำรุดและเสียหายบ้าง เพื่อจะได้จัดหางบประมาณมาดูแลหลังน้ำลดอย่างเต็มที่ และได้มอบหมายให้หน่วยงานเร่งให้การช่วยเหลือสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.)ให้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามเหตุน้ำท่วมของสถานศึกษา ส่วน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ให้นำศูนย์บริการช่วยเหลือประชาชน (Fix it Center) ออกบริการช่วยเหลือประชาชนตามบ้านเรือนและสถานศึกษาที่ถูกน้ำท่วม พร้อมตั้งครัวชั่วคราวประกอบอาหารแจกจ่ายประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมด้วย อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมครั้งนี้ ซึ่งไม่ใช่น้ำป่า แต่เป็นน้ำที่ไม่มีป่า ดังนั้น พวกเราทุกคนมีหน้าที่ดูแล รักษาและหวงแหนป่า เมื่อเราปกป้องป่า เมื่อนั้นป่าและธรรมชาติก็จะปกป้องเรา จากนั้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ก็เดินทางไปให้กำลังใจและติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ที่วิทยาลัยเทคนิคเทิง โรงเรียนเทิงวิทยาคม และโรงเรียนขุนตาลวิทยาคม

ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน และคณะผู้บริหาร ได้มอบถุงยังชีพให้กับโรงเรียน นักเรียนและครูที่ประสบอุทกภัย จังหวัดเชียงราย จำนวน 4 โรงเรียน รวม 421 ราย โดยมีนายอำเภอเทิง นายอำเภอขุนตาล เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศึกษาธิการจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงราย และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 1-4 ให้ข้อมูลด้านอุทกภัยและติดตามการลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยในถุงยังชีพประกอบด้วยสิ่งของเครื่องใช้ ยารักษาโรค และอาหารแห้ง ให้นักเรียนและครูที่ประสบภัยน้ำท่วม ให้กับ โรงเรียนบ้านใหม่ ต.เวียง อ.เทิง สังกัด สพป.เชียงราย เขต 4 และมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 60 ราย (นักเรียน 49 ราย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 11 ราย) จากนั้นเดินทางไปที่โรงเรียนเทิงวิทยาคม ต.เวียง อ.เทิง สังกัด สพม.เชียงราย ได้มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 315 ราย (นักเรียน 261 ราย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 54 ราย) และเดินทางไปยังจุดรวมพลมอบของช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ณ โรงเรียนขุนตาลวิทยาคม สังกัด สพม.เชียงราย ได้มอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 2 โรงเรียน รวม 46 ราย ได้แก่ โรงเรียนขุนตาลวิทยาคม จำนวน 20 ราย (นักเรียน 15 ราย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 5 ราย) และโรงเรียนบ้านห้วยห้อม (ราษฎร์สามัคคี) เป็นนักเรียน จำนวน 26 ราย และเดินทางไปตรวจเยี่ยมวิทยาลัยเทคนิคเทิง ต.เวียง อ.เทิง ได้พบปะคณะครูและนักศึกษาของวิทยาลัยเพื่อให้ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานศูนย์บริการช่วยเหลือประชาชน (Fix it Center) อย่างเต็มกำลังความสามารถ

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ตนได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย รวมถึงติดตามสถานการณ์ภัยอื่นๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาเป็นผู้นำหลักในการประสานงานดูแลให้ความช่วยเหลือโรงเรียน นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้สถานศึกษาปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้ พร้อมทั้งประสานงานกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและจังหวัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และให้วิเคราะห์ความเสี่ยงในการเดินทางของนักเรียนโดยเน้นความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ รวมทั้งให้จัดเตรียมที่พักพิงในกรณีจำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย และสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สพฐ. – กองทัพเรือ จัดกิจกรรมแสดงผลงานวัฒนธรรมเทิดพระเกียรติฯ 72 พรรษา

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการจัดงานมหกรรมนำเสนอผลงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา “สพฐ. – ราชนาวี ภักดีองค์ราชันย์” โดยมี พลเรือเอก กำจร เจริญเกียรติ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ พลเรือตรี ภาณุพันธุ์ ทรัพย์ประเสริฐ ผู้บัญชาการฐานทัพเรือกรุงเทพ ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ  ได้แก่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษา รมว.ศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ นายสุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุรินทร์ มั่นประสงค์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมด้วยศิลปินแห่งชาติ ผู้บริหาร ครู อาจารย์ นักเรียน เข้าร่วม ณ หอประชุมเบญจนฤมิตร สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เนื่องด้วยในปี พ.ศ. 2567 นี้ เป็นปีมหามงคลของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ 72 พรรษา กระทรวงศึกษาธิการจึงเห็นเป็นโอกาสอันดีที่ผู้บริหาร ครู และนักเรียน ตลอดจนบุคลากรในสังกัด จะได้มีโอกาสแสดงศักยภาพผ่านการนำเสนอผลงาน และความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ และ Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญประการหนึ่งที่รัฐบาลให้การส่งเสริม และที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นการรวมพลังของเยาวชนไทยในการจัดกิจกรรมเพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเจริญพระชนมพรรษา 72 พรรษา โดยมีนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับ โรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ ซึ่งเป็นสถานศึกษาเฉพาะทางด้านดนตรีในสังกัดกองทัพเรือ มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนให้แก่เด็กและเยาวชนในระดับเทียบเท่ากับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดการแสดงผลงานและแสดงศักยภาพทางด้านดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฏศิลป์ โขน คีตะมวยไทย และภาพยนตร์สั้น

“การจัดกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นโอกาสอันดีที่นักเรียน รวมถึงบุคลากรในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และนักเรียนโรงเรียนดุริยางค์ทหารเรือ สังกัดกองทัพเรือ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนเยาวชนไทยทั่วประเทศ จำนวน 1,150 คน ได้ร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยการแสดงวันนี้ ประกอบด้วย องก์ที่ 1 สืบสาน รักษา องก์ที่ 2 ต่อยอด และ องก์ที่ 3 ครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”รมว.ศึกษาธิการกล่าว

สอศ. จับมือ 32 สถานประกอบการ ผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง รองรับอุตสาหกรรมใหม่ในพื้นที่ EEC”

วันที่ 30 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือยกระดับและขยายเครือข่ายความร่วมมือการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง รองรับความต้องการในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ตอบสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมี นายนิทัศน์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กล่าวรายงาน ทั้งนี้ มีนายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี นายพีระ สุนทรรัตน รองศึกษาธิการจังหวัดชลบุรี Mr.Ma Haiyang ประธานกรรมการ บริษัท ไอออนออโตโมบิลเซลส์(ประเทศไทย) จำกัด Mr. Huang Yongjie ประธานกรรมการ บริษัท เชเลิฟอินเตอร์เนชั่นแนลเอ็ดดูเคชั่นกรุ๊ป จำกัด นางสาววรรณวิษา หอมยามเย็น ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสตีลเคเบิลจำกัด(มหาชน) ผู้บริหารสถานประกอบการ ผู้บริหารสถานศึกษาจังหวัดชลบุรี คณะครู นักศึกษา เข้าร่วม ณ หอประชุมคมสันวิทยาคาร วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี

นายยศพล  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ดำเนินความร่วมมือยกระดับและขยายเครือข่ายความร่วมมือการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง รองรับความต้องการในเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ตอบสนองนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้มอบหมายให้ตนในฐานะเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือในวันนี้ จากนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ มุ่งหวัง พัฒนาสถานศึกษาให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นและศรัทธาจากผู้เรียนและผู้ปกครอง และให้สถานศึกษาดำเนินการตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยจัดสภาพแวดล้อมการเรียนให้เหมาะสม สนับสนุนการจัดการศึกษาทวิภาคี เพื่อส่งเสริมผู้เรียนอาชีวศึกษาได้รับทักษะ ที่ตรงกับความต้องการของภาคสถานประกอบการ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรต่างๆ เรียนรู้ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสบการณ์ในการฝึกอาชีพ ตอบโจทย์ให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ หรือ Learn to Earn

“การดำเนินงานในวันนี้ จึงเป็นโอกาสที่ร่วมกันเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนและยกระดับอาชีวศึกษาให้มีสมรรถนะสูงซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น 12 อุตสาหกรรมใหม่ หรือในหลายอุตสาหกรรม ซึ่ง สอศ. ในฐานะองค์กรที่ผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสู่ตลาดแรงงาน “ขอยืนยันว่าจะมุ่งมั่นผลิตพัฒนากำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูงให้กับผู้ประกอบการ ทั้งในพื้นที่ EEC และทั่วประเทศ นำทรัพยากรที่ได้จากการสนับสนุนของภาคประกอบการในวันนี้ ซึ่งนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ จะได้เรียนรู้วิทยาการเทคนิคสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้รับทั้งห้องเรียนปฏิบัติการ และรถยนต์ EV ให้มีความรู้ความสามารถ พร้อมเป็นกำลังคนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และเกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนกำลังคนอาชีวศึกษา จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน ผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา สร้างรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ กล่าว

ด้านนายนิทัศน์ กล่าวว่า วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ยกระดับและขยายเครือข่ายความร่วมมือการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูง ระหว่าง วิทยาลัยเทคนิคชลบุรี กับ กลุ่มสถานประกอบการ ด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ จำนวน  9 แห่ง และ กลุ่มสถานประกอบการที่ร่วมมือจัดการศึกษาระบบทวิภาคีภายใต้รูปแบบ EEC Model Type A จำนวน 32 แห่ง และรับมอบห้องปฏิบัติการและครุภัณฑ์ทางการศึกษา พร้อมมอบโล่เชิดชูเกียรติสถานประกอบการที่ทำคุณประโยชน์ จำนวน 26 แห่ง โดย วท.ชลบุรี พร้อมขับเคลื่อนเพื่อผลิตและพัฒนากําลังคนอาชีวศึกษา ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมระดมทรัพยากร พัฒนาการเรียนสอน พัฒนาหลักสูตร ขับเคลื่อนการจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีคุณภาพสูง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในขับเคลื่อน ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ และ สอศ. และบรรลุสู่เป้าหมายความสําเร็จต่อไป

 

“สภาการศึกษา” ส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้ทุกจังหวัด สานต่อการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมสภาการศึกษา ครั้งที่ 3/2567 โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการสภาการศึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมประชุม ณ ห้องกำแหง พลางกูร ชั้น 3 อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งเป็นการประชุมในรูปแบบผสมผสานระหว่างการประชุมออนไลน์และออนกราวด์

โดยคณะกรรมการสภาการศึกษาได้เห็นชอบเรื่อง ดัชนีการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประเทศไทย พ.ศ. 2567 เสนอให้หน่วยงานภาครัฐร่วมมือกับเอกชนและประชาชนในพื้นที่ส่งเสริมให้เกิดเมืองแห่งการเรียนรู้ในแต่ละจังหวัดของประเทศ รวมทั้งสร้างทักษะชีวิตให้เด็กวัยเรียน เตรียมความพร้อมในการจัดการแก้ปัญหาและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างเหมาะสม หน่วยงานทางการศึกษาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรด้านการเงินตั้งแต่ในวัยเรียน เช่น การเรียนรู้เรื่องภาษี การลงทุน และการเสริมสร้างวินัยการออม สถานศึกษาส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะในการดำรงชีวิตผ่านการพัฒนาทักษะ ความรู้ ทัศนะคติ และคุณค่าที่ดีต่อตนเองและสังคม เพื่อมุ่งสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมอบ สกศ. ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ อาทิ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ นำไปใช้ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้  สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปใช้ในการศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการจัดทำแผนพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 14 ประเด็นกรเรียนรู้ตลอดชีวิต สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) นำไปใช้เป็นตัวชี้วัดในการดำเนินงานขององค์กร ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้แจ้งความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้

1) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการดำเนินงานธนาคารหน่วยกิตระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2567 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567

2) ความก้าวหน้าในการเตรียมการนำร่องชุดทักษะที่จำเป็น (Essential Skills Set) สำหรับเด็กและเยาวชนไทย มีสถานศึกษาที่ตอบตกลงเข้าร่วมนำร่อง 71 แห่ง และจะมีการจัดกิจกรรมแฮกกาธอน(Hackathon) สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา เป็นการแข่งขันแก้ปัญหาที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะ

3) สกศ. ได้ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการลดภาระค่าใช้จ่ายสถานศึกษาและเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ได้แก่ การลดภาระค่าไฟฟ้าในสถานศึกษา การเพิ่ม “สถานศึกษา” เป็นผู้รับบริการเฉพาะ การแยกค่าไฟฟ้าออกจากเงินอุดหนุนรายหัว เปลี่ยนอุปกรณ์ที่ส่งผลต่อค่าไฟฟ้า การออกมาตรการจูงใจทางภาษีสำหรับผู้บริจาคเพื่อการศึกษา เป็นต้น

4) ผลการประเมินคุณภาพการศึกษาระดับจังหวัดของประเทศไทย ปีงบประมาณ 2565 – 2567 พบว่า ประเทศไทยมีคุณภาพการศึกษาในภาพรวมอยู่ในระดับพอใช้ทุกปีงบประมาณ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรสนับสนุนให้เกิดการกระจายอนาจการบริหารและการจัดการศึกษาไปยังคณะกรรมการและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษาโดยตรงสำหรับ สกศ. ควรดำเนินการกำหนดนโยบายการศึกษาที่สร้างเป้าหมายชีวิตของมนุษย์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมให้ดียิ่งขึ้น

5) การขับเคลื่อนงานกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน ได้ขยายผลการพัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ การขอเพิ่มเติมเกณฑ์การรับรองคุณวุฒิในประเทศของสนักงาน ก.พ. ให้เป็นไปตามกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ และการศึกษาแนวทางการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทยและกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียนกับระบบคุณวุฒิของสาธารณรัฐประชาชนจีน

6) ความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอเข้าครม.

7) ร่างแผนแม่บทการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์จะเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง และสร้างจิตสำนึกในความเป็นไทยต่อไป

8) ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพโครงการประชุมโต๊ะกลมไทย – รัสเซีย ครั้งที่ 5 เรื่อง ความร่วมมือด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษและวิจัย (The Fifth Russia-Thai Roundtable (RTRT) : Collaboration on Gifted Education and Research) ในรูปแบบออนไลน์ กำหนดการจัดประชุมในช่วงเดือนกันยายน 2567 ณ กรุงเทพมหานคร

9) การส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัด 9 จังหวัดนำร่อง (แม่ฮ่องสอน ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นราธิวาส สระแก้ว ชัยนาท สระบุรี) จะสรุปผลการดำเนินงานและถอดบทเรียนการจัดทำแผนการศึกษาจังหวัดเพื่อเป็นต้นแบบและขยายผลให้จังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

10) กระทรวงศึกษาธิการจะกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในระดับจังหวัดรับผิดชอบแผนยุทธศาสตร์ และการบูรณาการการจัดการศึกษาพิเศษเพื่อรับประกันว่าคนพิการทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ

11) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบแผนและร่วมขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมและจิตอาสา และแต่งตั้งคณะทำงานติดตามและประเมินผล เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการติดตามข้อมูลการนำแผนฯ สู่การปฏิบัตต่อไป

ทั้งนี้ บอร์ดสภาการศึกษาจะมีการติดตามการดำเนินงานโครงการต่าง เพื่อสานต่อการขับเคลื่อนการศึกษาของชาติต่อไป

เด็กอาชีวะฐานวิทย์ คือ ความหวังของชาติ ไม่ใช่แค่ช่างเทคนิค แต่เป็นนวัตกร

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติ​หน้าที่​โฆษก​กระทรวง​ศึกษาธิการ​ เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 (The 9th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project) ระหว่างวันที่ 27-30 สิงหาคม ที่ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์ วิว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งความก้าวหน้าที่สำคัญของอาชีวศึกษา​ โดยเฉพาะในสาขาที่เป็นฐานวิทยาศาสตร์ ที่มีงานทางวิชาการ มีการแสดงการแข่งขันนวัตกรรมที่เป็นผลงานของนักเรียนนักศึกษา ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้มีผู้เข้าแข่งขันจากนานาประเทศ โดยมีประเทศไทย คือ สอศ. เป็นเจ้าภาพหลัก และมีคู่แข่งที่สำคัญ คือ สิงคโปร์ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ซึ่งเด็กไทยโชว์​ฝีมือ​ได้ดีมาก สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศในประเภทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ Applied Science การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์สู่การผลิตเช่นนวัตกรรมอาหาร ขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติหรือการจัดทำอุปกรณ์เพื่อความสะดวกเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันแข่งขัน และได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย​ นับเป็นการจุดประกายให้สังคมได้เห็นถึงความก้าวหน้าของการอาชีวะของไทย​ ว่า วันนี้อาชีวศึกษาไม่ใช่เฉพาะเรื่องของการเป็นช่างเทคนิค​ ไม่ใช่เรื่องการเป็นของช่างซ่อมบำรุง​เท่านั้น​ แต่อาชีวศึกษายังเป็นนักนวัตกรรมอีกด้วย

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า โครงการฐานวิทยาศาสตร์เป็นอีกมิติหนึ่งของอาชีวศึกษา ที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน​ ชิด​ชอบ​รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการให้เกิดการพัฒนาเด็กในทุกมิติ​ ไม่ว่าจะเป็นสายสามัญ หรือสายอาชีวศึกษาให้เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการศึกษา คือ จบแล้วสามารถหางานได้ เลี้ยงดูตัวเองได้​ จึงจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพของเด็กไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทักษะ เรื่องของภาษาเพื่อที่จะให้เด็กอาชีวะของเราพร้อมก้าวเข้าสู่การทำงานในตลาดโลก

“ขอฝากให้กำลังใจน้อง​ ๆ​ ทุกคนในโครงการฐานวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นโครงการที่สร้างชื่อเสียงให้คนไทย​ ในการประกาศให้ประเทศต่าง​ ๆ​ ได้ทราบว่าอาชีวศึกษาของไทยไม่ได้ด้อยในเรื่องทักษะฝีมือ นวัตกรรม และฝากถึงน้อง​ ๆ ที่กำลังตัดสินใจอนาคตด้วยว่า​ อาชีวศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างชาติ ผู้เรียนสามารถหารายได้ มีอาชีพและเป็นการเรียนที่เหมาะสำหรับการเป็นผู้ประกอบการ มีรูปแบบ​การเรียนที่หลากหลาย ทั้งอาชีวศึกษาทวิภาคี อาชีวศึกษาทวิศึกษา อาชีวศึกษาทวิวุฒิ และเป็นที่น่ายินดีที่อาชีวศึกษาทวิภาคีมีผู้เรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย​ ๆ โดยในปีที่ผ่านมาเติบโตขึ้นถึง 70%” นายสิริพงศ์​ กล่าว

ทั้งนี้ สํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้งโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยี ฐานวิทยาศาสตร์ (Science-Based Technology College :SBTC) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เพื่อผลิตกําลังคนที่ มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี หรือสร้างนวัตกรรม ซึ่งเปรียบเสมือนหัวรถจักร ของอาชีวศึกษา ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถ ในการแข่งขันในระยะยาวให้กับภาคการผลิตและบริการ ยกระดับการเรียนในสายวิชาชีพให้สอดคล้อง กับโลกดิจิทัล โดยจะเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ในงานอาชีพและชีวิตประจําวัน

การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ เป็นการส่งเสริม และสร้างเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมทักษะให้กับนักเรียน นักศึกษา และสถานศึกษากับต่างประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตพัฒนากําลังคน ในด้านวิชาชีพ และผู้มีความสามารถพิเศษทางอาชีวศึกษา อีกทั้งเป็นการเปิดเวทีเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมและงานวิจัยในระดับนานาชาติ เผยแพร่ความก้าวหน้าของการนําเสนอโครงงานในระดับนานาชาติ ในรูปแบบ Oral Presentation และ Poster Presentation โดยนักเรียน/ นักศึกษาในโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 แห่ง และนักเรียนนักศึกษาจากต่างประเทศ โดยนักเรียนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.3) และนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.2)

โดยในปีการศึกษา 2567 มี ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติ โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ ครั้งที่ 9 (The 9th International Convention on Vocational Student’s Innovation Project) จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่  สาธารณรัฐประชาชนจีน  สาธารณรัฐเกาหลี  สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศญี่ปุ่น และ​ ประเทศไทย
ที่มี 6 สถานศึกษา คือ   วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี   วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลําพูน  วิทยาลัยเทคนิคพังงา และ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา โดยมีจํานวนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 462 คน มีผลงานนวัตกรรมเข้าร่วมนําเสนอ 90 ผลงาน แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ  ประเภท Engineering จํานวน 49 ผลงาน และ ประเภท Applied Science จํานวน 41 ผลงาน

 

สมศ. ปลื้มผลตอบรับรอบประเมินแรกปี 67 โรงเรียน “พอใจการประเมินแบบใหม่” ยกผู้ประเมินให้ข้อเสนอแนะตรงบริบท เติมเต็มความโดดเด่นสถานศึกษาได้รอบด้าน

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 – สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เผยผลตอบรับจากสถานศึกษาที่เข้ารับการประกันคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ดีเกินเป้า ช่วยลดภาระสถานศึกษา ลดการใช้เอกสาร ลดพิธีการต้อนรับได้จริง พร้อมปลื้มสถานศึกษาสะท้อนบทบาทถึงผู้ประเมินภายนอกที่มีความเป็นกัลยาณมิตร ไม่ตัดสิน ไม่จับผิด และให้คำแนะนำที่สอดคล้องตามบริบท ปฏิบัติได้จริง อีกทั้งยังเชิญชวนสถานศึกษาเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาเพื่อคำแนะนำที่ถูกต้องและนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกับโชว์ตัวอย่างจากโรงเรียนที่เข้ารับการประเมินในรอบล่าสุด คือโรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม ที่ได้นำข้อแนะนำจากการประเมินไปปรับใช้ทันที และพบว่าหลายทักษะและตัวชี้วัดด้านการเรียนการสอนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างจุดเด่นให้กับสถานศึกษาได้หลากหลายประเด็น

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) กล่าวว่า การประกันคุณภาพภายนอกรอบนี้ สมศ. ได้นำปัญหาและเสียงสะท้อนจากการประเมินในรอบที่ผ่านมา มาปรับปรุงแก้ไขอย่างจริงจัง ทั้งในเรื่องการมุ่งลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ลดการใช้เอกสาร และงดพิธีการต้อนรับต่างๆ ต่อเนื่องถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการประเมินที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ และมุ่งเน้นประเมินเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) ไม่มีการตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันที่การประเมินคุณภาพภายนอกใกล้เสร็จสิ้น ถือว่ามีผลตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจมาก ทั้งในเรื่องการตกแต่งสถานที่ต้อนรับ การจัดพิธีการต่าง ๆ ก็ลดลงไปมากกว่า 60% ส่วนเสียงสะท้อนที่ดีที่สุดคือ เรื่องความเป็นกัลยาณมิตรและการให้คำแนะนำในเชิงบวกของผู้ประเมินภายนอก ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ให้ความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าผู้ประเมินภายนอกมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และมีการศึกษาบริบทของสถานศึกษามาเป็นอย่างดี  ทำให้ผู้ประเมินภายนอกสามารถให้คำแนะนำกับสถานศึกษาได้อย่างสอดคล้องกับบริบท ตรงจุด เข้าใจง่าย สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง และในบางข้อเสนอแนะ สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ในทันที  ซึ่งส่วนนี้เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะช่วยผลักดันให้สถานศึกษาขอรับการประกันคุณภาพภายนอกในจำนวนที่มากขึ้น

“สมศ. ขอเน้นย้ำกับสถานศึกษาอีกครั้งว่า การประเมินในครั้งนี้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ไม่ตัดสินผลว่าผ่านหรือไม่ผ่าน แต่เป็นการมาช่วยดูว่าจุดเด่นของสถานศึกษาคืออะไร เพื่อพัฒนาต่อยอดอย่างไรให้ดียิ่งขึ้น และมีจุดที่ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง ฉะนั้นไม่ต้องกลัวหรือกังวลที่จะสะท้อนความจริงเพื่อให้ผู้ประเมินภายนอกได้รับทราบปัญหาที่แท้จริง สำหรับการวางแผนร่วมกันแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสถานศึกษาและผู้เรียน โดยตรง” ดร.นันทา กล่าว

ด้าน นายเกรียงไกร นามทองใบ รองผู้อำนวยการโรงเรียนปลาปากวิทยา จังหวัดนครพนม กล่าวว่า โรงเรียนปลาปากวิทยาเข้ารับการประกันคุณภาพภายนอกมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 ซึ่งพบว่าแตกต่างจาก 4 ครั้งที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยรอบที่ผ่านมาจะเน้นไปที่การชี้ข้อบกพร่องต่างๆ ทำให้รู้สึกคล้ายถูกจับผิดแต่สำหรับครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นกัลยาณมิตรมากขึ้น ผู้ประเมินให้ความเป็นกันเองและให้คำแนะนำในเชิงบวก เช่น สิ่งนี้สถานศึกษาทำดีอยู่แล้ว แต่ยังสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่กดดัน ส่วนเรื่องการเตรียมตัวเพื่อเข้ารับการประกันคุณภาพภายนอก ทางโรงเรียนไม่ได้ต้องเตรียมการอะไร เนื่องจากโรงเรียนมีการทำงานที่เป็นระบบอยู่แล้ว อีกทั้งตัวชี้วัดจากการประกันคุณภาพภายนอกก็ไม่ต่างจากการประเมินรางวัลโรงเรียนคุณภาพ (OBEC QA) ที่โรงเรียนพึ่งมีการประเมินไปก่อนหน้า การประกันคุณภาพภายนอกจึงเพียงแค่นำงานที่มีอยู่มาจัดทำข้อมูลให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดเท่านั้น

นายเกรียงไกร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การประกันคุณภาพภายนอกในครั้งนี้ ผู้ประเมินภายนอกให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า โรงเรียนมีจุดเด่นเรื่องหลักสูตรท้องถิ่นที่เกี่ยวกับการทำผ้าลายคราม ซึ่งมีการทอผ้าและออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้ว และยังสามารถนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกตามนโยบาย Learn to Earn นอกจากนี้ก็มีเรื่องการพัฒนาห้องเรียนพิเศษ เช่น ยกระดับกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเพื่อการศึกษาแบบบูรณาการ (English Integrated Study) ให้เป็นคลาสที่สูงกว่า อย่างจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เน้นการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่น้อยกว่า 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (Mini English Program) หรือเพิ่มห้องเรียนพิเศษเฉพาะหลักสูตรอื่นๆ เช่น ห้องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์นั้น ทางโรงเรียนได้ส่งโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าแข่งขันและได้รับรางวัลทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งทางผู้ประเมินภายนอกเล็งเห็นว่าเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงเรียนที่สามารถพัฒนาให้เป็น Best Practice ได้ จึงให้คำแนะนำว่า ควรมีการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงงาน วิธีการดำเนินการ และขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนสำเร็จเป็นโครงงานนั้นๆ และจัดทำในรูปแบบข้อมูลสารสนเทศที่สะดวกในการเผยแพร่และเข้าถึง เพื่อเป็นตัวอย่างให้โรงเรียนอื่นๆ เข้ามาศึกษาและสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับโรงเรียนของตนเอง

“การประกันคุณภาพภายนอกโดย สมศ. จะแตกต่างจากการประกันคุณภาพภายในตรงที่ การประกันคุณภาพภายในเราเห็นแค่มุมมองของตัวเองเฉพาะบางเรื่อง แต่การประกันคุณภาพภายนอกของ สมศ. จะมองแบบภาพรวม เปรียบเหมือนกระจกที่ช่วยสะท้อนให้เห็นตัวเองในมุมมองที่ต่างออกไป ทำให้เราเห็นข้อดี ข้อด้อยของตัวเองชัดเจนขึ้น อีกทั้งยังมองตามบริบทของสถานศึกษาจริงๆ มองในสิ่งที่เราถนัด ประเมินตามสิ่งที่เราถนัด พร้อมให้คำแนะนำเพิ่มเติมช่วยให้เราเห็นทั้งจุดเด่นที่ควรส่งเสริมให้เป็น Best Practice จุดที่ต้องเติมเต็ม และจุดอ่อนที่ควรปรับปรุงแก้ไข ทำให้โรงเรียนสามารถเข้าใจบริบทของตัวเองและมีแนวทางที่ชัดเจนในการต่อยอดพัฒนาสถานศึกษาและพัฒนาผู้เรียนต่อไป” นายเกรียงไกร กล่าว

ศธ.ห่วงสถานการณ์น้ำท่วม สั่งติดตามดูแลความปลอดภัย นักเรียน ผู้ปกครอง และบุคลากรใกล้ชิด 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนมีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เป็นอย่างมาก จึงได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยติดตามข่าวสารและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการอพยพได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้หากจำเป็นต้องประกาศปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ก็ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนดำเนินการทันที ในส่วนของพื้นที่ใดหากมีรายงานว่าน้ำกำลังมาก็ขอให้เตรียมแผนรับมือกับสถานการณ์น้ำหลากให้เหมาะสม แต่ทั้งนี้ขอให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก

“พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และผมมีความห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอกำชับให้สถานศึกษาทุกสังกัดรวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมในครั้งนี้ โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดูแลช่วยเหลืออย่างทันท่วงที โดยในระยะเร่งด่วนให้ดูแลเรื่องอาหาร ที่พัก รวมถึงการจัดส่งเรือเพื่อมอบถุงยังชีพ ตามสถานศึกษา บ้านพักครู หรือบ้านเรือนของนักเรียน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น ส่วนในระยะยาว หากพื้นที่ไหนที่ปลอดภัยแล้วให้สำรวจความเสียหายของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ของโรงเรียนในสังกัด จากนั้นให้แจ้งผ่านไลน์กลุ่ม “ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย” สพฐ. เพื่อพิจารณาในการให้การช่วยเหลือต่อไป” รมช.สุรศักดิ์ กล่าว

นายสุรศักด์ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นได้รับข้อมูลสถานการณ์สถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัยจากศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังเพื่อช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย ของ สพฐ. ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่า มี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 31 เขต โดยเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.)  22 เขต และ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.)  9 เขต  มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบ 238 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับผลกระทบ  4,857 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบ 759 คน รวม นักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่ได้รับผลกระทบจำนวน 5,616 คน ซึ่งเบื้องต้น สพฐ. ได้ช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้นด้วยการมอบถุงยังชีพไปแล้ว

“ธนุ” รับถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ขานรับ ASED “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” เดินหน้าใช้ ICT-AI จัดการศึกษา สั่งลดการใช้เอกสารกระดาษให้เป็นศูนย์  

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ( ASED ) ครั้งที่ 13 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ ( Joint Statement of the 13th ASEAN Education Ministers Meeting ) และเน้นย้ำการดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษา รวมถึงการตอบสนองต่อความท้าทายต่าง ๆ ของโลกที่จำเป็นต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้นำถ้อยแถลงร่วมบุรีรัมย์ มากำหนดทิศทางการบริหารและการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล และการดำเนินนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยเบื้องต้นในระยะเร่งด่วนที่ทำทันที คือ ลดการใช้เอกสารกระดาษให้เป็นศูนย์ ซึ่งตนได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทั่วประเทศ และหน่วยงานของ สพฐ.ในส่วนกลาง ลดการใช้เอกสารกระดาษ โดยเปลี่ยนจากเอกสารกระดาษหันมาใช้ระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยในการจัดการเอกสารมากยิ่งขึ้น ยกเว้นเรื่องที่สำคัญจำเป็นต้องใช้เอกสารกระดาษอยู่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรแล้ว ยังช่วยลดภาระในการจัดเก็บเอกสารของครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้วย

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดการเรียนการสอน นั้น ที่ผ่านมา สพฐ.ได้จัดอบรม ส่งเสริม สนับสนุนยกระดับสมรรถนะทักษะด้านดิจิทัล ให้ครูมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในการเรียนการสอน และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ให้แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาแล้ว ซึ่งเห็นศักยภาพของการจัดการศึกษาและศักยภาพของนักเรียน ได้จากผลงานของโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ที่นำไปร่วมแสดงในส่วนของการจัดนิทรรศการด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” เช่น บูธจากโรงเรียนบ้านหนองนาเวียง จ.ศรีสะเกษ แสดงผลงานโรงเรียนขนาดเล็กศักยภาพสูง ที่พลิกโฉมแนวทางการบริหาร ยกระดับสู่การเป็นโรงเรียนคุณภาพระดับสากล บูธจากโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ แสดงการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำโดยบูรณาการการเรียนรู้ STEAM เน้นการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ และการนำเสนอเครื่องมือ SMART BOX ซึ่งเป็นเครื่องมือฝึกทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะดิจิทัล บูธจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ แสดงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนผู้พิการทางการได้ยิน  บูธจากโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง กรุงเทพฯ แสดงรูปแบบการเรียนรู้ แบบผสมสานและยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม เอื้อต่อการเรียนรู้ Anywhere Anytime และบูธจากเครือข่ายโรงเรียน DLTV IDL และกลุ่มโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ที่แสดงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) การจัดการศึกษาทางไกลแบบสื่อสารสองทาง การจัดการเรียนรู้ด้วย Digital Technology เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากประเทศต่างๆที่เข้าชมนิทรรศการ และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ฝากคำขอบคุณไปยังครู บุคลากรทางการศึกษา ตลอดจนนักเรียน และผู้ปกครอง ที่ร่วมทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่ดี  ทั้งนี้ สพฐ.จะพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอน ที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น.