“เพิ่มพูน” เปิดงานสัมมนาวิชาการสกศ. “ย้ำ”นโยบายหลัก2เรื่อง คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ฉลาดรู้-ฉลาดคิด-ฉลาดทำ

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานการประชุมสัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” จัดโดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา โดยมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา เข้าร่วม ณ ห้องอัมรินทร์ ฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมเอส ดี อเวนิว เขตบางพลัด กรุงเทพฯ กว่า 250 คน  ว่า  นโยบายของศธ. แบ่งเป็น 2 ข้อหลัก คือ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต โดยแบ่งเป็น 2 เรื่องหลัก คือนโยบายที่เน้นหนักในการทำงาน และนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการ เมื่อกล่าวถึงนโยบายที่ต้องเร่งดำเนินการและดำเนินการไปแล้ว มีความสอดคล้องกับการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ ดังนี้ 1.การเป็นผู้เรียนรู้ มีทักษะการเรียนรู้ มีสมรรถนะ จะสอดคล้องกับการดำเนินนโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ, การขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA เป็นต้น 2.การส่งเสริมความเป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นผู้มีทักษะทางปัญญา ทักษะศตวรรษ ที่21 สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาระบบการศึกษา “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา“ และ 3.พลเมืองที่เข้มแข็ง เป็นผู้มีความรักชาติ รักท้องถิ่น รู้ถูกผิด มีจิตสำนึกเป็นพลเมืองไทยและพลโลก มีจิตอาสา มีอุดมการณ์และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชาติ โดยที่ผ่านมา ศธ.ได้ลงนาม MOU การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สร้างจิตสำนึกความเป็นไทย ระหว่าง 4 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย (มท.)  กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ตนอยากมีเครือข่ายมาร่วมพัฒนาการศึกษา เพื่อร่วมกันพัฒนาให้เด็กฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ คือ รู้ในสิ่งที่ควรจะรู้ เมื่อรู้แล้วรู้จักคิดให้ได้ และหลังจากรู้และคิดได้ ควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ และการศึกษาก็จะดีขึ้น ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา( สกศ.)จะต้องเป็นหลักในการดำเนินงาน เพื่อให้การศึกษาของประเทศไทยมีมาตรฐานเดียวกัน

ขณะที่ นายสิริพงศ์ ได้ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กระทรวงศึกษาธิการกับการพัฒนากำลังคนตามมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่คนไทย 4.0” ว่า  สกศ.ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นมันสมองของ ศธ. มีความสำคัญในการกำหนดทิศทางการศึกษาของไทย ว่าควรจะไปทิศทางไหน และต้องพยายามสังเคราะห์ทฤษฎีต่างๆ ออกมาเป็นภาคปฏิบัติให้ได้ โดยอย่าทำแต่วิจัยและนำขึ้นหิ้งแบบหน่วยงานอื่น วันนี้ต้องคิดว่าทำอย่างไรงานวิจัย ไม่ใช่แค่วิชาการ แต่นำสู่การปฏิบัติได้จริงๆ และที่สำคัญ ศธ.ต้องไม่ลืมหน้าที่ของตน ว่า มีหน้าที่อะไร อย่าลืมว่า ศธ.มีหน้าที่สร้างคน  ผลิตพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ วันนี้นโยบายรัฐบาลมีจำนวนมาก เราอย่าไปหลงทาง หน้าที่เราคือสร้างคนให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง 1 ปีที่ผ่านมา ศธ. มีความก้าวหน้าในการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการให้นโยบายขับเคลื่อนเรื่องธนาคารหน่วยกิต เชื่อว่าถ้าทำได้เป็นรูปธรรมประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องการจัดการเรียนการสอนอย่างมาก นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำอาเซียนแท้จริง

ทั้งนี้งานสัมมนาในช่วงเช้ามีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “DOE Thailand How to สู่การปฏิบัติ” และการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การประเมินผลการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” จากนั้น ในช่วงบ่ายมีนิทรรศการวิชาการของหน่วยงานด้านการศึกษา 9 สังกัด ได้แก่ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กรมส่งเสริมการปกตครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (สนศ.กทม.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้งมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง “การพัฒนาผู้เรียนให้มีความฉลาดรู้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย 4.0” โดยผู้แทนจากหน่วยงานด้านการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันเป็นกำลังสำคัญที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิภาพ เป็น “คนไทย 4.0” ที่มีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเอง สังคม ประเทศชาติ และเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์ในอนาคต

“ยศพล – ชัชชาติ” จับมือเตรียมความพร้อมกำลังคนอาชีวศึกษาก่อนบรรจุเป็นข้าราชการสังกัด กทม.

เมื่อวันนี้ 28 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)  พร้อมด้วย นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ุ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมเตรียมความพร้อมกำลังคนอาชีวศึกษาผู้ผ่านการคัดเลือก ก่อนบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2567 (MOU รุ่นที่ 2) ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน จำนวน 12 ตำแหน่ง รวมทั้งสิ้น 539 คน โดย นายยศพล  กล่าวว่า ขอให้ทุกท่านภูมิใจในวิชาชีพและการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานคร จงใช้ความรู้ความสามารถที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรักษาไว้ซึ่งเกียรติของการเป็นข้าราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

ด้าน นายชัชชาติ กล่าวต้อนรับและให้โอวาทแก่ข้าราชการใหม่ ว่า ขอยินดีต้อนรับทุกคนนะครับ วันนี้เป็นวันที่ดีมากเลยที่เราได้เพื่อนร่วมงานใหม่เข้ามา ขอให้มีความสุขในการทำงาน อย่าไปเครียดนะ  และ ขอเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความไว้วางใจในการทำงาน มาจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ ความเก่งงานและการมีพฤติกรรมที่ดี

ทั้งนี้ การจัดกิจกรรมในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมความร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งถือเป็นเครือข่ายสำคัญในการผลิตบุคลากรให้กับกรุงเทพมหานคร อันจะนำไปสู่การสรรหาบุคคลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการ และคาดว่าจะมีการดำเนินโครงการในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาร่วมพัฒนากรุงเทพมหานครต่อไป

สำหรับตำแหน่งที่บรรจุครั้งนี้ ได้แก่
1. เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน จำนวน 39 อัตรา
2. เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีปฏิบัติงาน จำนวน 164 อัตรา
3. เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน จำนวน 114 อัตรา
4. เจ้าพนักงานสื่อสารปฏิบัติงาน จำนวน 2 อัตรา
5. นายช่างเครื่องกลปฏิบัติงาน จำนวน 21 อัตรา
6. นายช่างไฟฟ้าปฏิบัติงาน จำนวน 1 อัตรา
7. นายช่างเทคนิคปฏิบัติงาน จำนวน 1 อัตรา
8. นายช่างโยธาปฏิบัติงาน จำนวน 78 อัตรา
9. นายช่างสำรวจปฏิบัติงาน จำนวน 20 อัตรา
10. พนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปฏิบัติงาน จำนวน 91 อัตรา
11. นายช่างศิลป์ปฏิบัติงาน จำนวน 5 อัตรา
และ 12. โภชนากรปฏิบัติงาน จำนวน 3 อัตรา
(ในส่วนตำแหน่งนายช่างศิลป์ปฏิบัติงาน และโภชนากรปฏิบัติงาน เป็นตำแหน่งที่เพิ่มจากโครงการความร่วมมือคัดเลือกกำลังคนอาชีวศึกษาเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ครั้งที่ 1/2566 )
ซึ่งจะได้การบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครสามัญ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567

 

“อรรถพล”เผย ผอ.ใหญ่พิซาโลก แนะนำไม่ต้องสนใจค่าคะแนนทดสอบ ให้เน้นผลการวิเคราะห์ ที่จะเป็นลายแทงพาสู่การแก้ปัญหาและพัฒนาการศึกษาอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ที่ โรงแรมเอส ดี อเวนิว กรุงเทพฯ สำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการสัมมนาทางวิชาการ “การขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาของชาติสู่การปฏิบัติ เพื่อสร้างคนไทย 4.0” โดย ดร.ประวีณา อัสโย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ. กล่าวรายงานว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติ พ.ศ.2561  กำหนดกรอบผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ของการศึกษา (DOE) หรือ คุณลักษณะคนไทย 4.0 ที่ตอบสนองวิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศสู่ความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยคนไทย 4.0 จะต้องธำรงความเป็นไทยและแข่งขันได้ในเวทีโลก คือ เป็นคนดีมีคุณธรรม ยึดค่านิยมร่วมของสังคมเป็นฐานในการพัฒนาตนให้เป็นคนที่มีคุณลักษณะ 3 ด้าน เป็นผู้เรียนรู้ เป็นผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง โดยในการจัดการศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษายึดหลักการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาพบริบทของผู้เรียน พื้นที่ ชุมชนและสังคม รวมทั้งให้อิสระกับสถานศึกษาในการกำหนดอัตลักษณ์และทิศทางการจัดการศึกษาในการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ชุมชน และท้องถิ่น ไม่มีการตัดเสื้อโหลหรือบังคับปลาให้ปีนต้นไม่อีกต่อไป นอกจากนี้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาได้ใช้การวิจัยเป็นฐานการดำเนินการและใช้ยุทธศาสตร์การมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษารวม 16 หน่วยงาน ซึ่งในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการนำเสนอผลงานที่ปรากฏที่ผู้เรียนตาม DOE อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดการขยายผลในวงกว้างต่อไป

ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวเปิดการสัมมนาและ Exclusive Talk เรื่อง ชี้ทิศ คิดร่วมกัน สร้างสรรค์คนไทย 4.0 : DOE Thailand  ว่า มาตรฐานการศึกษาของชาติเป็นเรื่องสำคัญที่จะบอกมาตรฐานคนไทยในแต่ละช่วงชั้น การจัดการศึกษาก็เหมือนการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่จะต้องสร้างมาตรฐานคนไทย โดยการสอบอย่างเดียวไม่สามารถตอบโจทย์การวัดมาตรฐาน ขณะที่การเรียนการสอนก็เป็นการตอบโจทย์ในรายวิชา แต่มาตรฐานที่เกิดจากการจัดการศึกษาตามหลักสูตรจะบอกถึงมาตรฐานที่ชัดเจนว่า คนไทยจะต้องมีทักษะด้านดิจิทัล ทักษะการด้านการอ่าน ทักษะด้านการคิด และการนำไปใช้ ซึ่งทักษะเหล่านี้เกิดขึ้นจากการจัดการศึกษา เพราะฉะนั้นการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม คือ จะต้องมี National Test (NT) ไปทดสอบว่า การจัดการศึกษาไม่ว่าจะเป็นรายวิชา กิจกรรมในชั้นเรียน การเรียนนอกชั้นเรียน การบูรณาการสิ่งต่าง ๆ เข้ากับตัวผู้เรียนที่เหมาะสมกับช่วงวัยนั้น เข้ากับมาตรฐานช่วงชั้นนั้นอย่างไร   โดย NT จะเป็นแบบทดสอบที่จะเป็นการวิเคราะห์และทำให้เห็นว่าผู้เรียนเป็นอย่างไร เราจะสามารถพัฒนาคุณภาพการศึกษาในอนาคตได้อย่างไร โดยสภาการศึกษาจะมีการติดตามผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ แล้วนำผลการติดตามนั้นมาปรับให้สอดคล้องกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อน ภาวะโลกเดือด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงแนวทางการพัฒนามาตรฐานการศึกษาของชาติรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต โดยมีการเสนอคณะรัฐมนตรีว่า ในปีหน้ามาตรฐานของคนไทยที่ระบุว่า คนไทยต้องเป็นคนไทย 4.0 มีคุณลักษณะอย่างไร และต่อไปคนไทยยุคอัลฟาที่เติบโตมากับเทคโนโลยีต้องเป็นอย่างไร มีทักษะอะไร เพื่อตอบโจทย์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลง

“สิ่งที่สภาการศึกษาดำเนินการสามารถตอบโจทย์นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียนดี มีความสุข Anywhere Anytime ได้ โดยในการจัดการศึกษาจะต้องเติมเรื่องของนวัตกรรมเข้าไปด้วย ที่บอกว่าเด็กไทยจะต้องก้าวทันเทคโนโลยี 4.0 ก็ไม่ใช่แค่เรียนอยู่ในชั้นเรียนเท่านั้น ต้องมีการวัดภูมิปัญญาเด็ก โดยเครื่องมือวัดภูมิปัญญาก็เป็นนวัตกรรมหนึ่ง โดยสภาการศึกษาได้ดำเนินการวัดมาตรฐาน วัดแววเด็กแต่ละช่วงชั้น เพราะเด็กมีความแตกต่างในแต่ละระดับจากการบ่มเพาะเลี้ยงดูของผู้ปกครองหรือสภาพสังคม ซึ่งวิธีการนี้ก็จะเป็นนวัตกรรมหนึ่งที่จะตอบโจทย์เรื่องของเรียนดีมีความสุขได้ เพราะเมื่อเราจะสามารถกลับมาจัดการเรียนการสอนเฉพาะบุคคลได้ ทำให้เด็กได้เรียนในสิ่งที่ชอบ เรียนในสิ่งที่ใช่ ซึ่งสุดท้ายก็ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข”ดร.อรรถพลกล่าว

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวด้วยว่า จากการพูดคุยกับผู้อำนวยการใหญ่โครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment หรือ PISA) บอกว่า ในการทดสอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โอเน็ต วีเน็ต สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ควรให้ความสำคัญกับคะแนนที่ได้เพราะเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่ควรให้ความสนใจผลการวิเคราะห์มากกว่า เพราะจะเป็นตัวที่บอกว่า โรงเรียนนั้นอ่อนหรือขาดเรื่องอะไร เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ไม่ได้สอนให้เด็กนำไปใช้ หรือ วิชาคณิตศาสตร์ขาดเรื่องการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเมื่อรู้ผลของการวิเคราะห์แล้ว ทางโรงเรียนทั้งผู้บริหาร ฝ่ายวิชาการก็ต้องวางแผนและพัฒนาครูให้สอดคล้องกับแผน ซึ่งเมื่อเปิดเทอมครูก็จัดการเรียนการสอนตามแผนที่วางไว้ เด็กก็จะเกิดการพัฒนา และไม่เป็นการกดดันครูว่าสอนแล้วผลคะแนนที่ได้ต่ำ ซึ่งวิธีการนี้เป็นการบอกทิศทางการจัดการศึกษาและวิธีการปัญหาผู้เรียนในอนาคตได้

“คุรุสภา”พร้อมจัดประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 ภายใต้ หัวข้อ “การส่งเสริมการศึกษาให้มีความสุขและยั่งยืน” เน้นเป้าหมายสำคัญกับการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน

 เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา พร้อมด้วย ดร.สุดา สุขอ่ำ และ ผศ.ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ รองเลขาธิการคุรุสภา ร่วมแถลงข่าวการจัดงานประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 The 38th ASEAN Council of Teachers + Korea (ACT+1) Convention   ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวว่า ประเทศไทย โดยสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 ภายใต้หัวข้อ “Promoting Happy Schooling and Sustainability in Education “ วันที่ 6 – 8 ก.ย. 67  ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 900 คน จาก 10 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วย ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหพันธรัฐมาเลเซีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี

  ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าวต่อไปว่า การจัดประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 มีเป้าหมายสำคัญกับการศึกษาในภูมิภาคอาเซียน ที่จะร่วมมือกันในการทำงานที่ให้เกิดความรู้และความเข้าใจร่วมกันในเรื่องปรัชญา กิจกรรม วัฒนธรรมและจิตใจของชนชาวอาเซียน การส่งเสริมและให้ความร่วมมือกับประชาคมอาเซียน ในการดำเนินโครงการและแผนงานที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในด้านวิชาชีพครู การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อช่วยเหลือสมาชิกในการพัฒนากิจกรรมทางการศึกษา ที่มุ่งเน้นสนับสนุน ส่งเสริมจุดมุ่งหมาย และอุดมการณ์ของอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการศึกษา “เรียนดี มีความสุข” ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครองให้มีความสุขและยั่งยืน

ดร.สุดา  กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภาได้รับความร่วมมืออย่างดีจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 17 หน่วยงาน ประกอบด้วยศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาของซีมีโอ, บริษัท เอ็กซ์โปลิงค์ โกลบอล เน็ทเวอร์ค จำกัด, มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี, บริษัท ซีพี-เมจิ จำกัด, สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์, คณาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษา, สมาคมสหภาพครูแห่งชาติ, สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย, สมาคมครูสถานศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย,  สมาคมศึกษานิเทศก์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดเทศบาลแห่งประเทศไทย, สมาคมครูผู้สอนภาษาอังกฤษแห่งประเทศไทย,สมาคมรองผู้อำนวยการสถานศึกษาการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมแห่งประเทศไทย, สมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้บริหารหญิงโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย ที่จะเป็นผู้แทนประเทศไทยร่วมต้อนรับประเทศสมาชิกต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุม

ขณะที่ ผศ.ดร.พลรพี กล่าวว่า กิจกรรมสำคัญของการประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 เริ่มตั้งแต่การต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมระหว่างผู้นำองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน งานเลี้ยงต้อนรับ ซึ่งจะมีการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมไทย และในวันที่ 7 ก.ย. 67 จะมีพิธีเปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน  เป็นประธาน จากนั้นจะมีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “The Power of Happiness Towards Sustainable Education” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และการอภิปรายกลุ่ม (Panel Discussion) หัวข้อ “Transforming Teaching and Learning for Happiness and Sustainability” การนำเสนอรายงานประเทศ (Country Report) หัวข้อต่าง ๆ รวมทั้งการประชุมกลุ่มย่อย (Parallel Session) ที่น่าสนใจ รวมถึงการรับรองและลงนามมติที่ประชุมในครั้งนี้ พร้อมมอบธงสภาครูอาเซียน+1 ให้กับประเทศเจ้าภาพครั้งต่อไป ขอเชิญทุกท่านเข้าร่วมงานการประชุมสภาครูอาเซียน+1 ครั้งที่ 38 ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดในช่วงพิธีเปิดงานและการปาฐกถาพิเศษ ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ “คุรุสภา https://www.facebook.com/Khurusaphaofficial และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารที่สำคัญ รวมทั้งความเคลื่อนไหวของการประชุม ผ่านเว็บไซต์ https://act38.ksp.or.th/ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

แจ้งกำหนดการพิธีรับพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567  ตามที่ มหาเถรสมาคม(มส.) มีมติที่ 603/2567 ลงเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 เลขาธิการมหาเถรสมาคม เสนอว่า ราชเลขานุการในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีหนังสือ ที่ พว 0202.2/12216 ลงวันที่ 21 กรกฏาคม 2567 แจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดให้แต่งตั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ให้ดำรงตำแหน่ง “เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ” และ บัดนี้ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม 2567 พร้อมกับทรงมีพระบัญชาให้นำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อทราบ ซึ่งที่ประชุมรับทราบ มอบให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

พร้อมกันนี้ ศิษยานุศิษย์ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ได้แจ้งกำหนดการพิธีรับพระบัญชาแต่งตั้ง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม(มส.) ) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2567  เวลา 16.00 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์)จึงแจ้งศิษย์ยานุศิษย์สมเด็จพระมหาธีราจารย์ ให้ทราบทั่วถึงกัน

 

 

 

 

“ยศพล”ฉุนโดนอ้างชื่อช่วยสอบครูผู้ช่วยอาชีวะ แจ้งความดำเนินคดีแล้ว ย้ำสถานศึกษาคุมเข้มป้องกันทุจริต เตือนผู้เข้าสอบอย่าหลงเชื่อ

เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีมิจฉาชีพใช้โทรศัพท์แอบอ้างว่าเป็นคนวงใน รู้จักกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และแอบอ้างชื่อตน ว่าสามารถช่วยเหลือในการสอบแข่งขันให้บรรจุตำแหน่งครูผู้ช่วยอาชีวศึกษาได้ ขอยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด และตนได้มอบอำนาจผู้แทนเข้าแจ้งความที่สน.ดุสิต ไว้แล้ว

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ประกาศรับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วยในสังกัด ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 423 อัตรา 56 กลุ่มวิชา โดยมีกำหนดสอบภาค ก และภาค ข ในวันที่ 31 สิงหาคม 2567 นี้ และขอเน้นย้ำว่าผู้เข้าสอบทุกท่านอย่าได้หลงเชื่ออย่างเด็ดขาดว่าจะมีการช่วยเหลือในการสอบแข่งขันได้ ซึ่งการแอบอ้างอาจจะมาในรูปแบบต่างๆ แตกต่างกันไป เช่นอาจเลียนเสียง หรือใช้สำเนียงเป็นพวกพ้องเดียวกัน หรือมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการสอบ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในการสอบแข่งขัน

“ผมได้กำชับให้ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการทุจริตในการสอบอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การสอบแข่งขันฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ รวมทั้งห้ามมิให้ผู้อำนวยการสถานศึกษา และบุคลากรในสังกัด กระทำการใดๆ ที่มีเจตนาเป็นการกวดวิชา จัดทำเอกสาร จำหน่าย แจก หรือกระบวนการอื่นใด ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เข้าสอบ รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน และผู้เข้าสอบได้รับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีผู้แอบอ้าง การสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยครั้งนี้”นายยศพลกล่าว

“อรรถพล” ชี้ อนาคตการสอนเด็กเจนอัลฟ่าต้องใช้ “ดิจิทัล”เข้ามามีบทบาท จะสอนเหมือนคนรุ่นเก่าไม่ได้แล้ว

เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า  ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่ หรือเจนอัลฟ่า (Gen Alpha) ที่กำลังเติบโต และจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อสังคมในอนาคตอันใกล้นี้ พ่อแม่ ผู้ปกครองและครูต้องทำความเข้าใจกับลักษณะของเจนอัลฟ่าที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนกับคนรุ่นก่อน เพื่อบ่มเพาะและการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับพวกเขา

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวต่อไปว่า เจนอัลฟ่าเป็นส่วนผสมผสานคุณลักษณะเฉพาะจากรุ่นก่อน ๆ มีจิตวิญญาณที่เป็นอิสระของเจนเอ็กซ์ (Gen X) มีความคล่องแคล่วด้านดิจิทัล และจิตวิญญาณของผู้ประกอบการของเจนวาย (Gen Y) และกรอบความคิดที่ใส่ใจต่อสังคมของเจนซี (Gen Z) เกิดมาในโลกดิจิทัลที่เทคโนโลยีผสมผสานเข้ากับทุกแง่มุมของการเรียนรู้และเวลาว่าง จึงทำให้กลายเป็น ชาวดิจิทัลโดยกำเนิด (Digital Natives) และสร้างเอกลักษณ์ของตนเองในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น คนรุ่นเจนอัลฟ่าจึงรักอิสระ (Independent Mavericks) มีความเป็นตัวของตัวเองสูงตั้งแต่เด็ก ชอบตัดสินใจด้วยตัวเอง ชอบการสำรวจและค้นหาสิ่งต่าง ๆ  และมีจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ ยังปรับตัวได้อย่างว่องไว (Nimble Chameleon) เพราะเติบโตในยุคที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จึงมีมุมมองที่เปิดกว้าง และโดดเด่นในการปรับตัวและเติบโตในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ พร้อมยอมรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีสร้างให้เป็นจริง และเป็นนวัตกรโดยธรรมชาติ หรือพ่อมดผู้ประกอบการและสร้างสรรค์ (Entrepreneurial and Creative Wizards) จึงมีคุณลักษณะการเป็นทูตระดับโลก (Global Ambassadors) ไปด้วย และมีความตระหนักถึงความท้าทายระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิมนุษยชน

“ จากการวิจัยพบว่า 76% ของเจนอัลฟ่าต้องการเป็นนายตัวเอง มีแนวโน้มการเป็นผู้ประกอบการหรือการแสวงหาอาชีพหลากหลายอื่นนอกเหนือจากเส้นทางอาชีพแบบดั้งเดิม เจนอัลฟ่าได้ชื่อว่าเป็นผู้มีข้อมูลท่วมท้น (Data and Information-drenched) เนื่องจากพวกเขาอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่มีมากมายและเข้าถึงง่าย โดยมีเนื้อหาที่ปรับให้เหมาะกับความชอบและความสนใจของตนเอง  แต่สังคมออนไลน์นั้นมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของ เจนอัลฟ่า กลายเป็น ผู้ใช้อารมณ์และความรู้สึกนำ (Emotionally and Psychologically Driven) เจนอัลฟ่าเป็น แชมป์สุขภาพจิต (Mental Health Champions) เนื่องจากพวกเขาตระหนักและให้ความสำคัญต่อสุขภาพจิตตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ผลการศึกษาก็ยังพบว่า 1 ใน 4 ของวัยรุ่นปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่มีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงต้องอย่าลืมว่าพวกเขายังคงมีจิตใจของเด็กที่ต้องการความสนใจและการดูแล” ดร.อรรถพล กล่าวและว่า พ่อแม่ผู้ปกครองและครูควรตระหนักถึงคุณลักษณะพิเศษเหล่านี้เพื่อสามารถจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับกลุ่มเจนอัลฟ่าได้ โดยรูปแบบที่น่าจะเหมาะกับเจนอัลฟ่า เช่น การใช้ทักษะเป็นฐาน (Skill-based Education) เน้นทักษะที่จำเป็น ให้สามารถวิเคราะห์ แยกแยะ ประเมินแหล่งที่มาและเลือกใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการเรียนรู้จากสถานการณ์จริงและการเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เป็นต้น รวมถึงการใช้ดิจิทัลเป็นฐาน (Digital-based Education) อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องให้ความสำคัญกับทักษะทางสังคมและอารมณ์ การรักษาสมดุลของเวลาให้เหมาะสมระหว่างโลกในหน้าจอและโลกแห่งความเป็นจริง ดังนั้น เราจะสอนเด็กรุ่นใหม่เหมือนรุ่นที่เราเรียนไม่ได้อีกแล้ว เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว หากใช้วิธีเดิม ย่อมไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีแบบเดิมในสภาวะที่ต่างกัน หากเราต้องการผลลัพธ์ที่ดีเราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของโลกและปรับที่ตัวเรา และวิธีการที่เราใช้และสื่อสารกับคนรุ่นใหม่

 

 

อาชีวะ จับมือ กรมพินิจฯ ฝึกอาชีพเยาวชนในสถานพินิจยึดนโยบายเรียนดีมีความสุข

 

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 พลเอก ไพบูลย์  คุ้มฉายา องคมนตรี เป็นประธานสักขีพยาน พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยมี เรืออากาศโท สมพร  ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พันตำรวจโท ประวุธ  วงศ์สีนิล  อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ร่วมลงนามเพื่อการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน และครูผู้สอน (ด้านวิชาชีพ) ของกรมพินิจฯ ณ กระทรวงยุติธรรม กรุงเทพมหานคร

เรืออากาศโท สมพร  กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีนโยบายในการจัดการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบาย กระทรวงศึกษาธิการ โดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ “เรียนดี มีความสุข” สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชนทุกช่วงวัย ซึ่งในวันนี้ได้ดำเนินความร่วมมือในการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาและฝึกอบรมวิชาชีพ เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ให้ได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถด้านวิชาชีพ เข้าสู่ระบบการศึกษา และให้ได้รับวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้นในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมถึงการฝึกอบรมวิชาชีพระยะสั้นเพื่อการประกอบอาชีพ และการฝึกอบรมครูผู้สอน (ด้านวิชาชีพ) ของกรมพินิจฯที่ทำหน้าที่เป็นครูประจำสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ซึ่ง สอศ. มีความตั้งใจจริงที่จะให้การสนับสนุนการดำเนินการในครั้งนี้อย่างเต็มความสามารถ ในปัจจุบันมีสถานศึกษาในสังกัด สอศ. หลายแห่งที่ได้ร่วมจัดการเรียนการสอนและฝึกวิชาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ รวมถึงโครงการอาชีวะสร้างช่างฝีมือตามแนวทางพระดาบส ซึ่งดำเนินการแล้วจำนวน 198 คน ที่ได้รับการอบรมวิชาชีพ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน ช่วยกันสร้างพลังกายและใจที่เข้มแข็งเพื่อพัฒนาตนเอง ทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย ให้ได้รับความรู้ ความสามารถและสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพ หรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น กลับสู่ครอบครัวและดำเนินชีวิตโดยปกติ สามารถกลับสู่ครอบครัวและสังคมได้อย่างปกติสุขเป็นประชากรที่มีคุณภาพ เป็นคนดีสู่สังคมสืบต่อไป

ด้าน พันตำรวจโท ประวุธ  กล่าวว่า กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีความร่วมมือที่เข้มแข็งกับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ในการร่วมจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และการฝึกอาชีพให้กับเด็กและเยาวชน และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนซึ่งการดำเนินการจำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคม ให้เกิดการขับเคลื่อนงานไปด้วยกัน การลงนามบันทึกความเข้าใจ ระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กับ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ถือเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และเป็นการยกระดับการสร้างความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมการฝึกอาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ด้วยการสนับสนุนการจัดการศึกษาและการฝึกอาชีพให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการร่วมพัฒนาหลักสูตรการสอน และการอบรมบุคลากรให้มีทักษะการสอนที่เป็นมาตรฐาน สามารถจัดการศึกษาให้แก่เด็กและเยาวชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นการสร้างทรัพยากร และองค์ความรู้ทางการศึกษาให้แก่กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ซึ่งถือเป็นปณิธานของทั้งสี่หน่วยงานในการทำงานร่วมกัน และจะยั่งยืนต่อไปในอนาคต

 

“เพิ่มพูน”ใจฟู ได้รับคำชื่นชมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รมต.ศึกษาอาเซียน ทำมาตรฐานสูงขึ้นระดับ High Standard

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้องทั้งระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษา ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 26 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เสร็จสิ้นลงอย่างเป็นทางการ และบรรลุตามวัตถุประสงค์อย่างครบถ้วนแล้ว โดยตลอดการประชุมผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม และอาเซียนบวกแปด ได้ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ แลกเปลี่ยนแนวทางการขับเคลื่อนและส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” ซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพ

พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการศึกษา และผลักดันนโยบายการศึกษาไปสู่อาเซียน เช่น นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งมุ่งเน้นการส่งเสริมพลังพลเมืองให้เรียนรู้อย่างมีความสุข และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้งยังมุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม การส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime) ที่มุ่งพัฒนาระบบนิเวศ ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต การส่งเสริมการมีรายได้ระหว่างเรียนจบแล้วมีงานทำ (Learn to Earn) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีทักษะและความสามารถตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

“การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเขียน ครั้งที่ 13 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ทั้งนี้ จากแบบสอบถาม ผู้เข้าร่วมประชุมพึงพอใจมากสำหรับภาพรวมด้านการต้อนรับและการรับรองของการจัดการประชุมครั้งนี้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมร้อยละ 90 ประทับใจในสถานที่จัดการประชุมที่มีความแปลกใหม่ ซึ่งจัดขึ้นในสนามฟุตบอลบุรีรัมย์ยูในเต็ด สำหรับกิจกรรมที่มีความตื่นตาตื่นใจที่สุดสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ร้อยละ 95 คือ พิธีเปิดการประชุม ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นไทย ตลอดจนอาหารและการแสดงต้อนรับ ที่แสดงถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบุรีรัมย์ ที่รังสรรค์ประสบการณ์สุดพิเศษนี้“รมว.ศึกษาธิการกล่าวและว่า และอีกสิ่งที่ได้รับคำชื่นชมจากผู้ร่วมประชุมไม่น้อย คือ รูปแบบการจัดประชุมที่มีการนำระบบดิจิทัลมาช่วยแปลภาษาผ่านจอภาพนอกจากใช้ล่ามแปล เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมได้รับทราบด้วย โดยวิธีการนี้เริ่มมาจากที่ตนไปให้นโยบายโรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน เวลาครูผู้สอนแปลภาษามือแล้วพูดออกมาก็จะมีตัวหนังสือขึ้นมาบนจอ ก็สามารถช่วยให้นักเรียนเรียนได้ดีขึ้น ตนจึงให้นำแนวทางนี้มาใช้ในการจัดประชุมครั้งนี้ สำหรับการประชุมครั้งที่ 14 ซึ่งจะจัดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า คือในปี พ.ศ.2569 โดยสาธารณรัฐสิงค์โปร์เป็นประเทศเจ้าภาพ

นายเอกภาพ พันทะวง รองเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทยได้แสดงถึงภาวะผู้นำของประเทศไทยในด้านการศึกษาอาเซียน ซึ่งประเทศไทยได้ทำให้มาตรฐานของการจัดประชุมระดับอาเซียนสูงขึ้นเป็น High Standard ทั้งนี้ขอขอบคุณประเทศคู่เจรจาทุกประเทศที่ได้สนับสนุนโครงการและทุนการศึกษาในอาเซียน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือทางการศึกษาจะเข้มแข็งและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ตามที่เราได้ร่วมกันดำเนินการพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัล และมุ่งมั่นในการดำเนินการเพื่อปวงชน

“รัฐมนตรีศึกษาอาเซียน”พร้อมใจพลิกโฉมการศึกษายุคดิจิทัล ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง “รองเลขาธิการอาเซียน”ชื่นชมไทยต้อนรับอย่างอบอุ่นทำให้รู้จักจังหวัดบุรีรัมย์มากขึ้น

เมื่อวันที่25 สิงหาคม 2567 ที่ สนามช้างอารีน่า จังหวัดบุรีรัมย์ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้นำด้านการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน อาเซียนบวกสาม(จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) และอาเซียนบวก8(จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย)เข้าร่วมการประชุม ภายใต้หัวข้อ “การพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดย

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่เป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งสำคัญครั้งนี้ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล ” ซึ่งจัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่ง จังหวัดบุรีรัมย์ไม่เป็นจังหวัดที่มีเพียงความหลากหลายและเก่าแก่ทางวัฒนธรรม แต่เป็นพื้นที่ที่ริเริ่มนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาบูรณาการกับการบริหารท้องถิ่นและการจัดการศึกษาโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จังหวัดบุรีรัมย์จึงเป็นสถานที่ที่เหมาะสมกับการหารือเกี่ยวกับการสร้างการศึกษาและการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า 2 วันที่ผ่านมา เราได้พารัฐมนตรีอาเซียนไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาที่มุ่งเน้นทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ที่ทำให้นักเรียนสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา ที่มีกระบวนการเรียนการสอนแบบจิตศึกษา ซึ่งมีการขยายผลและเป็นต้นแบบการจัดการเรียนการสอนไปทั่วประเทศและต่างประเทศ โรงเรียนบุรีรัมย์พิทยาคม ที่ริเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีบุรีรัมย์ ซึ่งมุ่งเน้นการเรียนรู้ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล นอกจากนี้ ยังมีการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในจังหวัดบุรีรัมย์ รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้จัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน ซึ่งช่วยเสริมสร้างทักษะดิจิทัลที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมทักษะอาชีพที่สร้างรายได้ระหว่างเรียนและทำให้ผู้เรียนมีงานทำหลังจากจบการศึกษา

“ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่าการพัฒนาทักษะและการพึ่งพาเทคโนโลยีเป็นเรื่องจำเป็นต่อการส่งเสริมให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการจัดการศึกษาโดยกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ได้ขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime ที่มุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบการศึกษาให้นักเรียนและครูทั้งในเมืองและชนบทสามารถเข้าถึงเครื่องมือ ทรัพยากร และช่องทางการเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สอดคล้องกับแนวคิด 1 วิสัยทัศน์ 1 อัตลักษณ์ 1 ประชาคม ของอาเซียน ที่มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่ครอบคลุม และเท่าเทียมกันสำหรับผู้เรียนทุกคน และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” พล.ต.อ.เพิ่มพูนกล่าวและว่า ในฐานะเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างบรรยากาศการหารือร่วมกัน และการมีส่วนร่วมในประเด็นที่สร้างสรรค์ เวทีการประชุมนี้จะกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจา นอกจากนี้จะเปิดโอกาสให้เกิดการปรับเปลี่ยนในเชิงความคิดและกำหนดกลยุทธ์ในเชิงนวัตกรรมสำหรับอนาคตของการศึกษาในอาเซียน เราสามารถสร้างกรอบการดำเนินการด้านการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นซึ่งจะเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีทักษะและความรู้ที่จำเป็นสำหรับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วผ่านกลไกความร่วมมือระดับภูมิภาคและหุ้นส่วนที่ร่วมมือกันระดับโลก

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อความสำเร็จของการประชุม ซึ่งเป็นตามเจตนารมณ์ในความต้องการพลิกโฉมการศึกษา และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับภูมิภาคของพวกเรา ขอให้ทุกท่านมาร่วมกันค้นหาแนวทางเพื่อก้าวไปข้างหน้า ร่วมกันทำงาน สร้างชุมชนที่มีความเสมอภาคและยั่งยืนเพื่อพลิกโฉการศึกษาสู่ยุคดิจิทัลร่วมกัน

นายเอกภาพ พันทะวง รองเลขาธิการอาเซียน กล่าวภายหลังพิธีเปิดการประชุม ว่า ชื่นชมประเทศไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และจัดพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรี ด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ได้อย่างยิ่งใหญ่และน่าประทับใจ สำหรับโครงการความร่วมมือระหว่าง ASEAN-SEAMEO เช่น โครงการ “Intra-ASEAN Scholarship Programme for ASEAN Nationals” โดยเป็นการพัฒนาทุนการศึกษาจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจา และ โครงการ “ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on the Common Space in Southeast Asian Higher Education” ซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการอุดมศึกษาในประเทศสมาชิกอาเซียน และซีมีโอ เพื่อพัฒนาผู้เรียนสู่การเป็นพลเมืองโลกในฐานวิถีชีวิตใหม่ เป็นต้น

“การจัดประชุมครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ได้ทําให้รู้จักจังหวัดบุรีรัมย์มากยิ่งขึ้นทั้งทางด้านวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม รวมถึงศักยภาพของนักเรียนที่น่าประทับใจ ตลอดจนขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการ ประเทศไทย ที่เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้ด้วย

ด้านนายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ฐานะโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  ทุกประเทศสมาชิกมีความสนใจเรื่องโครงสร้าง กระทรวงศึกษาธิการ เนื่องจาก จำนวนประชากร ของประเทศไทยมีเป็นจำนวนมาก มีผู้เรียนจำนวนมาก และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งจะดูได้จากการพาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนต่างๆ ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนสนใจการใช้เทคโนโลยี และ การแก้ปัญหาลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น

นายสิริพงศ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเทรนด์การจัดการศึกษาในอนาคตนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียน มองว่าเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือAI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อวงการศึกษา ซึ่ง นโยบายของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเทคโนโลยีมา มาเป็นนโยบาย การศึกษา เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา (anywhere anytime )โดยการจัดทำแพลทฟอร์มการเรียนรู้ที่ทันสมัย และสามารถดึงทรัพยากรการใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้ทักษะในเรื่อง AI มาบูรณาการร่วมกับวิชาต่างๆ