“บุรีรัมย์”ชู กีฬาเป็นจุดเด่นดึงการท่องเที่ยว รัฐมนตรีศึกษาอาเซียนชื่นชม รร. มีชัย นำเทคโนโลยีมาใช้จัดการเรียนการสอนได้ดี

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-26 สิงหาคม 2567 จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้หัวข้อพลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดย ในการประชุมนอกจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังได้มีการนำคณะรัฐมนตรีด้านการศึกษากลุ่มประเทศอาเซียนและเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมประชุมศึกษาดูงานในพื้นที่เพื่อให้ได้เห็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนของประเทศไทยที่นำเทคโนโลยีมาใช้ และพาไปศึกษาดูงานหลักสูตรฐานสมรรถนะที่โรงเรียนมีชัยพัฒนาด้วย ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก

ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำศธ. กล่าวต่อไปว่า ในการประชุมครั้งนี้ เราได้เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนอาชีวศึกษามาทำอาหารต้อนรับผู้ร่วมประชุม ซึ่งก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างดีเยี่ยมนอกจากนี้เรายังมีโอกาสได้นำเสนอศิลปวัฒนธรรมของไทย รวมถึงได้แสดงให้เห็นว่าจังหวัดบุรีรัมย์เป็นจังหวัดหนึ่งที่ใช้กีฬาในการผลักดันการท่องเที่ยว ทำให้คณะรัฐมนตรี อาเซียนได้เห็นบรรยากาศใหม่ ของการประชุมแทนที่จะอยู่แต่ในห้องประชุมอย่างเดียวก็ได้มีประสบการณ์ใหม่ กับการเรียนรู้ว่ากีฬากับวิถีชีวิตจะไปด้วยกันได้อย่างไร

การประชุมครั้งนี้มีการรับรองการประชุมจากการประชุมครั้งที่ ผ่านมา ซึ่งแต่ละประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำเสนอรูปแบบการจัดการเรียนการสอนการเข้าสู่ยุค Digital transformation จะเป็นอย่างไร ซึ่งมีหลายประเด็นที่ผู้นำของประเทศ จะได้มาแลกเปลี่ยนกัน เช่นระบบการจัดการศึกษาที่ประเทศสิงคโปร์ได้มาศึกษาเรียนรู้รูปแบบการย้ายข้าราชการครูของไทย นอกจากนี้ยังมีการกระชับความร่วมมือในระดับทวิภาคีที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ว่ามีความคืบหน้าอย่างไร หรือ รูปแบบการทำโรงเรียนพี่โรงเรียนน้องจะมีการแชร์ทรัพยากรร่วมกันอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การทำปฏิญญาก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลด้วยกันนายสิริพงศ์กล่าว

ศธ.ห่วงครู-นร. บุคลากรทางการศึกษา“เสมา1”สั่งรายงานเรียลไทม์ พบ 3,211 คน ได้รับผลกระทบ

เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2567 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงสถานศึกษาที่ได้รับความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆตั้งแต่วันแรก และกำชับให้แต่ละหน่วยงานในสังกัด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ให้สังเกตการณ์และแก้สถานการณ์ตามแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมการเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว และให้มีการรายงานสถานการณ์เป็นเรียลไทม์ทุกวันด้วย

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าขณะนี้มี 18-19 จังหวัดรายงานเข้ามาแล้วว่ามีนักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมแล้ว จำนวน 3,211 คน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนได้มีการประชุมวิธีการป้องกันและเยียวยา และได้กำชับไปยัง ผอ. เขตพื้นที่การศึกษา และผอ. โรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนที่อยู่ในทางน้ำ ให้มีการอพยพเคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าและทรัพย์สินของทางราชการขึ้นไปไว้ในที่สูงไว้ก่อนแล้ว ส่วนโรงเรียนที่เป็นทางน้ำที่จะไหลผ่านต่อไปก็ให้เฝ้าระวัง โดยสั่งการให้ทุกเขตพื้นที่การศึกษาตั้งวอร์รูม เพื่อให้เตรียมการเฝ้าระวังและซ้อมแผนเผชิญเหตุไว้ เช่น หากมีน้ำป่าไหลหลากมาจะป้องกันและอพยพอย่างไร และถ้าน้ำท่วมขังจะมีแผนป้องกันอย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้กำชับไปยัง ผอ. โรงเรียนว่าหากจำเป็นต้องปิดการเรียนการสอนก็ให้ปิดได้ทันที เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและคุณครูทุกคนและให้สอนชดเชยแบบอื่นๆทดแทนต่อไป

“สพฐ.ได้จัดเงินจากกองทุนช่วยเหลือนักเรียนประสบภัย ลงไปให้เขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ในพื้นที่น้ำท่วมแล้ว เพื่อนำไปจัดซื้อถุงยังชีพช่วยเหลือนักเรียนครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้ที่จ.เชียงราย และจังหวัดน่าน น้ำท่วมหนักที่สุด จึงให้เขตพื้นที่ฯจัดถุงยังชีพ อาหารไปช่วยเหลือนักเรียนและครูที่บ้านถูกน้ำท่วมแล้ว“ เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ขณะที่ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)กล่าวว่า ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็มีความห่วงใยวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ทั้งหมด 18-19 จังหวัด และได้สั่งการให้มีการสำรวจและรีบรายงานความเสียหายเข้ามาเพื่อให้การช่วยเหลือ ส่วนวิทยาลัยที่ไม่ถูกน้ำท่วม ก็ให้สั่งการออกไปช่วยดูแลช่วยเหลือประชาชน ซึ่งขณะนี้ทางวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายก็ได้ทำอาหารไปช่วยเหลือประชาชนและนักเรียนที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ขณะเดียวกัน หลังน้ำลด รมว.ศธ.ก็สั่งการให้วิทยาลัยอาชีวศึกษา ตั้งศูนย์ Fix it Center เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูหลังน้ำลด ในการซ่อม สร้าง เสริม ให้กับชาวบ้านและสถานศึกษารวมไปถึงโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานด้วย เช่น ไปช่วยเช็คระบบไฟฟ้าต่างๆภายในโรงเรียนที่ถูกน้ำท่วม และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆของประชาชนในช่วงหลังน้ำลด

“อาชีวะพร้อมในทุกสถานการณ์ ที่จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ ซ่อม สร้าง เสริม ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม“ เลขาธิการ กอศ. กล่าว

“เสมา 1” สั่ง สอศ.เกาะติดน้ำท่วมภาคเหนือ เตรียมพร้อมหน่วย Fix it Center ลงช่วยเหลือได้ทันที

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ( กอศ.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีความห่วงใย จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือ เนื่องจากมีฝนตกหนักติดต่อกัน ทำให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้างในหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา โดย รมว.ศธ. มีข้อสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้สถานศึกษาที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือดูแลทั้งเรื่องของไฟฟ้า ยานพาหนะ และอาหาร ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือครอบครัวของนักเรียน ครู และประชาชน ในด้านอื่นๆ ที่สามารถจะให้ความช่วยเหลือได้ ในส่วนของสถานศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น สามารถปิดเรียนได้ตามความเหมาะสม และให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดย สอศ. ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการ รมว.ศธ. พร้อมกำชับให้ได้ให้สถานศึกษาช่วยกันดูแลและให้ความช่วยเหลือ และรายงานสถานการณ์กลับมายัง สอศ.ทันที


“มีรายงานว่าได้อพยพครูวิทยาลัยเทคนิคน่าน ที่ติดในบ้านพักออกไปพักอาศัยในที่ปลอดภัยแล้ว ซึ่งในขณะนี้มีสถานศึกษาที่มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือ อาทิ วิทยาลัยสารพัดช่างแพร่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย ดูแลและให้การช่วยเหลือเบื้องต้นได้ทันที ให้บริการอาหารกล่องและเครื่องดื่ม ช่วยขนของขึ้นที่สูง รับ-ส่ง ผู้ป่วยรวมถึง รับ-ส่ง ผู้ที่สัญจรไปมา ในส่วนวิทยาลัยการอาชีพสอง และวิทยาลัยการอาชีพปง มีแผนเข้าพื้นที่ให้ความช่วยเหลือซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ หลังน้ำลดลง วิทยาลัยเทคนิคดอกคำใต้ ออกหน่วย Fix it Center ในพื้นที่วัดศรีมฑเทียนนครงิ้วหงก ช่วยเหลือซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าให้แก่ประชาชน วิทยาลัยเทคนิคปัว ออกสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเพื่อให้บริการ นอกจากนี้สถานศึกษา สังกัดสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดใกล้เคียงที่ไม่ได้รับผลกระทบ ให้ดูแลอย่างเต็มที่และประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ รวมถึงเตรียมความพร้อมศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it Center ในการบริการ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาช่วยประชาชน ดูแลระบบไฟฟ้า ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องมือทำการเกษตร และอื่นๆ รวมถึงบ้านเรือน วัด โรงเรียน ชุมชุมต่างๆ ที่ได้รับความเสียหายและสามารถให้ความช่วยเหลือได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น” เลขาธิการ กล่าว

ปลัด ศธ.อาเซียน+3 จับมือยกระดับการศึกษาคุณภาพการศึกษา สร้างโอกาสแก่เยาวชนอาเซียน

เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 24 สิงหาคม 2567 ที่ สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ ได้มีพิธีเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 (14th SOM-ED+3) โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศอาเซียนบวกสาม เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย ร่วมกับจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น และผู้แทนจากติมอร์-เลสเต เข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเครือข่าย ด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม รวม 90 คน

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการของไทย ในฐานะประธานการประชุม กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นเวทีในหารือประเด็นต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสาม ระหว่างปี พ.ศ. 2561 – 2568 (ค.ศ. 2018 – 2025) โดยมุ่งเน้นพัฒนาการศึกษาให้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงการสร้างความร่วมมือ และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและอาเซียนบวกสาม

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในหลายด้าน เช่น การทำงาน การสื่อสาร และการศึกษา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยี ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของโลกในปัจจุบัน การประชุมครั้งนี้จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความร่วมมือจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสาม ที่พร้อมทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา สร้างโอกาสให้แก่เยาวชนในอาเซียน และพัฒนาการศึกษาในอนาคต

หลังพิธีเปิดการประชุม Mr. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน ได้รายงานที่ประชุมฯ ถึงมติที่ประชุมอาเซียนบวกสามด้านการศึกษาครั้งที่ 13 เมื่อเดือนตุลาคม 2566 พร้อมทั้งรายงานสถานะปัจจุบันของการดำเนินงานภายใต้แผนงานอาเซียนด้านการศึกษา ปี ค.ศ. 2021-2025 และแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษาปี ค.ศ. 2018-2025 จากนั้นได้เปิดเวทีให้ประเทศสมาชิกอาเซียนบวกสามรายงานผลการดำเนินกิจกรรมและโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษา ดังนี้

– สิงคโปร์ นำเสนอความคืบหน้าของผลสำเร็จของการจัดการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาในกรอบอาเซียนบวกสาม
– ประเทศไทย รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการจัดเตรียมการประชุมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 ว่าด้วยอนาคตทางการศึกษาที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567
– ประเทศญี่ปุ่น รายงานความคืบหน้าของโครงการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางการศึกษาในประเทศอาเซียนบวกสาม รวมถึงการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
– จีน รายงานความคืบหน้าโครงการจัดสรรทุนการศึกษาผู้นำเยาวชนอาเซียน-จีน โครงการ “Building an Amicable Home Together : Vision and Action on ASEAN – China Education Cooperation and Development 2022-2030 โครงการสัปดาห์ความร่วมมือทางการศึกษาจีน-อาเซียน โครงการแลกเปลี่ยนพลเมืองอาเซียน-จีน ปี ค.ศ. 2024
– สาธารณรัฐเกาหลี รายงานความคืบหน้าการจัดการอุดมศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษในอาเซียน การจัดสรรทุนการศึกษาสำหรับคณาจารย์มหาวิทยาลัยในสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์อาเซียน
– สำนักเลขาธิการซีมีโอ และมหาวิทยาลัยเครือข่ายอาเซียน รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการฯ อาเซียนบวกสาม

นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินงานของคณะทำงานด้านการเคลื่อนย้ายนักศึกษาและการประกันคุณภาพการอุดมศึกษาในประเทศอาเซียนบวกสาม (Working Group on Student Mobility and Quality Assurance of Higher Education Among ASEAN Plus Three Countries) ทั้งยังได้รับทราบจากสาธารณรัฐเกาหลีที่ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการอาเซียนบวกสามด้านการศึกษา เรื่อง แนวปฏิบัติร่วมอาเซียนบวกสามสำหรับรูปแบบใหม่ของการเคลื่อนย้ายนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา (APT Joint Guidelines for New Form of Mobility in Higher Education)

ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีด้านการศึกษาของอาเซียนบวกสามเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียนบวกสามให้การรับรอง ซึ่งจะ­จัดขึ้นในวันที่ 26 สิงหาคม 2567 เวลา 08.45-10.45 น.

 

ประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมขับเคลื่อนการพลิกโฉมการศึกษาในภูมิภาครองรับโลกดิจิทัลสู่อนาคตที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 Chang Arena Ballroom ชั้น 2 สนามช้างอารีนา จังหวัดบุรีรัมย์ มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน  โดยมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการของอาเซียน ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย สปป.ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย  เข้าร่วมการประชุม และมีผู้แทนจากติมอร์เลสเต เข้าร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งผู้แทนหน่วยงานเครือข่ายด้านการศึกษาของอาเซียนเข้าร่วมประชุมฯ รวม 90 คน

ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน กล่าวเปิดการประชุม โดยย้ำความสำคัญของการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED) ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ รวมถึงอภิปรายประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษาในอาเซียน พร้อมทั้งกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบการศึกษาของอาเซียน นำมาซึ่งความจำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับของการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียน การพัฒนาทักษะของผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานดิจิทัล การเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือการเคลื่อนย้ายระหว่างระดับการศึกษา

ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ยังได้เน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือจากทุกประเทศสมาชิกอาเซียนในการทำงานร่วมกันเพื่อยกระดับมาตรฐานการศึกษา และสร้างโอกาสมากขึ้นสำหรับผู้เรียน เพื่อพัฒนาอนาคตของการศึกษา โดยที่ประชุมได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนการศึกษาของอาเซียนภายใต้หัวข้อพลิกโฉมการศึกษาในยุคดิจิทัลซึ่งรวมถึงการพิจารณาความก้าวหน้าของแผนการศึกษาของอาเซียน ปี 2021-2025 และการจัดทำแผนการศึกษาอาเซียนหลังปี 2025

นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานของสมาชิกตามแผนการศึกษาของอาเซียนดังกล่าว โดย สปป. ลาว ได้นำเสนอผลลัพธ์จากการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการศึกษาและการดูแลเด็กปฐมวัยที่นครหลวงเวียงจันทน์ รวมถึงการจัดทำแถลงการณ์เวียงจันทน์ว่าด้วยความเสมอภาคในการเข้าถึงและสิ่งแวดล้อม : การพัฒนาความสามารถในการปรับตัวรับกับสภาพภูมิอากากาศของเด็กปฐมวัยในอาเซียน (Vientiane Statement of Equity Access and Environment: Advancing Climate Resilience in Early Childhood Settings in ASEAN) ซึ่งสนับสนุนและให้ความสำคัญกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น การวิจัย การพัฒนาครูและผู้บริหารการศึกษาบทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศในการประชุมครั้งนี้ Mr. Ekkaphab Phanthavong รองเลขาธิการอาเซียน ได้นำเสนอโครงการทุนที่จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-ASEAN Scholarship Program for ASEAN Nationals) รวมถึงการจัดทำเวทีการศึกษาเพื่ออนาคตของเสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

ที่ประชุมยังได้พิจารณาความร่วมมือที่สำคัญต่อการจัดการศึกษาของอาเซียนและองค์การซีมีโอในปี 2024 และกิจกรรมอื่น ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประชุมประสานความร่วมมือระหว่างสำนักเลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการซีมีโอ รวมถึงแถลงการณ์ร่วมมือระหว่างอาเซียนและซีมีโอ ในปฏิญญาร่วมว่าด้วยพื้นที่ร่วมด้านอุดมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN-SEAMEO Joint Declaration on the Common Space in Southeast Asian Higher Education) ซึ่งผ่านการรับรองจากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียน และเจ้าหน้าที่อาวุโสของซีมีโอ ตลอดจนมีโครงการความร่วมมือภายใต้กองทุนอาเซียนสาธารณรัฐเกาหลี เกี่ยวกับการติดตาม และพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอาเซียน รวมถึงโครงการวัดผลการเรียนรู้ระดับประถมศึกษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในช่วงบ่าย ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการประชุมคณะทำงานเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายการอุดมศึกษาที่จัดขึ้น กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นผู้แทนจากมหาวิทยาลัยอาเซียนได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและกิจกรรมของ AUN ที่สนับสนุนแผนการศึกษาอาเซียน (AWPE) และแผนปฏิบัติการการศึกษาอาเซียนบวกสาม (APT WPE) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาภูมิภาค และความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมทั้งร่วมกันพิจารณาข้อริเริ่ม และแผนที่นำทางในการสนับสนุนปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกแห่งการทำงาน(Initiatives in Support of the ASEAN Declaration on Human Resources Development for the Changing World of Work and its Roadmap) ตามด้วยสิงคโปร์ในฐานะประธานสภาด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของอาเซียน (ASEAN TVET Council : ATC) ได้รายงานความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการ ATC ด้วย

จากนั้นที่ประชุมได้เปิดโอกาสให้สมาชิกได้เสนอความคืบหน้าในการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านการศึกษาของอาเซียนปี .. 2021-2025 โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโครงการต่าง เช่น โครงการการเคลื่อนย้ายด้านการศึกษาเทคนิคและอาชีวศึกษาของอาเซียน โครงการความร่วมมือระดับภูมิภาคเพื่อปรับปรุงคุณภาพตลาดแรงงานในการจัดการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมโครงการการศึกษาสำหรับสตรีและเด็กผู้หญิงในอาเซียน การเชื่อมโยงระหว่างประชาชนภายใต้อาเซียนสหภาพยุโรปเพื่อความเชื่อมโยงอย่างยั่งยืน และโครงการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการจัดสรรงบประมาณการจัดการศึกษาเด็กปฐมวัย(Catalyzing Change: ASEAN Paths to ECCE Financing) เป็นต้น

ทั้งนี้การประชุมฯ ได้สะท้อนความมุ่งมั่นและปณิธานของสมาชิกอาเซียนที่จะผนึกพลังความร่วมมือด้านการศึกษา ในการพัฒนาการเรียนการสอนของอาเซียนให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคดิจิทัล เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้พลเมืองทุกคนของอาเซียน

“ธนุ” สั่งการ ผอ.สพท.ทั่วประเทศจับตาสถานการณ์น้ำ ภาคเหนือแบบเรียลไทม์

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า  จากสถานการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานเตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทุกเขตฯทำงานเชิงรุกร่วมทำงานกับทุกฝ่าย เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำน้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่งอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนไปยังสถานศึกษาทุกแห่ง ให้เตรียมพร้อมปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอุทกภัย รวมถึงแผนป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้  โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักเรียน ครูบุคลากรเป็นลำดับแรก หากมีความจำเป็นต้องสั่งปิดสถานศึกษาให้อยู่ในดุลยพินิจผู้บริหารสถานศึกษา ตามความเหมาะสมและสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ และคำนึงถึงทรัพย์สินทางราชการด้วยและให้เขตพื้นที่การศึกษา ทำแผนที่ วอร์รูม แผนเชิญเหตุ และซักซ้อม เฝ้าระวังว่าโรงเรียนใดอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้ตั้งทีมเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่โดยด่วน เพื่อทำการช่วยเหลือได้ทันที หากหน่วยงานใดได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยมาขอใช้สถานศึกษาเป็นที่พักพิง ก็ให้ความร่วมมือสนับสนุน โดยสามารถประสานขอความช่วยเหลือมายังเขตพื้นที่การศึกษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง

“ ในส่วนกลางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รับข้อมูลการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ สรุปรายงานแบบวันต่อวัน เพื่อช่วยเหลือเตรียมความพร้อมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหา ตลอดจนการประเมินแนวโน้มสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรในการปฏิบัติงานได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภายหลังจากน้ำลดแล้วสพฐ.จะได้ทำการสำรวจความเสียหายของแต่ละโรงเรียน โดยเริ่มตั้งแต่ภาคเหนือ จนถึงภาคใต้ เพื่อเร่งเยียวยาฟื้นฟูซ่อมแซม ทั้งนี้ที่ผ่านมาในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมซ้ำซาก สพฐ.ได้เน้นให้วิศวกรออกแบบโครงสร้างอาคารในลักษณะใต้ถุนเปิดโล่ง เพื่อให้โรงเรียนได้รับผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุดหากเกิดน้ำท่วม นอกจากนี้จะสำรวจจำนวนนักเรียนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆด้วยโดยการช่วยเหลือเบื้องต้น ระยะสั้น จะมอบถุงยังชีพ นักเรียน ครูและบุคคลากรทางการศึกษา เพื่อบรรเทาทุกข์เบื้องต้นก่อน ระยะยาว ดูแลเรื่องอาคารสถานที่และคุรุภัณฑ์ที่ได้รับความเสียหาย”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

เลขาธิการ กพฐ.กล่าวด้วยว่า จากการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุด วันที่ 23 สิงหาคม 2567 พบว่า มีสถานศึกษาในสังกัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย  จำนวน 121 โรงเรียน ใน22 สพท. แบ่งเป็น 6 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา และ16 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ในพื้นที่ 15 จังหวัดได้แก่ กาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตราด ตาก น่านปราจีนบุรี พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุรินทร์ อ่างทองและ ภูเก็ต โดยมีนักเรียนที่ประสบภัย จำนวน 2863 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 265 คน  อาคารเรียนได้รับความเสียหาย 71 แห่ง.

“ยศพล”สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำภาคเหนือ ระดมอศจ.ใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือ เตรียมความพร้อมFix it Center ลงพื้นที่ทันทีหลังน้ำลด

 

เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เปิดเผยว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีข้อกังวลถึงสถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือเป็นอย่างมาก โดยได้เน้นย้ำให้สถานศึกษาทุกพื้นที่เฝ้าระวัง จากสถานการณ์ฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้หลายพื้นที่ในภาคเหนือถูกน้ำท่วมเป็นวงกว้างในหลายอำเภอในจังหวัดเชียงราย น่าน แพร่  และ พะเยา  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ซึ่งมีความเป็นห่วงนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง ที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้  จึงขอให้สถานศึกษาช่วยกันดูแลและให้ความช่วยเหลือ พร้อมรายงานสถานการณ์กลับมายัง สอศ.ทันที  โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่า ที่วิทยาลัยเทคนิคแพร่ วิทยาลัยเทคนิคน่าน วิทยาลัยการอาชีพเวียงสา วิทยาลัยเทคนิคเทิง วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย มีมวลน้ำไหลเข้าท่วมเต็มพื้นที่ภายในวิทยาลัย ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนได้ ในเบื้องต้นมีการขนย้ายสิ่งของ วัสดุ ครุภัณฑ์ขึ้นที่สูงตามความเหมาะสม อย่างเต็มความสามารถ เก็บของสำคัญอยู่ในที่ปลอดภัย และพื้นที่โดยรอบรถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้

“เบื้องต้นอาชีวศึกษาจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าดูแลและประสานความช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แล้ว รวมถึงศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน Fix it Center ก็เตรียมความพร้อมให้ความช่วยเหลือและการฟื้นฟูเยียวยา เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องยนต์ เครื่องจักรกลการเกษตร ที่ได้รับความเสียหายพร้อมจัดหน่วยให้บริการอาหารแจกผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ สอศ. จะดูแล นักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากร รวมถึงประชาชนอย่างเต็มที่ และได้กำชับให้สถานศึกษาติดตามสถานการณ์ และคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยให้ประเมินจากสถานการณ์ในพื้นที่” เลขาธิการ กอศ.กล่าว

“ธีร์”ประสานตำรวจในพื้นที่จังหวัดแพร่ เฝ้าระวังจุดเสี่ยงที่จะเกิดเหตุเหมือนกรณีเด็ก ม.2ถูกวัยรุ่นหญิงทำร้ายรีดไถเงิน พร้อมประกาศใครพบเหตุเด็กไม่ปลอดภัยแจ้งได้ที่ 0-2123-8789 หรือ ศสป.สพฐ.-ศสป.สพท. ทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีนักเรียนหญิงชั้น ม.2 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ถูกวัยรุ่นหญิงทำร้ายร่างกายและรีดไถเงิน บริเวณท่าน้ำในอำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ นั้น ขณะนี้ ทางโรงเรียนได้ติดตามดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทั้งด้านการเรียน สุขภาพกาย สุขภาพจิต และด้านคดีความ โดยเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ พร้อมด้วยผู้บริหารโรงเรียนของนักเรียนที่ถูกทำร้าย นิติกร และนักจิตวิทยา ได้ลงพื้นที่ประสานกับ ตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ เพื่อหารือร่วมกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดแพร่ ในเรื่องของคดีความและการป้องกันเหตุในจังหวัดแพร่ โดยได้ข้อสรุปการดูแลนักเรียนร่วมกันในแนวทางต่างๆ ดังนี้ 1. แนวทางในการช่วยเหลือด้านคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 2. แนวทางในการบำบัดรักษาผู้กระทำผิดและผู้ถูกกระทำ 3. แนวทางการป้องกันเหตุในพื้นที่จังหวัดแพร่ โดยได้บูรณาการกับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด ทำกิจกรรมเฝ้าระวังเหตุและสร้างความปลอดภัย kick off สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดแพร่ ในเวลา 15.00 น. โดยขอความร่วมมือพนักงานเจ้าหน้าที่ส่งเสริมความประพฤตินักเรียน (พสน.) ทุกโรงเรียนร่วมลงพื้นที่ สุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงในจังหวัดแพร่ และ 4. กำหนดแผนลงตรวจ 18 จุดเสี่ยงร่วมกับสถานีตำรวจในพื้นที่ ทั่วจังหวัดแพร่ ทั้งในเวลากลางวัน และกลางคืน

“ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีความห่วงใยเรื่องความปลอดภัยของนักเรียน ทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งผมขอกำชับให้ผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ทั่วประเทศ เฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน โดยดำเนินการตามมาตรการและแผนเผชิญเหตุด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก ให้รายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และรายงานมายัง สพฐ. ให้ทราบทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยานักเรียนได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ หากผู้ปกครอง ประชาชนทั่วไป พบเห็นหรือกังวลในความไม่ปลอดภัยของบุตรหลาน สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทุกเขตพื้นที่ฯทั่วประเทศ หรือ ร้องทุกข์มาที่ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ศสป.สพฐ.) โทร. 0-2123-8789 พร้อมที่จะรับเรื่องร้องเรียนทุกกรณี” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

“เพิ่มพูน”สั่งให้ใช้บัญชีกลาง “ISWM”บริหารงานบุคคล ศธ.ลดซ้ำซ้อน

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารประสานภารกิจ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบอนุมัติการรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอเซียน ครั้งที่ 13  และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และปฏิญญาร่วมอาเซียน-ซีมีโอ รวม 3 ฉบับที่จะมีการประชุมในวันที่ 23-26 ส.ค.นี้ ที่จังหวัดบุรีรัมย์ และยังได้กำชับให้ติดตามความคืบหน้าการขับเคลื่อนPISA ว่าขอให้ช่วยกันขับเคลื่อนในการนำแนวทางทดสอบ PISA มาปรับแนวทางการเรียนรู้ของเด็กไทย ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดี

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ตนยังได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ไปจัดทำระบบสารสนเทศเพื่อบริหารอัตรากำลัง กระทรวงศึกษาธิการ (Information System for Workforce Management, the Ministry of Education : ISWM) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานบุคคลทั้ง ศธ.โดยบูรณาการการบริหารทุกหน่วยงานของ ศธ.ให้สามารถเข้ามาใช้บุคลากรร่วมกัน เพื่อลดค่าใช้จ่าย ประหยัด ไม่ซ้ำซ้อน และที่สำคัญตนต้องการเห็นภาพรวมทั้งหมด โดยให้สำรวจดูว่าแต่ละหน่วยงานมีบุคลากรที่จะเกษียณอายุราชการในแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่ และจะทดแทนอัตราเกษียณกี่คน

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า ระบบ ISWM จะเป็นระบบสารสนเทศเพื่อบริหารอัตรากำลัง ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นบัญชีกลาง ที่ทุกหน่วยงานสามารถหยิบไปใช้ได้ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จัดสอบนิติกร ขี้นบัญชีไว้ ถ้า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)สำนักงานปลัด ศธ. สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ต้องการนิติกร ก็สามารถมาหยิบจากบัญชีนี้ได้ ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการทราบว่าหน่วยงานไหนสอบแล้วขึ้นบัญชีไว้เท่าไหร่ ที่ไหนบ้าง ถ้าตำแหน่งไหนขึ้นบัญชีไว้อยู่แล้วก็ไม่ต้องสอบใหม่ซึ่งจะลดความซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยให้มาใช้บัญชีร่วมกันได้ ซึ่งระบบ ISWM จะเริ่มนำร่องก่อนในเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน มอบหมายให้ ก.ค.ศ.มาช่วยออกแบบระบบมารองรับนโยบายนี้ และขณะนี้ ก.ค.ศ.ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า70% และอยู่ระหว่างรอให้หน่วยงานจัดทำข้อมูลลงระบบ

“ผู้บริหารทุกหน่วยงานของ ศธ.จะต้องเข้ามาดูบัญชีส่วนกลางก่อนโยกย้ายบุคลากรในสังกัด ว่า มีตำแหน่งไหนบ้างจะได้ไม่ต้องสอบใหม่ ถ้ามีบัญชีตามตำแหน่งที่ต้องการก็ให้หยิบบัญชีส่วนกลางขึ้นมาใช้ได้เลย  ถ้าบัญชีส่วนกลางมีตามที่ต้องการแล้วไม่หยิบไปใช้ก็ต้องอธิบายได้ว่า ทำไมถึงไม่ใช้บัญชีส่วนกลาง โดยระบบนี้สำนักงาน ก.ค.ศ.จะเป็นผู้ควบคุมซึ่งจะใช้เหมือนกับระบบการสอบของสำนักงานข้าราชการพลเรือน(กพ.)ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต้องการทำให้ทันเดือนภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกับการแต่งตั้งโยกย้าย

 

ก.ค.ศ. เปิดเวทีประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้แนวคิด“ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต”

สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาวิชาชีพครู ประจำปี พ.ศ. 2567 (The OTEPC International Forum on Teaching Profession Development 2024) ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัด การเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling) โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานในพิธีเปิด ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร เมื่อเร็ว ๆ นี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวระหว่างการเป็นประธานพิธีเปิดว่า ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับโลกที่มีความผันผวนการเปลี่ยนแปลงอยากรวดเร็ว ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล การติดต่อสื่อสารมีการเชื่อมโยงกันอย่างรวดเร็ว การมีผู้นำที่เข้มแข็ง มีทัศนคติที่ดี (Growth Mindset) ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง จึงมีความสำคัญมาก ปัจจัยเหล่านี้เป็นความท้าทายสำหรับอนาคตของการศึกษา ผมเชื่อว่าปัจจัยความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้ มาจากความสามารถของพวกเราทุกคน ที่มีศักยภาพแตกต่างกัน มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงานร่วมกัน ภายใต้แนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการ การพัฒนาสถานศึกษา และคุณภาพผู้เรียน ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ทักษะ และประสบการณ์ ของผู้นำจากหลายภาคส่วน ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในทุกมิติ เพื่อการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของผู้เรียน ไปสู่เป้าหมายการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

รมว.ศึกษาธฺการ กล่าวต่อไปว่า การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข้อมูลและประสบการณ์จากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเสริมสร้างบทบาทภาวะความเป็นผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษา และครูในสถานศึกษา จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และคุณครูชาวต่างประเทศ ที่จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ ในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำหลักการหรือแนวคิดภาวะผู้นำร่วม ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคตได้อย่างดียิ่ง และ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการประชุมนี้จะเป็นแนวทางให้กับทุกท่านในการร่วมกันกำหนดอนาคตของการศึกษาต่อไป

รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการ ก.ค.ศ. กล่าวว่า การจัดประชุมนานาชาติในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ภาวะผู้นำร่วม : กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต (Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับแนวคิดภาวะผู้นำร่วมจากประเทศต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จ ในการเสริมสร้างบทบาทภาวะผู้นำของผู้บริหารสถานศึกษาและครูในสถานศึกษา ทั้งยังเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรด้านการศึกษา นักวิชาการ นักการศึกษาจากนานาประเทศ

โดยในช่วงหนึ่งของกิจกรรมการอภิปรายในหัวข้อ “Collective Leadership: The Key to Success in Future Schooling” ภาวะผู้นำร่วม: กุญแจสู่ความสำเร็จในการจัดการเรียนรู้แห่งอนาคต โดยผู้ทรงคุณวุฒิและนักการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และบรูไน ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวคิดภาวะผู้นำร่วมว่า ภาวะผู้นำร่วมมีความคล้ายคลึงกับการกระจายอำนาจ แต่สำหรับบางประเทศคือแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วม พาทุกคนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน เปิดใจยอมรับ มองเห็นเป้าหมายและทำงานแบบเกื้อกูลกัน สิ่งสำคัญของภาวะผู้นำร่วมคือความว่องไวในเชิงวิสัยทัศน์ ความยืดหยุ่น การปรับตัวอย่างรวดเร็วและมีทิศทางที่ชัดเจนเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ผู้นำสถานศึกษาควรให้ครูมีเวลาเพื่อสร้างสรรค์แนวคิดหรือการเรียนรู้ใหม่ ๆ ด้วยการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพื่อนำไปสู่ความเชี่ยวชาญในการสอนมากขึ้น ครูที่เก่งงานสอน ก็ควรจะส่งเสริมให้เขาได้เติบโตในสายงานสอนและเป็นผู้นำในการแบ่งปันทักษะการสอนให้กับครูคนอื่น สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้คนแบบกัลยาณมิตรเพื่อมาช่วยพัฒนาการศึกษาไปด้วยกัน อีกทั้งการให้ความเชื่อใจ และให้อำนาจในการตัดสินใจกับครู คือภาวะผู้นำร่วมที่สำคัญของผู้บริหารสถานศึกษา ปัจจัยความสำเร็จอยู่ที่ประโยชน์สูงสุดของนักเรียน ด้วยการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและเปิดโอกาสให้ครูทุกคนทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาวะผู้นำร่วม ควรให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกัน พัฒนานวัตกรรมการสอนให้สอดคล้องกับครู โรงเรียนและบริบทของชุมชน

นอกจากนี้ในการประชุมยังมีการนำเสนอข้อมูลจากนักวิชาการจากนานาประเทศ ทั้งประเทศไทย แคนาดา ลาว และมาเลเซีย ในประเด็น “The Roles of Collective Leadership in Supporting Educational Reformation for the 21ST Century Education” (บทบาทของการเป็นผู้นำร่วมในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษาในศตวรรษที่ 21) ซึ่งกิจกรรมที่เกิดขึ้นในการประชุมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงนักการศึกษาและผู้ที่สนใจด้านการศึกษาได้เป็นอย่างดี และจะเป็นแนวทางในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาและเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะส่งผลต่อผู้เรียนในอนาคตต่อไป