สุดปัง!“เสมา1”ชวนครูไทยมาลงทะเบียนพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา กับ “ครูเงาะ” ใครมาก่อนลงก่อนยอดใกล้ถึงเป้าหมายแล้ว

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ “Inner Power Teachers” by ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ แม่มดแห่งวงการสอนการแสดงและการพัฒนาบุคลิกภาพ เพื่อให้ครูไทยได้พัฒนาศักยภาพตนเอง ทั้งในด้านการสอนและการสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ หากคุณครูอยากเก่งแบบมือโปร ก็ต้องมาเรียนกับครูเงาะสักครั้ง มั่นใจว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงแน่นอน จึงขอให้คุณครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.)ได้เข้ามาลงทะเบียนในโครงการ ‘Inner Power Teachers’ หลักสูตรสุดปังจาก ‘ครูเงาะ รสสุคนธ์ กองเกตุ’ นักพัฒนาศักยภาพมนุษย์ผู้มากประสบการณ์ ที่พร้อมจะช่วยเสริมพลังให้คุณครูทุกคนในการสอนและสื่อสารกับนักเรียนยุคใหม่ ด้วย Mindset ที่แข็งแกร่ง ทักษะการสื่อสารที่เฉียบคม และเทคนิคการสอนที่เข้าถึงใจเด็ก ๆ ไม่เพียงแต่พัฒนาตนเองเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างต้นแบบครูที่เข้าใจและสื่อสารกับนักเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความขัดแย้ง และเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็ก ๆ ในยุคดิจิทัล ด้วยพลังจากครูผู้มีความสุขและมีความสามารถ ‘เรียนดี มีความสุข’ ทำได้จริง และทำได้ทันที เริ่มลงทะเบียนแล้วมาเจอกันในคลาสเรียนได้ทันที

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หลักสูตรดังกล่าวจะเปิดให้เรียนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านเว็บไซต์ Learning OBEC ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย! ครูในสังกัด สพฐ. และ สช. สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2567 ซึ่งขณะนี้มียอดครูในระบบก่อนหน้าแล้ว เพื่อรอเรียน 167,114 คน และมียอดสมัครเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 12 -15 สิงหาคม 2567 จำนวน 5,736 คน โดยครูทุกท่านจะได้เรียนรู้ 4 หลักสูตรหลักเพื่อพัฒนาตนเอง และสร้างครูต้นแบบที่ส่งต่อความรู้นี้ไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้แก่

  1. Happiness and success mindset for Thai Teachers มุ่งเน้นการสร้างทัศนคติที่ดีและมีความสุขในการทำงาน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนและความสำเร็จในอาชีพครู 2. Truth science for Thai Teachers มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และการสอนให้นักเรียนเข้าใจในการแสวงหาความจริง 3. Master your communication skills for Thai Teachers มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารรอบด้านของครู เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. Train the true Trainers มุ่งเน้นพัฒนาครูให้มีทักษะในการเป็นวิทยากร สามารถถ่ายทอดความรู้ทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“วันนี้เรามีภารกิจสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาตัวเองและยกระดับการศึกษาของเราไปอีกขั้น ด้วยการดูแลทั้งความรู้และสุขภาพจิตของนักเรียน มาร่วมเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับเด็ก ๆ ของเรา อยากให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความตื่นเต้นของการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะทำให้การสอนของเรามีประสิทธิภาพและสนุกมากขึ้น เราไม่ได้แค่สอนหนังสือ แต่เรากำลังสร้างแรงบันดาลใจ และช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้เติบโตอย่างมีความสุข มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ด้วยพลังบวกและความมุ่งมั่น เพราะการพัฒนาการศึกษาไทย ไม่ใช่แค่เรื่องของอนาคต แต่เป็นเรื่องของ ‘พวกเรา’ ทุกคนในวันนี้”พลตำรวจเอกเพิ่มพูน กล่าว

สพฐ. เร่งเยียวยา นักเรียนแพร่ถูกทำร้ายร่างกาย หามือตบมาดำเนินการตามกฎหมาย

วันที่ 20 สิงหาคม 2567 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีข้อห่วงใยและได้สั่งการให้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเด็กนักเรียนชั้น ม.2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดแพร่ ถูกนักเรียนต่างโรงเรียนทำร้ายร่างกายและรีดไถเงิน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมานั้น ตนพร้อมด้วยทีมงานศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวนับแต่วันที่เกิดเหตุ ได้สั่งการให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ ต้นสังกัดโรงเรียนของนักเรียนที่ถูกทำร้ายร่างกาย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยด่วนแล้ว ทั้งนี้ พบว่าทางโรงเรียนได้มีการสืบสวนเบื้องต้นจากนักเรียนและพยานบุคคล ปลอบขวัญและให้กำลังใจนักเรียน และพานักเรียนไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแพร่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเบื้องต้นทางแพทย์วินิจฉัยว่านักเรียนปลอดภัย และเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้ประสานพานักเรียนเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่ เพื่อสืบสวนและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดต่อไป
.
นอกจากนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแพร่ ได้ติดตามการตรวจสอบข้อเท็จจริงและหาสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด ประสานผู้ปกครองเพื่อร่วมรับทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียน ให้เฝ้าระวังความปลอดภัยของนักเรียน โดยดำเนินการตามมาตรการและแผนเผชิญเหตุด้านความปลอดภัยของสถานศึกษาอย่างเข้มงวดและเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนทั้งขณะที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจกรรมนักเรียนและนักจิตวิทยาประจำเขตพื้นที่การศึกษาเข้าพูดคุยและดูแลเยียวยาจิตใจของนักเรียนผู้ถูกทำร้าย และได้ประสานสหวิชาชีพ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อติดตามในเรื่องคดีความ และกำชับโรงเรียนในสังกัดทุกแห่งทั่วประเทศ เรื่องมาตรการความปลอดภัยทั้งในและนอกสถานศึกษา หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก ให้รายงานสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและรายงาน สพฐ. ทราบทันที ตลอด 24 ชม.
.
นายธีร์ ภวังคนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามข้อห่วงใยของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. โดยกำชับเขตพื้นที่ฯ หากเกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้ ขอให้ทำความเข้าใจกับสถานศึกษาเน้นการสื่อสารสร้างความเข้าใจ ให้ความสำคัญกับการดูแลเยียวยานักเรียนเป็นอันดับแรก พร้อมร่วมหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา และดำเนินการตามมาตรการป้องกันเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทและการใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียน ตามหลัก 3 ป (ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม) เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนในทุกพื้นที่ ส่วนการดำเนินคดีระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้นให้เป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยคำนึงถึงสิทธิของเยาวชนทั้งในด้านสิทธิมนุษยชนและโอกาสทางการศึกษา เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
.
“ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ขอวิงวอนผู้ใช้โซเชียลมีเดียทุกช่องทาง งดเผยแพร่ภาพความรุนแรงต่อเด็กในทุกกรณี และนำออกจากสื่อต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็ก รวมถึงป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ และหลีกเลี่ยงการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย หากพบเหตุการณ์ในลักษณะที่ไม่ปลอดภัยกับเด็ก ขอให้แจ้งเหตุมายัง สายด่วน ศธ. 1579 ได้ตลอดเวลา หรือแจ้ง สพฐ. ที่ช่องทางการรับเรื่องร้องทุกข์ ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. โทร. 0 2123 8789 เพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

“สภาการศึกษา”นำทีมลงพื้นที่ภาคใต้ให้ความรู้การจัดทำฐานข้อมูลธนาคารหน่วยกิตเทียบโอนระดับ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผย ระหว่างการเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำ Big Data ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด และการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับเข้าสู่ระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ : จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมี ดร.นิติ นาชิต รองเลขาธิการสภาการศึกษา นายอาคม สุชาติพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช นางรัชนี พึ่งพาณิชย์กุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านระบบการศึกษา ดร.ศิริพรรณ ชุมนุม ผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมด้วย ผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้ประจำจังหวัด ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัด โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ร่วมประชุม ณ ห้องชมพูพล โรงแรมเมืองลิกอร์ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ทั้งนี้ เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงความสำคัญของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติที่กำลังดำเนินการเทียบรายวิชาในจังหวัดนำร่อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตให้แก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดความร่วมมือจัดทำฐานข้อมูล (Big Data) ของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม โดยประโยชน์ของระบบธนาคารหน่วยกิตนั้นถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียม สามารถนำผลการเรียนรู้และประสบการณ์ทั้งจากในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย มารับรองและเทียบโอนกันได้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของประชาชน  ลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนในการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อให้คุณภาพแรงงานไทยตอบโจทย์ตลาดงานท่ามกลางสังคมโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

ดร.นิติ  กล่าวถึงการดำเนินงานว่า กลไกการดำเนินงานของระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติที่ต้องเชื่อมโยงกับกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualifications Framework : NQF) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ โดยมีการรับรองหลักสูตรและแบ่งมาตรฐานเป็นระดับต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงหน่วยกิตกันได้ เนื่องจากผู้เข้าร่วมการประชุมมาจากหลายภาคส่วนที่รูปแบบการทำงานแตกต่างกัน จึงมีการอธิบายให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการขับเคลื่อนระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติของการศึกษาแต่ละรูปแบบ ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบถึงข้อมูลการดำเนินงานตามรูปแบบงานของตนเองอย่างพอสังเขปและสามารถนำรายวิชาแต่ละหลักสูตรมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ประเด็น Micro-Credentials ถือเป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้สำคัญที่ถูกกล่าวถึงในการบรรยายครั้งนี้ หมายถึง ระบบทะเบียนสะสมและกลไกการเทียบโอน ผลลัพธ์การเรียนรู้ ที่เฉพาะเจาะจงหรือระดับสมรรถนะย่อยที่ได้จากการศึกษาอบรมทั้งจากการฝึกปฏิบัติและการเรียนรู้จริง นับเป็นอีกเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานระบบธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ

นอกจากนี้ รองเลขาธิการสภาการศึกศส ยังได้อธิบายแนวทางการดำเนินการเทียบรายวิชาหรือผลลัพธ์การเรียนรู้ พร้อมทั้งอธิบายวิธีการใช้งาน “แบบฟอร์มการวิเคราะห์และเปรียบเทียบรายวิชา ฯ” ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ผู้เข้าร่วมการประชุมต้องใช้สำหรับดำเนินการเทียบรายวิชา หลังจากนั้นที่ประชุมได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อดำเนินการเชื่อมโยงและการเทียบรายวิชาของหลักสูตรแต่ละระดับของศูนย์ธนาคารหน่วยกิตระดับจังหวัดผ่านวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group) โดยแบ่งกลุ่มเป็น 4 กลุ่มพร้อมวิทยากรคอยให้คำปรึกษา ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กลุ่มที่ 2 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ กลุ่มที่ 3 ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงและระดับอุดมศึกษา และกลุ่มที่ 4 หลักสูตรระยะสั้นและการศึกษาตลอดชีวิต

“ยศพล”มุ่งมั่น ปีที่ 84  อาชีวะขับเคลื่อน “เรียนดี มีความสุข”อย่างต่อเนื่อง หวังสร้างกำลังคนอาชีวะสมรรถนะสูง  มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) กล่าวว่า  ในวาระครบรอบวันสถาปนาสำนักงานคณะกรรการการอาชีวศึกษา (กรมอาชีวศึกษา เดิม) ครบรอบ 83 ปี 19 สิงหาคม 2567 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั่วประเทศ ได้ดำเนินการในการจัดการเรียนการสอน พัฒนาคุณภาพการศึกษาอาชีวศึกษาอย่างต่อเนื่อง 83 ปี ตั้งแต่เป็นกรมอาชีวะ และเป็นสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทุกท่านได้ทุ่มเททำงานพัฒนาการเรียนการสอน ผลิตนักเรียน นักศึกษาศึกษาที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์และตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทั้งการปรับหลักสูตรการจัดระบบการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเข้มข้น ให้นักเรียน นักศึกษา มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ นั่นคือสิ่งที่มุ่งมั่นของ สอศ. และพร้อมเดินหน้าต่อไปในปีที่ 84 อย่างมุ่งมั่น ขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนที่ดำเนินการแล้ว ก็มีการปรับปรุง พัฒนา ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจุบัน ดึงผู้เรียนที่จบไปแล้วกลับเข้าสู่ระบบ UpSkill และ ReSkill และผลิตตรงตามสมรรถนะให้พอเพียงต่อความต้องการ เพิ่มนักเรียน นักศึกษา ในการเรียนสายอาชีพทั้งในระบบประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ ปริญญาตรี สร้างอาชีพและจัดหลักสูตรระยะสั้นให้กับประชาชน สิ่งสำคัญของอาชีวะนอกจากพัฒนาหลักสูตร สมัยใหม่ ต้องเสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ให้นักเรียน นักศึกษาด้วย ซึ่งจะเห็นในภาพของศูนย์อาชีวะจิตอาสาช่วยประชาชน ในการให้บริการประชาชน โดยนักศึกษาได้นำความรู้ ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะเห็นน้องๆ ได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ หรือแม้แต่ในช่วงเกิดวิกฤตต่างๆ เช่น น้ำท่วม พี่น้องนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ก็จะเข้าไปดูแลช่วยเหลือ สิ่งที่น้องๆ อาชีวะได้รับคือมีทักษะทางวิชาการและทักษะวิชาชีพ และที่สำคัญจะได้ทักษะชีวิต สร้างความเป็นจิตอาสาต่างๆ และสร้างคุณธรรมให้กับนักศึกษา อันนี้คือเป้าหมายของ สอศ. และในปีการศึกษานี้ มีผู้เข้าเรียนเทียบสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2566 เพิ่มขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่ง สอศ. คือ หน่วยงานผลิตบุคลากรที่มีทักษะ สมรรถนะ ทั้งเป็นผู้ประกอบการ และผลิตกำลังคนเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ เชื่อมั่นได้ว่า นักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ผ่านการฝึกฝนจากการเรียนทั้งในห้องปฏิบัติการ จากในสถานการณ์จริง หรือการเรียนในสถานประกอบการ จะเป็นกำลังหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศก้าวหน้าต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน”

นายยศพล กล่าวอีกว่า และอีกเรื่องที่น่ายินดีในวันนี้ คือ การแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการครั้งแรกในสถาบันการอาชีวศึกษา นับตั้งแต่ปี 2556 สถาบันการอาชีวศึกษา และสถาบันการอาชีวศึกษาเกษตร ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรี ตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. 2551 เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีทักษะปฏิบัติสมรรถนะสูง ตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน โดยการแต่งตั้งตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการอาชีวศึกษา เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. ที่ประกาศ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 มีผู้ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 50 ราย ประกอบด้วย ตำแหน่งอาจารย์ 4 ราย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ 40 ราย และรองศาสตราจารย์ 6 ราย ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเคร่งครัดและโปร่งใส โดยมีคณะกรรมการพิจารณาผลงานทางวิชาการ ตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ทั้งสิ้น 6 ท่าน และมีประธานกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (กพว.) คือ ศาสตราจารย์ (ญาณวิทย์) อลงกลด แทนออมทอง ผู้ซึ่งมากประสบการณ์ และเป็นประธาน กพว. ในหลายมหาวิทยาลัย ชั้นนำของประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษา และการวิจัยในสายอาชีวศึกษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ และส่งเสริมนวัตกรรมในภาคการผลิตและบริการของประเทศ การมีตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการอาชีวศึกษาจะส่งผลดีในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การวิจัยเชิงประยุกต์ และการสร้างความเชื่อมันในมาตรฐานการศึกษาสายอาชีพต่อไป

 

หน่วยงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นให้นักเรียนประถมจังหวัดมหาสารคามแบบครบวงจร

หน่วยงานจักษุวิทยา โรงพยาบาลมหาสารคาม ได้รับรางวัลผลงานดีเด่น ผลงานวิชาการและนวัตกรรมดีเด่น ประเภท “ Oral presentation” ใน การประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ปีงบประมาณ 2567 “ยกระดับบริการเพื่อสุขภาพคนไทย ด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัลสุขภาพที่ทันสมัย  โดย  แพทย์หญิงเพียงใจ ลวกุล  หัวหน้ากลุ่มงานจักษุ โรงพยาบาลมหาสารคาม พร้อมคณะ เข้ารับรางวัล ณ ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัล คือ ผลงานตรวจคัดกรองสายตาและตัดแว่นให้นักเรียนประถมจังหวัดมหาสารคามแบบครบวงจร  คือ การวัดสายตา ตรวจตาโดยแพทย์ ตัดแว่นและรับแว่นตา ที่โรงเรียนในแต่ละอำเภอ โดยไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลประจำจังหวัด

“ยศพล” มอบนโยบายผู้บริหารอาชีวะ จังหวัดชายแดนใต้ เดินหน้าเรียนดี มีความสุข จบแล้วมีงานทำ

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) มอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 18 วิทยาลัย และเป็นประธานเปิดอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการโดยมี นายราตรีสวัสดิ์ ธนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ รักษาการตำแหน่งที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรม กล่าวรายงาน และนายธนะรัชต์  จุลรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพเบตง ผู้บริหาร และคณะครู รับฟังนโยบาย ณ วิทยาลัยการอาชีพเบตง จังหวัดยะลา

นายยศพล  กล่าวมอบนโยบายแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ภายในการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาการอาชีวศึกษาในจังหวัดชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตอนหนึ่งว่า “จากการขับเคลื่อนนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รองรับนโยบายของรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ “เรียนดี มีความสุข” โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา พัฒนาหลักสูตรทวิภาคี เน้นการเรียนในภาคปฏิบัติให้ผู้เรียนมีสมรรถนะที่ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ และได้รับการยอมรับตามมาตรฐานของหน่วยงาน สิ่งสำคัญคือ มีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ และตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ ซึ่งในปีการศึกษานี้ มีผู้เข้าเรียนเทียบสัดส่วนเพิ่มขึ้นจากปีการศึกษา 2566 แต่สัดส่วนผู้จบยังไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดย สอศ. เร่งขับเคลื่อนผู้อาชีวะอย่างต่อเนื่อง Up-skill และRe-skill ผู้เรียนที่จบไปแล้วดึงกลับเข้าสู่ระบบ ผลิตตรงตามสมรรถนะและพอเพียงต่อความต้องการ”

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากมอบนโยบายให้กับผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังได้เปิดอาคารเรียนและอาคารปฏิบัติการ ของวิทยาลัยการอาชีพเบตง ซึ่งเป็นอาคารเรียน 7 ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สอศ. เป็นอาคาร 4 ชั้น ขนาด 16 ห้องปฏิบัติการ เพื่อเป็นอาคารให้บริการทางวิชาการแบบบูรณาการ สาขาวิชาช่างไฟฟ้ากำลัง สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ และสาขาวิชาอาหารและโภชนาการ มีห้องเรียนภาคทฤษฎี และห้องเรียนภาคปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจการจัดการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมวิชาชีพ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และเพิ่มทักษะสมรรถนะทางวิชาชีพ รวมถึงแหล่งบ่มเพาะสนผู้ประกอบการนักเรียน นักศึกษา ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ และบุคลากร ดังนั้นแล้ว อาคารเรียนและปฏิบัติการหลังนี้จะถูกใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ อันสำคัญของชาวเบตงต่อไป

“พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ การพัฒนาการเรียนการสอนในสถานศึกษา และพัฒนานักเรียนนักศึกษา ไม่เฉพาะทำให้เด็กมีวิชาชีพ มีความมั่นคงในชีวิต มีรายได้ระหว่างเรียน แต่ยังมีอีกหลากหลายมิติด้วยความเป็นพหุวัฒนธรรม ฝากท่านผู้บริหารในการสร้างความมั่นคงในพื้นที่นี้ การศึกษาเพื่อความมั่นคง การศึกษาเพื่ออาชีพ ฝึกนักเรียนนักศึกษาให้มีทักษะ สมรรถนะวิชาชีพ พัฒนาทักษะทางภาษา ร่วมจัดการศึกษาทวิภาคีกับสถานประกอบการ การจัดการศึกษาทวิวุฒิกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายหรือเจตนารมย์ของชาวอาชีวศึกษา ขอชื่นชมการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษาที่ผ่านมาที่ดำเนินการอย่างมีคุณภาพ และร่วมกันผลิตกำลังคนอาชีวะที่มีสมรรถนะเพื่อการพัฒนาประเทศต่อไป” เลขาธิการ กล่าว

 

‘เสมา 1’ ห่วงเด็กเล็กติดจอ ส่งผลพัฒนาการช้าลง เห็นชอบ นโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ของสภาการศึกษา

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2567/ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของทุกคนจนเป็นเรื่องปกติแล้ว แต่สิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง คือ พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และอุปกรณ์ดิจิทัลอื่น ๆ ของเด็กเล็กที่ติดหน้าจอมากจนเกินไป ส่งผลต่อพัฒนาการหลายด้าน ซึ่งข้อมูลจากทั่วโลกเริ่มแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการใช้จอดิจิทัลในวัยเด็กเล็ก จนทำให้หลายประเทศต้องเริ่มร่างกฎหมายหรือกำหนดนโยบายเพื่อจำกัดการใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียน เช่น ฝรั่งเศส ออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนสำหรับนักเรียนอายุไม่เกิน 15 ปี ตั้งแต่ปี 2018 เพื่อช่วยลดการรบกวนในชั้นเรียน และแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตจากการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไป ด้านเนเธอร์แลนด์ และฟินแลนด์ก็เริ่มใช้มาตรการคล้ายกันในปี 2024 โดยมีการจำกัดหรือห้ามใช้โทรศัพท์มือถือในโรงเรียนเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่อิตาลีมีบางโรงเรียนที่ครูจะเก็บโทรศัพท์ของนักเรียนไว้ตั้งแต่เข้าโรงเรียนในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้ในช่วงเวลาเรียน

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวต่อไปว่า ในประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการใช้สื่อดิจิทัลมากเกินไปในเด็กเล็ก อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสมองและสติปัญญา ซึ่งหนึ่งในงานวิจัยพบว่าเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอมากกว่า 6 ชั่วโมงครึ่งต่อวัน มีค่าเฉลี่ย IQ ต่ำกว่ากลุ่มเด็กที่ใช้เวลาหน้าจอน้อยกว่าอย่างมาก อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสมาธิสั้นและการเรียนรู้ที่ช้าลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กในระยะยาว ดังนั้น เพื่อรับมือกับปัญหานี้ ศธ. โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้เสนอนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผลคือที่ประชุมเห็นชอบนโยบายดังกล่าว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต ซึ่งประเด็นหนึ่งในนั้น คือ วิกฤตด้านเด็กปฐมวัยมีแนวโน้มในการใช้โทรศัพท์มือถือที่สูงขึ้น

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ศธ. มุ่งลดการใช้สื่อหน้าจอในเด็กปฐมวัยก่อนวัย 2 ขวบ เพื่อลดความเครียด คืนความสุขแก่เด็กปฐมวัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ต่อเนื่องด้วยการเพิ่มกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ผ่านการเล่นหลากหลาย เช่น ดนตรี กีฬา การออกกำลังกาย การเล่าและอ่านนิทานสม่ำเสมอ เพิ่มความรัก ความใส่ใจ และส่งเสริมเวลาคุณภาพของครอบครัว ขณะเดียวกัน ศธ. ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ศึกษาแนวทางการลดใช้สมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในโรงเรียน โดยต้องไม่ลิดรอนสิทธิของเด็ก รวมถึงแยกประเด็นนี้จากเรื่องของการใช้อุปกรณ์เป็นสื่อการเรียนการสอนด้วย ซึ่งเป้าหมายสำคัญที่แท้จริงคือการช่วยกันพัฒนาคุณภาพของเด็กทุกช่วงวัยให้เติบโตเต็มที่อย่างมีคุณภาพ

“ขอเน้นย้ำว่า การที่ลูกหลานของเราจะเติบโตอย่างสมบูรณ์ เรียนดี มีความสุขได้นั้น ผู้ปกครองจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการลดใช้สื่อดิจิทัลในชีวิตประจำวันให้เด็ก ๆ ได้เห็น ชวนลูก ๆ ทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ ให้เวลากับพวกเขาอย่างเต็มที่ เพราะเขาจะไม่ย้อนกลับมาเป็นเด็กได้อีก ช่วยกันสนับสนุนให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับพัฒนาการที่แข็งแรงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าว

 

วิทยาลัยพณิชยการธนบุรีจับมือ 50 สถานประกอบการพัฒนาหลักสูตรยกระดับบุคลากร

วันที่ 16 สิงหาคม 2567 จ่าสิบเอกดร.สมพร ชูทอง ผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือตามโครงการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพณิชยการธนบุรีกับสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่น ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนางสาวสาริศา พิชัยฤกษ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี เเละสถานประกอบการจำนวน 50 เเห่ง ร่วมลงนามความร่วมมือ ณ ลานโดมอเนกประสงค์ วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี

จ่าสิบเอก ดร.สมพร กล่าวว่า ปัจจุบันบุคลากรขององค์กรต้องมีการพัฒนาเรียนรู้ก้าวทันเทคโนโลยีอยู่เสมอ การสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ต้องเริ่มบ่มเพาะความรู้และประสบการณ์ตั้งแต่ขณะที่อยู่ระหว่างการศึกษา เพื่อให้ทันต่อการ เปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เศรษฐกิจและสังคม การจัดการศึกษาจึงไม่สามารถอยู่แต่ใน ห้องเรียนได้ การที่สถานศึกษาและสถานประกอบการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้พัฒนาการจัดการ เรียนการสอนร่วมกัน เป็นการเปิดโอกาสนักเรียน นักศึกษา ได้ฝึกฝน เรียนรู้สร้างเสริม ประสบการณ์จากสถานประกอบการ เป็นการสร้างรากแก้วแห่งทักษะวิชาชีพ ให้นักเรียน นักศึกษา ได้กลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญของชาติในการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคมให้เจริญก้าวหน้า การจัดงานในครั้งนี้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในการร่วมกันจัดการอาชีวศึกษา ของคณะผู้บริหาร ครู บุคลากร และสถานประกอบการมากมาย

ผู้อำนวยการสถาบันอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่าในนามของวิทยาลัยพณิชยการ ธนบุรี ขอขอบพระคุณสถานประกอบการทุกแห่ง ที่เล็งเห็นความสำคัญของการร่วมกันพัฒนา นักเรียน นักศึกษา พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้วิทยาลัยสามารถผลิตบุคลากรที่เก่งด้วยวิชาการ ชำนาญด้วยทักษะวิชาชีพ มีความพร้อมและสามารถปฏิบัติงานได้จริงเมื่อจบ การศึกษา และเป็นกำลังสำคัญของประเทศต่อไป

ด้าน นางสาวสาริศา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี กับสถานประกอบการจำนวน 50 แห่งวัตถุประสงค์ในการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อเพิ่มจำนวนสถานประกอบการหรือหน่วยงานในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีประสบการณ์วิชาชีพให้ตรงตามความต้องการของสถานประกอบการและเปิดโอกาสให้สถานประกอบการมีส่วนร่วมในการจัดอาชีวศึกษาในสาขาวิชาที่หลากหลาย อีกทั้งยังสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการหรือหน่วยงานอื่นซึ่งวิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ตระหนักในความสำคัญของการพัฒนานักเรียน นักศึกษา จึงมุ่งมั่นผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการตอบโจทย์ต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ที่เก่งทั้งวิชาการและมีความชำนาญในวิชาชีพ พร้อมเข้าสู่โลกการทำงานจริง สามารถปฏิบัติงานและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้

อธิการบดี มบส. รายงานผลการดำเนินงานแก่ประชาคม เพื่อสร้างความมั่นใจบริหารงาน

ผศ.ดร.คณกร  สว่างเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางมบส. ได้จัดประชุม “ประกาศนโยบายการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยตามแนวทางค่านิยมองค์กร  BSRU  PHENOMENA”   โดยมีการรายงานผลการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ ให้แก่บุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุนวิชาการได้รับทราบ เช่น การวางแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานโดยเน้น 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านนักศึกษาและบัณฑิตในการสร้างหลักสูตรใหม่หรือควบรวมสหสาขาวิชาให้เกิดความน่าสนใจ พร้อมผลักดันหลักสูตรร่วมกันระหว่างประเทศในการเตรียมความพร้อมเป็นหลักสูตรแห่งอนาคต  2. ด้านบุคลากรสายวิชาการและสายสนับสนุน  โดยมีการเตรียมความพร้อมที่จะสนับสนุน สร้างคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีให้เกิดความปลอดภัยในสายอาชีพของบุคลากรทุกระดับ และ 3. ด้านธุรกิจการศึกษา  เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบบริหารด้วยการตรวจสอบ ควบคุม ติดตามการใช้งบประมาณอย่างละเอียดรอบคอบ และเพิ่มโครงการสร้างรายได้ในรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่บุคลากร และที่สำคัญ มบส.ได้ทำหน้าที่ในการพัฒนาท้องถิ่น เพื่อส่งผลให้คนไทยอยู่ดีมีสุขต่อไป

อธิการบดี มบส. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้มีการแนะนำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยและที่ปรึกษาอธิการบดีที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานดังนี้ รศ.ดร.สมบัติ ทีฆะทรัพย์ และรศ.สมชาย พรมสุวรรณ  ที่ปรึกษาอธิการบดี,ดร.ศิริกาญจน์ โพธิเขียว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร, ดร.นัยนพัศ  อินจวงจิรกิตต์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ ,รศ.ดร.ชลลดา พงศ์พัฒนโยธิน รองอธิการบดี ฝ่ายแผน ประกันคุณภาพและการต่างประเทศ,ผศ.ดร.ดรุษ  ประดิษฐ์ทรง  รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย ,ผศ.ดร.รังสรรค์  บัวทอง รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และประชาสัมพันธ์เชิงรุก,รศ.ดร.ทยาตา รัตนภิญโญวานิช  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาคุณภาพอาจารย์,ผศ.ดร.ณัฎฐ์ เดชะปัญญา รองอธิการบดีฝ่ายสร้างสรรค์ภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร,ดร.สุรศักดิ์ เครือหงส์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายอาคารสถานที่ ภูมิทัศน์และสิ่งสนับสนุนสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว  (Green University), ผศ.ดร.ปณิตา แจ้ดนาลาว  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี ศูนย์ฝึกอบรมและ Reinventing  University,ผศ.ดร.ปัทมา วัฒนพานิช  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายขับเคลื่อนโครงการพัฒนาท้องถิ่น  จัดลำดับSDG  และ Green University Ranking,ผศ.ดร.สุภาพร ศรีหามี  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายติดตามแผนการเงินและงบประมาณและผศ.ดร.พิบูลย์ วิฑูรย์ปัญญากุล  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย จราจร  และสหกิจศึกษา (CWIE)

สกศ. ขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่อุบลฯ เดินหน้า “ 3เร่ง 3ลด 3เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย”

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 นายเชิดศักดิ์ โภคกุลกานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมวิชาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ (จังหวัดอุบลราชธานี)เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “ 3เร่ง 3ลด 3เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทยที่ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดอุบลราชธานี

โดย นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้สร้างผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชากรทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่ต้องใช้ชีวิตวัยเรียน เป็นเวลากว่า  2 ปี กับห้องเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งลดทอนโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาการของเด็กปฐมวัยอย่างมหาศาล ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กปฐมวัยหยุดชะงักและเกิดภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ครั้งที่ 1/2567 ได้เห็นชอบนโยบาย “3เร่ง 3 ลด 3 เพิ่มเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต เป็นนโยบายสำคัญในการส่งเสริมและฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาในฐานะสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ นโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย มีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนการจัดทำนโยบายด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการฟื้นฟูพัฒนาการของเด็กปฐมวัย จึงได้จัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบาย3เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤตรวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริม พัฒนา และเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในระดับพื้นที่ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน โดยการประชุมในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 200 คน เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับเด็กปฐมวัย ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดนอกเขตกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารหน่วยงาน ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ครูปฐมวัย/พี่เลี้ยงเด็ก นักวิชาการ และบุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยจากหน่วยงานทุกสังกัด เป็นต้น

 

นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในแนวคิดและสาระสำคัญของนโยบาย “3เร่ง 3ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต ให้กับผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทุกภาคส่วนในสังคมได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่เป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในอนาคต