เปิดหน้า “บอร์ด สมศ.” ชุดใหม่

ตามที่ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เสนอรายชื่อแต่งตั้งประธานกรรมการและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567  รวม 7 ราย ได้แก่ 1. นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ สมศ. 2. นายทศพร ศิริสัมพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 3. ดร.สุภัทร จำปาทอง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4. นายพิริยะ ผลพิรุฬห์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 5. นายพิศณุ ศรีพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 6. นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และ 7. นายสุรินทร์ คำฝอย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ นั้น

ในการนี้ เว็บไซต์ Focusnews.in.th ขอแสดงความยินดีกับ ดร.สุภัทร จำปาทอง อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ที่มีความสามารถเข้าใจการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ถ้าไม่มีใครเห็นความสำคัญขอมาช่วยงานก็น่าเสียดาย และนายพิศณุ ศรีพล อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งถือว่าเป็นอดีตผู้อำนวยการโรงเรียนคนแรกที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ของ สมศ.และเป็นผู้อำนวยการคนแรกที่อยู่โรงเรียนที่มีนักเรียน 200 คน และผลักดัน English Program จากมีนักเรียนในโรงเรียน 200 คน ขึ้นมาเป็นเกือบ 1,000 คน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการแต่งตั้งบอร์ด สมศ.ทั้ง 7 ท่าน ครั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ได้สรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการศึกษาเข้ามาทำงานจริง ๆ  และเชื่อว่าจะนำพา สมศ.ประเมิน แนะนำทิศทางความรู้ให้กับสถานศึกษาในการจัดการเรียนการสอนให้มีคุณภาพเพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่21ได้เป็นอย่างดี

พร้อม 100% เจ้าภาพประชุม รมต.ศึกษาอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เตรียมพาผู้ร่วมประชุมลงพื้นที่ดูงานจัดการศึกษาไทยทั้งระบบ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เพื่อหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในกรอบอาเซียน อาเซียนบวกสาม และอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) ระหว่างวันที่ 23-26  สิงหาคม 2567 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอนั้น  ขณะนี้เรามีความพร้อม 100% สำหรับการจัดงาน โดยล่าสุดในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานการประชุมคณะอำนวยการเตรียมจัดการประชุมฯ ได้นำผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บุรีรัมย์ เพื่อประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมฯ ซึ่งเป็นการติดตามความพร้อมก่อนจัดการประชุม

“ในฐานะเจ้าภาพเราได้เตรียมการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับแขกที่มาร่วมประชุม เพื่อประเทศสมาชิกได้เห็นมิติการจัดการศึกษาของประเทศไทยทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งนอกเหนือจากการประชุมแล้วยังมีการแสดงนิทรรศการวิชาการการจัดการศึกษาของประเทศไทย ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงอุดมศึกษา และมีการลงพื้นที่ศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของไทยทุกระบบ รวมถึงงานวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย”ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว

ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน และการประชุมที่เกี่ยวข้อง จะแบ่งเป็น 2 ระดับ ได้แก่ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงฯ ดังนี้

1.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาของอาเซียน ครั้งที่ 19 (19th ASEAN Senior Officials Meeting on Education: SOM-ED)

2.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 14 (อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี และญี่ปุ่น) (14th ASEAN Plus Three Senior Officials Meeting on Education: APT SOMED)

3.การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการศึกษาในกรอบสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 9 (อาเซียน 10 ประเทศ บวกจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา) (9th East Asia Senior Officials Meeting on Education: EAS SOMED)

4.การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 (13th ASEAN Education Ministers Meeting: ASED)

5.การประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 7 (7th ASEAN Plus Three Education Ministers Meeting: APT EMM)

6.การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกด้านการศึกษา ครั้งที่ 7 (7th East Asia Summit Education Ministers Meeting: EAS EMM)

16-25ส.ค.นี้ “EGCO Group”นำศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม ดันเด็กเปล่งแสง ปล่อยจินตนาการ ยื้อโลกเดือด ใน “มหกรรมวิทย์ฯ แห่งชาติ ปี 67” ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 นางสาวปิยนนท์ วัฒนะจรรยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group เปิดเผยว่า “ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งก่อตั้งและสนับสนุนการดำเนินงานโดย EGCO Group ได้ส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมพลังงานในกลุ่มเยาวชน ผ่านการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์ภายในศูนย์เรียนรู้ฯเป็นประจำทุกปี และยังได้รับเกียรติจากองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ให้เข้าร่วมจัดบูธนิทรรศการในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์เรียนรู้ฯ จะได้ใช้ศักยภาพด้านการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการผลิตไฟฟ้า พลังงาน และการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกในวงกว้างมากขึ้น ที่สำคัญคือ การจุดประกายให้เยาวชนใช้ความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ร่วมหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญและร่วมมือกันแก้ไข”

นางสาวปิยนนท์ กล่าวว่า EGCO Group และศูนย์เรียนรู้ฯ ขอเชิญชวนเยาวชนและผู้สนใจ เข้าร่วมกิจกรรมในบูธนิทรรศการของศูนย์เรียนรู้ฯ ธีม “นวัตกรรมวิทย์ พลิกโลก ตอน Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด” ซึ่งจะจัดขึ้นในมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 16 – 25 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00-19.00 น. ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี อาคาร 9-12 โดยบูธศูนย์เรียนรู้ฯ จะตั้งอยู่ระหว่างอาคาร 11-12 ด้วยพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการกว่า 200 ตร.ม. โดยแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 EGCO Energy for Life ป่านวัตกรรมลดโลกเดือด Climate Tech – Brighten Up the World: นำเยาวชนสวมบทวิศวกรน้อย ลุยสำรวจป่านวัตกรรมพลังงานที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนุกไปกับฐานการเรียนรู้เทคโนโลยีที่สำคัญ 3 ชิ้น ได้แก่ เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) เทคโนโลยีไฮโดรเจน และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ โซนที่ 2 Climate Tech เด็กเปล่งแสง ลดโลกเดือด: ย้อนเวลาไปรู้จักสาเหตุของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ผ่านโรงภาพยนตร์ Immersive Theater จำลองบรรยากาศภายในโรงไฟฟ้าเรือลอยน้ำ พร้อมสัมผัสแนวคิดและนวัตกรรมจากนวัตกรน้อยทั่วทุกมุมโลก ที่จะจุดประกาย    แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โซนที่ 3 Climate Tech Innovation for Better Life นวัตกรรมวิทย์ลดโลกเดือด: เปิดพื้นที่กำแพงศิลปะยักษ์ (Giant Art Wall) ให้เยาวชนแสดงความคิดเชิงนวัตกรรม ไอเดียสร้างสรรค์ หรือความตั้งใจที่จะดูแลและพัฒนาโลกใบนี้ต่อไป

“ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ร่วมเล่นเกมตอบคำถามชิงรางวัล และพบกับขบวน EGCO Rangers ฮีโร่พลังงานทั้ง 6 ตัว ที่มาช่วยกอบกู้โลกจากปีศาจความมืด อีกทั้งผู้สนใจยังสามารถรับชมบรรยากาศ และเข้าร่วมกิจกรรมแบบ Online ได้ทาง Facebook Live ของเพจเฟซบุ๊ก Khanom Learning Center www.facebook.com/khanomlearningcenter ด้วย

“เสมา1″ตั้ง “ประวิต เอราวรรณ์”นั่งเลขาสภาการศึกษา ผลักดันพ.ร.บ.การศึกษาฯ ลดเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพฯ

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกรเทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลัง ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เพื่อทดแทนตำแหน่ง ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ที่จะเกษียณอายุราชการ จำนวน 1 ราย  ได้แก่ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.)ขึ้นมาเป็น เลขาธิการสภาการศึกษา นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด เป็น ประธานคณะกรรมการรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) อีกตำแหน่งหนึ่ง

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า ผู้บริหารระดับ10 ของกระทรวงศึกษาธิการ มีความเหมาะสมกันทุกคน และที่แต่งตั้ง รศ.ดร.ประวิต เพราะเห็นว่า มีความเหมะสมเหลืออายุราชการอีก 7 ปี และงานการศึกษาจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง รศ.ดร.ประวิต เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย และยังเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ดำรงตำแหน่งเลขาธิการน ก.ค.ศ.มานาน รู้งานหลายด้าน มิติที่ต้องการให้ทำคือลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น และช่วยเร่งรัดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ..ที่จะต้องปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย

สำหรับประวัติ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ มีดังนี้ ประวัติการศึกษา – ครุศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

– ครุศาสตร์มหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย – การศึกษาดุษฏีบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

ตำแหน่งหน้าที่ในปัจจุบัน

– เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ ก.ค.ศ.)

ตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต

– คณะบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (พ.ศ.2549 – 2557)

– อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม (พ.ศ.2560)

– ศึกษาธิการภาค 2 สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (พ.ศ.2563)

– เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (พ.ศ.2563 – ปัจจุบัน)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับ

– มหาวชิรมงกุฎ ม.ว.ม. 28 กรกฎาคม 2564

– ประถมาภรณ์ช้างเผือก ป.ช. 28 กรกฎาคม 2560

– ประถมาภรณ์มงกุฎไทย ป.ม. 5 ธันวาคม 2556

การฝึกอบรม

– Education Project Managemant : British Cousin

– Education Leadership : University of London, UK

– Inquiry Method for Science Teaching : University of Wisconsin Madison, USA

– นักบริหารระดับสูงมหาวิทยาลัย (นบม.) รุ่นที่ 16 สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

– เครือข่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะ (คศน.) รุ่นที่ 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

– นักบริหารการงบประมาณระดับสูง (นงส.) รุ่นที่ 4 สำนักงบประมาณ

– นักบริหารนักการทูต (พบท.) รุ่นที่ 9 กระทรวงการต่างประเทศ

– เสริมนักบริหารระดับสูง (ส.นบส.) รุ่นที่ 10 สำนักงาน ก.พ.

– หลักสูตรนักบริหารระดับสูงในกระบวนการยุติธรรมทางการปกครอง (บสป.) รุ่นที่ 1 (อยู่ระหว่างการอบรม กุมภาพันธ์-กันยายน 2566)

“ลุ้นชื่อ”ประวิต เอราวรรณ์ เข้าครม.สานต่อพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้(13 สิงหาคม 2567)ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะเสนอชื่อผู้บริหารระดับสูง(ซี11)แทน ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2567 นี้ โดยมีผู้ที่มีคุณสมบัติระดับ10หลายคน ที่เป็นตัวเต็ง อาทิ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายธนู ขวัญเดช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายพิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ทั้งนี้ แว่วมาว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน จะเสนอชื่อ รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็น เลขาธิการสภาการศึกษา ขึ้นมาแทน ดร.อรรถพล สังขวาสี ซึ่งเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์และเหมาะสมกับตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษาที่จะต้องขับเคลื่อนแผนการศึกษาชาติ โดยเฉพาะการเร่งรัดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.. เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะต้องสานต่อ ดร.อรรถพล สังขวาสี ในฐานะหน่วยงานที่จัดทำร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ…

สำหรับรายชื่อระดับ 10 ที่จะมาแทน นายประพัทธ์ รัตนอรุณ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ นายชัยณรงค์ ป้องบ้านเรือน ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ที่จะเกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายนนี้ รอรอบต่อไป

สพฐ.เชิญชวนผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน สังกัดศธ.อบรมพัฒนาความรู้เรื่องด้านการเงินผ่านระบบออนไลน์”แก้หนี้อย่างยั่งยืน”ด้วยความรู้เรื่องด้านการเงิน

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ขอเชิญผู้บริหาร ครู บุคลากร นักเรียน และข้าราชการบำนาญทุกคน เข้าร่วมอบรมพัฒนาความรู้เรื่องด้านการเงินผ่านระบบออนไลน์ เรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา Anywhere Anytime “แก้หนี้อย่างยั่งยืน ด้วยความรู้เรื่องด้านการเงิน” “OBEC Money Coach” โดย Money Coach “โค้ชหนุ่ม” พร้อมรับวุฒิบัตรผ่านการพัฒนา ทั้งนี้ทุกท่านสามารถเข้ารับการพัฒนาผ่านลิ้งค์ https://sites.google.com/samutprakan1.go.th/obec-money/home

รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ สพฐ. ขอขอบพระคุณ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ นายสิริพงษ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ  ที่ได้มีนโยบายลดภาระครูและบุคลากร โดยการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน พร้อมชี้แนะแนวทาง พร้อม สนับสนุนการดำเนินงานที่มีค่าอย่างยิ่ง พร้อมทั้งมอบโอกาสให้ผู้มีความรู้ และประสบการณ์อย่าง Money Coach “โค้ชหนุ่ม” ในการอนุเคราะห์พัฒนาหลักสูตร พร้อมบรรยายและฝึกปฏิบัติ บันทึกวีดิโอเพื่อเผยแพร่ความรู้ และขอขอบพระคุณ ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ในการสนับสนุนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

สำหรับการเรียน แบ่งเป็น 5 ส่วน
1. บทนำ (คลิป รมว. 1 นาที ,คลิปโค้ชหนุ่ม 9 นาที, แบบทดสอบก่อนเข้าสู่บทเรียน 15 ข้อ)
2. บทเรียนที่ 1 การวางแผนจัดการรายได้ (คลิปโค้ชหนุ่ม 1 ชั่วโมง 9 นาที, แบบทดสอบ คำถาม คำตอบ 2 ข้อ)
3. บทเรียนที่ 2 การวางแผนใช้สินเชื่อ (คลิปโค้ชหนุ่ม 58 นาที, แบบทดสอบ คำถาม คำตอบ 2 ข้อ)
4. บทเรียนที่ 3 วิธีการจัดการปัญหาหนี้และเสริมสภาพคล่อง (คลิปโค้ชหนุ่ม 1 ชั่วโมง 41 นาที ,แบบทดสอบ คำถาม คำตอบ 2 ข้อ)  และ5. บทส่งท้าย (ทดสอบหลังเรียน 15 ข้อ และยื่นคำขอรับเกียรติบัตร)

จึงขอเชิญชวนทุกท่านได้เข้ารับการพัฒนา และนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อปรับพื้นฐานการดำเนินชีวิตให้มีความพร้อมอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

“ธฤติ”ชวนเที่ยวงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ Ubon BookFair ครั้งที่ 13

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 นายธฤติ ประสานสอน รองเลขาธิการสภาการศึกษา เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 10-18 สิงหาคม 2567 จะมีพิธีเปิดงานสัปดาห์หนังสือและการเรียนรู้ Ubon BookFair ครั้งที่ 13 ประจำปี 2567 ที่สุนีย์ทาวเวอร์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งการจัดงานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่และสุดปัง โดยผู้เข้ามาร่วมงานจะได้เรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ และกิจกรรม มากมายให้ได้ร่วมสนุกและค้นหาความรู้ ซึ่งปีนี้จะมาในตรีมงาน BOOK CARNIVAL มีกิจกรรม การแข่งขัน ประกวด มากมายที่ทุกคนจะพลาดไม่ได้ นอกจากนี้ยังได้พบกับกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม ภายใต้การนำและความรับผิดชอบในจังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมมาเที่ยวงานที่พร้อมให้ความรู้และความสนุกสนานนะครับ

Active Learning หลักการเรียนรู้เชิงรุก ที่เห็นผลจริง ผู้เรียนสร้างนวัตกรรมได้ คะแนนสอบโอเน็ตสูงขึ้น ผู้บริหาร-ครู ตื่นตัวกับกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบพัฒนาผู้เรียนสู่ศตวรรษที่ 21 “เรียนดี มีความสุข”

เมื่อวันที่ 10-11 สิงหาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา ด้วยรูปรูปแบบ Active Learningสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อําเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สระบุรี เขต 1

โดย ดร.วิภา สายรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning มีส่วนสำคัญในการพัฒนานักเรียน ให้เกิดการเรียนรู้ที่นำไปสู่วิธีการปฏิบัติทั้งในด้านการคิดและลงมือทำติดตัวผู้เรียนให้สามารถนำไปใช้ในอนาคตได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นวิธีการเรียนรู้ วิธีการทำงานที่นำสู่ผลที่ดี และนำสู่การพลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพ ที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ระดับห้องเรียน ให้ครูเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้เรียนให้เป็นนวัตกร นำไปสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Soft Power) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล  โดยโรงเรียนในสังกัด สพป.สระบุรี เขต1 ทั้ง 116 โรงเรียน ได้เข้าสู่การจัดการเรียนการสอนผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องเรียนดี มีความสุข

“หลังจากที่โรงเรียนได้จัดการเรียนรู้แบบ Active Learning  ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps พบว่า  ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาการ โดยมีผลโอเน็ตในทุกกลุ่มสาระ มีหลายโรงเรียนที่เด็กสามารถทำคะแนนได้ 100 คะแนนเต็ม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเด็กด้อยโอกาส และเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ ที่เราจะต้องเติมเต็ม ซึ่งเราจะไม่ทิ้งเด็กกลุ่มนี้ไว้ข้างหลัง โดยบางโรงเรียนก็ได้ใช้หลักการ Active Learning เข้าไปใช้ตามความถนัดของเด็ก ๆ ซึ่งไม่เพียงแค่ส่งเสริมเด็กที่เก่งเท่านั้น แต่เราก็ไม่ลืมเด็กที่อาจจะขาดองค์ความรู้ที่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป จึงถือว่าการเรียนรู้แบบ Active Learning เป็นคำตอบที่ใช่ และสามารถพัฒนานักเรียนและครูได้อย่างแท้จริง

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ทิศทางการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ และ แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เพราะ เป็นการตอบโจทย์โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และ พัฒนาพหุปัญญา ซึ่งก็คือความฉลาดที่ต่างกันของนักเรียนทุกคน โดยหลักการนี้เป็นหลักการสำคัญที่ทั่วโลกยึดถือและใช้อยู่  อย่างไรก็ตามสิ่งที่กังวล คือ โรงเรียนหลายแห่งคิดว่าให้เด็กได้คิด ได้ทำบ้างก็ถือว่า เป็น Active Learning แต่จริง ๆแล้ว Active Learning คือ บทบาทการเรียนรู้ของผู้เรียนเกือบ 100% โดยหัวใจของ Active Learning คือ ทำให้ผู้เรียนสามารถสร้างความรู้ได้ทุกมิติ ตั้งแต่การคิดวิเคราะห์ ความมีคุณธรรม ค่านิยม ทักษะและกระบวนการพัฒนาจนกระทั่งเกิดผลผลิตไปสู่นวัตกรรมได้ ซึ่งต้องใช้กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps ดังนั้น GPAS 5 Steps จึงเป็นกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบที่จะตกผลึกอยู่ในตัวเด็กแล้วเอาไปเรียนรู้ได้ทุกเรื่อง ทุกมิติผ่านกระบวนการอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพราะฉะนั้น GPAS 5 Steps จึงสามารถกลั่นกรองข้อมูลไปเป็นองค์ความรู้แล้วทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมได้

“สำหรับประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งและสอดคล้องกับนโยบายของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ.ที่เน้น Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps และ การวัดและประเมินผลด้วยมิติคุณภาพ หรือ ประเมินตามสภาพจริงที่เกิดจากการคิด การแสดงออกของผู้เรียนจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง รวมทั้งผลผลิตของผู้เรียนไม่ใช่เป็นการสอบเหมือนในอดีต เพราะฉะนั้นเมื่อทิศทางของประเทศตอนนี้เดินมาแบบนี้ถือว่า เป็นความโชคดีของเด็กไทยรุ่นใหม่ที่จะได้รับอานิสงส์ในเรื่องนี้ ได้รับการพัฒนาตามรูปแบบของการเรียนรู้เพื่อสร้างความรู้ด้วยตัวเองจะมีผลผลิตของการเรียนรู้สู่ระดับนวัตกรรม ซึ่งจะตอบโจทย์แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาที่กำหนดว่า เด็กระดับ ป. 1 ถึง ป. 6 ต้องสามารถสร้างนวัตกรรมได้ และการสร้างนวัตกรรมนี้ไปยกระดับอาชีพของพ่อแม่ได้ด้วย ส่วนเด็กระดับมัธยมศึกษา นอกจากต่อยอดนวัตกรรมระดับประถมศึกษา ไปสู่นวัตกรรมขั้นสูงแล้ว ยังต้องสามารถพัฒนานวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่นภูมิภาคและประเทศได้  เพราะฉะนั้นกระบวนการเรียนรู้ที่กระทีวงศึกษาธิการวางไว้นี้ น่าจะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยได้อย่างแท้จริง”ดร.ศักดิ์สินกล่าวและว่า แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ คนไทยเรียนรู้เองไม่เป็น ที่เรียนรู้เองเป็นมีน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการเรียนรู้แบบทำตามคำสั่ง ทำตามแบบแผนที่วางไว้แล้ว แต่การคิดสร้างสรรค์แทบจะไม่มีเพราะฉะนั้นถ้า Active Learning สามารถพลิกโฉมประเทศไทยได้เด็กไทยก็จะคิดสร้างสรรค์ได้ตั้งแต่ระดับประถมฯและมัธยมฯและยิ่งไปถึงระดับมหาวิทยาลัยก็จะสามารถเข้าสู่การแข่งขันในระดับนานาชาติและระดับโลกได้

กรรมการปฏิรูปประเทศฯ กล่าวอีกว่า ดังนั้นถ้าเด็กได้เรียนรู้แบบ Active Learning ได้อย่างถ่องแท้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีการปรับหลักสูตร เพราะ Active Learning เป็นการนำมาตรฐานหลักสูตรของหลายประเทศมาใช้ ซึ่งก่อนที่จะนำมาใช้ก็ได้มีการวิจัยมาแล้ว 15 ปี เมื่อเรานำมาตรฐานมาใช้ก็แสดงว่าคุณภาพของผู้เรียนก็จะทัดเทียมกับนานาประเทศในโลก แต่ปรากฏว่าเมื่อเราไปดูที่โรงเรียนจริง ๆ บางโรงก็ยังไม่เคยบรรลุแม้แต่มาตรฐานเดียว เพราะมาตรฐานเกิดจากการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้เท่านั้น ผ่านการคิดการปฏิบัติเท่านั้น แต่ที่ผ่านมาเราเรียนด้วยกันนั่งฟัง นั่งท่อง นั่งจำแล้วก็สอบ แสดงว่าผู้สอนจำนวนมากยังไม่เข้าใจนิยามของมาตรฐาน ไม่เข้าใจนิยามของความรู้ เพราะความรู้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนหลังจากที่ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการคิด การประเมินและการลงมือทำเองแล้ว เกิดความเข้าใจหลังคิด หลังประเมินและหลังทำด้วยตัวของเขาเอง ผลที่เขาเข้าใจนั้นนั่นคือความรู้ และความรู้นี้จะไปตอบโจทย์มาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งก็คือความสามารถในการแสดงออกของผู้เรียนในมิติของการคิด การตัดสินใจ และ การกระทำ การปฏิบัติจนนำไปสู่ผลผลิตในระดับนวัตกรรม แต่ที่ผ่านมาเด็กเป็นเพียงผู้ฟัง ดังนั้นถ้าสามารถแก้ปัญหาตรงนี้ได้จะสามารถพลิกโฉมการศึกษาของประเทศใดแน่นอน เพียงแค่เราปรับเนื้อหาการเรียนรู้เท่านั้น

นางศรีนวน เมยขุนทด ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศาลาแดง สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยใช้ Active Learning ซึ่งคณะครูทุกคนจะทำแผนการสอนที่ใช้ Active Learning โดยกิจกรรมการเรียนการสอนในชั่วโมงครูก็จะฝึกให้เด็กรู้จักคิดเอง ทำเอง ปฏิบัติจริง ลงมือทำ ซึ่งเนื้อหาในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ มีธรรมชาติของวิชาแตกต่างกันไป ซึ่งจากการจัดการเรียนการสอนได้ผ่านกระบวนการคิดส่งผลให้นักเรียนมีผลการทดสอบโอเน็ตโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ได้ 100 คะแนนเต็ม ส่วนวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ก็ได้คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีต่อเนื่อง

“สำหรับการต่อยอดนวัตกรรมก็จะมี best practice ของโรงเรียน และของครูผู้สอน ซึ่งส่งผลให้นักเรียนได้รับรางวัลต่าง ๆเช่น การประกวดกิจกรรมศิลปหัตถกรรมนักเรียน รางวัลโรงเรียนสุจริต รางวัลโรงเรียนคุณภาพ และรางวัลที่เกี่ยวกับสถานศึกษาปลอดภัย โดยกิจกรรมเหล่านี้นักเรียนก็จะมีส่วนร่วมโดยผ่านสภานักเรียน ซึ่งนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง นอกจากนั้นกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนดำเนินการก็ยังส่งผลให้นักเรียนมีทักษะชีวิตด้วย โดยโรงเรียนจะมีการจัดตลาดนัดคุณหนูทุกสิ้นเดือน ซึ่งเด็กจะมีการคิดวิเคราะห์กระบวนการ นำผลิตภัณฑ์ของตนเองมาจำหน่ายในโรงเรียน”นางศรีนวนกล่าว

 ด้านนางสาวสุพิชฌาย์  เลาหะพานิช ศึกษานิเทศก์ สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าวว่า  สพป.สระบุรี เขต 1 มีการจัดโครงการพัฒนาการเรียนรู้โดยใช้ Active Learning ซึ่ง GPAS 5 Steps ก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning  ซึ่งพบว่า กระบวนการ GPAS 5 Steps ใช้ได้ดีในหน่วยบูรณาการ โดยครูสามารถบูรณาการกับสาระการเรียนรู้ต่าง ๆ ในโรงเรียนแล้ว นำไปเขียนแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อออกแบบการเรียนรู้ให้เกิดผลกับนักเรียน ซึ่งเมื่อครูนำไปใช้แล้วพบว่า นักเรียนเกิดการเรียนรู้มีนวัตกรรมเกิดขึ้น เช่น ที่โรงเรียนอนุบาลเสาไห้ ขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ GPAS 5 Steps ตั้งแต่อนุบาลจนถึง ป. 6 โดยได้บูรณาการการเรียนรู้ลุ่มน้ำป่าสักรักถิ่นไทยญวน นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนและวิถีชีวิตของชาวไทยญวน จนได้นวัตกรรม เช่น แผนที่การเดินไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นวัฒนธรรมไทยญวน ได้หนังสือเล่มเล็กเล่าเรื่องวัดสมุหประดิษฐาราม และได้นวัตกรรมเรื่องของการออกแบบลายผ้าซิ่นทอลายมุกซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของไทยญวน ได้เอกลักษณ์การแสดงนาฏศิลป์ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยญวน เป็นต้น

“นอกจากนี้ยังนำ Active Learning ไปใช้กับเด็กพิเศษหรือเด็กบกพร่องทั้ง 9 ประเภท พบว่า เด็กกลุ่มนี้จะเรียนรู้ได้ดีต้องผ่านกระบวนการ Active Learning ซึ่งคุณครูสามารถจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้เด็กลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ด้านการอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ คุณครูจะใช้การจัดการเรียนการสอนที่เป็น Active Learning สอนกระตุ้นให้เด็กคิดและเรียนรู้ โดยเฉพาะการอ่าน การเขียน ซึ่งเด็กจะให้ความสนใจ เมื่อครูปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ปรากฏว่าเด็กสามารถอ่าน ออกเขียนได้ ในระดับที่ดี” ศึกษานิเทศก์ สพป.สระบุรี เขต 1 กล่าว

‘เสมา 1’ ยกทีมผู้บริหาร ศธ. ไปบุรีรัมย์ซ้อมใหญ่เสมือนจริงจัดประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน ผลักดันชื่อเสียงประเทศไทย

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567  พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่บุรีรัมย์ ประชุมคณะกรรมการอำนวยการดำเนินการจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ครั้งสุดท้ายก่อนจัดงานจริง ณ ห้องประชุมประโคนชัย โรงแรมอัลวาเรซ จ.บุรีรัมย์

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการติดตามความพร้อมสำหรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการซ้อมใหญ่และสำรวจพื้นที่จริงของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันจัดขึ้น ถือเป็นเป็นการแสดงศักยภาพของกระทรวงศึกษาธิการ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันสื่อสารออกมาให้เป็นภาพเชิงบวก เพราะเป็นโอกาสที่เราจะได้ผลักดันชื่อเสียงของประเทศไทยในสายตานานาชาติ ซึ่งช่วงนี้เป็นโค้งสุดท้ายแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายลงรายละเอียดกับงานทุกเรื่อง ต้องใช่ ต้องเนี้ยบ ให้ได้มาตรฐานจังหวัดบุรีรัมย์ และประเทศไทย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมของรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน (ASED) อย่างเป็นทางการ เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เป็นประจำทุกปี จนในปี 2552 ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีศึกษาอาเชียน ครั้งที่ 4 ซึ่งการประชุมครั้งนั้นเห็นพ้องกันว่า ให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านการศึกษาของอาเซียน 5 ปี 2554-2558 (ASEAN 5-Year Work Plan on Education 2011-2015) ให้แก่เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการศึกษาของอาเซียน ในการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง กระชับ และขยายความร่วมมือทางการศึกษาในอาเซียนกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก และกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน

“ในส่วนของการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่ผ่านมา ประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ได้มีการหารือถึงเปลี่ยนแปลงของการศึกษาอันเนื่องมาจากผลกระทบของโควิด-19 ที่หลายประเทศได้หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น และเห็นว่าในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านการศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการกับความท้าทายของโลก”พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า ปีนี้ประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ระหว่างปี พ.ศ. 2567 – 2568 และการเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ในปี พ.ศ.2567 ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล (Transforming Education to Fit in the Digital Era)” มุ่งมั่นสานต่อการดำเนินงานของอาเซียน โดยเห็นว่าการศึกษาในยุคต่อจากนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ครูต้องเป็นเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนมากกว่าการสอนในห้องเรียน ให้สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาของแต่ละบุคคล ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นอกจากจะเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทยแล้ว ยังเป็นเวทีการเจรจาความร่วมมือที่ทุกประเทศอาเซียนจะร่วมกันยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ก้าวทันโลกดิจิทัลอย่างเข้มแข็งด้วย

 

เพาะช่างจัดนิทรรศการ โชว์ผลงานประจำปี “18th Poh Chang International Art Festival and Art Workshop in Thailand 2024”

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นางสาววราภรณ์ รุ่งตระการ ที่ปรึกษาด้านระบบบริหารการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)เป็นประธานพิธีเปิดโครงการ 18th Poh Chang International Art Festival and Art Workshop in Thailand 2024 ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์(มทร.รัตนโกสินทร์) วิทยาลัยเพาะช่าง โดยรศ.ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดี พร้อมด้วย ผศ.สุรัฐ บุญทรง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง ให้การต้อนรับ

โครงการนี้เป็นโครงการที่วิทยาลัยเพาะช่าง จัดขึ้นเป็นประจำต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากเป็นโครงการที่สนับสนุนส่งเสริมการเรียนการสอนด้านศิลปกรรมโดยตรง การจัดโครงการเชิงปฏิบัติการในลักษณะนี้ทำให้บุคลากร ประชาชนทั่วไปได้เห็นถึงการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะเป็นจำนวนมาก รวมถึงนักศึกษาจะได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ขั้นตอนการทำงานร่วมกับศิลปินที่เข้าร่วมโครงการในหลายประเภท อันจะก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ เสริมทักษะและประสบการณ์ทำงานทางด้านศิลปะ นอกจากนี้การที่ศิลปินจากทั้งในและต่างประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่เริ่มกระบวนการจนเป็นผลงานสำเร็จในรูปแบบต่าง ๆ จะส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์และวัฒนธรรม ผลงานที่เกิดขึ้นจะถูกนำมาใช้ในจัดแสดงนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชมและศึกษา ซึ่งในครั้งนี้มีศิลปินแห่งชาติ ศิลปินนานาชาติ และศิลปินไทย เข้าร่วมโครงการ จำนวน 166 ท่าน ทั้งนี้โครงการจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 สิงหาคม 2567 ณ มทร.รัตนโกสินทร์ วิทยาลัยเพาะช่าง