“สุรศักดิ์” หนุนอัพเกรดศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ครู -บุคลากร เป็นนวัตกรด้านการจัดการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดการเสวนาวิชาการนานาชาติเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวัน) พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่วิทยากรและผู้ร่วมแสดงผลงานวิชาการ ณ เดอะ คาวาลิ คาซ่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยนายสุรศักดิ์ กล่าวว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน คือ “แนวทางการพัฒนาที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบันโดยไม่ลิดรอนความสามารถในการตอบสนองความต้องการของคนรุ่นหลัง ซึ่งการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน มี องค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจ ความครอบคลุมทางสังคม และการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย จึงครอบคลุมมิติการพัฒนา ด้านการพัฒนาคน เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพและความยุติธรรม ความเป็นหุ้นส่วนการพัฒนา ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังเป็นกรอบในการจัดทำแผนการพัฒนาประเทศ ให้มีความสอดคล้องและบูรณาการร่วมกัน เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ทั้งนี้ สพฐ.ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน คำนึงถึงการส่งเสริมศักยภาพบุคคล ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา โดย สพป.พระนครศรีอยุธยาเขต 1 ได้จัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารการศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้ได้รับการพัฒนา เป็นนวัตกรด้านการจัดการศึกษา เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาสถานศึกษาที่ทำให้ครูผู้สอนและผู้เรียนเป็นพลเมืองไทย ที่มีสมรรถนะในการเป็นพลเมืองโลกอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ขอขอบคุณผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่าน ที่เข้าร่วมกิจกรรมเสวนาวิชาการในครั้งนี้ ขอบคุณสพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 1 วิทยากร คณะทำงานทุกท่าน ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมในวันนี้ ขอให้การจัดกิจกรรมประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทุกประการ ” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

พวงมาลัยมะลิเสมือนจริง สนับสนุนกลุ่มแม่บ้าน สร้างรายได้

สาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ หลักสูตรนวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ถ่ายทอดองค์ความรู้ “ดอกมะลิเสมือนจริง”สร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มแม่บ้าน นำทีมโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์วินัย ตาระเวช อาจารย์ประจำสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ร่วมกับนางสาววรรณภา โรจน์สุวณิชกร นักวิชาการศึกษา และนักศึกษาลงพื้นที่ กลุ่มแม่บ้าน บ้านหินดาต อำเภอปางศิลาทอง กลุ่มแม่บ้าน บ้านแม่ลาด อำเภอคลองขลุง กลุ่มแม่บ้าน บ้านวังพลับ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร และกลุ่มแม่บ้านหนองตาเพ็ง อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย

 

ผศ.วินัย  เผยว่า นอกจากพันธกิจในการเรียนการสอนนักศึกษา ทางหลักสูตรยังมีพันธกิจในการให้ความรู้ และทักษะในเวลาเรียนและนอกเวลา สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ คิดค้นประดิษฐ์ สร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบงานประดิษฐ์ เพื่อใช้ในงานวัฒนธรรมและประเพณีนิยม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ ของชาติที่สืบต่อกันมาช้านาน ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ โดย “ดอกมะลิเสมือนจริง” เป็นอีกชิ้นงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ ที่สามารถนำไปต่อยอดได้ เนื่องด้วยพวงมาลัยดอกมะลิ เป็นสื่อแทนแสดงถึงความศรัทธา ความรัก นำไปไหว้พระ ใช้ในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งราคาของดอกมะลิมีราคาสูงโดยเฉพาะช่วงเทศกาล วันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม ของทุกปี ดอกมะลิจะมีราคาแพงมาก เพราะว่าผลการสำรวจสิ่งที่ใช้และมอบให้แม่มากที่สุด คือ พวงมาลัยดอกมะลิ
เพื่อเป็นการสร้างรายได้เสริมและรายได้หลักให้กับคนในชุมชม มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางหลักสูตรจึงได้นำองค์ความรู้ การประดิษฐ์ดอกมะลิเสมือนจริง ไปถ่ายทอดให้กับทางกลุ่มแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับไปขายต่อ และผลิตส่งให้กับศิษย์เก่าคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คือ คุณภีรญา ใจเชื้อ แบรน์มาลัยสยาม และ คุณธีร์คณาธิป ไพทูรย์ Cher Design ซึ่งพวงมาลัยดอกมะลิของทั้งสองร้านได้รับความสนใจและเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดในโลกออนไลน์ปัจจุบัน

องค์ความรู้ที่นำไปถ่ายทอดให้กับกลุ่มแม่บ้าน ทางหลักสูตรนวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ ยังได้คิดค้น ประดิษฐ์สร้างสรรค์รูปแบบดอกไม้สด จากดอกไม้พื้นบ้าน และการประยุกต์ดอกไม้ในท้องถิ่น ได้แก่ ดอกรัก ดอกพุด ดอกบานไม่รู้โรย ดอกกล้วยไม้ มาประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยใช้เทคนิคการร้อย การกรอง การติด การมัด การเย็บ และการปัก มาเรียงร้อย อย่างวิจิตร บรรจง เป็นรูปแบบ ปรากฏอยู่ในสื่อออนไลน์ต่างๆ ติดตามรับชมการประดิษฐ์มาลัยจากดอกมะลิและความรู้ในการจัดดอกไม้ทางช่อง YOUTUBE ผศ.วินัย ตาระเวช

สำหรับผู้สนใจช่วยสนับสนุนกลุ่มแม่บ้านทั้ง 4 กลุ่ม ติดต่อสอบถามได้ที่หลักสูตรนวัตกรรมศิลปประดิษฐ์สร้างสรรค์ โทร. 0982698936 สามารถสั่งพวงมาลัยมะลิเสมือนจริง ผ่านเพจ.มาลัยสยาม IG: Malaisiam โทร.0906753659 หรือผ่าน คุณธีร์คณาธิป ไพทูรย์ Cher Design IG.Teekanatip โทร.082-4656422

ชลธิชา ศรีอุบล

กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994

สพฐ.ห่วงฝนตกหนัก สั่งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย” เข้าช่วยเหลือโรงเรียนทันท่วงที

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ และมีพยากรณ์อากาศว่าจะตกหนักกว่า 60% เกือบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ  สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีความห่วงใยต่อสถานศึกษา นักเรียน ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยที่ผ่านมา สพฐ. ได้แจ้งกำชับให้สถานศึกษาและหน่วยงานในสังกัดติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ทุกแห่งมีมาตรการรักษาความปลอดภัยสถานที่ราชการไปแล้ว นั้น ในส่วนกลาง สพฐ. ได้จัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย” ขึ้น โดยมอบหมายให้ศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย สพฐ. เป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับสำนักอำนวยการ สำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฯ นี้ จะดำเนินการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาตลอดจนการประเมินแนวโน้มสถานการณ์อุทกภัย น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม พร้อมทั้งสนับสนุนบุคลากรในการปฏิบัติงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า การปฏิบัติงานของ ศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและช่วยเหลือสถานศึกษาที่ประสบเหตุอุทกภัย สพฐ. จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด รับข้อมูลการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)ทั่วประเทศ โดยมีการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร สรุปรายงานแบบวันต่อวัน และติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง จัดทำแผนที่ แผนผังสถานการณ์ ส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องเป็นปัจจุบันให้กับผู้ปฏิบัติงานและส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำรายงานข้อมูลการปฏิบัติงานและรายงานต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว โดยล่าสุดวันที่ 5 สิงหาคม 2567 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาญจนบุรี เขต 3 ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่มอบถุงยังชีพ ให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 20 คนแล้ว ขณะที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจันทบุรี ตราด ได้รายงานมาว่า ระหว่างวันที่ 25-29 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีลมกรรโชกแรง และฝนตกหนักในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ส่งผลต่อบ้านเรือนที่พักอาศัยของนักเรียน โดยมีนักเรียนที่ประสบเหตุได้รับความเดือดร้อน จำนวน 285 คน และ สพม.จันทบุรี ตราด ได้ประสานงานกับโรงเรียนในสังกัดของนักเรียนในการเยียวยาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น โดยการมอบถุงบรรเทาทุกข์ให้กับนักเรียนไปแล้ว จำนวน 135 คน และเพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับนักเรียนที่ประสบภัยพิบัติในส่วนที่เหลืออีก 150 คน สพม.จันทบุรี ตราด จึงขอการสนับสนุนงบประมาณจาก สพฐ. ในการจัดทำถุงบรรเทาทุกข์ เพื่อส่งมอบให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบให้ครบทุกคน

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า สำหรับสถานการณ์น้ำที่จังหวัดตาก ซึ่งมีฝนตกหนักต่อเนื่องเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมนั้น มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบ 3 แห่ง คือ 1.โรงเรียนบ้านแม่สลิดหลวงวิทยา อำเภอท่าสองยาง ตลิ่งถูกกัดเซาะ ส่งผลให้ห้องประชาสัมพันธ์ของโรงเรียนพังลง 1 ห้อง 2.โรงเรียนขุนห้วยบ้านรุ่ง อำเภออุ้มผาง เกิดการทรุดตัวของดินใกล้อาคารเรียนและทำให้แนวกั้นดินสไลด์พัง และ 3.โรงเรียนบ้านห้วยนกแล อำเภอแม่ระมาด เกิดเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ทำให้สิ่งก่อสร้างได้รับความเสียหาย ได้แก่ ห้องน้ำนักเรียน จำนวน 4 หลัง โรงอาหาร จำนวน 1 หลัง บ้านพักครู จำนวน 5 หลัง ซึ่งขณะเกิดเหตุทั้ง 3 โรงเรียน ไม่มีนักเรียนและครูได้รับอันตราย โดยทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตาก เขต 2 ได้รายงานมาที่ สพฐ. เพื่อดำเนินการช่วยเหลือเยียวยา พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาแล้ว

ทีมงาน หมอตา โรงพยาบาลมหาสารคาม เดินหน้าให้บริการตรวจคัดกรองสายตาเด็ก ตัดแว่นให้ฟรีถึงในโรงเรียน

ทุกวันนี้เด็กไทยจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะสายตาผิดปกติ  การตรวจคัดกรองสายตา ส่งต่อรักษาได้ทันท่วงที ซึ่งรวมถึงการได้รับแว่นสายตา จะช่วยให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและป้องกันตาบอดถาวรได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เด็กจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รับโอกาส แก้ไขไม่ทันกาลจนเกิดเป็นความพิการขึ้น 

พญ.เพียงใจ (คำพอ) ลวกุล จักษุแพทย์ หัวหน้ากลุ่มงานจักษุ โรงพยาบาลมหาสารคาม ที่ผลงานจากโครงการเด็กไทยสายตาดี  ได้รับรางวัล ชนะเลิศอันดับ 1 BEST PRACTICE  สาขาตา ในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะเข้ารับรางวัลในการประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan Sharing) ที่เมืองทองธานี ในวันที่ 15-16 สิงหาคม 2567 นี้

แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่ผลงานเป็นที่ประจักษ์ จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมระดับประเทศนี้ คุณหมอเพียงใจ หรือ หมอจิม ทุ่มเทให้กับการบริการประชาชนในพื้นที่บริการของโรงพยาบาลมหาสารคาม โดยเฉพาะเด็ก ๆ ตามชื่อโครงการเด็กไทยสายตาดี ที่มีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1

ก่อนจะได้คุยกับคุณหมอจิม ทราบมาว่า คุณหมอและทีมงาน มีความเสียสละมากจริง ๆ ในการออกหน่วยแต่ละครั้งงบประมาณที่มีอย่างจำกัดหรือจะเรียกว่าไม่มีเลยด้วยซ้ำ คุณหมอและทีมงานต้องควักกันเอง ค่าน้ำ ค่าอาหารหากันมาเอง แม้แต่เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงานของส่วนตัวซะเป็นส่วนใหญ่

จากข้อมูลที่ได้มาตอนแรกก็ว่าจะรอให้คุณหมอไปรับรางวัลก่อนค่อยมาเขียน แต่เรื่องดี ๆ ที่น่าชื่นชมจะเก็บไว้นานก็ใช่เรื่อง ไปคุยกับคุณหมอดีกว่า  หมอจิม บอกว่า โครงการนี้เป็นนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินงานโครงการเด็กไทยสายตาดี เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 โดยกำหนดเป้าหมาย คือ การตรวจคัดกรองสายตานักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ รวมทั้งได้รับการแก้ไข/ส่งต่อเพื่อทำการรักษาหากพบความผิดปกติอื่น ๆ  โดยมีงบฯ ค่าตัดแว่นสายตาให้แก่เด็กที่สายตามีความผิดปกติ หัวละ 600 บาท

ต้องถือว่าเป็นภารกิจที่โรงพยาบาลจะต้องดูแลเด็กในพื้นที่ แต่เนื่องจากการจะให้เด็ก ๆ ในชนบทเข้ามารับบริการที่โรงพยาบาลไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีเรื่องของค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย อย่างน้อยก็ค่าเดินทาง ค่ากิน เพราะการมาโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นวันค่อนวัน ทางกลุ่มงานจักษุ โรงพยาบาลมหาสารคาม จึงทำโครงการออกหน่วยบริการลงไปตรวจคัดกรองสายตาให้เด็กที่โรงเรียนในพื้นที่บริการ

ฟังคุณหมอคุยเพลิน ๆ เลยได้โอกาสถามถึงข้อมูลที่ได้มา หมอจิมบอกว่า ในการออกหน่วยแต่ละครั้ง  ทางโรงพยาบาลให้การสนับสนุนอย่างดี แต่เนื่องจากงบประมาณที่จำกัดของโรงพยาบาลทำให้หลายครั้ง ทางชุมชน ชาวบ้าน หรือภาคเอกชนต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน และบ่อยครั้งที่ทีมงานต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง แต่ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคอย่างมาก คือ เครื่องมือ อุปกรณ์ในการทำงานไม่พร้อม เก่ามาก ชำรุด เสียหาย  ที่ผ่านมาเครื่องมือที่ใช้ก็เป็นของส่วนตัวบ้าง ไปขอสนับสนุนจากร้านแว่นเอกชนบ้าง แถมค่าราคาค่าแว่นที่ได้รับหัวละ 600 บาทนั้น ถ้าเกินโรงพยาบาลก็ต้องดูแล ซึ่งโรงพยาบาลก็ไม่มีงบฯให้  แต่ถือว่ายังโชคดีเพราะที่ทำมาทางโครงการก็มีชาวบ้านมาช่วยดูแลสนับสนุนงบฯบ้าง แว่นที่ราคาเกิน 600 บาท ก็มีชาวบ้าน ภาคเอกชน ช่วยบริจาค  เพราะราคาแว่นปกติ ถ้าค่าสายตาไม่มากก็ตกประมาณ 800 บาท ถ้าค่าสายตามากหรือเด็กมีความผิดปกติทางสายตามากก็ 1,000 บาทขึ้น เด็กบางคนตัดแว่นอันนึง 4-5 พันบาท ก็มี

จากอุปสรรคเรื่องเครื่องมือไม่พร้อม เลยมีความคิดจะหางบฯ จัดหาเครื่องมือออกหน่วย เครื่องราคาต่อรองมาได้ 307,000 บาท โดยเครื่องนี้จะใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กประถม 6-7 ขวบ ขึ้นไป  ก็กำลังระดมเงินอยู่ซึ่งมีคนบริจาคช่วยเหลือมาบ้างแล้ว ส่วนใหญ่ก็เป็นญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง ตอนนี้ก็ได้ขาดอีกประมาณ 8 หมื่นกว่าบาท แล้วก็ตั้งใจว่าเงินที่จะได้จากรางวัล BEST PRACTICE  ซึ่งยังไม่ทราบว่าเท่าไหร่ก็จะนำมาสมทบเพื่อไปซื้อเครื่องมือมาให้ได้ เพราะตั้งใจมากทีมงานอยากออกไปตรวจสายตาให้เด็ก ๆ แล้ว

สุดท้ายคุณหมอจิม ฝากบอกว่า ถ้าซื้อเครื่องมือตรวจวัดสายตาได้สำเร็จ ก็จะระดมทุนซื้อเครื่องมือตรวจสายตาเด็กก่อนวัยเรียนอีกเครื่อง เพราะเท่าที่ลงพื้นที่มาพบว่าเด็กเล็กมีปัญหาเรื่องสายตาเยอะอยู่เหมือนกัน ถ้าแก้ไขได้เร็วเด็กก็จะไม่ต้องเสี่ยงกับโรคที่อาจจะรุนแรงขึ้น โดยราคาเครื่องมือสำหรับเด็กเล็กราคาจะสูงกว่าของผู้ใหญ่ซึ่งต่อรองได้ราคาสำหรับบริจาคแล้วอยู่ที่ 320,000 บาท

หลายคนได้ฟัง หรือได้เห็นภาพการทำงานของคุณหมอและทีมงานแล้วถึงกับน้ำตาไหล เพราะสงสารเด็กผู้รับบริการที่ได้แว่นทำให้เปลี่ยนชีวิต มองโลกได้สดใสสมวัย แล้วก็ตื้นตันยินดีกับทีมงานคุณหมอที่เสียสละทุกสิ่งอย่าง รวมถึงปิดคลินิกบางวัน เพื่อไปวัดสายตาเปิดโอกาสการมองเห็นที่ชัดเจนให้กับเด็ก ๆ เหล่านั้น

หากเพื่อน ๆ อยากร่วมสนับสนุนช่วยเหลือเด็กยากไร้ให้ได้มองเห็นโลกที่สดใส สามารถร่วมสมทบทุนได้ที่                     เลขบัญชี 409-3-20307-5 ชื่อบัญชี “กลุ่มงานจักษุโรงพยาบาลมหาสารคาม” ธนาคารกรุงไทย  โดยระบุในสลิปว่า “สมทบทุนซื้อเครื่องมือวัดแว่นเด็กนักเรียน”

*** การถอนเงินแต่ละครั้ง ใช้ชื่อ 2 ใน 4 (จากกรรมการแผนก หมอ 2 พยาบาล 2) ***

อรนุช วานิชทวีวัฒน์

 

ศธ.ร่วมกับ“ครูเงาะ”รสสุคนธ์ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพครูฯ ผ่านระบบออนไลน์หลักสูตร “ครูสัมมาทิฏฐิ”สร้างเด็กไทยให้เป็นพลเมืองคุณภาพ

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน แถลงข่าวโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์หลักสูตร “Inner Power Teachers”  ร่วมกับ ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ พร้อมด้วย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ.  ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแถลงข่าว

ทั้งนี้ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันที่ 12 สิงหาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการ มีความยินดีที่จะมอบโครงการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์หลักสูตร “Inner Power Teachers” โดยครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ นักพัฒนาศักยภาพมนุษย์ที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ในด้านนี้ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะมุ่งเน้นการพัฒนา Mindset ทักษะการสื่อสาร และเทคนิคการสอนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ครูไทยได้พัฒนาศักยภาพตนเอง ทั้งในด้านการสอน การสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ จำนวน 4 หลักสูตร ได้แก่ 1.Happiness and success mindset for Thai Teachers มุ่งเน้นการสร้างทัศนคติที่ดีและมีความสุขในการทำงานซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการสอนและความสำเร็จในอาชีพครู 2.Truth science for Thai Teachers มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิทยาศาสตร์และการสอนให้นักเรียนเข้าใจและใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาความจริง 3.Master your communication skills for Thai Teachers มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะการสื่อสารรอบด้านของครู เพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับนักเรียน ผู้ปกครองและเพื่อนร่วมงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4.Train the true Trainers มุ่งเน้นพัฒนาครูให้มีทักษะในการเป็นวิทยากร สามารถถ่ายทอดความรู้ ทักษะให้กับเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพครู

ครูเงาะ-รสสุคนธ์ กองเกตุ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่สอนมา สิ่งที่เห็นชัดเจนคือการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ครูจะเจอเด็กที่เจ็บป่วยทางด้านจิตใจเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งเด็กที่ป่วยซึมเศร้าหรือทำร้ายตนเอง โดยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ปี 2009 ที่มีการเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ครูจึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีคนที่เข้ามาช่วยเหลือเด็กตรงนี้ ซึ่งสิ่งที่ครูเงาะมีคือองค์ความรู้ ทั้งด้าน Mindset ในการพัฒนาระบบความคิด หลักจิตวิทยา หลักสัจศาสตร์ และหลักอริยสัจ ที่เอาความจริงมาอธิบายการใช้ชีวิต ซึ่งใช้ได้กับทุกคน ทุกศาสนา รวมถึงหลักการสื่อสารที่เหมาะสมกับยุคปัจจุบัน เราต้องทำให้โรงเรียนมีครูเป็นแม่แบบให้กับลูกศิษย์ให้ได้ เพื่อให้เด็กไม่ต้องหันไปหาความรู้ผิดๆ จากภายนอก เราจะเปิดใจนักเรียนผ่านการสื่อสารที่ถูกต้อง และด้วยหลักการสอนที่ทันสมัย จะทำให้ทุกวิชาไม่น่าเบื่อ ทำให้เด็กสนุกกับการเรียนได้จริง

. “เมื่อพูดคุยกับท่านพลตำรวจเอก เพิ่มพูน สิ่งที่ประทับใจอีกอย่างคือ ท่านให้ความเห็นชอบและสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดยเน้นย้ำหลักการ “ทำดี ทำได้ ทำทันที” ซึ่งนอกจากการอบรมให้ความรู้กับคุณครูแล้ว คุณครูสามารถส่งต่อความรู้ในเรื่องการสื่อสารไปยังพ่อแม่ผู้ปกครองได้ เพื่อให้พ่อแม่สื่อสารกับเด็กๆ ได้อย่างเหมาะสมกับวัยของเขา อีกทั้งหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์กับคุณครูกว่า 6 แสนคนทั่วประเทศ ได้พัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างรอบด้าน ได้ทั้งความรู้และสนุกกับการเรียน ทำให้นักเรียนและครู “เรียนดี มีความสุข” และยกระดับการศึกษาของประเทศไทยต่อไปอีกขั้นหนึ่ง

สำหรับโครงการนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สามารถพัฒนาตนเองได้ทุกที่ทุกเวลาแบบ Anywhere Anytime ผ่านเว็บไซต์ Learning OBEC ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อการศึกษาของชาติตลอดมา และภายในต้นเดือนพฤศจิกายน 2567 จะมีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมจากระบบออนไลน์ จำนวนไม่เกิน 200 คน โดยแบ่งเป็น ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 20 คน ผู้อำนวยการโรงเรียน จำนวน 30 คน ศึกษานิเทศก์ จำนวน 50 คน และครู จำนวน 100 คน เพื่อเข้าอบรม “หลักสูตรครูสัมมาทิฏฐิ (นำร่อง)” เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งจะสอนหลักสัจจศาสตร์ เพื่อความพ้นทุกข์ หลักการสื่อสารกับนักเรียน และหลักการสอนการถ่ายทอดที่สนุก และมีประสิทธิภาพ ภายในเดือนธันวาคม 2567 และนอกจากนี้ยังมีหลักสูตรจิตวิทยาการสื่อสารกับลูกวัยทีน ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูเข้าใจวิธีการสื่อสารกับเด็กรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล ลดความขัดแย้ง และส่งเสริมพัฒนาการที่ดีของวัยรุ่นได้อีกด้วย ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการหวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ และสร้างครูที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาเยาวชนไทยให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาติ

“เพิ่มพูน”มีข้อสั่งการให้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทดแทนตำแหน่งเกษียณทั้งหมดไม่เกินวันที่ 1 ต.ค.67

เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 29/2567 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้รายความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ว่ามีนักเรียนเข้าสู่ระบบทดสอบคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2567 กว่า 571,241 คน (เป้าหมาย 662,300 คน) และมีการอบรมเชิงปฏิบัติการออนไลน์ การใช้ Gamification PISA ปรับข้อสอบเป็นเกม แก่ครูและบุคลากรที่สนใจ กว่า 1,518 คน และมีแผนจะนำการขับเคลื่อนลงสู่ชั้นเรียน มีการบรรยายให้กับผู้บริหารใหม่ พร้อมติดตามการขับเคลื่อนฯ PISA และ O-NET ในระดับเขตพื้นที่ต่อเนื่องต่อไป

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกับ สพฐ. เป็นวิทยากร “อบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ที่ส่งเสริมสมรรถนะและความฉลาดรู้ตามแนวทางของ PISAQ” แก่ครูภาษาไทย ครูคณิตศาสตร์ และ ครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 2 รุ่น รวม 873 คน นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) ได้นำชุดพัฒนาความฉลาดรู้ ด้านการอ่าน ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเอกชนกลุ่มเป้าหมาย1,410 แห่ง ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยให้นักเรียนได้ทำข้อสอบตามแนวทาง PISA แบบออฟไลน์ด้วย

“ผมเน้นย้ำการทำงานยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวม ด้วยแนวคิด กระตุ้น ติดตาม ขับเคลื่อน สนับสนุน จะทำอย่างไรให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำให้ได้มากที่สุด ให้โรงเรียนที่เก่งแล้ว       มาช่วยโรงเรียนอื่น ๆ ทั้งนี้ได้พร้อมมอบหมายให้ สสวท. ศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีของสถานศึกษาในทุกสังกัดในภาพรวม ทั้ง ศธ. (สพฐ. สช. สอศ.) อว. อปท. กทม. โดยเฉพาะในส่วนของท้องถิ่น ให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์ สื่อต่าง ๆ ด้วย เพื่อเป้าหมายการทำให้เด็กทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยได้รับการศึกษา และให้มีการรวมพลังของชาว ศธ.ในการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกของโรงเรียน เช่น สถานศึกษา สพฐ. จับคู่กับ อาชีวศึกษาในแต่ละพื้นที่เพื่อซ่อมแซมระบบไฟฟ้า ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ถ่ายทอดการศึกษาทางไกล DLTV เป็นต้น”พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวและว่า นอกจากนี้ตนยังได้เน้นย้ำการติดตามการวางแผนงานเพื่อขอใช้งบเหลือจ่ายในการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น ซ่อมแซมอาคารที่เสื่อมสภาพ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาเหตุต่าง ๆ เช่น อุทกภัย ให้ขอใช้งบกลางเพื่อดูแลแก้ไขโดยเร็ว และมอบให้ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ     ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้ติดตามและสนับสนุนการใช้จ่ายงบประมาณ ของศธ.ด้วย

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวทิ้งท้ายว่า สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)ได้รายงานการกำหนดขั้นตอนและจัดระบบบริหารอัตรากำลัง เพื่อให้หน่วยงานการศึกษาทุกแห่ง   มีอัตรากำลังข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่เหมาะสม หลังจากจัดสรรคืนอัตราเกษียณอายุราชการ โดยให้มีการบูรณาการบริหารอัตรากำลังรวมกัน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จะจัดทำบิ๊กดาต้าบุคลากรในภาพรวมของ ศธ. คู่ขนานไปด้วย ซึ่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2567  หลังจากมีการคืนอัตราเกษียณ ตนต้องการให้มีการบรรจุแต่งตั้งข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาทดแทนและพร้อมทำงานได้ 100%

ศธ.จับมือกรมสุขภาพจิต สปสช.เขต 13 มูลนิธิกำแพงพักใจ เปิดพื้นที่ให้นักเรียนนักศึกษาปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตผ่านแอป “อูก้า”

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 กระทรวงศึกษาธิการ กรมสุขภาพจิต สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร และมูลนิธิกำแพงพักใจ ร่วมกันประกาศความร่วมมือ โครงการ “ที่พักใจให้เยาวชน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและดูแลสุขภาพจิตวัยรุ่น โดยนำร่องกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุ 15-25 ปี มีภูมิลำเนาตามบัตรประชาชน หรือเรียน/ทำงานในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,000 ราย ให้สามารถรับการปรึกษาด้านสุขภาพจิตกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาการปรึกษา และอาสาสมัครผู้ดูแลใจ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึง มิถุนายน 2568

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า  กระทรวงศึกษาธิการขับเคลื่อนภารกิจหลักด้านการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานักเรียนอย่างรอบด้าน ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย “ เรียนดี มีความสุข ” เพื่อยกระดับคุณภาพ ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการเรียนรู้อย่างมีความสุขและมีทักษะชีวิต จากสถานการณ์สุขภาพจิตของผู้เรียนในปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการได้ให้ความสำคัญ และให้ความตระหนักเป็นอย่างมาก  มีการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งกิจกรรมแนะแนว กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ซึ่งได้นำนโยบายการส่งเสริมสุขภาพกายและสุขภาพจิตกระทรวงศึกษาธิการสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม  และพัฒนาคุณภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน ดูแลและให้การช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา รวมทั้งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง

“การดำเนินการโครงการที่พักใจให้เยาวชน ครั้งนี้เป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยและเพิ่มมิติการดูแลและทำงานด้านสุขภาพจิต ทำให้ครูมีสื่อและช่องทางแนะนำนักเรียน นักศึกษาให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้รับการดูแลสุขภาพจิตได้ทันต่อสถานการณ์ มีความปลอดภัย เกิดการเรียนรู้ที่สมวัยอย่างมีความสุข”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว  นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิต มีวิสัยทัศน์ ให้ประชาชนมีสุขภาพจิตดี สู่สังคมและเศรษฐกิจมูลค่าสูง โดยการดูแลวัยรุ่นและเยาวชนไทยให้มีปัญญา อารมณ์ดี เป็นเยาวชนที่มีคุณภาพของสังคม โดยกรมสุขภาพจิตให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพแก่จิตอาสาที่ผ่านการอบรมให้เป็น “ผู้ดูแลใจ” ภายใต้ ‘โครงการที่พักใจให้เยาวชน’ เพื่อเพิ่มจำนวนบุคลากรทางด้านสุขภาพจิต ให้สามารถรองรับการดูแล ช่วยเหลือสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเยาวชนในการให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกรมสุขภาพจิตจะเป็นหน่วยงานในการรับ ส่งต่อ ติดตาม ดูแล ฟื้นฟู อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสได้รับการดูแลช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว และเท่าเทียม

นางบุญสิงห์ มีมะโน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สปสช. ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพจิตและตระหนักถึงการดูแลที่ต้องครอบคลุมถึงสุขภาพจิตของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง  ในปีงบประมาณ 2567 ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อเปิดทางเลือกให้เยาวชนในกรุงเทพมหานคร ที่มีภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต มีความเสี่ยงต่อซึมเศร้าและ ฆ่าตัวตาย เข้าถึงบริการการประเมินความเครียด เข้ารับบริการให้การปรึกษาสุขภาพจิตทางไกล (Tele-mental health) โดยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือ ผู้สนับสนุนทางสุขภาพจิตผ่านแอปพลิเคชันอูก้า(ooca)  ซึ่งโครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการผลักดันให้เยาวชนเกิดการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตที่มีความทั่วถึง ถ้วนหน้า ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตสำหรับทุกคนในอนาคต ช่วยลดผลกระทบจากการตีตราในผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจและทำให้วัยรุ่นและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

แพทย์หญิงพันธุ์นภา กิตติรัตนไพบูลย์ ประธานมูลนิธิกำแพงพักใจ กล่าวว่า มูลนิธิกำแพงพักใจ ก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยลดอุปสรรคการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตที่ดีและมีคุณภาพแก่เยาวชน ได้ให้บริการช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตแก่เยาวชนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 มากกว่า 3,000 ราย โดยในปี 2567 นี้ ได้รับการสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เยาวชนเข้าถึงโอกาสในการดูแลสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น สำหรับเยาวชนหรือครูที่ให้การปรึกษาสามารถแนะนำนักเรียน นักศึกษา อายุ 15-25 ปี ในเขตกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมโครงการที่พักใจให้เยาวชน ผ่านดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น ‘อูก้า’ (ooca) และเลือกสิทธิ์ “กำแพงพักใจ” เพื่อรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งความสำเร็จของความร่วมมือในพื้นที่นำร่องเขตกรุงเทพมหานครครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายบริการการดูแลและให้การปรึกษาสุขภาพจิต การสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็กและเยาวชนให้ครอบคลุมพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

หนังสือเรียนองค์การค้าฯพ่นพิษ “รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ”ฟ้องบอร์ด สกสค.พร้อมพวก กราวรูด 18 ราย กรรมการโดยตำแหน่ง โดนทุกแท่ง

เมื่อวันที่ 6 ..2567 นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977)จำกัด เปิดเผยว่า ตนได้ยื่นหนังสือกล่าวหาเพิ่มเติมร้องเรียน คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(บอร์ดสกสค.)และคณะกรรมการองค์การค้าของสกสค.(บอร์ด องค์การค้า)ซึ่งเป็นบุคคลชุดเดียวกัน ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค รองผู้อำนวยการองค์การค้าของสกสค.คณะกรรมการออกข้อกำหนด TOR คณะกรรมการกำหนดราคากลาง และสำนักพิมพ์เอกชน 5 บริษัท ต่อ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (...)

โดย นายนัทธพลพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก โครงการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้า สกสค.ได้ทำการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยหลีกเลี่ยงการประกวดราคาและกำหนด TOR กีดกัน บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ฯ ไม่ให้เสนอราคาในกลุ่มประเภทหนังสืออื่นๆ โดยกำหนดให้เสนอราคาจำนวน 4 รายการของแต่ละกลุ่มเท่านั้น ทั้งที่มีจำนวน 30 กลุ่ม ตามความละเอียดที่เคยแจ้งแล้วนั้น แต่ยังมีข้อเท็จจริงบางประการที่บริษัทฯ จะขอกล่าวหาร้องเรียนเพิ่มเติม บุคคลดังกล่าวข้างต้นได้ร่วมกันกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ .. 2542 กล่าวคือ ในการที่องค์การค้าของ สกสค.ได้ดำเนินการจ้างโรงพิมพ์เอกชนเป็นผู้พิมพ์หนังสือให้องค์การค้าฯ นั้น จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ..2560

เนื่องจากองค์การค้าของ สกสค.อยู่ภายใต้การกำกับของ สกสค.และสกสค.เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติ สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ..2546 เป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ (มาตรา67) รายได้ส่วนหนึ่งมาจากเงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน สกสค. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ และสามารถหารายได้และผลประโยชน์ต่างๆ ผ่านองค์การค้าของ สกสค.ทั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับของ สกสค. ว่าด้วยการบริหารงานองค์การค้าของ สกสค. ดังนั้น องค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นหน่วยงานในกำกับของ สกสค. และเป็นหน่วยงานของรัฐ คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. เป็นบุคคลคนเดียวกันชุดเดียวกัน มาจากรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ที่มาบริหารงาน องค์การค้าของ สกสค.บางครั้งก็จ้างมาจากเอกชน บางครั้งก็ให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ

ดังนั้นองค์การค้าของ สกสค. จึงเป็นหน่วยงานของรัฐ และพนักงานขององค์การค้าของสกสค.จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ..2561และพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ..2542 การจัดซื้อจัดจ้างของ องค์การค้าของ สกสค. จะต้องปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ..2560 หากปฏิบัติไม่ถูกต้องก็จะต้องมีความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ..2542 ในเรื่องอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้างภายใต้วงเงินจำกัดเพียง 20 ล้านบาท ตามข้อบังคับของ สกสค. ถ้าเกินวงเงินเป็นอำนาจของ คณะกรรมการองค์การค้าของสกสค. ซึ่งก็คือบอร์ด สกสค. แยกกันไม่ออก

ซึ่งการจัดซื้อครั้งนี้มีวงเงินงบประมาณเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 980 ล้านบาท  จึงต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการองค์การค้าของ สกสค. ซึ่งก็คือบอร์ด สกสค. และการจัดจ้างพิมพ์หนังสือครั้งนี้ องค์การค้าของสกสค.ดำเนินการใช้วิธีคัดเลือก โดยไม่ใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ทั้งที่ทราบล่วงหน้าแล้วว่าจะต้องมีการจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือเพราะเกินกำลังการผลิตของ องค์การค้าของ สกสค. และมีการจ้างเอกชนพิมพ์หนังสือมาโดยตลอด การใช้วิธีการคัดเลือกโดยหลีกเลี่ยงวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป จึงเป็นการกระทำที่ปกปิด ไม่ประกาศเชิญชวนอย่างแพร่หลาย จึงเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ..2542

ดังนั้นจึงเข้าใจได้ว่าองค์การค้าของ สกสค. ประสงค์ที่จะแบ่งงานพิมพ์ให้กับบริษัทต่างๆ ที่เคยร่วมธุรกิจกับองค์การค้าฯตามรายชื่อบริษัทฯและหจก.ที่กล่าวข้างต้น ในวงการเรียกว่า 5 เสือ เป็นผู้ได้งานกับองค์การค้าของ สกสค. โดยตลอด ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน บริษัทและหจก.ทั้ง 5 ราย ได้ไปซื้อกระดาษกับร้านกระดาษในราคาสูงกว่าท้องตลาดถึง 30% และองค์การค้าของ สกสค. ก็มากำหนดราคากลางในการจ้างพิมพ์ให้สูงตามเพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่เอกชนผู้เสนอราคาทั้ง 5 รายซื้อมาและในการเสนอราคาทั้ง 5 ราย จะมีการตกลงกันในการเสนอราคาให้แต่ละรายเสนอราคาต่างกันเล็กน้อย หรือในวงการเรียกว่าหลบราคากัน

และให้แต่ละรายเสนอราคาลดจากราคากลางเพียงเล็กน้อยเช่นกัน เพื่อแบ่งงานกันไม่มีการแข่งขันราคาอย่างแท้จริง แม้ว่าการจัดจ้างครั้งนี้องค์การค้าของสกสค. จะอ้างว่าใช้วิธีคัดเลือกสามารถเลือกที่จะซื้อจากใครก็ได้ แต่การใช้วิธีการคัดเลือกดังกล่าวไม่ชอบด้วย ...การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ..2560 เพราะหลีกเลี่ยงการใช้วิธีประกาศเชิญชวนโดยทั่วไป โดยอ้างว่าจะพิมพ์ไม่ทัน ทั้งที่มีการจ้างพิมพ์ทุกปีและรู้ล่วงหน้าทุกปีเพราะโรงพิมพ์ขององค์การค้าฯ ไม่มีศักยภาพเพียงพอ ซึ่งตนได้ไปยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ กรมบัญชีกลาง ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ตนทราบแล้ว

โดยสรุปได้ว่า การที่ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค.กำหนดเงื่อนไขใน TOR ข้อ4.4 กำหนดว่าการยื่นข้อเสนอ ผู้ยื่นต้องยื่นข้อเสนอเป็นกลุ่มตามประเภทของหนังสือแบบเรียนการจัดพิมพ์ จำนวน 30 กลุ่ม ตามข้อ 17 ข้อ 8.2 กำหนดว่าการยื่นเสนอราคาผู้ยื่นเสนอจะยื่นได้จำนวน 1 รายการ ของแต่ละกลุ่ม ตามที่กำหนดในข้อ 8.1 และขอบเขตของงานรายละเอียดและคุณลักษณะ (TOR) โดยไม่มีเงื่อนไขใดทั้งสิ้น และข้อ16.2 กำหนดว่าผู้ว่าจ้างจะพิจารณาราคาต่อรายการซึ่งโครงการนี้เป็นการจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2567 จำนวน 151 รายการ การกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกีดกันการเสนอราคา ทำให้ไม่สามารถยื่นข้อเสนอราคาได้ทั้ง 151 รายการหรือได้ตามศักยภาพและตามความประสงค์ของผู้ยื่นข้อเสนอ จึงขัดกับหลักการตามนัยมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ..2560 ซึ่งตามหนังสือแจ้งผลของกรมบัญชีกลางจึงมีความชัดเจนว่า การกำหนดเงื่อนไข ใน TOR ขององค์การค้าของ สกสค. เป็นการกีดกันการเสนอราคา จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ..2542

ทั้งนี้ สกสค. โดยองค์การค้าของ สกสค. ประสงค์ที่จะแบ่งงานพิมพ์ให้กับบริษัทต่างๆ ที่เคยร่วมธุรกิจกับองค์การค้าฯ จึงทำให้ไม่มีการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริง ซึ่งตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนกรณีนี้กับ พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ ในฐานะประธานบอร์ดสกสค.แล้ว แต่ก็ละเว้นไม่ดำเนินการใดๆ จึงเป็นการร่วมกันกระทำความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ ..2542 ตั้งแต่หลีกเลี่ยงการใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป แต่ไปใช้วิธีคัดเลือก ทำให้ไม่มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และไปกำหนดราคากลางให้สูงตามที่บริษัทและหจก.ทั้ง 5 ราย ไปซื้อกระคาษในราคาสูงกว่าท้องตลาด 30 เปอร์เซ็น และยังไปออกข้อกำหนดในTOR เพื่อกีดกันไม่ให้บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ฯเสนอราคาทั้งหมด 151 รายการ แต่ให้เสนอเพียงรายละ 1 กลุ่ม ทั้งที่บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ฯมีศักยภาพที่สามารถทำได้ทั้ง 151 รายการและในราคาที่ต่ำกว่าราคากลาง รวมทั้งเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่นด้วย เพียงเพื่อจะให้กลุ่มบริษัทและ หจก 5 รายดังกล่าว ได้งานแบ่งกันนายนัทธพลพงศ์ กล่าว

สกศ.ขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผลักดัน “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม”เป็นวาระแห่งชาติ หวังพัฒนาเด็กปฐมวัยไทยอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 3 ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” ที่ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา พร้อมด้วยคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย คณะอนุกรรมการ นักวิชาการ ครูปฐมวัย ผู้บริหารสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย บุคลากรทางการศึกษาปฐมวัยจากหน่วยงานทุกสังกัด และผู้ปกครอง เข้าร่วมการประชุม

ดร.อรรถพล กล่าวรายงานว่า กาประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเกี่ยวกับนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต” รวมทั้งเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูพัฒนาการเด็กปฐมวัย นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริม พัฒนา และเชื่อมโยงเครือข่ายการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยของประเทศให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  กล่าวว่า  รู้สึกยินดีที่ได้เห็นท่านผู้ทรงคุณวุฒิ ท่านผู้มีประสบการณ์ และท่านผู้ที่ทำงานในด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้เกียรติมาเป็นวิทยากร รวมถึงท่านผู้มีเกียรติที่ให้ความสนใจในประเด็นการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยที่เข้าร่วมสัมมนาในการประชุมวิชาการระดับชาติครั้งนี้ ตนเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมวิชาการระดับชาติในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยในอนาคตต่อไป โดยมีเป้าหมายการเป็นพลเมืองที่ดีและมีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

จากนั้น รมว.ศึกษาธิการ ได้ประกาศวิสัยทัศน์มีเนื้อหาเกี่ยวกับการผลักดันให้มีการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย “3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในสภาวะวิกฤต” เป็นวาระแห่งชาติ โดยมีแนวทางการทำงาน ดังนี้

1) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) รับผิดชอบประสานการจัดทำแผนการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้เว็บไซต์ “ปฐมวัยไทยแลนด์” เป็นสื่อกลางเพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าให้กับผู้ที่สนใจ

2) กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็น 4 กระทรวงหลักร่วมกับกรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่น ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบาย 3 เร่ง 3 ลด 3 เพิ่ม

3) คณะอนุกรรมการด้านสื่อสารเพื่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ร่วมกับภาคีเครือข่าย และภาคเอกชน จัดทำแผนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์เชิงรุก นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง Mind Set ของคนในสังคม ในการดูแลเด็กปฐมวัยอย่างถูกวิธี โดยผ่าน Main Campaign “เพิ่มเวลาคุณภาพ เล่นเป็น กอดเป็น เล่าเป็น” และ Second Campaign “งดจอก่อนสองขวบ ร่วมสร้างวินัย ไม่ใช้ความรุนแรง”

ทั้งนี้ ภายในงานมี “การกล่าวแสดงความยินดีที่ได้ร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยกับคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย” โดย นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนางคยองซอน คิม ผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย พร้อมกับกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การแสดงพิธีเปิดการประชุม นิทรรศการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเสวนาวิชาการ “3 ลด 3 เร่ง 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” ร่วมเสวนาวิชาการ โดย นางธิดา พิทักษ์สินสุข  กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เนื้อหากล่าวถึงความสำคัญและแนวทางการปฏิบัติตามนโยบาย “3 ลด 3 เร่ง 3 เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย”

 

ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566

เมื่อเวลา 09.56 น. วันที่ 4 สิงหาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 ณ วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณะผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คณาจารย์ และนักศึกษา ให้การต้อนรับ

จากนั้น ผู้แทนพระองค์ มอบปริญญากิตติมศักดิ์แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 5 คน และมอบปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา จำนวน 2,256 คน  ในโอกาสนี้ พลเอก สุรยุทธ์ ได้ให้โอวาทแก่บัณฑิตสถาบันการอาชีวศึกษา ความว่า

“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 ในวันนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคน ชาติบ้านเมืองของเรานั้น ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ มาช่วยกัน สร้างสรรค์และพัฒนา. บัณฑิตจากสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้มีความรู้ในสายเทคโนโลยีและปฏิบัติการ ย่อมเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่ง ซึ่งขาดไม่ได้ในการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญมั่นคง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความเป็นจริงปรากฏอยู่ว่า ในปัจจุบันและในอนาคต วิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ จะยิ่งเข้ามามีบทบาทและเป็นปัจจัยสำคัญ ทั้งในการดำเนินชีวิต การทำงานและการพัฒนาประเทศมากขึ้น จึงจำเป็นที่คนเราจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และฝึกฝนทักษะทางเทคโนโลยีให้เพิ่มพูนขึ้น เพื่อให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างรู้เท่าทัน และบังเกิดประโยชน์สูงสุด. หากบัณฑิตทุกคนตั้งใจพยายาม ประพฤติปฏิบัติให้ได้ดังที่กล่าว โดยใช้ความรู้และทักษะที่ได้ฝึกฝนอบรมมา เป็นพื้นฐานอันหนักแน่นมั่นคงแล้ว ก็เชื่อได้ว่า จะสามารถสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงให้แก่ชาติบ้านเมืองได้ สมกับที่เป็นกำลังสำคัญในสายงานนี้อย่างแท้จริง

ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ มีความสุขสวัสดีโดยทั่วกัน

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน  กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ท่านประธานองคมนตรีมาปฏิบัติภารกิจแทนพระองค์ ในพิธีมอบปริญญาบัตร แก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2566 ในวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อม แก่ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กรรมการสภาสถาบันการอาชีวศึกษา ผู้บริหารสถาบันการอาชีวศึกษา คณาจารย์ บัณฑิต และผู้เข้าร่วมพิธีโดยทั่วกัน

นายยศพล  กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2566 มีผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิตสาขาวิชาต่าง ๆ จำนวน 39 สาขา จากสถาบันการอาชีวศึกษา 22 แห่ง รวมทั้งสิ้น 4,139 คน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งสภาสถาบันการอาชีวศึกษา อนุมัติปริญญาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน 5 คน ดังนี้ สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคเหนือ ได้แก่ นายเทียน กล่ำบุตร สาขาวิชาการโรงแรม สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 3 ได้แก่ นายสมพูน ถนอมมงคล สาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล สถาบันการอาชีวศึกษาภาคตะวันออก ได้แก่ นายเกียรติศักดิ์ นิยมลาภ สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้า สถาบันการอาชีวศึกษาภาคเหนือ 1 ได้แก่ นายพิพัฒน์ แซ่ลิ้ม และสาขาวิชาช่างทองหลวง สถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ได้แก่ นายนิคม นกอักษร

สถาบันการอาชีวศึกษา เป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพ และเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 23 แห่ง ภารกิจหลักมุ่งเน้นจัดการศึกษา ด้วยระบบทวิภาคีคุณภาพสูง พัฒนาหลักสูตรปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอนาคตของประเทศ โดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับภาคประกอบการ ภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งยังส่งเสริมการวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี การบริการวิชาการและวิชาชีพ เพื่อพัฒนาชุมชนและสังคมให้เจริญก้าวหน้าต่อไป