สพฐ.เวียนหนังสือถึงเขตพื้นที่-รร.แจ้งความผู้แอบอ้างวิ่งเต้นของบฯได้

     ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายเรื่องการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง รายการค่าก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียนอาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรม และประสบอุบัติภัยให้ถือปฏิบัติตามความต้องการจำเป็นของสถานศึกษา ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้ดำเนินการพิจารณาจากคำขอตั้งงบประมาณตามความต้องการ ของสถานศึกษาโดยผ่านการกลั่นกรองจาก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานั้น

     ขณะนี้ บางพื้นที่ ได้มีบุคคลไปแอบอ้างว่าสามารถวิ่งเต้นขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้แก่สถานศึกษาได้ โดยมีพฤติกรรมในการเสนอผลประโยชน์ที่มิชอบ และแสดงออกในเชิงข่มขู่ และมีเงื่อนไขว่า เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณแล้วสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างบุคคลดังกล่าว เรื่องนี้ สพฐ. พิจารณาแล้วเห็นควรให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแจ้งมาตรการเพื่อเป็นการป้องกันการทุจริตงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ งบลงทุน ค่าครุภัณฑ์ ที่ดิน และสิ่งก่อสร้าง รายการค่าก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม อาคารเรียนและสิ่งก่อสร้างอื่นที่ชำรุดทรุดโทรมและประสบอุบัติภัยดังต่อไปนี้

     ระดับสถานศึกษาให้ดำเนินการรายงานต่อ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา และแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้ ณ สถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ 2. ระดับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษารายงานต่อเลขาธิการกพฐ. และแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจภูธรในพื้นที่ 3. ให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากำชับผู้บริหารสถานศึกษาและบุคลากรในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาให้ดำเนินการจัดตั้ง จัดสรรงบประมาณ และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ทุกรายการด้วยความโปร่งใส มีส่วนร่วม โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญ และ 4.ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาศูนย์การศึกษาพิเศษ และสถานศึกษาปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด

สพฐ.สั่ง รร. เช็คอาหารกลางวันภายใน 3 วัน

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ. ลงนามในหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา(สพป.)ทุกเขต เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน  และรายงานข้อมูลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและเลขาธิการ กพฐ.ภายในวันพุธที่ 13  มิ.ย.61 ดังนี้ 1. สำรวจการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันจากทุกโรงเรียนเฉพาะภาคเรียนที่1/2561 ดังนี้  1.1 โรงเรียนได้รับโอนเงินงบประมาณจัดสรรค่าอาหารกลางวันสำหรับภาคเรียนที่ 1 /2561หรือยัง   กรณีที่ได้รับช้ากว่าวันเปิดภาคเรียนได้รับเมื่อใด.  หรือถ้ายังไม่ได้รับการโอนเงินงบประมาณ โรงเรียนดำเนินการอย่างไร (กรณีที่ได้รับงบประมาณช้าหรือยังไม่ได้รับโอนเงินงบประมาณ ให้ระบุด้วยว่าโรงเรียนนั้นๆอยู่ในพื้นที่ที่ต้องได้รับจัดสรรและโอนงบประมาณจากหน่วยงานใด ระบุอำเภอและจังหวัดด้วย   1.2 กรณีงบประมาณโอนช้าหรือยังไม่ได้รับการโอนงบประมาณ โรงเรียนได้จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนหรือไม่. ถ้าจัดอาหารกลางวันมีวิธีการในการบริหารหรือจัดหางบประมาณมาดำเนินการอย่างไร    1.3 ให้รายงานข้อมูลตามข้อ 1.1 และ 1.2 โดยให้ทุกเขตพื้นที่และสายงานการศึกษาพิเศษรวบรวมข้อมูลส่งที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมเขต1 ของทุกจังหวัด และให้ผอ.สพป.เขต 1 รายงานข้อมูลผวจ.และเลขาธิการกพฐ. ภายในวันที่13 มิ.ย.61 ซึ่ง สพฐ.จะรวบรวมข้อมูลรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็ว

     เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า  2. ให้ ผอ.สพท.และผู้บริหารสายงานการศึกษาพิเศษ รายงานการสำรวจสภาพการดำเนินการอาหารกลางวันที่สพฐ.ที่ได้สั่งการแล้วให้ติดตาม ตรวจสอบทุกโรงเรียนตั้งแต่วันที่  7 มิ.ย.61 โดยให้รายงานภายในวันที่ 13 มิ.ย.61 เช่นเดียวกัน  โดยประเด็นการรายงานมีดังนี้   2.1 จำนวนโรงเรียนในเขตพื้นที่  2.2 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวัน  2.3 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวัน ก่อนวันที่ 16 พ.ค.61  2.4 จำนวนโรงเรียนที่ ได้รับการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันแล้วแต่หลังวันที่ 16 พ.ค.61  2.5 จำนวนโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการโอนเงิน ณ วันที่ 11มิ.ย.61  2.6 จำนวนโรงเรียนที่ถูกร้องเรียนและปรากฎข่าวในสื่อมวลชน  และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีมูลหรือไม่มีมูล   2.7 จำนวนโรงเรียนที่ตรวจสอบแล้ว มีปัญหาการดำเนินการกี่โรงเรียน สพท.ได้แก้ปัญหาอย่างไร.  2.8 จำนวนโรงเรียนที่ดำเนินการได้ดีสมควรยกย่องชื่นชมให้เป็นต้นแบบ พร้อมแนวทางที่เป็นความสำเร็จของแต่ละโรงเรียน  และ 3.ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการอาหารกลางวันจากโรงเรียน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง

    ” ให้ทุกโรงเรียนตรวจสอบงบประมาณอาหารกลางวัน ภายใน 3 วัน  ซึ่งต้องการรู้ว่าได้ก่อนเปิดเทอม หลังเปิดเทอมถึงตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่ โดยที่ให้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ว่า พบโรงเรียนมีปัญหากี่โรง สภาพปัญหาเป็นอย่างไร โรงเรียนดีเด่น เหมาะเป็นต้นแบบมีกี่โรง  เพราะตอนนี้มีข้อมูลร้องเรียนเข้ามามาก บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ในไลน์มีครูตัดพ้อว่าที่ผ่านมาเขาพยายามทำเต็มที่ บางทีเปิดเทอมยังไม่ได้เงินก็แก้ปัญหาไปก่อน  ดังนั้น สพฐ.ต้องการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลแท้จริงแล้วจะได้แก้ไขต่อไป”นายบุญรักษ์ กล่าว

กศน.ตราดสนองนโยบายลดเหลื่อมล้ำ

นายจำรัส สุขประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด(กศน.จังหวัด)ตราด เปิดเผยว่าสำนักงาน กศน.จังหวัดตราด ได้นำนโยบายของสำนักงาน กศน.ที่เน้นย้ำให้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 และแนวพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 มาเป็นแนวปฏิบัติในการทำงาน เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมตามนโยบายรัฐบาล

“จังหวัดตราดเป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเพิ่งเข้าเป็นพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี โดยเป็นพื้นที่ฝนแปดแดดสี่ แต่ในความเป็นจริงวันนี้จังหวัดตราดมีฝนตกทุกเดือนซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประชาชน

โดยผลผลิตที่สำคัญของตราด คือ ทุเรียน มังคุด ลองกอง โดยเฉพาะมังคุดและลองกอง เมื่อออกดอกแล้วฝนตกจะทำให้ดอกร่วง ดังนั้น กศน.จังหวัดตราดจึงมอบนโยบายให้ครู กศน.ซึ่งเป็นผู้ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปสู่ประชาชนให้ประยุกต์ปรับใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนนำไปคิดปรับปรุงวิถีชีวิตและการทำงานของตนเอง ให้อยู่ได้อย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ทั้งในส่วนของตนเอง ครอบครัวและชุมชน ”ผอ.กศน.จังหวัดตราด กล่าว.

 

“บุญรักษ์”สั่ง สพค.แก้ปัญหาชอปปิงคูปองครู

     ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยถึงหลักสูตรของหน่วยพัฒนาครูในโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ รายหัวละ 10,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองจาก สพฐ. 787 หลักสูตร เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อชอปปิง ซึ่งขณะนี้มีการร้องเรียนเรื่องการเปิดรุ่นทีไม่เป็นธรรม ว่า สถาบันคุรุพัฒนา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ซึ่งเป็นหน่วยกรองหลักสูตร ได้ส่งหลักสูตรที่ผ่านการรับรองมาที่สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.)ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จำนวน 787  หลักสูตร (หน่วยพัฒนาถอนตัว 2 หลักสูตร) และใช้ในการ booking หลักสูตร 785 หลักสูตร และล่าสุดจากการปิดยอดชอปปิงหลักสูตรรอบแรกวันที่ 28 พ.ค.-3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลักสูตรที่ครูชอปปิงและเปิดรุ่นได้ 451 หลักสูตร จำนวน 2,455 รุ่น  286,019 ที่นั่ง จะเริ่มอบรมรอบแรก 30 มิ.ย.-16 ก.ย.ส่วนที่หายไป344 หลักสูตรยังไม่สามารถเปิดรุ่นได้เพราะไม่เป็นตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตามยังมีที่นั่งเหลืออีกประมาณ 10% หรือ 28,461 ที่นั่ง ที่จะเปิดให้ชอปปิงรอบสอง วันที่ 15-22 มิ.ย.นี้ และมีหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 733 หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง และหน่วยพัฒนาขอเปิดรุ่นโดยจะเริ่มอบรมได้ตั้งแต่ 21 ก.ค.-16 ก.ย.2561 ทั้งนี้ ประมาณการใช้งบประมาณปี 2561 จำนวน  1,400 ล้านบาท

 “ประเด็นที่ร้องเรียนมา คือ หน่วยพัฒนาที่เปิดรุ่นไม่ได้ได้เสียเงินค่าสมัคร 2,000 บาท  และถูกตรวจสอบคุณสมบัติของวิทยากรอีกรอบแล้วไม่ผ่าน จึงไม่ได้ให้ครูชอปปิงเนื่องจากเปิดรุ่นไม่ได้ เรื่องนี้ สพฐ.จะมอบหมายให้ สพค.หาวิธีแก้ไขปัญหาในวันจันทร์ที่ 11 มิ.ย.นี้”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

โดนแล้ว! “หมอธีใช้” ม.44 มทร.ล้านนา-ม.แม่โจ้

นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์  รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ลงนามในหนังสือขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตามคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เรื่องการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา กับมหาวิทยาลัย 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เสนอไปที่ คสช.แล้ว โดยต่อจากนี้ คสช.จะต้องดำเนินการพิจารณาว่าเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอหรือไม่ เมื่อพิจาณาแล้วจึงจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยตามขั้นตอนเมื่อมีการประกาศแล้ว ทางคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) จะต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะกรรมการควบคุม รวมถึงผู้ที่จะปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีมาให้ตนพิจารณาแต่งตั้ง

“เรื่องนี้เป็นความเห็นของ กกอ. ที่เป็นคณะกรรมการที่ดูแลอุดมศึกษาทั้งหมด ดังนั้นการดำเนินการต่างๆ ถือว่ามีธรรมาภิบาล มีความเป็นธรรมอยู่แล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการจะไม่ล่าช้าอย่างแน่นอน”รมว.ศธ.กล่าว…

ที่มา..เดลินิวส์ ออนไลน์ / 7 มิถุนายน 2561 18.14น.

ด่วน… “บุญรักษ์”สั่งเช็คอาหารกลางวันทุกโรงเรียน

“บุญรักษ์”สั่งด่วนสำรวจโครงการอาหารกลางวันทุกโรงเรียน เริ่มทันทีวันนี้( 7 มิ.ย.) ถ้าเจอทุจริตใช้มาตรการ ครม.จัดการขั้นเด็ดขาดกับผอ.โรงเรียนทันที

ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้มีหนังสือ สั่งการถึง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.)และ ผอ.ศูนย์การศึกษาพิเศษทั่วประเทศ เรื่อง การกำกับติดตามการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันนักเรียน เนื่องจากได้มีข่าวเกี่ยวกับการจัดการบริการอาหารกลางวันแก่นักเรียนไม่มีความเหมาะสมทั้งด้านคุณภาพและปริมาณ จึงขอให้ผอ.สพท.ทุกแห่งมอบหมายให้ศึกษานิเทศก์ บุคลากรกลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาและบุคลากรอื่นๆในสำนักงานเขตพื้นที่ไปตรวจ ติดตามการดำเนินการโครงการอาหารกลางวันของทุกโรงเรียน โดยให้เริ่มออกตรวจติดตามตั้งแต่วันนี้(7มิ.ย.)เป็นต้นไปให้ครบทุกโรงเรียน โดยให้ทุกโรงเรียนได้จัดรายการอาหารตาม Program Thai School Lunch และให้ติดตามด้านภาวะโภชนาการของนักเรียนอย่างเร่งด่วน ในด้านการบริหารจัดการโครงการ และด้านปริมาณและคุณภาพอาหารเป็นกรณีพิเศษ หากพบว่ามีการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม หรือมีการทุจริตในการดำเนินการ ให้ดำเนินการทางวินัยโดยเฉียบขาดกับผอ.โรงเรียนและผู้เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว ตามมาตรการตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)อย่างเคร่งครัด

“ทั้งนี้หากพบว่าไม่มีการตรวจสอบติดตาม หรือ ตรวจสอบแล้วไม่มีการดำเนินการทางวินัยที่เหมาะสม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่จะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชาตามความเหมาะสมแก่กรณี ดังนั้น ขอให้ผู้บริหารทุกคนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด”เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

กกอ.ชี้ตั้งประพัฒน์ รก.อธิการบดีมทร.ล้านนา มิชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นโมฆะ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ได้มีหนังสือไปถึงเลขานุการสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ล้านนา แจ้งเรื่อง ที่สภามทร.ล้านนาดำเนินการประชุมสภาฯเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ในการประชุมวาระพิเศษ 1/2561 และมีมติขยายเวลาให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประพัฒน์ เชื้อไทย รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนาต่อไปจนกว่าสภามหาวิทยาลัยจะมีมติให้เป็นอย่างอื่น ว่า มติดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยหนังสือนี้ได้มีการส่งต่อกระจายกันอย่างรวดเร็ว

โดยหนังสือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจาก สกอ.ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการประชุมสภา มทร.ล้านนานัดพิเศษเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ซึ่ง สกอ.ได้พิจารณาแล้วขอเรียนว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายในการประชุมครั้งที่6 / 2561 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการประชุมสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวแล้ว มีความเห็นว่า

“เมื่อพิจารณาข้อบังคับของมทร.ล้านนา ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา พ.ศ. 2548 ข้อ8 ซึ่งกำหนดว่าถ้ากรรมการ ตั้งแต่หนึ่งในสี่ขึ้นไปของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ร้องขอให้สภามหาวิทยาลัยเปิดประชุมเพื่อกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดให้นายกสภามหาวิทยาลัยเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยภายใน 10 วัน นับตั้งแต่วันที่นายกสภาได้รับหนังสือร้องขอและข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่าการเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยให้ทำเป็นหนังสือแจ้งพร้อมด้วยระเบียบวาระการประชุมและหรือเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กรรมการทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า3วัน เว้นแต่การประชุมเรื่องด่วนจะแจ้งระเบียบวาระการประชุมและเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กรรมการทราบขณะประชุมก็ได้ ดังนั้น คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย จึงเห็นว่า ข้อบังคับดังกล่าวให้อำนาจนายกสภามหาวิทยาลัยเท่านั้นเป็นผู้สามารถเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยได้ และไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดให้ กรรมการมหาวิทยาลัยโดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการสภามหาวิทยาลัยเท่าที่มีอยู่เข้าชื่อเพื่อเรียกประชุมหรือเปิดการประชุมสภามหาวิทยาลัยได้ และการที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยเสียงข้างมากเปิดประชุมสภามหาวิทยาลัยวาระพิเศษ 2/2561 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 จึงเป็นการประชุมที่มิชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลให้มติที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยของที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยในครั้งดังกล่าวตกเป็นโมฆะ และต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏตามรายงานการประชุมสภามหาวิทยาลัยวาระพิเศษ 2 / 2561 เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2561 ดังกล่าวได้มีมติขยายเวลาให้ผศ.ประพัฒน์ รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนาต่อไปจนกว่าสภามหาวิทยาลัยจะมีมติให้เป็นอย่างอื่น ส่งผลให้มติดังกล่าวตกเป็นโมฆะ ไม่ใช่แต่เพียงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังทำให้ ผศ.ประพัฒน์ พ้นจากการเป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ล้านนา ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2561 เป็นต้นไปด้วย ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษา ครั้งที่ 7 / 2561 เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ได้พิจารณาการหารือของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายดังกล่าวแล้วเห็นชอบด้วยกับความเห็นและมีมติให้แจ้งความเห็นของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายไปยังมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเพื่อให้ทราบมติดังกล่าวต่อไป

หารือ ก.พ. หลังพบ ขรก.หลายสังกัดเอี่ยวทุจริตกองทุนเสมาฯ!

     นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานสืบข้อเท็จจริงกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบความเสียหายและการเยียวยาเงินให้แก่สถานศึกษา ว่า จากที่ได้สรุปผลการสืบข้อเท็จจริงกรณีโกงกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตเสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ.โดยมีผู้เกี่ยวข้องจำนวน 25 รายรวมนางรจนา สินที อดีตข้าราชการชำนาญการพิเศษระดับ 8 สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ของ สป.ศธ. ที่ถูกลงโทษไล่ออกจากราชการไปก่อนหน้านี้ โดยครั้งนี้เป็นการสรุปข้อมูลครั้งสุดท้ายเรื่องการเยียวยา ภายหลังทำการตรวจทานสเตทเมนท์ของวิทยาลัยพยาบาล สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 26 แห่งและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์/ศึกษาสงเคราะห์ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 41 แห่งนั้น คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ พบว่าจะต้องเยียวยาแก่สถานศึกษาเป็นเงินทั้งสิ้น   18,655,825 บาท แบ่งเป็น โรงเรียน สพฐ. 20 แห่ง จำนวน 7,290,825 บาท และวิทยาลัยพยาบาล 20 แห่ง จำนวน 11,365,000 บาท
       ขณะเดียวกัน ยังต้องเรียกเงินคืนจากวิทยาลัยพยาบาล 5 แห่งและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์  1 แห่ง รวม  6 แห่ง ซึ่งตรวจสอบพบว่ามีการโอนเงินเกินไปจากนางรจนาและพวก ซึ่งเมื่อหักลบแล้วจะมียอดเงินที่ต้องเรียกคืนรวม 1,140,691 บาท รวมถึงให้จ่ายเงินชดเชยในส่วนที่ขาดด้วยทั้งนี้ จะเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ที่มี นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. เป็นประธาน ทั้งนี้ เงินเยียวยานี้จะให้ย้อนหลังไป 10 ปี ทั้งนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ และจบการศึกษาไปแล้ว แต่ส่วนใหญ่สถาบันการศึกษามักแก้ปัญหาด้วยการจ่ายเงินเด็กกองทุนนี้ด้วยเงินส่วนอื่นไปก่อน

ด้าน นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างให้นิติกร ตรวจสอบสำนวนที่คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯ สรุปมา แต่เนื่องจากผู้ที่คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงฯชี้มูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตกองทุนเสมาฯ ทั้ง 25 รายนั้น เป็นข้าราชการในหลายระดับ อยู่ในหลายสังกัดไม่ได้สังกัดแค่ ศธ.เช่น สำนักนายก มหาดไทย จึงเป็นประเด็นว่ากรณีนี้เกี่ยวกับข้าราชการหลายคนและมีผู้บังคับบัญชาหลายระดับ เช่นนี้ใครจะเป็นผู้บังคับบัญชาที่สามารถดำเนินการสั่งสำนวนได้ เช่นร้ายแรง ไม่ร้ายแรง หรือยุติ ดังนั้น เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ศธ.จึงได้ทำหนังสือหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่ากรณีลักษณะใครจะเป็นผู้มีอำนาจในการสั่งสำนวนเพื่อให้เกิดความชัดเจนและดำเนินการที่ถูกต้อง ส่วนการสอบความผิดทางละเมิดนั้นยังอยู่ระหว่างการทาบทามกรรมการเข้ามาทำหน้าที่

     “ถึงแม้จะมีข้าราชการ ศธ.เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้และสามารถเสนอ รมว.ศึกษาธิการ สั่งการได้ แต่ก็มีคนของหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้องต้องดูให้ละเอียด ซึ่งการหารือกับก.พ.จะได้แนวทางชัดเจนว่าให้แต่หน่วยงานสั่งสำนวนเอง สั่งอย่างไร หรือจะทำสำนวนในภาพรวมทีเดียว จากนี้คงต้องรอทาง ก.พ.ตอบมา ซึ่งหลังจากส่งหนังสือเป็นทางการแล้วผมก็จะประสานอย่างไม่เป็นทางการขอให้ทางก.พ.ช่วยพิจารณาโดยเร็วด้วย”นายการุณ กล่าว
     ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการเยียวยาให้แก่ผู้รับทุนกองทุนเสมาฯนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อมูลจาก นายอรรถพล แต่ก่อนหน้าที่มีการประชุมคณะกรรมการบริการกองทุนเสมาฯ ได้มีมติให้ทำหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังว่ากองทุนสามารถนำเงินที่มีอยู่ ซึ่งเป็นในส่วนของกำไรมาใช้เพื่อเยียวยาเด็กที่ไม่ได้รับทุนได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ทำหนังสือไปเรียบร้อยแล้ว รอทางกรมบัญชีกลางตอบกลับมา หากตอบกลับมาเช่นไรก็จะนัดประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทันที ซึ่งถ้ากรมบัญชีกลางตอบว่าสามารถใช้เงินดังกล่าวได้ ที่ประชุมก็สามารถอนุมัติการจ่ายเพื่อเยียวยาได้ทันทีเพราะมีเงินแล้ว ขณะเดียวกัน ในการประชุมครั้งต่อไปก็จะต้องพิจารณาไปถึงการวางมาตรการสำหรับการดูแลเด็กทุนเสมาฯรุ่นใหม่ และจัดทำคู่มือการเบิกจ่ายเงินกองทุนฯด้วย

“หมอธี’แจงยิบ ทำไมย้ายนายณรงค์ รองเลขาธิการกพฐ.

     เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน  นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ  (ศธ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ ศธ. เสนอ แต่งตั้งโยกย้าย นายณรงค์  แผ้วพลสง  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ไปเป็นศึกษาธิการภาค (ศธภ.) 15 ภาคเหนือตอนบน  ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ายังไม่ได้ทุจริต เพราะยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ทำตามนโยบาย  ซึ่งตนต้องการสอบสวนให้ลึกซึ้งว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง อย่างไรก็ตาม การใช้งบฯจำนวน 279 ล้านบาท เริ่มต้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560  ขณะนี้เรามีข้อมูลชัดเจนว่าไม่ได้สำรวจความต้องการของโรงเรียนจริง ๆ จัดทำไปก่อน แล้วส่งลงไป  จากนั้นจึงค่อยไปถามโรงเรียนว่า เอาหรือไม่เอา นอกจากนั้นยังมีการยัดไส้เพิ่มเติม ตนจึงต้องการสอบสวนให้ชัดเจน จึงต้องย้ายนายณรงค์ ออกจากตำแหน่งก่อน และตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง โดยทีบุคคลภายนอกเป็นประธาน เพื่อมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าวแล้ว ถือว่าตรงไป ตรงมาไม่มีอะไร

     ผู้สื่อข่าวถามว่า นายณรงค์ เป็นระดับรองกพฐ. การเซ็นอนุมัติงบจะต้องให้ผู้บังคับบัญชาอนุมัติก่อนหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า มีคนถามประเด็นนี้มาเช่นกัน แต่คงต้องให้นายณรงค์ ชี้แจง เพราะนายณรงค์เป็นคนเซ็น และตอนนั้น นายบุญรักษ์  ยอดเพชร เลขาธิการกพฐ. เดินทางไปราชการต่างประเทศ  รองเลขาธิการกพฐ. ในฐานะรักษาการฯ มีอำนาจเซ็นได้ และที่สำคัญ เรื่องนี้คนชง ก็ไม่ใช่คนที่มีอำนาจดูแล  แต่เป็นรักษาการ และตนได้สอบสวนเบื้องต้น คนที่เป็นเจ้าของเรื่องจริง ๆ ได้สั่งการแล้วว่า อย่าเซ็น แต่ก็ยังเซ็น ตนต้องสืบสวนต่อ ว่าใครที่สั่ง ทุกระดับ แต่ถ้าตรวจสอบถึงใครก็โดนหมด  ส่วนนายณรงค์ถ้าตรวจสอบแล้ว ไม่มีความผิด ก็ย้ายกลับมา  ตำแหน่งตรงนี้ตนจะยังไม่ดำเนินการสรรหาใหม่ จนกว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้แล้วเสร็จ

     “มาตรการ คสช. ไม่ได้หมายความว่า การย้ายออกจากพื้นที่เป็นเรื่องผิด  ส่วนที่ระบุว่า ทางเลขาธิการ กพฐ. สั่งระงับงบโครงการนี้ไปแล้วนั้น ถ้าระงับแล้ว แต่ทำไมถึงอนุมัติต่อ ผมยืนยันต่อสาธารณะชนว่า นโยบายของผม  จะต้องทำงานอย่างโปร่งใส ตามความต้องการของโรงเรียน และงบประมาณ ซึ่งนอกจากกรณีนี้แล้ว  พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียังได้ สั่งการในที่ประชุมครม.ว่า กรณีที่ผู้อำนวยการโรงเรียนปล่อยให้ อาหาร  นมเด็ก มีปัญหา ขโมยเงินเด็ก ให้ลงโทษอย่างเด็ดขาด และรุนแรง โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ที่ปล่อยให้มีการทุจริตเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ฯของตัวเอง จะต้องรับผิดชอบด้วย “รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า

     เรื่องนี้มีปัญหาร้องเรียนหลาย อย่าง เช่น บอกว่าเป็นงบฝึกทักษะ แต่ปรากฏว่า มีเจ้าหนึ่งร้องเรียนว่า เป็นการจัดซื้อชั้นวางหนังสือ และคนที่ร้องเรียน ก็บอกว่า มีการล็อกสเป็กชั้นวางหนังสือ ถ้าไปดูรายละเอียดแต่ละโครงการต้องตอบให้ได้ด้วย เช่น ถ้าเป็นงบฝึกทักษะ ฝึกทักษะอย่างไร ฉะนั้นเรื่องนี้ยังอีกยาว แต่เบื้องต้นใครที่เป็นคนเซ็นต้องรับผิดชอบ ทำตรงไปตรงมา เรื่องนี้ถือว่าเราได้ระงับความเสียหาย จะจงใจหรือไม่  ตนไม่ทราบ แต่ความไม่ชอบมาพากลของโครงการนี้มีแน่นอน ทั้งเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ เพราะปกติไม่มีใครเซ็น ถ้ายังร้องเรียนกันอยู่ แต่เท่าที่สอบถาม นายณรงค์ บอกว่า เซ็นเพื่อรอดูว่า รัฐมนตรีว่าการศธ. จะเอาอย่างไร  ทั้งที่รู้ว่า รัฐมนตรีจะเอาอย่างไร และทั้งที่รู้มาตลอดว่ารายงานให้ตนทราบตั้งแต่เดือนธันวาคม 2560  แล้วว่าจะไม่ทำ  ตนไม่มีเจตนาจะกลั่นแกล้งใคร ทุกอย่างเป็นไปตามข้อเท็จจริง ถ้าไม่ผิดอะไรก็ไม่ต้องห่วง จะคืนความเป็นธรรมให้

     นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวไม่ได้พูดคุยกับนายณรงค์ ก่อนที่จะเสนอให้ย้ายออกจากตำแหน่ง เพราะถือว่าเป็นคำสั่งในเชิงบริหาร และยังไม่ใช่การทุจริต เพราะถ้าตนคิดว่า เขาทุจริต คงย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว  ทั้งนี้การตรวจสอบปัญหาทุจริตที่เกิดขึ้นในสพฐ. ล่าสุดทราบว่านายบุญรักษ์ สั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไปหลายเรื่องแล้ว  ส่วนคืบหน้าการตรวจสอบการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา นั้น  เท่าที่ทราบ นายการุณ  สกุลประดิษฐ์   ปลัดศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ฯ อยู่ระว่างตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม ตามที่ตนได้สั่งการ ที่ให้ไปทำข้อมูลให้ชัดเจน อธิบายทั้งขั้นตอนการส่งให้แก้ไขแบบ และมีใครบ้างที่เข้ามาเกี่ยวข้อง อยากให้ใจเย็น ๆและย้ำว่าไม่มีมวยล้มแน่นอน

     ส่วนกรณีที่มีข่าวการทุจริต การทำสัญญาซื้อขายสินค้า ระหว่าง องค์การค้าของ สำนักงานสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ( สกสค.) กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) แห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ช่วงปลายปี 2558 ที่มีวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใส ในการปฏิบัติงานของอดีตผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ ที่มีพฤติการณ์ส่อว่าจะกระทำทุจริตฝ่าฝืนระเบียบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน และส่งผลทำให้องค์การค้าของ สกสค. เกิดความเสียหายเป็นเงินจำนวนถึง 200 ล้านบาท นั้น ตนยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้  ยังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้าพล.ท.โกศล  ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการศธ. พบข้อมูลอะไรเพิ่มเติม จะรายงานให้ตนรับทราบเอง

ไม่ยึดติดพัฒนาครู ถ้าไม่ดีพร้อมยกเลิก

     เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน  นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ  (ศธ.) เปิดเผยถึงกรณี ที่มีข่าวว่าหลักสูตรของหน่วยพัฒนาครูในโครงการคูปองพัฒนาครูที่เชื่อมโยงกับวิทยฐานะ รายหัวละ 10,000 บาท ประจำปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านการรับรองจาก สพฐ. 785 หลักสูตร เปิดให้ครูเข้าสู่ระบบออนไลน์เพื่อช็อปปิ้ง แต่เมื่อถึงเวลาหลักสูตรกลับหายไปหลายหลักสูตร ส่งผลให้ครูที่จองหลักสูตรไว้เดือดร้อน ซึ่งมีกระแสข่าวว่าเกิดจากสพฐ.ดึงหลักสูตรกลับไปพิจารณาอีกรอบพร้อมยกเลิกการจอง เนื่องจากไม่ได้ตั้งงบรองรับว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งตนจะลงไปตรวจสอบว่าปัญหาเกิดจากอะไร เพราะมีการโจมตีกันมาโดยตลอด ซึ่งเท่าที่ดูผู้ที่ออกมาโจมที เป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่หลักสูตรไม่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้มีการของบประมาณเพิ่มเติม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บริหารจัดการงบเองทั้งหมด เพื่อลดอำนาจจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี

      “คนที่ออกมาโจมตีเป็นเพียงคนกลุ่มหนึ่ง อยากให้ครูที่เห็นประโยชน์จากโครงการนี้กว่า 3 แสนคนออกมาพูด ออกมาเคลื่อนไหว ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ด้วย ว่าของดีเป็นอย่างไร แต่ถ้าต้องการให้เป็นแบเดิม ผมก็จะให้เป็นแบบเดิม  ถ้าโครงการนี้ไม่ดีจริงผมก็พร้อมจะยกเลิก ผมไม่ยึดติด  ส่วนที่ร้องว่า เพราะศธ.ไม่จัดงบ ก็ไม่ใช่  เรื่องนี้เป็นการบริหารงบของสพฐ. ไม่มีการจัดงบเพิ่ม งบที่ทำเรื่องนี้ไม่มีมาตั้งแต่แรก  และไม่ใช่ว่าทุกคอร์สจะทำอะไรได้ตามใจชอบ ทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อความยุติธรรม  แต่ละคอร์สการอบรมจะต้องรวมค่าเดินทาง ไว้ด้วย  “นพ.ธีระเกียรติ กล่าว

     ผู้สื่อถามว่า ผู้เสนอหลักสูตรบางราย มองว่า หลักสูตรรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนาแล้ว แต่กลับไม่สามารถเปิดอบรมได้ เหมือนเป็นการกลับลำ  รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า  ไม่ได้กลับลำ สถาบันคุรุพัฒนามีหน้าที่ดูแลด้านวิชาการ ให้การรับรองว่าหลักสูตรที่เสนอมาเป็นหลักสูตรที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน แต่สพค.ของสพฐ. เป็นคนจ่ายเงิน มีหน้าที่ควบคุม และบอกว่า จะเอาหรือไม่เอาหลักสูตรไหน ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า ทุกหลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนาอนุมัติแล้ว สพค.จะต้องให้ผ่านทั้งหมด อย่างเช่น หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนา ให้การรับรองแล้ว แต่สพค.บอกว่าแพงไป  ยังไม่ซื้อ ก็สามารถทำได้ ตรงนี้ถือเป็นความยุติธรรม เพราะสพค.เป็นคนจ่ายเงิน จึงมีอำนาจสุดท้ายในการตัดสินใจ  อย่างเช่น บางหลักสูตร ระบุว่า ต้องพักโรงแรม ซึ่งครูในพื้นที่ก็สะท้อนกลับมาว่า จัดอบรมในพื้นที่ทำไมต้องพักโรงแรม ทำให้เขารู้สึกว่า เหมือนถูกบีบบังคับให้ต้องพักโรงแรม อย่างนี้ต้องต่อรองกันเป็นความยุติธรรม

      ถามว่า ถ้าครูเลือกหลักสูตรที่อบรมแล้ว สพค.มาตัดออก จะเสียสิทธิหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ครูไม่ได้เลือกอบรมแค่หลักสูตรเดียว ตอนนี้ครูเลือกไปแล้วกว่า 2 แสนกว่าที่นั่ง  และจะมีรอบการอบรม และครูคนหนึ่งก็เลือกหลายที่ เรื่องนี้มีการบริหารจัดการ ดังนั้นต้องเข้าใจ ไม่ใช่ว่า พอไม่ได้ดังใจก็ออกมาโจมตีว่าไม่ดี

     ด้านดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ.กล่าวว่า การที่ให้ครูบุ๊กกิ้งจองหลักสูตรก็เพื่อวางแผนการประหยัดงบประมาณ ตามที่มีข้อทักท้วงจากนักวิชาการที่ติงว่าปีที่ผ่านมาใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการเดินทาง จึงต้องการทราบยอดล่วงหน้าและอำนวยความสะดวกแก่หน่วยพัฒนาครู โดยให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เป็นผู้รวบรวมและประสานหน่วยพัฒนา กำหนดสถานที่และวันอบรม แต่เกิดปัญหาว่าบางหน่วยพัฒนาไม่ได้รับการประสานจากเขตพื้นที่ฯ เพราะยอดบุ๊กกิ้งกระจาย หน่วยพัฒนาจึงขอเปิดโดยกำหนดจังหวัดเอง สถาบันคุรุพัฒนาจึงพิจารณาใหม่ บางรุ่นจึงไม่ผ่านแต่ตรงนี้เป็นอำนาจของสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาถึงความเหมาะสมในทุกๆด้าน

       และล่าสุดจากการปิดยอดช้อปปิ้งหลักสูตรรอบแรกวันที่ 28 พ.ค.-3 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลักสูตรที่ครูช้อปปิ้งและเปิดรุ่นได้ 451 หลักสูตร จำนวน 2,455 รุ่น จำนวน 286,019 ที่นั่ง จะเริ่มอบรมรอบแรก 30 มิ.ย.-16 ก.ย.ส่วนที่หายไป344 หลักสูตรยังไม่สามารถเปิดรุ่นได้เพราะไม่เป็นตามเงื่อนไข อย่างไรก็ตาม ยังมีที่นั่งเหลืออีกประมาณ 10% หรือ 28,461 ที่นั่ง ที่จะเปิดให้ช้อปปิ้งรอบสอง วันที่ 15-22 มิ.ย.นี้ และยังมีหลักสูตรเพิ่มเติมอีก 733 หลักสูตรที่สถาบันคุรุพัฒนารับรอง และหน่วยพัฒนาขอเปิดรุ่นโดยจะเริ่มอบรมได้ตั้งแต่ 21 ก.ค.-16 ก.ย.2561 ทั้งนี้ ประมาณการใช้งบประมาณปี 2561 จำนวน  1,400 ล้านบาท