สพฐ. นำคณะครู-นักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ร่วมส่งมอบพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค

วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีส่งมอบพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง ระหว่าง โรงเรียนสตรีวัดระฆัง ส่งมอบโดย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นำโดย ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง กับ กองทัพเรือ รับมอบโดย พลเรือโท วิจิตร ตันประภา รองเสนาธิการทหารเรือ ประธานคณะกรรมการจัดเตรียมความพร้อมขบวนเรือพระราชพิธี พลเรือตรี สมบัติ จูถนอม เจ้ากรมการขนส่งทหารเรือ ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายฝึกซ้อมกำลังพลฝีพาย และคณะ ณ กรมอู่ทหารเรือ กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆัง ได้รับโอกาสอันเป็นมงคลยิ่งที่ได้รับมอบหมายจากกองทัพเรือ ให้เป็นผู้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่งขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ในวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นี้ โดยได้รับมอบหมายให้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือ พวงกลาง เครื่องแขวนประดับบุษบก และบัลลังก์กัญญา ให้แก่เรือพระที่นั่งทั้ง 4 ลำ อันประกอบด้วย เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์

โอกาสนี้ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 นี้ กองทัพเรือได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต ในการอัญเชิญเรือพระที่นั่ง จำนวน 3 ลำ ประกอบด้วยเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ผูกทุ่นประกอบการแสดงกาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ ณ ท่าราชวรดิฐ ถนนมหาราช แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 28-29 กรกฎาคม 2567 นี้ โรงเรียนสตรีวัดระฆังจึงได้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่งมาเพื่อใช้ในการแสดงนี้ก่อน จำนวน 3 ชุด และในช่วงเดือนตุลาคม 2567 จะได้จัดส่งพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร อีกจำนวน 4 ชุด

โดย คณะครูและนักเรียนโรงเรียนสตรีวัดระฆังเป็นผู้จัดทำพวงมาลัยคล้องคอเรือพระที่นั่ง มาแล้วถึง 15 ครั้ง นับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ. 2502 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 16 นำมาซึ่งความปลื้มปีติอย่างหาที่สุดมิได้ที่ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญของประวัติศาสตร์ไทยในครั้งนี้

“เลขาฯสกสค.”แจงบอร์ดมีหน้าที่เร่งรัดงานตามนโยบาย ส่วนการจัดการเป็นของหน่วยงาน พร้อมประกาศเดินหน้า สร้างขวัญกำลังใจ ควบคู่ไปกับการบริหารงานที่โปร่งใส

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวถึงกรณี เจ้าหน้าที่องค์การค้าของ สกสค.ได้ชี้แจงเรื่องการกระจายพิมพ์หนังสือแบบเรียนขององค์การค้า สกสค.ต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฏร ว่า เป็นมติบอร์ด สกสค.ว่า โดยหลักการบอร์ดหรือคณะกรรมการ สกสค. จะพิจารณาอนุมัติแผนงานและงบประมาณประจำปีตามปกติ ส่วนการดำเนินการจัดการเป็นหน้าที่ของหน่วยงาน   บอร์ด สกสค.จะไม่ลงในรายละเอียด แต่จะช่วยเร่งรัดติดตามงานตามนโยบาย เช่น เรื่องการจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนก็ได้แต่เร่งรัดให้ดำเนินการจัดพิมพ์ให้แล้วเสร็จตามกำหนดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างองค์การค้าของ สกสค.กับ บริษัทเอกชน ก็ต้องให้ความเป็นธรรมและให้กำลังใจทั้งสองฝ่าย

ดร.พีระพันธ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตามสำนักงาน สกสค.เป็นหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีภารกิจสำคัญในการดูแลส่งเสริมการจัดสวัสดิการและสวัสดิภาพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศ มี พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน บอร์ด สกสค. ซึ่งมีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ด้วยการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา นั้น สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้ดำเนินการตามนโยบายและภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยได้จัดให้มีสวัสดิการการฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อดูแลครูและบุคลากรทางการศึกษารวมถึงคู่สมรส จำนวน 1.3 ล้านคน โดยแบ่งเป็น        การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2494 ปัจจุบันมีสมาชิก 934,499 ราย

  • ในปี 2565 ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปเป็นเงินทั้งสิ้น 8,225 ล้านบาท
  • ในปี 2566 ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปเป็นเงินทั้งสิ้น 8,128 ล้านบาท
  • ในปี 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปแล้ว จำนวน 4,295 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 3,007 ล้านบาท

การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่ความตาย (ช.พ.ส.) ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2518 ปัจจุบันมีสมาชิก 387,413 ราย

  • ในปี 2565 ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,724 ล้านบาท
  • ในปี 2566 ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปเป็นเงินทั้งสิ้น 1,771 ล้านบาท
  • ในปี 2567 ตั้งแต่เดือน ม.ค. – มิ.ย. ได้จ่ายเงินเป็นค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวให้แก่สมาชิกไปแล้ว จำนวน 2,158 ราย เป็นเงินทั้งสิ้น 591 ล้านบาท

เลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า นอกจากสวัสดิการ ช.พ.ค.- ช.พ.ส. แล้ว ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ยังได้จัดให้มีสวัสดิการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา ด้วยการมอบส่วนลดค่าครองชีพให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นสวัสดิการทั้งประเภทร้านอาหาร โรงแรมที่พัก เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ จากร้านค้าและสถานประกอบการมากกว่า 1,500 แห่ง ที่มีสัญลักษณ์แสดงการเข้าร่วมโครงการกับ สกสค. โดยให้ส่วนลดสูงสุด 50% สามารถติดตามรายละเอียดรายการร้านค้าหรือสินค้าสวัสดิการนี้ได้ที่ Facebook : สกสค. หรือ OTEP Welfare และที่สำนักงาน สกสค. จังหวัดทุกจังหวัด

“สำหรับปีนี้ซึ่งเป็นปีมหามงคลเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. จะมอบเงินสวัสดิการให้แก่ครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงทั่วประเทศ โดยได้มอบให้คณะกรรมการ สกสค.จังหวัด นำเงินไปมอบให้ที่ที่พักของครูและบุคลากรทางการศึกษาผู้พิการและผู้ป่วยติดเตียงรายละ 2,000 บาท  ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม นี้เป็นต้นไป”ดร.พีระพันธ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ยังได้รับความร่วมมือในการลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาจากธนาคารออมสิน ด้วยการลดดอกเบี้ย 1% เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่สมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. ที่ร่วมโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.- ช.พ.ส. และโครงการเกื้อกูลผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป โดยจะเป็นการลดดอกเบี้ยอัตโนมัติไม่ต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ ซึ่งมีครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ยครั้งนี้จำนวนกว่า 230,000 ราย

ทั้งนี้ สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก ช.พ.ค.หรือ ช.พ.ส. นั้น สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ขอเชิญชวนมาสมัครเข้าเป็นสมาชิก เพื่อเป็นการแสดงน้ำใจร่วมกันช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สมเกียรติ สมศักดิ์ศรีของความเป็นครอบครัวครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดและสมัครเป็นสมาชิกได้ที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค. หรือที่สำนักงาน สกสค. จังหวัดทุกจังหวัด

 

บอร์ดคุรุสภา เห็นชอบ ถวายพระราชสมัญญา เนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการครุสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ครั้งที่ 7/2567  ที่มี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ที่ประชุมมีการพิจารณาและมีมติในเรื่องที่สำคัญ คือ เห็นชอบการขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  ซึ่งที่ประชุมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา โดยมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาไปพิจารณารายชื่อคณะอนุกรรมการฯ เสนอคณะกรรมการคุรุสภาพิจารณาต่อไป

เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการรับรองปริญญา และประกาศนียบัตรทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรองแล้ว ดังนี้1. ให้การรับรองปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษา จำนวน 5 แห่ง รวม  5 หลักสูตร ได้แก่ ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 1 หลักสูตร มหาวิทยาลัยขอนแก่น   , ประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู จำนวน 3 หลักสูตร ประกอบด้วย  มหาวิทยาลัยฟาฏอนี  มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร และ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา , ปริญญาโททางการศึกษา (วิชาชีพบริหารการศึกษา) จำนวน 1 หลักสูตร  มหาวิทยาลัยชินวัตร  2. ให้เปลี่ยนแปลงรายละเอียดปริญญาและประกาศนียบัตรทางการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษาที่คุรุสภาให้การรับรองแล้ว โดยเปลี่ยนแปลงแผนการรับนักศึกษา ปริญญาตรีทางการศึกษา (หลักสูตร 4 ปี) จำนวน 3 แห่ง  คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา   มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รวมจำนวน 9 หลักสูตร

ผศ.ดร.อมลวรรณ  กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบประกาศคุรุสภา เรื่อง การเทียบโอน และการฝึกอบรม เพื่อรับรองความรู้วิชาชีพ พ.ศ. 2567 ฉบับใหม่ ที่แก้ไขตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของกลุ่มราชกิจจานุเบกษา และมอบสำนักงานเลขาธิการคุรุสภาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

เตรียมพร้อมเฝ้าจอ LIVE กับ “สภาการศึกษา 2024”

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.2567 ดร.อรรถพล สังขวาสี เลขาธิกทรสภาการศึกษา เปิดเผยว่า เร็ว ๆ นี้ สภาการศึกษา จะมีการ LIVE ถ่ายทอดสดการประชุมอัปเดตความรู้ อย่าลืมบุ๊กวันรอไว้เพื่อติดตามความคืบหน้า แล้วเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองไปด้วยกัน และขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมชม LIVE จากสภาการศึกษา โดยมีปฏิทินดำเนินงาน ดังนี้  วันที่ 31 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2567 เป็นการประชุมสภาการศึกษานานาชาติ เรื่อง ความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาในสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป เริ่มตั้งแต่ เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป ( มีเกียรติบัตร Online)

วันที่ 5 สิงหาคม 2567 เป็นการประชุมวิชาการระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 เรื่อง การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัย “3เร่ง 3ลด 3เพิ่ม เสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย” เริ่มตั้งแต่ เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป (มีเกียรติบัตร Online)

วันที่ 22 สิงหาคม เป็นการประชุมสมัชชาสภาการศึกษาระดับชาติ ครั้งที่ 2 “All for Education จับมือไว้ สร้างการศึกษาไทยไปด้วยกัน” เริ่มตั้งแต่ เวลา 09:00 น. เป็นต้นไป จึงขอเชิญชวนทุกท่าน มาร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอในการพัฒนาการศึกษาไทยร่วมกัน

 

 

 

 

ศธ.พร้อมจัดประชุม รมต.ศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ชู “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล”23-26 ส.ค. ที่จังหวัดบุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และ ที่เกี่ยวข้อง (13 th ASEAN Education Ministers’ Meeting and Related Meetings) ระหว่างวันที่ 23- 26 สิงหาคม 2567 ว่า การประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการจัดประชุมด้านการศึกษาที่มีความสำคัญอย่ายิ่งสำหรับประเทศไทยที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และ ยังเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ของ อาเซียนบวกสาม(จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี) และอาเซียนบวก 7 (จีน, ญี่ปุ่น,เกาหลี, ออสเตรีย, นิวซีเเลนด์, อินเดีย,สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย) และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมนี้มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการจัดการนโยบายด้านการศึกษาของอาเซียน การประชุมจะแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี และการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสหรือระดับปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการศึกษาสู่ยุคดิจิทัล” (Transforming Education in the Digital Era) โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางแนวทางด้านการศึกษาของอาเซียนสู่ยุคดิจิทัล ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างสรรค์ คิดค้นนวัตกรรม การผลิต รวมถึงการให้บริการ อีกทั้งยังมุ่งหวังให้ผู้เรียนมีทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพซึ่งจะเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในสังคมอีกด้วย

“ประเทศไทยมองว่านี่คือโอกาสในการยกระดับอาเซียนไปสู่การบรรลุเป้าหมายการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ของสหประชาชาติ หรือ SDGs นอกจากนี้ ประเทศไทยมุ่งที่จะนำอาเซียนไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่ระบุไว้ในกรอบความร่วมมือการศึกษาอาเซียนบวกสาม และแผนดำเนินการการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก” พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวและว่า บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์โลกจากการแทรกแซงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุคดิจิทัล ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปรับปรุงความร่วมมือด้านการศึกษาระดับภูมิภาคและระดับโลก ด้วยเหตุนี้ เราจึงมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันเพื่อกำหนดรูปแบบและเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อรับมือกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในยุคดิจิทัล การประชุมที่กำลังจะมีขึ้นนี้ จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งผลลัพธ์อันจะส่งเสริมอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองให้กับชุมชนของเรา ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อพลเมืองของเราทุกคนอย่างแท้จริง

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ในระหว่างการประชุม จะมีการจัดทัศนศึกษา ณ สถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ทั้ง ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอาชีวศึกษา นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการการจัดแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิบัติงานด้านการศึกษา ตามนโยบาย ‘เรียนดี มีความสุข’ ของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เลือกจังหวัดบุรีรัมย์เป็นสถานที่จัดการประชุม เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการจัดงานระดับโลกขนาดใหญ่ และมีสถานะเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการศึกษา  ด้วยสถาบันการศึกษาที่โดดเด่นกว่า 80 แห่ง จังหวัดบุรีรัมย์มีความพร้อมสำหรับการนำเสนอการจัดการเรียนการสอน ในบริบทของการกำกับดูแลการศึกษาที่มีความเป็นอิสระและมีความยืดหยุ่น

“นายกฯ”สั่งการ ศธ.ปลูกฝังจิตสำนึกต่อต้านยาเสพติด พร้อมให้ร่วมมือกสศ.แก้ไขปัญหาเด็ก Dropout


เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน การประชุมหัวหน้าส่วนราชการ โดยมีพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงและข้าราชการ ศธ.ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า หัวข้อหลักที่ยกขึ้นมาประชุมในครั้งนี้ประเด็นสำคัญ คือ เรื่องของยาเสพติดกับเรื่องของความมั่นคง โดย กระทรวงศึกษาธิการได้รายงานถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการรณรงค์ป้องกันยาเสพติดในสถานศึกษา โดยเฉพาะเรื่องของบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้มีการประสานกับกระทรวงพาณิชย์ ว่า ถ้ามีการพบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาจะมีอำนาจในการดำเนินการได้เพียงไร ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมอบอำนาจให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปตรวจยึดได้หรือไม่ และอีกเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการรายงาน คือ การแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการโดยมอบหมายให้ กรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ไปค้นหาเด็กที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา เพื่อดึงเด็กกลับสู่ระบบการศึกษา โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการว่า ให้กระทรวงศึกษาธิการร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้โดยเร็ว


ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังได้รายงานเกี่ยวกับการสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อสถาบันชาติและบ้านเมือง ซึ่ง นายกรัฐมนตรีก็ได้มีข้อสั่งการว่า ให้ปลูกฝังจิตสำนึกกับเด็ก ในเรื่องความรักสามัคคี และ การต่อต้านยาเสพติด โดยให้ดำเนินการในลักษณะของการปฏิญาณตน และการปลูกฝังค่านิยมในการต่อต้านยาเสพติดตั้งแต่ในระดับโรงเรียน และ อีกเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการรายงาน คือ แนวทางการผลิตและพัฒนากำลังคนในเรื่องของ IGNITE THAILAND ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาขับเคลื่อน โดยมีแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว มีทั้งการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรมอาชีพ การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่เรามีให้ดีกว่าเดิม หรือ Upskill การสร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน หรือ Reskill ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กระทรวงศึกษาธิการ และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกันดำเนินการในเรื่องของการผลิตและพัฒนากำลังคนโดยเฉพาะนำคนในกลุ่มแรงงานอยู่แล้วมา Upskill และ Reskill เพื่อให้สามารถทำงานได้ทันที


“อย่างไรก็ตามวันนี้นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี ได้พูดว่า จริง ๆ แล้วในสถานศึกษาไม่ได้มียาเสพติดอะไรมากมาย เพียงแต่เราต้องการป้องกันโดยการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องของการต่อต้านสารเสพติดตั้งแต่เด็ก เพื่อที่โตขึ้นมาจะได้ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น” ดร.สุเทพกล่าวและว่า ทั้งนี้เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดในโรงเรียนนั้น กระทรวงศึกษาธิการ จะมีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน โดยจะมีการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งไม่ได้ร่วมมือกับเฉพาะมหาดไทยเท่านั้นแต่จะร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและท้องถิ่นในการเข้าไปดูแลด้วย

สมศ.“ปลื้ม” ปีนี้ สถานศึกษาขอรับการประเมินเกินเป้า 20% พร้อมดึงสถานศึกษาสังกัดอปท.สมัครใจเข้ารับการประเมินกว่า 80%

ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)เปิดเผยว่า ขณะนี้การประเมินคุณภาพภายนอกของปีงบประมาณ 2567 ได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยปีนี้มีความล่าช้ากว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องรอให้การประกาศเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกครบ 1 ปี ตามข้อบังคับของ สมศ. โดยผู้ประเมินภายนอก ได้มีการวิเคราะห์ SAR เสร็จสิ้นเมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา และได้เริ่มลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากที่ สมศ. ได้ปรับกรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอก โดยยึด 3 ประเด็นหลัก คือ ให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพภายนอกเพื่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพ (Quality Improvement) เน้นลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้สนับสนุนการประเมินตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ปรากฏว่าได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี มีสถานศึกษาแจ้งความประสงค์ขอเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง สูงกว่าเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ประมาณ 4,220  แห่ง โดยมีการประกาศรายชื่อสถานศึกษาที่เข้ารับการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและรายชื่อผู้ประเมินภายนอกอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ผ่านทางเว็บไซต์ของ สมศ. https://www.onesqa.or.th/th/contentdownload/905/

ดร.นันทา กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การประเมินคุณภาพภายนอกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องตามนโยบายของพลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สมศ. เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา สมศ. ได้มีการประชุมเตรียมความพร้อมอีกครั้งก่อนลงพื้นที่จริงโดยเป็นการประชุมชี้แจงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Facebook Live) ให้กับสถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอกเพื่อให้รับทราบร่วมกันเกี่ยวกับ การลงพื้นที่  ว่าสถานศึกษาต้องดำเนินการอย่างไร ผู้ประเมินต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้สถานศึกษาและผู้ประเมินภายนอกมีความเข้าใจที่ตรงกันและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และที่สำคัญเพื่อให้สถานศึกษาได้ทราบข้อมูลและมีความเข้าใจที่ตรงกันกับผู้ประเมิน หากพบเห็นผู้ประเมินภายนอกปฏิบัติตนหรือเรียกร้องอะไรนอกเหนือจากที่ สมศ. แจ้งไป สถานศึกษาสามารถแจ้งเข้ามาที่ สมศ. ได้ทันที นอกจากนี้ สมศ.จะมีการสุ่มเข้าไปสังเกตการณ์การประเมินภายนอกโดยไม่แจ้งล่วงหน้าให้ทราบด้วย และในกรณีที่สถานศึกษาเห็นว่า ผู้ประเมินภายนอกเคยมีประเด็นกับสถานศึกษาหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of interest)กับสถานศึกษา ก็สามารถแจ้งมายัง สมศ. เพื่อขอเปลี่ยนแปลงผู้ประเมินภายนอกได้และ สมศ.จะปรับเปลี่ยนผู้ประเมินให้ตามหลักเกณฑ์ที่ สมศ.กำหนดไว้

“การประเมินคุณภาพภายนอกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ เดิม สมศ. กำหนดเป้าหมายอยู่ที่ประมาณ 4,220 แห่ง สำหรับโรงเรียนที่ครบรอบการประเมิน 5 ปี และโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนขยายโอกาสที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ปรากฏว่ามีสถานศึกษาที่แจ้งความประสงค์ผ่านหน่วยงานต้นสังกัดเพื่อขอรับการประเมินคุณภาพภายนอกเข้ามาถึง 5,134 แห่ง หรือเพิ่มขึ้นราว 20% ครอบคลุมทั้งการศึกษาปฐมวัย (ศูนย์พัฒนาเด็ก) การศึกษาขั้นพื้นฐาน และด้านการอาชีวศึกษา โดยมีกำหนดการประเมินแล้วเสร็จภายในกลางเดือนกันยายน 2567 เพื่อให้สถานศึกษาสามารถนำผลการประเมินคุณภาพภายนอกไปปรับใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข หรือวางแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพสถานศึกษาและคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยในภาพรวม” ดร.นันทา กล่าว

ดร.มธุรส ประภาจันทร์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักทดสอบทางการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า การประเมินครั้งนี้นี้ถือเป็นมิติใหม่ของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดต่างๆ และ สมศ. โดย สพฐ.ได้มีส่วนร่วมทำเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายนอกและพัฒนารูปแบบการประเมิน โดยได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ระดับนโยบาย ซึ่งในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการทำเกณฑ์หรือการประกาศมาตรฐานการประกันคุณภาพภายใน เห็นได้ชัดว่ากรอบแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. นั้นเชื่อมโยงและสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษาทุกแห่งต้องทำอยู่แล้วจริงๆ ซึ่ง สพฐ. ได้พยายามชี้แจง สร้างความเข้าใจกับสถานศึกษาให้ปรับเปลี่ยนมุมมอง เลิกมองว่าการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นภาระ เพราะสถานศึกษาไม่ต้องทำอะไรเพิ่มจากงานที่ต้องทำอยู่แล้ว เพียงแต่มีหน่วยงานภายนอกเข้ามาช่วยดูว่างานที่ทำเป็นอย่างไร เปรียบเหมือนมีกระจกอีกบานมาช่วยสะท้อนให้สถานศึกษาเห็นภาพการทำงานของตนเอง

“หลังจากที่ สมศ. ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน สถานศึกษาต่างๆ ก็ค่อยๆ ปรับมายด์เซ็ตที่มีต่อการประเมินคุณภาพภายนอก ส่งผลให้ทัศนคติของสถานศึกษาในปัจจุบันเปลี่ยนไปมาก เริ่มเข้าใจและมองเห็นประโยชน์ของการประเมินคุณภาพภายนอกมากขึ้น ซึ่งเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกัน โดย สมศ. เป็นกระจกคอยสะท้อนว่าอะไรที่ยังขาด สถานศึกษาคอยเป็นผู้เติม และเขตพื้นที่การศึกษา  เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนจะช่วยยกระดับและพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป” ดร.มธุรส กล่าว

นางสาวชลิดา ยุตราวรรณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการจัดการศึกษาปฐมวัยและศูนย์เด็กเล็กกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท.มีโรงเรียนในสังกัดกว่า 1,700 แห่ง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอีกกว่า 18,000 แห่ง รวมสถานศึกษาในสังกัด อปท. กว่า 19,000 แห่ง สำหรับการประเมินในรอบปัจจุบัน อปท. ได้มีการแจ้งไปยังสถานศึกษาที่ครบกำหนดเข้ารับการประเมิน และพบว่ามีสถานศึกษาที่สมัครใจและพร้อมเข้ารับการประเมินกว่า 80% จากจำนวนที่แจ้งไปซึ่งนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่สถานศึกษาจำนวนมาก มองเห็นประโยชน์และความสำคัญของการประเมินคุณภาพภายนอก ซึ่งคาดว่ามาจาก 2 สาเหตุหลักๆ โดยสาเหตุแรกมาจากการที่ สมศ. ได้ใช้วิธีการประเมินรูปแบบใหม่ที่มุ่งลดภาระสถานศึกษา ไม่ต้องมีพิธีต้อนรับ เน้นประเมินเพื่อพัฒนาไม่ใช่ประเมินเพื่อจับผิดหรือตัดสิน อปท. จึงได้มีการสื่อสารให้สถานศึกษารับทราบ และให้เตรียมความพร้อมเข้ารับการประเมิน อีกทั้งสถานศึกษาที่เคยเข้ารับการประเมินรูปแบบใหม่แล้วยังช่วยกันบอกปากต่อปากด้วยว่า สมศ. เปลี่ยนไปแล้ว สมศ. ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ทำให้สถานศึกษาผ่อนคลายความวิตกกังวล ส่วนอีกหนึ่งสาเหตุ คือ ที่ผ่านมา สถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมักถูกมองว่ามาตรฐานและคุณภาพการศึกษาต่ำกว่าสถานศึกษาในสังกัดอื่น ทำให้ผู้ปกครองไม่ค่อยมั่นใจที่จะส่งลูกหลานมาเรียน จำนวนนักเรียนเข้าใหม่จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง ทางสถานศึกษาจึงเล็งเห็นความจำเป็นและต้องการเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอก เนื่องจากเชื่อว่าหากได้รับการประเมินและรับรองคุณภาพจากหน่วยงานที่มีมาตรฐาน เป็นกลางและเชื่อถือได้อย่าง สมศ. จะทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจและไว้วางใจที่ส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาเล่าเรียนเพิ่มมากขึ้น

“อยากฝากถึงคุณครูและสถานศึกษาในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้มีกำลังใจที่จะทำงานต่อไปเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต ทางเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สมศ. หรือภาคีในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ต่างเป็นพี่เลี้ยงและเป็นกำลังใจให้กับสถานศึกษาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นท่านไม่ต้องวิตกกังวล ท่านสามารถสื่อสาร ขอคำแนะนำ หรือขอความช่วยเหลือเข้ามาที่ส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคที่เป็นพี่เลี้ยงของท่านได้ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นที่เป็นพี่เลี้ยงและดูแลท่านมาโดยตลอด เพราะเราจะอยู่เคียงข้างท้องถิ่นและไม่ทิ้งกันแน่นอน” นางสาวชลิดา กล่าว

 “ครู 7 จังหวัดภาคกลาง” ตอบรับอบรมพัฒนาความรู้แบบ Active Learning ผ่านกระบวนการคิดขั้นสูง GPAS 5 Steps หวังพลิกโฉมการศึกษา สร้างเด็กเป็นนวัตกร

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้จัดโครงการพัฒนาครูต้นแบบในเขตภาคกลาง เพื่อ “พลิกโฉมคุณภาพการศึกษาโดยพัฒนาครูให้มีศักยภาพสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21” ในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบไปสู่การสร้างผู้เรียนให้เป็นนวัตกร อันเป็นกิจกรรมสำคัญของการอบรมครูตามโครงการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยรูปแบบ Active Learning สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ) ระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา ที่จุดอบรม สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อ่างทอง โรงเรียนสตรีอ่างทอง และโรงเรียนวิเศษไชยชาญ(ตันติวิทยาภูมิ) โดยมีครูเข้ารับการอบรมรวมทั้งสิ้น 451 คน เพื่อสร้างต้นแบบในพื้นที่ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ลพบุรี อ่างทอง สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา

ดร.ธีรศักดิ์ จำนงค์เนียร รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.)ยะลา ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการ สพป.อ่างทอง ประธานในพิธีเปิด กล่าวว่า เชื่อว่าการเข้ามาขับเคลื่อนการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps จะเป็นประโยชน์กับนักเรียนอย่างมาก เพราะจะทำให้ครูได้ความรู้จากวิทยากร ซึ่งครูก็จะนำความรู้ที่ได้ไปส่งต่อให้กับเด็กในห้องเรียน และสุดท้ายผลก็จะส่งถึงนักเรียนเต็ม  ๆ เพราะจากการประเมินการเรียนการสอนด้วย Active Learning เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ซึ่งไม่ว่ากิจกรรมนั้นจะยาก กลาง หรือ ง่าย ถ้าเด็กได้ลงมือทำปฏิบัติจริงก็จะเกิดความเข้าใจที่คงทนจนกระทั่งเกิดทักษะที่จะใช้ในการดำรงชีพในศตวรรษที่ 21 และต่อไปในอนาคต

“คนในวงการศึกษาจะรู้ดีว่า ความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำมีอยู่จริง โรงเรียนที่มีความพร้อมก็จะอุดมไปด้วยผู้เรียนที่แข่งขันกันเข้าไปเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่มีความพร้อมจะไปโรงเรียนที่ผู้ปกครองอาจจะไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น จนกระทั่งปัญหาที่เกิดตามมา คือ การปิดตัวของโรงเรียน เพราะฉะนั้นโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนคุณภาพ เป็นโครงการที่ดีที่จะพัฒนาโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่แต่ละอำเภอให้มีความพร้อมที่จะสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธา ให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งเสริมลูกหลานเข้ามาเรียน และสุดท้ายก็จะส่งผลถึงคุณภาพของเด็กในอนาคต”ดร.ธีรศักดิ์กล่าวและว่า เห็นด้วยอย่างยิ่งถ้าจะมีการต่อยอดโครงการนี้ เพราะโครงการนี้ช่วยสร้างความพร้อมให้ครูเกิดความกระตือรือร้น  และสุดท้ายผลก็จะเกิดกับผู้เรียนในห้องเรียน

ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่พบว่า คุณครูมีความตั้งใจมากขึ้นในการเข้ารับการอบรม เพราะเห็นภาพแล้วนึกออกว่า ที่เคยสอนมาในอดีตเป็นอย่างไรกับแนวทางที่จะพลิกโฉมการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างไร และมองเห็นขั้นตอนต่าง ๆ ที่จะพานักเรียนไปสู่การเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ไปจนถึงการสร้างผลผลิตและนวัตกรรมได้  ถือเป็นการตอบรับอย่างดีและเกิดกระแสที่โรงเรียนต้องการพัฒนาแนวทางการจัดการเรียนการสอนด้วยกระบวนการ เพราะหลักสูตรที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นหลักสูตรที่นำมาตรฐานมาจากสหรัฐอเมริกา และประเทศชั้นนำในยุโรป ซึ่งตอนที่นำมาตรฐานมาใช้ประเทศเหล่านั้นก็ได้มีการวิจัยก่อนนำมาใช้ 15 ปี เพราะฉะนั้นมาตรฐานของเขาจึงสูงมาก ทำให้มีการนำเสนอให้ครูเห็นว่ามาตรฐานเป็นการประเมินความสามารถโดยการแสดงออกของผู้เรียนในการสร้างนวัตกรรม ไม่ใช่เป็นการท่องจำแล้วสอบได้ ดังนั้นการที่ประเทศไทยกำลังพลิกโฉมการศึกษาแบบ Active Learning ด้วยกระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 Steps เป็นการมาถูกทางแล้ว

ดร.ศักดิ์สิน กล่าวต่อไปว่า จริง ๆ หลักสูตรดีอยู่แล้ว เพราะหลักสูตร คือ แผนการจัดประสบการณ์ให้กับผู้เรียน ขณะที่ความรู้ คือ สิ่งที่เกิดกับผู้เรียนหลังจากที่ผู้เรียนได้คิดเอง ประเมินเอง และทำเอง แล้วมีความเข้าใจหลังที่เขาคิดและประเมินและลงมือทำ  เพราะฉะนั้นความรู้จึงเกิดจากประสบการณ์ตามหลักสูตรที่กำหนด และในมาตรฐานเป้าหมายของหลักสูตร คือ เด็กต้องสามารถสร้างความรู้ได้ในระดับความคิดรวบยอดและระดับหลักการ ซึ่งความคิดรวบยอดเกิดจากกระบวนการ และความรู้ที่เด็กสร้างขึ้นทั้งสามมิติมาสรุปร่วมกันจนเกิดเป็นหลักการ  แต่ที่ผ่านมาเราเอาเนื้อหามาอธิบายแล้วสอน ด้วยการขยายความและยกตัวอย่างให้เด็กดูหรือยกตัวอย่างเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กจำ แล้วทำการทดสอบซึ่งการสอนแบบนี้ไม่ใช่การเรียนการสอน แต่เป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากครูไปสู่เด็ก จึงเป็นสิ่งที่ไม่แปลกเมื่อไปสัมภาษณ์เด็กที่สอบได้ลำดับที่ดี ๆ หลังจากสอบไปแล้วเด็กจะบอกว่าลืมหมดแล้ว เพราะสมองไม่ได้เรียนรู้แต่เป็นการจำซึ่งเป็นความจำระยะสั้นถือเป็นการสูญเปล่าของการศึกษา แต่ถ้าเป็นการเรียนรู้จนเกิดเป็นความจำระยะยาวจะต้องผ่านกระบวนการคิด ประเมินและปฏิบัติ สมองส่วนนี้ถึงจะทำงานเส้นใยประสาทถึงจะถักทอเชื่อมโยงเป็นวงจรและบันทึกกลายเป็นความจำระยะยาวติดตัวเด็กตลอดไป

“คิดว่า เป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉพาะโครงการอบรมครั้งนี้ ที่มอบหมายให้ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาดำเนินการ เพราะเป้าหมายตามหลักสูตรกำหนดมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่โรงเรียนยังมาไม่ถึง เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่เด็กพึงได้รับ เป็นสิทธิอันชอบธรรมที่เด็กจะได้รับการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามที่มาตรฐานหลักสูตรกำหนดให้เด็กมีความสามารถในการแสดงออกอย่างแท้จริง มีความสามารถในการคิด การประเมินการลงมือ ปฏิบัติสร้างผลผลิตชิ้นงานไปจนถึงสร้างนวัตกรรมที่จะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในชุมชน ในท้องถิ่นได้ ที่สำคัญคือความรู้ที่เป็นกระบวนการซึ่งเป็นความรู้ที่รู้จากเนื้อหาและจะติดตัวผู้เรียนเอาไปใช้เรียนรู้ต่อเนื่องได้ทุกระดับจนจบมหาวิทยาลัย และไปประกอบอาชีพทำงานได้ตลอดชีวิต สามารถยกระดับชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่นได้ เพราะกระบวนการที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาวางไว้ เป็นกระบวนการที่เป็นแก่นแท้ของหลักสูตรที่แท้จริง เป็นองค์ความรู้ที่ติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต”ดร.ศักดิ์สินกล่าว

ดร.ดวงพร แสงทอง ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา กล่าวว่า จากการที่มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาร่วมกับ สพฐ.จัดอบรมครูต้นแบบในพื้นที่ภาคกลางจังหวัดต่าง ๆ ถือว่าได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เพราะครูที่เข้ารับการอบรมจะได้รับเครื่องมือช่วยสอน  กระบวนการคิดของครูเปลี่ยน และกระบวนการสอนก็เปลี่ยนสามารถนำกลับไปใช้สอนในห้องเรียนและใช้กับเด็กได้โดยตรง เพราะฉะนั้นกระบวนการของการอบรมที่จัดขึ้นเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้เรียนและผู้สอน และผลลัพธ์ก็เกิดกับผู้เรียนที่จะสามารถไปต่อยอดสร้างเป็นชิ้นงานได้

“ขอขอบคุณ สพฐ.ที่ให้ความไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทาเป็นเครือข่ายหลักในการจัดอบรม ถ้าเป็นไปได้อยากให้ขยายผลไปในภาคอื่น ๆ ต่อไป อย่างไรก็ตามตอนนี้เป็นระยะที่ 2 ของการอบรม คือ การลงมาอบรมในพื้นที่ ซึ่งต่อจากนี้ก็จะเป็นระยะที่ 3  คือ การลงไปประเมินว่า ครูที่เข้ารับการอบรมมาแล้วจะสามารถนำความรู้ไปใช้ได้มากน้อยแค่ไหน ผู้เรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างไร โดยครูเหล่านี้ก็จะพัฒนามาเป็นครูต้นแบบของ สพฐ.ต่อไปด้วย”ดร.ดวงพรกล่าว

นายมงคล บกสกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีอ่างทอง กล่าวว่า  การอบรมครั้งนี้ถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดีและเป็นประโยชน์ ที่ครูจะได้เข้าใจในแก่นแท้ของแอคทีฟ Active Learning เพราะที่ผ่านมากระบวนการที่ครูจัดการเรียนรู้เป็นการจัดการเรียนรู้แบบเดิม ๆ เป็นส่วนใหญ่ วันนี้ครูได้รับความรู้จากวิทยากรก็จะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะเปลี่ยนการศึกษาของนักเรียน จากเดิมที่เป็นในรูปแบบของการให้ความรู้จากครูแต่กระบวนการ Active Learning จะเป็นกระบวนการที่นักเรียน ได้ร่วมกันคิดวิเคราะห์เพื่อหาสิ่งที่เป็นองค์ความรู้และสามารถนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์และทำออกมาเป็นซอฟพาวเวอร์ที่มีคุณค่าต่อวงการศึกษา

“จริงๆครูได้มีการใช้กระบวนการ Active Learning มานานแล้วเพียงแต่อาจจะยังไม่เข้าใจแก่นแท้ของกระบวนการเพราะฉะนั้นในมุมมองของผมมองว่า หลักสูตรแกนกลางก็ยังมีความสำคัญอยู่ เพราะครูยังไม่เข้าใจกระบวนการที่ชัดเจนทุกคน ถ้าไม่มีหลักสูตรแกนกลางเป็นหลักให้ครูจัดการเรียนรู้อาจจะหลงทางกันได้ แต่ถ้าครูเข้าใจกระบวนการและแก่นของหลักการแล้วหลักสูตรสถานศึกษาที่ให้ครูคิดเองจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งและจะนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์  ตอนนี้มองว่าการใช้กระบวนการ Active Learning เป็นการเดินถูกทางแล้ว เพราะเดิมครูจะเป็นคนอธิบายบอกแล้วให้นักเรียนทำ แต่เมื่อโรงเรียนได้เข้าโครงการอบรมให้ความรู้ Active Learning ครูก็ได้เปลี่ยนวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอนเป็นรูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ค้นพบความสำเร็จ และสามารถอธิบายหรือบอกกระบวนการที่นำไปสู่ความสำเร็จได้แล้วคิดต่อยอดได้”นายมงคลกล่าว

น.ส.ธัญญาเรศ พงษ์ธนู ครูโรงเรียนแสวงหาวิทยาคม กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ถือว่าตอบโจทย์ได้มาก เพราะจะสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ เช่น ครูจะได้ความรู้ในการสร้างนวัตกรรมการสอน หรือ ได้เทคนิคที่จะไปใช้ในการเรียนการสอน หรือสร้างเกมที่ไปกระตุ้นให้เด็กเกิดการเรียนรู้มากขึ้น

นายพีรชัช อัคติ ครูอัตราจ้าง โรงเรียนป่าโมกข์วิทยาภูมิ กล่าวว่า การอบรมทำให้ครูมีเทคนิคในการสอนมากขึ้นจากที่สอนวิชาคณิตศาสตร์ซึ่งเด็ก  ๆ จะบอกว่าเป็นวิชาที่น่าเบื่อ แต่ครูก็ได้นำเทคโนโลยีและเกมมาใช้สอน ทำให้เด็กไม่เบื่อและสนุกกับการเรียนมากขึ้น  การจัดอบรมครั้งนี้สามารถปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนการสอนของครูได้มาก อยากให้มีการขยายผลโครงการออกไปให้มากขึ้น เพราะครูจะได้รับการพัฒนาตัวเองพัฒนาวิชาชีพและได้เทคนิคในการกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้มากขึ้น

รศ.ดร.กรัณย์พล วิวรรณมงคล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ฐานะวิทยากร กล่าวว่า การจัดอบรมเป็นการกระตุ้นให้ครูได้มีความรู้เข้าใจในการจัดกิจกรรมตามรูปแบบ Active Learning และกระตุ้นให้ผู้เรียนอยากเรียนมากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้ครูสามารถสร้างต้นแบบของการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม และเป็นนวัตกรในชั้นเรียน เท่าที่สังเกตจากการไปเป็นวิทยากรในหลาย ๆ จุด  พบว่า ครูให้ความสนใจและพยายามทำความเข้าใจบทบาทของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเข้าใจว่าจะต้องสร้างกิจกรรมอย่างไรเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงและเท่าทันยุคสมัย ซึ่งครูให้ความร่วมมือในการอบรมเป็นอย่างดี เพราะจากเดิมที่ครูเข้าใจว่า เป็นการเพิ่มภาระแต่เมื่ออบรมแล้วก็ความคิดก็เปลี่ยนและเข้าใจว่าเป็นการเสริมสมรรถนะที่จะสามารถนำไปใช้ในวิชาชีพได้

ดร.นุชนารถ ยิ้มจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวิเศษไชยชาญ “ตันติวิทยาภูมิ” กล่าวว่า จากที่ได้ร่วมฟังการอบรม คาดหวังว่าครูจะสามารถปฏิรูปที่ห้องเรียนตัวเองได้ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูในการจัดการเรียนการสอน เพราะจริง ๆ เราได้ยินคำว่า Active Learning มานานแล้วแต่ครูยังไม่มีความเข้าใจ มาวันนี้คิดว่าครูสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและจะสามารถสร้างกระบวนการเรียนการสอนด้วยตัวของตัวเองเหมาะสมกับบริบทของโรงเรียน  บริบทของนักเรียนและท้องถิ่น ที่สำคัญวิธีการที่วิทยากรนำเสนอทำให้ครูมีความสุขในการเรียนกับวิทยากรและจะสามารถนำแนวทางของวิทยากรไปถ่ายทอดสู่ห้องเรียนได้ ที่สำคัญครูจะมีความเข้าใจแล้วว่าจะต้องเป็นผู้สร้างนวัตกร โดยให้นักเรียนร่วมออกแบบการเรียนการสอนกับครู และสามารถวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงระบบได้ เพราะปัจจุบันทุกคนสามารถหาความรู้จากโลกโซเชียลได้ แต่ไม่สามารถสร้างความรู้เชิงระบบหรือกลั่นกรองได้ แต่ GPAS 5 Steps สามารถทำให้นักเรียนจัดลำดับความคิด วางแผน ลงมือปฏิบัติและสร้างนวัตกรรมเพื่อเป็นนวัตกรได้

สพฐ. ปลื้ม เด็กไทยเก่งกวาดรางวัลคณิตศาสตร์โลกระดับประถมศึกษา ที่ ฮ่องกง

นางสาวรัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ส่งผู้แทนนักเรียนไทยที่มีความสามารถด้านคณิตศาสตร์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันคณิตศาสตร์โลกระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2567 : Po Leung Kuk Primary Mathematics World Contest 2024 (PMWC 2024) ระหว่างวันที่ 14-19 กรกฎาคม 2567 ณ เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน นั้น ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) มอบหมายให้ตนร่วมต้อนรับและแสดงความยินดีกับคณะตัวแทนนักเรียนไทยที่ได้รับรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้

นางสาวรัตนา กล่าวว่า การแข่งขันดังกล่าวมีนักเรียนระดับประถมศึกษาจาก 12 ประเทศเข้าร่วมการแข่งขัน และมีผู้แทนนักเรียนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 3 ทีม ทีมละ 4 คน รวมทั้งสิ้น 12 คน โดยผลการแข่งขันปรากฏว่า นักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัล รวมทั้งสิ้น 7 รางวัล 26 เหรียญ แบ่งเป็น 3 ทีม ได้แก่ ทีม A, B และ C จำนวน 3 รางวัล 12 เหรียญ ประเภทกลุ่มบุคคล 1 รางวัล 4 เหรียญ ประเภทเดี่ยว 3 รางวัล 10 เหรียญ แบ่งเป็น 3 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน และ 4 เหรียญทองแดง ดังนี้

ประเภททีม ทีมละ 4 คน รวมจำนวน 12 เหรียญ
– เหรียญทอง 1 รางวัล ได้แก่ ทีม B ประกอบด้วย
1. เด็กชายวรินทร เทพมังกร โรงเรียนอนุบาลวัดนางใน (ละเอียดอุปถัมภ์)
2. เด็กชายปุณณพัชร์ ลักษณ์สุวงศ์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
3. เด็กชายศรณปรัชญ์ ศิริอักษร โรงเรียนแสงทองวิทยา
4. เด็กชายอภิชภัทร อรุณวิราม โรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา
– เหรียญทองแดง 1 รางวัล ได้แก่ ทีม C ประกอบด้วย
1. เด็กชายปริญ ส่งศรี โรงเรียนอนุบาลกระบี่
2. เด็กชายกิตติยะ มณีรัตน์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
3. เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
4. เด็กชายปริญญา สิงห์กัญญา โรงเรียนแสงทองวิทยา
– ชมเชย 1 รางวัล ได้แก่ ทีม A ประกอบด้วย
1. เด็กชายดลภวัต ศิริชัย โรงเรียนอนุบาลนครปฐม
2. เด็กชายอนวัช เจียรจรูญศรี โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
3. เด็กชายพรภวิษย์ สิทธิสาร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร
4. เด็กหญิงวรฤทัย คงนคร โรงเรียนบูรณะรำลึก
.
ประเภทกลุ่มบุคคล
– รางวัลชมเชย 1 รางวัล ประกอบด้วย
1. เด็กชายปริญ ส่งศรี โรงเรียนอนุบาลกระบี่
2. เด็กชายกิตติยะ มณีรัตน์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏระนครศรีอยุธยา
3. เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
4. เด็กชายปริญญา สิงห์กัญญา โรงเรียนแสงทองวิทยา
.
ประเภทเดี่ยว รวมจำนวน 10 เหรียญ
– เหรียญทอง 3 รางวัล ประกอบด้วย
1. เด็กชายศรณปรัชญ์ ศิริอักษร โรงเรียนแสงทองวิทยา
2. เด็กชายกิตติยะ มณีรัตน์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
3. เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
– เหรียญเงิน 3 รางวัล ประกอบด้วย
1. เด็กชายปุณณพัชร์ ลักษณ์สุวงศ์ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. เด็กชายอนวัช เจียรจรูญศรี โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์
3. เด็กหญิงวรฤทัย คงนคร โรงเรียนบูรณะรำลึก
– เหรียญทองแดง 4 รางวัล ประกอบด้วย
1. เด็กชายพรภวิษย์ สิทธิสาร โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร
2. เด็กชายวรินทร เทพมังกร โรงเรียนอนุบาลวัดนางใน (ละเอียดอุปถัมภ์)
3. เด็กชายดลภวัต ศิริชัย โรงเรียนอนุบาลนครปฐม
4. เด็กชายอภิชภัทร อรุณวิราม โรงเรียนกรพิทักษ์ศึกษา

“สพฐ. ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้สถานศึกษาพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถของนักเรียนอย่างรอบด้าน ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของพล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธิการ  โดยเฉพาะในด้านทักษะทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต อีกทั้งยังเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้เข้าร่วมการแข่งขันในเวทีนานาชาติเพื่อยกระดับความสามารถในการพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ โอกาสนี้ขอแสดงความยินดีกับนักเรียนทุกคนที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับรางวัลจากเวทีนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและครอบครัว สถานศึกษา รวมถึงประเทศชาติ ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ” นางสาวรัตนา กล่าว
.
ด้านเด็กชายวรินทร เทพมังกร โรงเรียนอนุบาลวัดนางใน (ละเอียดอุปถัมภ์) กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันและได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทำให้มีกำลังใจที่จะเรียนให้เก่งขึ้นต่อไป โดยก่อนการแข่งขันก็ได้เตรียมตัวด้วยการลองทำโจทย์ข้อสอบเก่าๆ ให้มีความคุ้นเคย และทำตามคำแนะนำของครูผู้ฝึกสอน เมื่อได้ไปแข่งขันก็ได้ประสบการณ์และได้เพื่อนใหม่หลายคน และอยากจะเชิญชวนเพื่อนๆ ที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ให้ลองเปิดใจเรียนรู้ ก็จะพบว่าคณิตศาสตร์สนุกและไม่ได้ยากอย่างที่คิด
.
ขณะที่เด็กชายอนวัช เจียรจรูญศรี โรงเรียนอนุบาลวัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ กล่าวว่า ตนได้เตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันโดยลองทำข้อสอบเก่าและจับเวลาไปด้วย เพื่อให้คำนวณเวลาในการทำได้ และไม่ประหม่าหรือตื่นเต้น ซึ่งทางโรงเรียนและครอบครัวก็ได้ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี รวมถึงคณะผู้ฝึกสอนของ สพฐ. ที่ได้แนะนำเทคนิคในการทำโจทย์ต่างๆ ทำให้เวลาทำข้อสอบจริงไม่เครียด และได้รับรางวัลมาในที่สุด ตนรู้สึกดีใจที่ได้ทำชื่อเสียงให้ประเทศ รวมถึงครอบครัวและโรงเรียน และจะพัฒนาตัวเองด้านคณิตศาสตร์ต่อไป

สอศ.ไม่มองข้ามจัดการศึกษาพิเศษอาชีวะสู่ความเสมอภาค

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2567 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอ(ศ.) มอบหมายให้ เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการ กอศ.เป็นประธานพิธีเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด ระหว่างวันที่ 20 – 21 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรม เบสท์ เวสเทิร์น พลัส แวนด้า แกรนด์ จังหวัดนนทบุรี

เรืออากาศโท สมพร กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการลดความเหลื่อมล้ำและการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้พิการและผู้ที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษในสังคมให้เข้าสู่การศึกษาสายอาชีพ โดยมุ่งเน้นการฝึกฝนทักษะวิชาชีพให้เกิดความชำนาญ เพื่อสามารถต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบอาชีพ สามารถช่วยเหลือตนเอง และสามารถเป็นกำลังให้กับครอบครัวและสังคมได้ ซึ่งการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา จัดการเรียนการสอน 3 รูปแบบ 1.การศึกษาแบบเรียนรวม 2.การศึกษาแบบเฉพาะทางและ3.การศึกษาแบบเรียนร่วม โดยจะนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภายในและภาคีเครือข่ายภายนอกสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ซึ่งมีศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา สอศ. นำทีมการขับเคลื่อนศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค 10 แห่ง และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา 77 จังหวัด ร่วมขับเคลื่อนไปตามนโยบายที่ตั้งไว้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้เข้าถึงกลุ่มคนพิการที่ขาดโอกาสและดึงกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้มากยิ่งขึ้น การจัดโครงการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ที่จะเป็นส่วนช่วยในการสร้างความเข้มแข็ง พัฒนาศักยภาพเครือข่าย และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกระดับการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพ

ด้านนายพิษณุเวท โพธิ์เพ็ชร ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้ความเข้าใจการขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา จังหวัด นี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกตั้งแต่การประกาศจัดตั้ง มีวัตถุประสงค์ เพื่อทบทวนและซักซ้อมความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาคและศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัดเพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาที่มีคุณภาพ ระหว่างศูนย์บริหารงานการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา กับ ศูนย์การศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาภาค และ ศูนย์ส่งเสริมการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษาจังหวัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบและกลไกการขับเคลื่อนการจัดการศึกษาพิเศษอาชีวศึกษา รวมถึงแนวทางการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและเกิดการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ