สกศ.- สกร.สำรวจอัตราการรู้หนังสือของคนไทย ปลื้ม คนไทยรู้หนังสือเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ เลขาธิการสภาการศึกษา และ นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.) ร่วมแถลงผลการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทยปี 2568 โดย รศ.ดร.ประวิต กล่าวว่า อัตราการรู้หนังสือถือเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่สะท้อนระบบการศึกษาของแต่ละประเทศ ทั้งในด้านคุณภาพการศึกษาและการเข้าถึงระบบการศึกษา จึงเป็นตัวชี้วัดที่หน่วยงานทางการศึกษาระดับนานาชาตินิยมใช้จัดอันดับทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จึงร่วมกับ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ ดำเนินการสำรวจการรู้หนังสือของประชากรไทย ปี 2568 โดยพัฒนาแบบสำรวจการอ่านของประชากรที่จัดทำโดยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ทำการสุ่มตัวอย่างครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 7,429 ตำบล คิดเป็น 225,963 ครัวเรือน หรือคิดเป็นจำนวนประชากร 533,024 คน ผลการสำรวจ ฯ พบว่า อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป อยู่ที่ 1.17% และอายุ 7 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 1.16% เมื่อพิจารณาในรายจังหวัด พบว่า 51 จังหวัด มีอัตราการไม่รู้หนังสือน้อยกว่า 1% 25 จังหวัด มีอัตราการไม่รู้หนังสือระหว่าง  1 – 5% และมีเพียงจังหวัดเดียวที่มีอัตราการไม่รู้หนังสือสูงกว่า 10%

เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า จากการสำรวจมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ได้แก่ 1) ภาวะการลืมหนังสือ การอ่านน้อยลง หรือการถดถอยของทักษะในการอ่านในผู้สูงอายุและกลุ่มผู้ที่ไม่มีงานทำมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ทำให้คุณภาพการอ่านของคนไทยลดน้อยลง 2) ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการรู้หนังสือมากขึ้น คือ แรงขับจากการต้องการมีงานทำ โดยเฉพาะเขตอุตสาหกรรม 3) ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพในการรู้หนังสือของผู้เรียน พบว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างสถานศึกษาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว และ 4) สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการรู้หนังสือ และป้องกันภาวะการลืมหนังสือ คือ การกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความสนใจ และกลุ่มอายุ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ จะช่วยให้เกิดพัฒนาตนเองกันระหว่างกลุ่ม

รศ.ดร.ประวิต กล่าวอีกว่า คณะวิจัยได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย  คือ 1) การสร้าง Active Ageing ผ่านการรู้หนังสืออย่างมีส่วนร่วมจะช่วยทั้งการส่งเสริมสุขภาพ ความมั่นคงในชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนสูงวัย 2) การส่งเสริมการรู้หนังสือที่เพิ่มมากขึ้นต้องสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านตามความสนใจและต้องการของกลุ่มเป้าหมาย 3) การประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งการจัดทำสื่อที่ทันสมัยและน่าสนใจ จะช่วยทำให้ประชากรในทุกช่วงวัยได้มีโอกาสพัฒนาการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น และ 4) การส่งเสริมให้ประชากรที่ว่างงานมีงานทำเป็นอีกหนึ่งกลไกที่ช่วงส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตนเอง และพัฒนาทักษะการอ่านได้ดีมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ผลการสำรวจการรู้หนังสือของคนไทย จะเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และสังเคราะห์การพัฒนาการศึกษา เพื่อประกอบการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การศึกษา และยกระดับความสามารถทางการแข่งขันทางการศึกษาของประเทศ รวมถึง สกศ. ได้หารือ UNESCO และส่งผลข้อมูลนี้ซึ่งมีความเป็นปัจจุบันไปใช้ในการจัดอันดับระดับนานาชาติได้อย่างแม่นยำและสะท้อนคุณภาพการศึกษาไทยได้อย่างแท้จริง

“ยศพล-ณรงค์ชัย”ออกโรงยืนยันสอบผอ.สถานศึกษาอาชีวะโปร่งใส ยินดีให้ตรวจสอบทุกข้อสงสัย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา แถลงข่าวกรณี การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)ตามประกาศคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2567 ว่า ขอชี้แจงเรื่องการสอบผู้อำนวยการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสังคมและบุคคลบางกลุ่มมีความเคลือบแคลงสงสัย ตนยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวถูกต้องตามหลักเกณฑ์คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.)กำหนด และยินดีให้ตรวจสอบในทุกประเด็นที่สงสัย

“สอศ.มีหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานบุคคล และการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษา การสอบครั้งนี้เราได้เตรียมการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 ที่มีผู้เกษียณอายุราชการ มีตำแหน่งว่าง 33 ตำแหน่ง เพื่อสรรหาผู้อำนวยการสถานศึกษาเข้าไปทำงาน เนื่องจากศักดิ์และสิทธิเกิดขึ้นก่อน ก.ค.ศ.จะประกาศใช้มาตรฐานตำแหน่งใหม่ โดยจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการประมวลผลคะแนนและจัดลำดับผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด ยืนยันว่าครูคนที่เป็นข่าวสอบผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ด้วยตัวเอง มีคุณสมบัติตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดทุกประการ”นายยศพล กล่าว

ด้าน นายณรงค์ชัย เจริญรุจิทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การสอบครั้งนี้ได้กำหนดการคัดเลือกเป็น 3 ภาค ดังนี้ ภาค ก ความรู้และความสามารถในการบริหารในหน้าที่ 10 คะแนน ภาค ข ความเหมาะสมกับการปฎิบัติงานในหน้าที่ 60 คะแนน และ ภาค ค ความเหมาะสมกับตำแหน่ง 30 คะแนน โดย 60 คะแนนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด สอศ.ดำเนินการในส่วนของการสรุปผลคะแนนของคณะกรรมการประเมิน 40 คะแนน ซึ่งสัดส่วนของคะแนนการสอบครั้งนี้ สอศ.ใช้ตั้งแต่สอบปี 2565 ไม่ใช่เพิ่งมาใช้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดสงสัยหรืออยากรู้คะแนนสอบของตัวเองก็สามารถติดต่อดูได้ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เรายินดีให้ตรวจสอบทุกเรื่อง

มทร.กรุงเทพ จับมือ เกียร์เฮด ผู้นำอุตสาหกรรมให้เช่าอุปกรณ์ภาพยนตร์ของไทย พัฒนาบุคลากรวิชาชีพด้านภาพยนตร์ และผลิตบัณฑิตที่มีทักษะตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) กล่าวว่า มทร.กรุงเทพ มุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการปฏิบัติและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมบันเทิง โดยความร่วมมือกับบริษัท เกียร์เฮด จำกัด เพื่อช่วยให้นักศึกษาในสาขาวิชาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและสาขาที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตภาพยนตร์อย่างครบวงจร ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพบัณฑิตของมหาวิทยาลัย

ด้าน ผศ.ดร.ครรชิต กำลังกล้า คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  มทร.กรุงเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือครั้งนี้เกิดจากความตั้งใจของทั้งสองฝ่ายในการเชื่อมโยงการเรียนรู้สู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทร.กรุงเทพ กับ บริษัท เกียร์เฮด จำกัด ที่  บริษัท เกียร์เฮด จำกัด โดย รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดี มทร.กรุงเทพ และ คุณชยานนท์ อุลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียร์เฮด จำกัด ร่วมลงนาม และได้รับรับเกียรติจาก คุณชนินทร อุลิศ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกียร์เฮด จำกัด, คุณพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสถานประกอบการและการอบรมด้วยระบบคุณวุฒิวิชาชีพ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ, รวมถึงผู้แทนจากบริษัท เกียร์เฮด จำกัด และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมเป็นสักขีพยาน และภายหลังพิธีลงนามคณะจากมหาวิทยาลัยได้เยี่ยมชมบริษัท เกียร์เฮด จำกัด และ The Studio Park พร้อมรับชมการสาธิตระบบ Virtual Production ซึ่งช่วยให้นักศึกษาและคณาจารย์ได้เรียนรู้เทคโนโลยีล้ำสมัยจากประสบการณ์จริง

“ความร่วมมือนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพนักศึกษา ผ่านการฝึกทักษะและประสบการณ์วิชาชีพในสถานที่ทำงานจริง รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เช่น การจัดการองค์ความรู้ด้านภาพเคลื่อนไหวและเทคโนโลยีการจัดแสงดิจิทัลสมัยใหม่ อีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการวิจัยร่วมกัน เพื่อผลักดันการเติบโตของบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยรุ่นใหม่”ผศ.ดร.ครรชิต กล่าวและว่า มทร.กรุงเทพ คาดหวังว่าความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติที่มีคุณภาพ และสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยอย่างยั่งยืน

ศธ. จับมือ ทรูคอร์ปฯ ทำโรงเรียนร่วมพัฒนา สร้างคุณภาพเด็กไทย “เรียนดี มีความสุข”ที่อยุธยา

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายสุรศักดิ์ พันธุ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา ระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และสถานศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 32 แห่ง แบ่งเป็น โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) พระนครศรีอยุธยา 16 แห่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พระนครศรีอยุธยา เขต 1 จำนวน 9 แห่ง และ สพป.พระนครศรีอยุธยา เขต 2 จำนวน 7 แห่ง โดยมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการกพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ. พร้อมด้วยผู้บริหารของ ศธ. ผู้บริหารเขตพื้นที่ฯ ผู้บริหารสถานศึกษา คณะครูและบุคลากรฯ เข้าร่วม ณ โรงเรียนอยุธยานุสรณ์ จ.พระนครศรีอยุธยา

โดยพล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจะเป็นจังหวัดนำร่องสร้างเครือข่ายโรงเรียนร่วมพัฒนา เนื่องจากเครือข่ายสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชนมีความพร้อม หากมีการนำร่องโครงการดังกล่าวจะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนขอฝากผู้บริหารโรงเรียนทั้ง 36 แห่งร่วมกันขับเคลื่อนการศึกษาที่จะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนของเราเติบโตเป็นคนคุณภาพ พร้อมด้วยสมรรถนะ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ทั้งนี้ ตนคาดหวังว่าเมื่อสร้างความร่วมมือโรงเรียนร่วมพัฒนาแล้ว เราจะขยายคุณภาพของเราให้แก่โรงเรียนอื่นๆ เติบโตไปด้วยกัน โดยอยุธยาจะเป็นต้นแบบที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยต่อไป

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะร่วมกันพัฒนาด้านเทคโนโลยี ทรัพยากร และองค์ความรู้ ถือเป็นก้าวสำคัญที่ภาคเอกชนที่มีศักยภาพได้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาไทยที่จะมาขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย ถือเป็นการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของการศึกษาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งที่ผ่านมาโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาได้ทำมาแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดลพบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยครั้งนี้เหมือนพันธสัญญาที่จะมีต่อกันว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด และ สพฐ. จะมีความร่วมมือเป็นอย่างดีในการพัฒนาการศึกษา ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีศักยภาพด้านอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เรื่องของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเทคโนโลยีการศึกษาต่างๆ ซึ่งเชื่อมั่นว่า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะเข้ามาเติมเต็มในการดึงศักยภาพความต้องการของผู้เรียนได้

ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ให้ความสำคัญกับการจัดการเรียนรู้ ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางควบคู่ไปกับ การกระจายอำนาจ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนด้วยเล็งเห็นว่า การศึกษา คือ รากฐานของการพัฒนาประเทศ จึงได้มีการริเริ่มโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนาขึ้น โดยเปิดโอกาสให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันบริหาร จัดการศึกษา โดยมุ่งหวังให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีศักยภาพรอบด้าน พร้อมเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป

ด้านนางเนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมยกระดับการศึกษา ในฐานะที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ทำมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ที่ได้ทำร่วมกับภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง 8 ปีแล้ว และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันที่เราจะมาร่วมโครงการสร้างโรงเรียนคุณภาพในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพราะเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่เราต้องการที่จะขับเคลื่อนและยกระดับมาตรฐานการศึกษาไปด้วยกัน ซึ่งโครงการมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาได้ดำเนินการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ซึ่งตนเชื่อว่าเราจะสามารถดึงเอาพลังสำคัญของยุทธศาสตร์แต่ละด้านมาขับเคลื่อนให้กับจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่จะเป็นโรงเรียนแม่ข่ายและดึงความร่วมมือต่างๆ ให้กับโรงเรียนที่เกิดขึ้นในเครือข่ายและยกระดับไปทั่วประเทศพร้อมกัน

ทั้งนี้ 5 ยุทธศาสตร์ของมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาไทย ประกอบด้วย 1. TRANSPARENCY การเปิดเผยข้อมูลสถานศึกษาสู่สาธารณะ มีระบบที่เก็บข้อมูลพื้นฐานโรงเรียนและจัดทำการประเมินคุณภาพโรงเรียนเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการใช้ข้อมูลวางแผนพัฒนาโรงเรียนได้ตรงจุด 2. MARKET MECHANISMS กลไกตลาดและวัฒนธรรมการมีส่วนร่วม หลังจากที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้เห็นข้อมูลโรงเรียน เกิดการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งร่วมกัน 3. HIGH QUALITY PRINCIPALS &TEACHERS การพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน 4. CHILD CENTRIC & CURRICULUM การให้เด็กเป็นศูนย์กลางเสริมสร้างคุณธรรมและความมั่นใจ และ 5. DIGITAL INFRASTRUCTURE การเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของสถานศึกษา สนับสนุนสื่อและอุปกรณ์ ICT ต่าง ๆ แก่ ครู นักเรียน เพื่อเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลก ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยความสำเร็จในการยกระดับการศึกษา

“เสมา 1” สั่ง สอศ. เร่งเคลียร์ดราม่าสอบ ผอ.สถานศึกษา ให้เวลา 15 วัน ต้องตอบชัดทุกประเด็น

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568  นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีกระแสข่าวเกี่ยวกับการจัดการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำหนด ซึ่งอิงหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.6/ว 8 ลงวันที่ 26 เมษายน 2562 ที่ยังมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน หากดูจากอัตราว่างตำแหน่งดังกล่าว พบว่ามีอยู่ 33 อัตรา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ เมื่อสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (1 ตุลาคม 2567) ซึ่ง สอศ.ชี้แจงว่า หากต้องรอหลักเกณฑ์ตามมาตรฐานตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาใหม่ จะไม่สามารถดำเนินการคัดเลือกได้ในเร็ววัน ซึ่งจะส่งผลต่อการบริหารสถานศึกษาที่มีตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษาที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ จึงมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาเฉพาะตำแหน่งว่างจากการเกษียณอายุราชการ โดยใช้หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกเดิมที่ยังมีผลบังคับใช้ เพื่อให้ได้ผู้ปฏิบัติหน้าที่บริหารสถานศึกษาได้ทันการเปิดภาคเรียน ในปีการศึกษา 2568 นี้ โดยที่ผ่านมา สอศ. ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าวมาเป็นระยะ ซึ่งได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.ค.ศ. กำหนดทุกประการ โดยยึดหลักความโปร่งใส เป็นธรรม เสมอภาค และคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญการจัดสอบในครั้งนี้ดำเนินการโดยศูนย์สอบธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์กรภายนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้ง ศูนย์สอบธรรมศาสตร์ยังได้ออกมาให้ข่าวยืนยันว่าผลคะแนนไม่มีความผิดปกติ ผู้สอบสามารถติดต่อขอดูคะแนนด้วยตนเองได้ เพราะฉะนั้นทุกกระบวนการขอให้มั่นใจได้ว่ามีการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ให้ความสำคัญในการดำเนินงานอย่างถูกต้องตามระเบียบของทุกหน่วยงานในสังกัดและองค์กรในกำกับ พร้อมเน้นย้ำว่าทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไร้ซึ่งการทุจริตทุกกรณี ไม่ให้เป็นที่คลางแคลงใจต่อสาธารณชน จึงมีข้อสั่งการให้ดำเนินการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยมีผลภายใน 15 วัน เพื่อไม่ให้เป็นข้อครหาของสังคม และต้องเปิดเผยข้อมูลให้กระจ่างเรียกความเชื่อมั่นในการดำเนินงานทุกขั้นตอน

 

สกสค.อบรมสร้างวินัยทางการเงินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ลดภาระหนี้สินครู

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการอบรมออนไลน์โครงการสร้างวินัยทางการเงินตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ประจำปี 2568 สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษา หลักสูตร “บริหารการเงินอย่างยั่งยืน” ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ผ่านทางระบบประชุมออนไลน์ ณ ห้องปฏิบัติการ OBEC Channel อาคาร สพฐ. 1 กระทรวงศึกษาธิการ โดยการอบรมมีทั้งในรูปแบบ Onsite และ Online ซึ่งครูและบุคลากรทางการศึกษา จะได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการสร้างวินัยทางการเงินสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่สามารถนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานและการดำรงตนได้

พล.ต.อ.เพิ่มพูน กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับทุกท่านที่มีโอกาสได้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นถึงภาระและหน้าที่ของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสถานการณ์ปัจจุบัน จึงได้มีนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” และนโยบาย “แก้ไขปัญหาหนี้สินครู” ซึ่งหากมองย้อนไปจะเห็นว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยสภาพเศรษฐกิจ ส่งผลให้ครูบางส่วนมีภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ภาระหนี้เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่บั่นทอนความมั่นใจในการปฏิบัติหน้าที่ และส่งผลต่อประสิทธิภาพในหลายด้าน จึงจัดโครงการนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมสนับสนุนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นอาชีพที่มีเกียรติ มีค่า สมควรแก่การยกย่อง และคาดหวังว่าทุกท่านที่เข้ารับการอบรม จะสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่ได้รับ ไปพัฒนาต่อยอดให้กับตัวเอง ครอบครัว หน่วยงาน และพร้อมที่จะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นคง

ดร.พีระพันธ์ เหมะรัต เลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. กล่าวรายงานว่า โครงการอบรมนี้ มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ครุและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการสร้างวินัยทางการเงิน สู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการดำเนินงาน ตามบทบาทหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการ สกสค. ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมภายใต้นโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ตามแนวทาง “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสามารถนำความรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานและการดำรงตนต่อไปได้ มีเป้าหมายการอบรมประกอบด้วยครู และบุคลากรทางการศึกษาทั้งในประจำการและนอกประจำการ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
โดยการอบรมครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่เกี่ยวกับหัวข้อการบรรยายเป็นอย่างดี ประกอบด้วย
1. คุณจิรายุส (ท็อป) ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทบิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด ในหัวข้อ “การเงินสมัยใหม่ โลกแห่งโอกาสและความเสี่ยง และก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่”
2. นายสุชาติ กลัดสุข รองเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค. และคณะ ในหัวข้อ การจัดสวัสดิการของ สกสค. เพื่อครูและบุคลากรทางการศึกษา สำหรับการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงและมีความสุข
3. นายณรงค์พล พัฒนศรี ผู้ชำนัญพิเศษด้านบริหารงานบุคคล ในหัวข้อ การสร้างวินัยทางการเงิน การออม และการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
4. ดร.ประพัทธ์ รัตนอรุณ ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุราษฎร์ธานี จำกัด (อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา) ในหัวข้อ การดำรงชีวิตอย่างพอเพียง

“ธนุ”ปลื้ม “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนนานาชาติของอำเภอ ย้ำชัด สพฐ. เดินหน้าขับเคลื่อนต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ( กพฐ.) เปิดเผยว่า ปีการศึกษา 2568 นี้ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการขับเคลื่อนต้นแบบการพัฒนาโรงเรียนคุณภาพ โครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” จำนวน 1,808 โรงเรียน ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล และ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่มอบหมายให้ สพฐ. ดำเนินการยกระดับคุณภาพการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานในปีการศึกษา 2566-2567 พบว่า โรงเรียนหลายแห่งมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเป็นต้นแบบที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ได้ ซึ่งการดำเนินโครงการนี้นอกจากโรงเรียนในโครงการฯ จะได้รับการพัฒนาแล้ว นักเรียนและโรงเรียนเครือข่ายที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันที่โรงเรียนคุณภาพก็ได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันด้วย

“ผมขอชื่นชมโรงเรียนคุณภาพที่มีผลการดำเนินงานโดดเด่น เช่น โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนวัดอมรินทราราม กรุงเทพมหานคร ที่ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอน ส่งเสริมให้นักเรียนมีทักษะการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์ สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้จากทั่วโลก และเตรียมความพร้อมสำหรับโลกยุคดิจิทัล, โรงเรียนอนุบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และโรงเรียนพนมทวนพิทยาคม (สว่างเคลิ้มสุคนธสิทธิ์อุปถัมภ์) จังหวัดกาญจนบุรี ที่โดดเด่นด้านการพัฒนาทักษะอาชีพ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนและมหาวิทยาลัย ในการฝึกอบรมวิชาชีพให้นักเรียน พร้อมทั้งบูรณาการหลักสูตรภาษาต่างประเทศเพื่อเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคต, โรงเรียนชุมชนเมืองหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร และโรงเรียนรมย์บุรีพิทยาคม รัชมังคลาภิเษก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศผ่านโครงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และความร่วมมือกับสถานศึกษาในต่างประเทศ ทำให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและหลักสูตรแล้ว สพฐ. ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านภาษาต่างประเทศของนักเรียน โดยสนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ และการที่นักเรียนได้เรียนกับครูเจ้าของภาษาหรือครูที่มีความเชี่ยวชาญโดยตรง ส่งผลให้เด็กๆ สามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้โรงเรียนคุณภาพสามารถจัดการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานสูงขึ้น ทำให้นักเรียนและผู้ปกครองพึงพอใจ จนมีคำกล่าวว่า “โรงเรียนคุณภาพ เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนนานาชาติของอำเภอ” เพราะมีการจัดการเรียนการสอนหลายภาษา ซึ่งในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2568 นี้ สพฐ. ได้สนับสนุนงบประมาณในการจ้างครูผู้สอนภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพิ่มเติมกว่า 1,000 อัตรา กระจายไปยังโรงเรียนคุณภาพในทุกอำเภอ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนดึงดูดให้นักเรียนสนใจเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพมากขึ้น

ขอย้ำว่า สพฐ. จะเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ” อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนทั้งงบประมาณ บุคลากร และสื่อการเรียนรู้ เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้โครงการนี้เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง และสามารถเติบโตเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคต

ตามโผ! ศธ.ประกาศชื่อ 9 ผู้บริหารต้น ‘ภัทริยาวรรณ’ นั่งผู้ช่วยบิ๊กกพฐ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีประกาศรับสมัครคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น สังกัดศธ. ดังนี้ 1.ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) 1 อัตรา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) 1 อัตรา รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) 2 อัตรา และรองศึกษาธิการภาค(ศธภ.) 5 อัตรา โดยกำหนดให้ยื่นใบสมัครด้วยตนเอง หรือทางอินเตอร์เน็ต พร้อมเอกสารตามที่กำหนด ระหว่างวันที่ 10-19 กุมภาพันธ์ และสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 18-19 มีนาคม ที่ผ่านมานั้น

ล่าสุดวันนี้(20 มีนาคม )ได้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว ดังนี้1. น.ส.จารุนันท์ แก้วทองนาค ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาระบบบริหารงานบุคคล สำนักงานก.ค.ศ. เป็น รองเลขาธิการก.ค.ศ. 2. นายเสริมฤทธิ์ หวายฤทธิ์ธนกุล หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองเลขาธิการก.ค.ศ. ,3. น.ส.กชพรรณ บุญงามสม ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เป็น รองศธภ.1, 4.นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. เป็น รองศธภ.3 ,5.นายนิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. เป็น รองศธภ.15 , 6.นายกิตติภัทท์ ไกรเพชร ศึกษาธิการจังหวัดสุรินทร์ เป็น รองศธภ.6 ,7.นายเสรี ตุ้มอ่อน ศึกษาธิการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นรองศธภ.14 ,8.นายสุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ สอศ. เป็น ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. และ 9.นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. เป็น ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ.

สพฐ.เร่งเคลียร์ดราม่า ผอ.โรงเรียน โดนร้องพฤติกรรมไม่เหมาะสม สั่งปฏิบัติราชการชั่วคราว ที่ สพฐ.ทั้งผอ.เขตและผอ.โรงเรียน

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดกาฬสินธุ์ ถูกครูในโรงเรียนร้องเรียนว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสมหลายประการ ซึ่งทางสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)กาฬสินธุ์ เขต 2 ต้นสังกัดของโรงเรียน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้วตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา แต่ได้รับรายงานว่า ผอ.คนดังกล่าวยังมีการไปข้องเกี่ยวกับพยานหลักฐานและการปฏิบัติงานในโรงเรียนอยู่ ทางคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จึงได้มีการหารือกันและสั่งการให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงจาก สพฐ.ส่วนกลาง และลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบการปฏิบัติงานของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เนื่องจากมีความล่าช้าและหละหลวมในการปฏิบัติงาน โดยวันนี้ (19 มีนาคม 2568) ได้มีหนังสือสั่งการให้ ผอ.โรงเรียน และ ผอ.เขตพื้นที่ฯ เข้ามาปฏิบัติราชการเป็นการชั่วคราว ณ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป เพื่อให้การสืบสวนในพื้นที่เป็นไปอย่างสะดวก ปรากฏข้อเท็จจริง และป้องกันไม่ให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานบุคคล หลักฐาน และเพื่อความปลอดภัยของครูผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน โดยในระหว่างนี้จะแต่งตั้งผู้อำนวยการโรงเรียนที่มีความเหมาะสมเข้าไปปฏิบัติงานในโรงเรียนดังกล่าว เพื่อให้โรงเรียนสามารถดำเนินการจัดการศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
.
“สพฐ. ได้เน้นย้ำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างรอบคอบ ได้ข้อมูลครบถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และได้กำชับให้คณะกรรมการเร่งสืบสวนข้อเท็จจริงและได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียน รวมถึงนักเรียนและผู้ปกครองที่เกิดความกังวลใจในกรณีดังกล่าว อีกทั้งเรื่องสวัสดิภาพของครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงเรื่องความโปร่งใสไร้ทุจริตและประพฤติมิชอบ ก็เป็นเรื่องที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการให้เกิดผลเป็นรูปธรรม หากผู้บริหารโรงเรียนประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ยากที่จะพัฒนาการศึกษาให้เกิดคุณภาพกับผู้เรียนได้ ซึ่งก็ต้องมีการสืบสวนหาข้อเท็จจริงให้กระจ่างเสียก่อน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย ทั้งนี้ สพฐ. ได้กำชับสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ทุกแห่ง ให้กำกับ ติดตาม การปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการโรงเรียนในสังกัด ให้ปฏิบัติราชการด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว

“เลขาธิการกพฐ.”ตอบม็อบลูกจ้างฯทำหน้าที่จบแล้วรอคำตอบจากกรมบัญชีกลาง

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ว่าที่ร้อยตรีธนุ  วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมหารือกรณีกลุ่มผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง 5 ตำแหน่ง คือ ธุรการ, ครูวิกฤต ,ครูวิทย์-คณิต ,พี่เลี้ยงเด็กพิการ ,นักการภารโรง ได้เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาลูกจ้าง สังกัด สพฐ. ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 72,044 คน ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้น  ซึ่ง ปัจจุบัน สพฐ. ถือเป็นหน่วยงานที่มีลูกจ้างมากที่สุด เพราะมีโรงเรียนกว่า  3 หมื่นโรงเรียน   ใน 245 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดังนั้นการจ้างแต่ละตำแหน่งจึงมีความแตกต่างกัน  ซึ่งกลุ่มนี้ได้มีข้อเรียกร้อง 2 เรื่อง คือ เปลี่ยนจากจ้างเหมาบริการ เป็นลูกจ้างชั่วคราว และ2.เรียกร้องให้ปรับเงินเดือน ผู้ที่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และปริญญาตรี ให้เท่ากับข้าราชการ เนื่องจากมีลักษณะงานเหมือนกัน ทำงานที่เดียวกันแต่เงินเดือนยังมีความเหลื่อมล้ำ

“เรื่องนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. และสพฐ. รับทราบถึงปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะกลุ่มนี้เคยมายื่นหนังสือเรียกร้องครั้งหนึ่งแล้ว เราก็รับข้อเสนอมาดำเนินการ  ล่าสุดก็ได้ทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ขอเปลี่ยนจากจ้างเหมาบริการเป็น ลูกจ้างชั่วคราว เพื่อไม่ให้กระทบกับประกันสังคม หากกรมบัญชีกลางเห็นชอบ ก็จะทำเรื่องเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ. )ขอกำหนดมาตรฐานตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ก็จะต้องขอตั้งงบประมาณ เพราะแต่ละตำแหน่งอัตราเงินเดือนไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นตอนนี้สพฐ. รู้ขั้นตอน ทั้งหมดแล้ว และกำลังดำเนินการทีละขั้นตอน สพฐ.ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่ต้องรอคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหลังจากนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานให้เร็วขึ้น หากได้รับคำตอบจากกรมบัญชีกลาง ก็สามารถเดินหน้าตามขั้นตอนได้ทันที ถือว่าการทำงานของสพฐ.ตรงนี้จบแล้ว เพียงแต่รอคำตอบจากกรมบัญชีกลางตอบกลับมาเท่านั้น“ว่าที่ร้อยตรีธนุ กล่าว

เลขาธิการกพฐ. กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังหารือ การส่งเสริมการมีรายได้ของนักเรียนระหว่างปิดภาคเรียน ซึ่งในส่วนของ สพฐ. ขณะนี้มีนักเรียนสมัครแล้ว  340 คน มีค่าตอบแทนต่อคนไม่เกิน 6,000 บาท  นอกจากนี้ที่ประชุมยังเน้นย้ำ การนำเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมการพัฒนาการสอบตามโครงการประเมินนักเรียนระดับนานาชาติหรือพิซ่า ซึ่งจะจัดสอบในเดือนสิงหาคมให้สูงขึ้น โดยปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมเข้าร่วมใช้เอไอ มาช่วยฝึกพัฒนาผู้เรียนกว่า 700 แห่ง ประมาณ 1,400 คน