ลูกจ้าง สพฐ.เดินหน้าพบนายกฯ-ก.คลัง ปักหลักรอจนกว่าจะได้คำตอบ เผยแกนนำโดนขู่สกัดไม่ให้เข้าร่วม

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ที่กระทรวงศึกษาธิการ เวลา 7.00 น กลุ่มเจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย ทั้ง 5 ตำแหน่ง ได้เดินทางมาทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาลูกจ้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 72,044 คน ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น โดยมี นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ(สพร.) สพฐ. และ นายนิยม ไผ่โสภา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สนผ.) สพฐ. และคณะเป็นผู้รับเรื่อง
ทั้งนี้ นายศุภสิน กล่าวว่า ตน พร้อมด้วยนายนิยม และคณะ ได้รับมอบหมายจากว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ให้มารับเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สพฐ.รับรู้ถึงปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดี และในฐานะ ผู้อำนวยการ สพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลบุคลากร สพฐ. ทั้งระบบ ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการหารือ กับผู้บังคับบัญชา และรายงานให้นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) รับทราบมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้มีการส่งหนังสือไปสอบถามกรมบัญชีกลาง กรณีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว ต่อเนื่อง ในปี2567 ซึ่งทางกรมบัญชีกลาง ก็มีหนังสือตอบกลับมาว่าสามารถทำได้ แต่ต้องทำสัญญาภายในเดือนกันยายน จากนั้น สพฐ. ดำเนินการใน 2 เรื่อง คือของบกลางเพื่อเยียวยาและทำมาตรฐานตำแหน่ง เสนอให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณา ซึ่งทางก.พ. ตอบกลับมาว่า ตำแหน่งลูกจ้าง ไม่ใช่ตำแหน่งหลักเป็นตำแหน่งส่งเสริม ดังนั้น จึงต้องกลับมาหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถึงหารือกับคณะกรรมาธิการ(กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร


“การหารือกับกมธ.การศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในครั้งนั้น สำนักงานก.พ. ได้ให้ข้อแนะนำ ให้ไปทำความตกลงกับ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เสนอแนวทางเปลี่ยนจากจ้างเหมาบริการ มาเป็นลูกจ้างชั่วคราวได้ ซึ่งมีแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ อาทิ กรณีลูกจ้างชั่วคราวของ กระทรวงการต่างประเทศ ลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) แต่ที่ดูมีความเป็นไปได้ของกลุ่มลูกจ้างศธ. คือ ลูกจ้างที่ทำความตกลงพิเศษ กับกระทรวงการคลัง ซึ่งที่ประชุม เห็นร่วมกันว่า แนวทางนี้จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด “นายศุภสิน กล่าว


นายศุภสิน อำนวยการสพร. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อได้แนวทางดังกล่าวผู้อำนวยการสพร. กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อได้แนวทางดังกล่าว ตนได้จัดทำหนังสือ ข้อเสนอการแก้ไขปัญหา รวมถึงมาตรฐานตำแหน่ง เสนอให้กรมบัญชีกลาง พิจารณา หากกรมบัญชีกลางให้ความเห็นชอบ ก็จะส่งให้สำนักงานก.พ. ดูมาตรฐานตำแหน่ง และกรอบตำแหน่งอีกรอบ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกลับมาใช้จ้างชั่วคราว เพราะบางตำแหน่งก็จ้างไม่ได้ โดยต้องดูลักษณะเหตุผลและความจำเป็น หากสำนักงานก.พ.เห็นชอบ ก็ต้องส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณ พิจารณา เพื่อของบ ซึ่งกลุ่มที่จะได้กลับไปจ้างชั่วคราว จะได้รับเงินประกันสังคมอันโนมัติ และใช้งบเพียงกว่า 200 ล้านบาท รายละเอียดเหล่านี้ทางสพฐ. ดำเนินการมาหมดแล้ว รอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คาดว่าจะหารือกับกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งในเดือนพฤษภาคม

“ผมเข้าใจความเดือดร้อน เพราะฉะนั้น จะเร่งแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด ส่วนหากจะไปยื่นหนังสือหน่วยงานใดต่อนั้น ก็ขอให้ไปอย่างกัลยาณมิตร ส่วนที่เสนอให้ขึ้นเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ก็ถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหา ”นายศุภสิน กล่าว

นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย จังหวัดกาญจนบุรี กล่าวว่า วันนี้เรามาสอบถามความคืบหน้าจาก สพฐ.ว่ายื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลังตามคำแนะนำของกรรมาธิการการศึกษา(กมธ.)สภาผู้แทนราษฏร ไปถึงไหนแล้ว ซึ่งตนได้รับทราบมาว่า สพฐ.ได้ทำหนังสือหารือเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าวไป 40,000 กว่าคน ซึ่งจริง ๆ แล้วคนที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจริง ๆ มี 22,000 กว่าคน ที่มาตามเงื่อนไขแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 :ไทยเข้มแข็ง หรือ เอสพี 2 ได้รับสิทธิประกันสังคมต่อเนื่อง และจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมนี้แล้ว ซึ่งน่าจะขอลูกจ้างกลุ่มนี้ไปก่อน


“ผมเข้าใจว่า สพฐ.ต้องการดูแลลูกจ้างทุกกลุ่ม แต่ถ้าขอไปจำนวนมากกระทรวงการคลังก็ไม่อนุมัติอยู่แล้วเพราะได้ข่าวว่าคลังตีกลับมา ส่วนลูกจ้างที่มาตามพ.ร.บ.2560 ก็ดำเนินการตามเงื่อนไข หรือจะให้ขวัญกำลังใจว่าจะปรับฐานเงินเดือนให้ตามที่เป็นข่าว ก็ทำรอบที่ 2 หรือ รอบที3 ตามไป ซึ่งวันนี้ พวกเราทุกคนอยากฟังจากปาก สพฐ.เอง ถ้าผ่านตัวแทนก็ไม่เคลียร์ ถ้ากระทรวงการคลังรับเรื่องแล้วให้คำตอบมาสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.)ก็รออยู่เพื่อเปิดกรอบอัตราให้”นายวรวิทย์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ทางสมาพันธ์ฯได้ประสานงานกับ นายศุภสินว่าจะมาฟังคำตอบวันนี้ ท่านก็ตอบมาว่ามาได้ ไม่ได้ปิดกั้นใคร ก็ยินดี แต่ทราบมาว่า บางเขตพื้นที่ทางภาคอีสาน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ฯไม่อนุมัติให้เข้าร่วมกิจกรรม ถ้าคนใดมาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ก็จะเลิกจ้างทุกตำแหน่ง ตนก็ไม่เข้าใจว่าผู้ใหญ่ลุแก้อำนาจหรือเปล่า หรือถูกสั่งการจากใคร ทำไมไม่มีความเมตตาลูกน้องที่ทำงานกันมาเป็นสิบ ๆ ปี


นายเกรียงศักดิ์ สร่างโศก ประธานสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้ ถ้าคุยแล้วไม่จบเราก็จะปักหลักขับเคลื่อนกันต่อไป ซึ่งจะมีพี่น้องทั้ง 5 ตำแหน่ง ทั่วประเทศเข้ามาสมทบ เพราะครั้งที่แล้วเรามาเราไม่ได้คำตอบ วันนี้ต้องขอคำตอบให้ได้ต้องให้ผู้ใหญ่เข้ามาตอบ มาชี้แจง ถ้าไม่มีคำตอบ วันนี้พวกเรายังไม่กลับ เราต้องได้คำตอบจากรัฐบาล ซึ่งหลังจากมาฟังคำตอบจาก สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ เราก็จะเดินทางไปพบ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่าได้รับทราบปัญหาของพวกเราหรือไม่ และจะไปพบผู้แทนกระทรวงการคลังว่าได้ดำเนินการอย่างไร เพราะตอนนี้สิทธิประโยชน์ที่เราได้รับน้อยกว่าพวกต่างด้าวเสียอีก
“พวกผมจะเดินทางไปหานายกรัฐมนตรีผู้มีอำนาจในรัฐบาลถ้าเราไม่ได้คำตอบจริงๆเราก็จะยกระดับการชุมนุมเพิ่มมากขึ้นไปเรื่อยๆเพราะพี่น้องทั่วประเทศเราทุกคนก็ทยอยมาแล้วตอนนี้ พวกเราไม่ได้มากดดันรัฐบาลในช่วงที่กำลังจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ พวกเราไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องมาล้มล้างรัฐบาล เรามาเพราะความความเดือดร้อนจริงๆ อยากให้ผู้ใหญ่ฟังเสียงสะท้อนจากผู้เดือดร้อนบ้าง”ประธานสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทย กล่าว

ด้าน นายอรรถวุฒิ ไชยเสนา ประธานสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการภาคอีสาน กล่าวว่า สมาพันธ์ฯมีลูกจ้างฯสพฐ.ประมาณ 4,000-5,000 คน วันนี้เราจะมาทวงคืนความเป็นธรรมให้กับพวกเรา เพราะสิทธิประกันสังคมที่เราเสียไปจะถูกยกเลิกในวันที่ 31 มีนาคมนี้ คนที่กำลังจะคลอดก็จะหมดสิทธิใช้ประกันสังคม และบำเหน็จบำนาญก็จะหายไปทั้งหมด จากที่พวกเราใช้มาตรา33 มีเงินออมถ้าถูกโยกไปใช้มาตรา 39 บำนาญก็จะเหลือเพียง 1000 บาท ซึ่งก็ไม่มีความเป็นธรรมกับพวกเราที่ทำงานมา15-16 ปี ทุกอย่างจะหายไปหมด ทำงานทั้งปีมีสิทธิ์ประกันสังคมอย่างเดียวก็จะโดนตัด แล้วพวกเราจะอยู่อย่างไร ทั้งที่พวกเราไม่ได้ถูกจ้างมาตาม พ.ร.บ.2560 แต่เรามาตั้งแต่ปี 2552

มทร.กรุงเทพ ปลื้ม นักศึกษาเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ  โชว์ผลงานวิจัยสร้างสรรค์   หนุนผลงานวิจัยนักศึกษา พร้อมดึงเอกชนร่วมผลิตสู่ภาคธุรกิจอนาคต

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)กรุงเทพ เปิดเผยว่า จากที่ไปเป็นประธานเปิดโครงการนิทรรศการงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ทางคหกรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2567 ของคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา  ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการทำงานวิจัย นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน ความคิด การปฏิบัติทางวิจัยนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ประโยชน์ได้จริง และพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์รองรับอุตสาหกรรมใหม่  โดยในปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “การสร้างสรรค์สู่อนาคต”  ที่กำหนดให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 ทุกหลักสูตร มีการจัดการเรียนวิชาโครงงานปัญหาพิเศษ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้บูรณาการความรู้ที่ได้เรียนมาในทุกรายวิชา นำมาสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบของผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่ศึกษามาร่วมกับอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลให้คำปรึกษาในโครงงานนั้น ๆ  อีกทั้งเป็นการจัดเวทีให้นักศึกษาได้แสดงศักยภาพของตนเองในด้านความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้ทักษะในการทำงานร่วมกัน และการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดผลงานที่น่าสนใจ สู่การนำไปประยุกต์ใช้และรองรับการเติบโตของการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก

ผศ.ดร.ธนวิทย์ ลายิ้ม  คณบดีคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์  มทร. กรุงเทพ กล่าวว่า ในงานมีกิจกรรมต่าง ๆที่น่าสนใจ เช่น การเดินแบบของนักศึกษาสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่นในหัวข้อ“LUCID DREAM” หรืออิสรภาพแห่งการควบคุม และการสำรวจความฝันอย่างไร้ข้อจำกัด  การแสดงผลงานวิจัยของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ ใน 7 สาขา ที่สำคัญมีการมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นให้แก่นักศึกษาสาขาต่าง ๆ ซึ่งผลงานวิจัยดีเด่นที่ได้รับรางวัล ได้แก่ สาขาวิชาธุรกิจอาหาร โครงงานการพัฒนาไส้กรอกเวียนนาไก่โดยใช้เมือกเม็ดแมงลักเป็นสารทดแทนไขมัน , สาขาวิชาเทคโนโลยีเสื้อผ้าและแพตเทิร์น โครงงานการสร้างสรรค์แพตเทิร์นเสื้อผ้าสตรีแรงบันดาลใจจากตัวละครในหนังตะลุงด้วยทฤษฎีรื้อสร้าง, สาขาวิชาอาหารและโภชนาการมี 4 โครงงาน 1.โครงงานศึกษาการศึกษาทำกัมมี่เยอลี่เสริมโปรตีนจากไข่ผำ 2.โครงงานอิทธิพลของสารเติมแต่งในอาหารที่มีผลต่อการขึ้นฟูและ 3. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ลูกชิ้นปลาสอดไส้น้ำจิ้มซีฟู๊ดพร้อมบริโภค และ 4. โครงงานน้ำจิ้มสุกี้ผง ส่วนสาขาวิชาการออกแบบแฟชั่น โครงงานการออกแบบเครื่องแต่งกายบุรุษและสตรีโดยใช้เทคนิค Eco Print พิมพ์ลวดลายจากวัสดุธรรมชาติ  และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร โครงงานการศึกษาวิธีการทำแห้งไข่ผำ และการประยุกต์ใช้ในขนมปัง

ด้าน ผศ.ดร.ศศธร สิงขรอาจ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า  การจัดงานครั้งนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี  ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน ผู้ประกอบการ และนักศึกษาเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะโครงการผลงานวิจัยที่นักศึกษานำมาแสดงนั้น อธิการบดีได้เยี่ยมชมงานพร้อมออกปากว่านักศึกษาของเรามีศักยภาพมาก และเมื่อได้ชิมผลิตภัณฑ์อาหารที่นักศึกษาทำท่านเห็นว่าน่าจะมีการทุ่มงบประมาณให้เด็กไปทำผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้น พร้อมทำเป็นแพคเกจจิ้ง ให้ดูดีและทันสมัย ก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ดูดีและเข้าสู่ธุรกิจได้ด้วย รวมทั้งอธิการบดียังให้นโยบายว่าการจัดงานในปีหน้าควรจะจัดให้ยิ่งใหญ่เป็นคหกรรมเฟสติวัล ที่สำคัญให้ดึงเครือข่ายหรือสถานประกอบการที่ร่วมทำกิจกรรมกับทางมหาวิทยาลัยและสนับสนุนเรามาตลอดให้เข้ามาร่วมงานให้มากขึ้น เพราะมีหลายโครงการที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้เลย

โรงเรียนแห่ใช้หลักสูตรปฐมวัย เน้นเด็กเล็กอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจ

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กพฐ. ครั้งที่ 3 / 2568 ว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาการร่างกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้ง รวม หรือ เลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเรื่องของการขยายชั้นเรียน เลิก หรือยุบรวมสถานศึกษาจะต้องนำเข้าที่ประชุม กพฐ. ทุกครั้ง ซี่งเป็นงานประจำที่บอร์ด กพฐ.ต้องพิจารณาในทุกครั้งที่มีการประชุม แต่ในทางปฏิบัติเขตพื้นที่การศึกษาซึ่งอยู่หน้างานจะรู้ดีกว่า ดังนั้นบอร์ด กพฐ.จึงเห็นว่าควรถ่ายโอนงานการพิจารณาส่วนนี้ไปให้พื้นที่พิจารณา จึงได้มีการยกร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้นมา โดยวันนี้ได้มีการพิจารณาในรายละเอียดให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และเปิดช่องว่าให้เป็นไปตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ต่อไป และในการขยายชั้นเรียนจะต้องมีการพิจารณารับฟังความเห็นของชุมชนด้วย รวมถึงกฎกระทรวงจะต้องพิจารณาโดยมองไปถึงอนาคตซึ่งจะต้องดูเรื่องของการจัดตั้ง รวมหรือเลิกสถานศึกษาที่จะต้องพิจารณาความเห็นในเชิงกายภาพ จำนวนเรียนต้องมีกี่คน โรงเรียนตั้งที่ไหน กฎกระทรวงก็จะต้องเขียนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นเพราะต่อไปโรงเรียนอาจจะไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ตั้งชัดเจนเช่นปัจจุบันก็ได้เพราะมีการเรียนออนไลน์แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้คาดว่ากฎกระทรวงนี้จะสามารถนำมาใช้โดยเร็วภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตามวันนี้ที่ประชุมได้มีการอนุมัติรวมสถานศึกษา 5 โรงเรียน  อนุมัติเห็นชอบการเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 โรงเรียน และ มีการเลิกขยายชั้นเรียน ชั้น ม.ต้น จำนวน 3 โรงเรียน

ประธาน กพฐ. กล่าวต่อไปว่า เรื่องต่อมา คือ เรื่องความก้าวหน้าการใช้หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2568 ซึ่งเน้นสำหรับเด็กปฐมวัยช่วงอายุ 3 – 6 ปี และหลักสูตรการศึกษาประถมศึกษาตอนต้น ซึ่ง สพฐ.ได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่พิจารณาว่าตัวเองมีความพร้อมสมัครเข้ามาในช่วงวันที่ 7 – 14 มีนาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีโรงเรียนสมัครเข้ามาถึง 2,316  แห่ง ซึ่งเป็นตัวที่บอกว่าโรงเรียนพร้อมที่จะไปใช้หลักสูตร ซึ่งเป็นการพัฒนาบนพื้นฐานต่อยอดจากหลักสูตรฐานสมรรถนะเดิม โดยชั้นปฐมวัยและประถมต้นจะเน้นเรื่องของการอ่านออกเขียนได้ และที่สำคัญคือเป็นการอ่านออกเขียนได้แบบเข้าใจและคิดเป็น อย่างไรก็ตามคณะกรรมการมองประเด็นว่าการเปิดรับสมัครเพียงหนึ่งสัปดาห์ แต่มีโรงเรียนสมัครเข้ามาถึง 2,300 กว่าแห่งและยังมีโรงเรียนที่สนใจจะเข้าร่วมอีกจำนวนมาก ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ขยายเวลาในการรับสมัครออกไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม โดยทีมสำนักวิชาการ สพฐ.ได้รายงานถึงการเตรียมความพร้อมที่จะช่วยเหลือโรงเรียน เนื่องจาก หลักสูตรนี้จะเริ่มใช้ตอนเปิดเทอมในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยได้มีการจัดตั้งคลินิกวิชาการขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในการทำความเข้าใจกับโรงเรียนและจัดอบรมครูอาจารย์ในช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับการใช้หลักสูตรต่อไป

 

 

“ลูกจ้าง สพฐ”นัดบุกศธ.ทวงถามความคืบหน้าสถานะ-ความมั่นคง พรุ่งนี้(18มี.ค.)7โมงเช้า

ตามที่ กลุ่มผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง 5 ตำแหน่ง มีมติจะเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาลูกจ้าง สพฐ. ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 72,044 คน ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้น โดยนัดหมายจะเดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ ในวันที่ 18 มีนาคม นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีตัวแทนสมาพันธ์ฯ กว่า 1 พันคน เพื่อทวงถามความคืบหน้าหลังจากประชุมหารือร่วมกับกรรมาธิการการศึกษา(กมธ.)สภาผู้แทนราษฏร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.)และกระทรวงการคลัง นั้น

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง สังกัดสพฐ. กล่าวว่า ลูกจ้างทั้ง 5 ตำแหน่ง ได้นัดหมายเจอกันที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ ในเวลา 7.00 น เพื่อมาถามและมารับฟังความคืบหน้าว่า สพฐ.ได้ดำเนินการช่วยเหลือพวกเราอย่างไร และเรื่องไปถึงไหนแล้ว หลังจากนั้นกลุ่มลูกจ้างฯก็จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อสอบถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าวนี้เช่นเดียวกัน

ด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า เป็นสิทธิของลูกจ้างฯที่จะเดินทางมา อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ สพฐ. ได้ทำหนังสือหารือและทำความตกลงกับกระทรวงการคลังแล้วรอกระทรวงการคลังตอบกลับมาว่าจะทำอะไรได้บ้าง ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตนได้มอบหมายให้ นายศุภสิน ภูศรีโสม ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ สพฐ.เป็นผู้ชี้แจงกับลูกจ้างฯ

ศธ.เคลียร์ดราม่าประเด็นฟันโทษวินัยบุหรี่ไฟฟ้า ห่วงครูไม่ต้องรับจบทุกเรื่อง อย่างเข้าใจคลาดเคลื่อน พร้อมย้ำไม่เพิ่มภาระให้ครู แต่เป็นหน้าที่ปกติต้องดูแลเอาใจใส่นักเรียน 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยกรณีกระทรวงศึกษาธิการออกประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ว่า ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประเด็นได้รับความสนใจอย่างมากในสังคม และยังเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและสุขภาพในกลุ่มผู้เรียน และกังวลถึงภัยที่เกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบจากคนรอบข้าง ครูผู้ใกล้ชิดกับเด็กและเป็นแบบอย่างที่ดีจึงมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหานี้ให้ถูกจุดเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าเดิม

โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับมาตรการการลงโทษทางวินัยการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา ที่ขณะนี้มีคนไม่เข้าใจและนำข้อมูลผิด ๆ ไปแชร์ต่อกันเป็นวงกว้าง อาจทำให้เกิดการเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ เพราะบุหรี่ไฟฟ้านอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังมีโทษภัยร้ายแรงที่กระทบต่อสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนระยะยาว และเป็นสิ่งต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ และบุคคลที่มีไว้ในครอบครองถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามหากสูบบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาหรือหน่วยงานราชการแม้กระทั่งที่สาธารณะก็เป็นเรื่องที่ผิด กระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการให้ความสำคัญกับผู้เรียนรอบด้าน และมีครูเป็นกำลังสำคัญในการดูและนักเรียนอย่างใกล้ชิด มีหน้าที่ขับเคลื่อนการ “ป้องปราม” เท่านั้น ส่วนเรื่องการ “ปรามปราบ” เป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจในการตรวจค้นและจับกุม เพราะฉะนั้นคุณครูไม่ต้องกังวลว่าจะได้รับภาระเพิ่มในส่วนนี้ เพียงทำหน้าที่ในการดูแลผู้เรียนอย่างเช่นเคย แต่เข้มงวดขึ้นไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาคลุกคลีกับลูกศิษย์ของเราในโรงเรียน และคอยเตือนเพื่อนไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว นี่คือการยืนยันถึงจุดยืนว่าปัญหานี้จะไม่ถูกเพิกเฉย

“ที่สำคัญมาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ เพียงแต่ต้องการตั้งกฎขึ้นมาเพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันถึงคุณธรรมและจริยธรรม ระหว่างครู ผู้บริหารสถานศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระตุ้นการต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวดจริงจัง ซึ่งการถูกลงโทษทางวินัยในที่นี้หมายถึงหากพบว่าผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาหรือปล่อยปละละเลย จะถูกดำเนินการทางวินัยตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 จึงควรทำความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียนให้สมกับที่ผู้ปกครองและสังคมไว้วางใจ”นายสิริพงศ์กล่าวและว่า ขอย้ำว่าครูไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับจบทุกเรื่อง อยากให้มองว่าการป้องปรามบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำอยู่ตอนนี้ไม่ใช่ภาระที่เพิ่มขึ้น เพราะการดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนเป็นหน้าที่ของครูทุกคนอยู่แล้ว เพียงแต่ยกระดับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ดังนั้นหากพบเห็นบุคคลากรข้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า หรือมีการจำหน่ายจ่ายแจก และปล่อยให้มีการใช้งานในสถานศึกษาหรือหน่วยงานโดยเพิกเฉย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนการศึกษา 1579 และศูนย์บริหารความสุขและความปลอดภัย หรือประสานงานกับหน่วยงานที่มีอำนาจในทางปฏิบัติ เพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษก.ศธ. กล่าวอีกว่า กระทรวงศึกษาธิการเห็นใจและเข้าใจว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของครูเพียงฝ่ายเดียว ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ปกครอง ชุมชนและสังคม แต่การกำหนดมาตรการแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อปกป้องเยาวชนของเราให้เติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาพดี เรียนรู้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย 100% ขอส่งกำลังใจให้ครูทุกคนทุกการดำเนินการจะสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบและความตั้งใจที่จะปกป้องผู้เรียน และช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

 

คัดเลือก ผู้บริหารต้น ศธ. 6 ตำแหน่ง สัมภาษณ์ 18-19 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้(สกร.)ฐานะประธานคณะกรรมการการคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับต้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประกาศรับสมัครคัดเลือกข้าราชการเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับต้น สังกัดศธ. ดังนี้ 1.ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) 1 อัตรา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.) 1 อัตรา รองเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกา (ก.ค.ศ.) 2 อัตรา และรองศึกษาธิการภาค(ศธภ.) 5 อัตรา โดยกำหนดให้ยื่นบสมัครด้วยต้นเอง หรือทางอินเตอร์เน็ต พร้อมเอกสารตามที่กำหนด ระหว่างวันที่ 10-19 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น ล่าสุดทางคณะกรรมการได้ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือก และกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่งเรียบร้อยแล้ว โดยให้ผู้ที่มีรายชื่อเข้ารับการคัดเลือกรายงานตัว เพื่อสอบสัมภาษณ์ในวันที่ 18-19 มีนาคม นี้

นายธนากร กล่าวต่อว่า สำหรับจำนวนผู้มีสิทธิเข้ารับการคัดเลือกแต่ละตำแหน่ง ดังนี้ ผู้ช่วยเลขาธิการกพฐ. 14 ราย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. 10 ราย รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. ตำแหน่งเลขที่ 44 จำนวน 30 ราย รองเลขาธิการก.ค.ศ. เลขที่ 74 จำนวน 23 ราย รองศธภ.1 จังหวัดลพบุรี จำนวน 36 ราย รองศธภ.3 จังหวัดราชบุรี จำนวน 38 ราย รองศธภ.6 จังหวัดภูเก็ต จำนวน 37 ราย ศธภ.14 จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 37 ราย และศธภ.15 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 38 ราย

“การคัดเลือกผู้บริหารต้นครั้งนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการศธ. กำชับให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม โดยต้องคัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์ ความรู้ความสามารถเหมาะสมกับตำแหน่ง และลำดับอาวุโส ประกอบกันในทุกมิติ เพราะเมื่อเลือกให้เข้าไปทำงานแล้ว จะต้องสามารถตอบคำถามสังคมได้ว่า ผู้สมัครแต่ละรายที่ได้รับการคัดเลือกสามารถทำงานตามตำแหน่งได้จริง และเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการศธ.ให้ความสำคัญมากที่สุดในการคัดเลือกครั้งนี้ คือ ต้องยึดหลักคุณธรรมและความยุติธรรม ไม่ใช่เลือกจากคนของใคร เพราะการคัดเลือกผู้ที่เข้าไปทำงานในองค์กรขนาดใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสม ก็อาจไปสร้างปัญหาให้องค์กรได้ในอนาคต” นายธนากร กล่าว

อธิบดี สกร. กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การคัดเลือกผู้บริหารระดับต้น ศธ.แล้ว ตนได้มีการลงนาม ในคำสั่ง สกร.เรื่อง ให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษารักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 96 ราย ทั้งนี้เพื่อให้การบริหารงานของสถานศึกษา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม ที่ผ่านมา

สพฐ.จับมือ ซีพีออลล์ 71โรงเรียนร่วมพัฒนาต่อยอดการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ(MOU)โครงการ”โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่าง นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)นายวิเชียร เนียมน้อม ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ดร.ฉัชร์ภิมุก อภินันท์โชติสกุล ผู้อำนวยการกลยุทธ์การศึกษาและพัฒนาธุรกิจบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ว่าที่ร้อยตรี ธนู วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต1(สพม.กท1)และสพม.กท2และผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร โดยมีโรงเรียนร่วม MOU จำนวน 71 โรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้  ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือในรูปแบบการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาการศึกษาไทย ซึ่งเป็นการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต เพราะถ้าเรารู้จัก ซีพี ออลล์ ก็จะนึกถึงกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ทำงาน หรือ ฝึกงานในเซเว่น ทำเบเกอรี่ แพคเกจจิ้ง (packaging)หรือการผลิตภัณฑ์ต่าง ซึ่งซีพี ออลล์ จะฝึกให้เด็กทำ อีกทั้งเด็กสามารถเรียนด้วยทำงานไปด้วย (Learn to Earn) เรียนรู้เพื่ออยู่รอด ตามนโยบายรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการบันทึกความเข้าในครั้งนี้จะเป็นโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ แต่ก็ยังพบความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามีทั้งนักเรียนที่มีความพร้อมและนักเรียนที่ยังไม่มีความพร้อมด้านฐานะทางครอบครัว ดังนั้นความร่วมมือครั้งนี้ จะเข้าไปช่วยเติมเติมสิ่งที่เขาขาดได้

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการจัดการศึกษาภายใต้หลักการ “การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และ การศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต” โดยใช้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” โดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศึกษาธิการ และนายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศึกษาธฺการ เกิดเป็นนวัตกรรมการบริหารและจัดการศึกษาอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรองค์ความรู้จากทุกภาคส่วน และเพื่อเป้าหมายสูงสุด คือ พัฒนาผู้เรียนให้ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

ด้านนายปิยะวัฒน์  กล่าวว่า เรามุ่งหวังและตั้งใจให้โครงการสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายทุกประการ บริษัทฯ ยินดีกับโครงการนี้ที่จะร่วมมือกับทุกโรงเรียนในเครือข่ายที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่เราพร้อมที่จะปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้เท่าทันกับการประกอบการที่เปลี่ยนแปลงด้วยการสร้างอาชีพ ด้วยปณิธาน “สร้างเยาวชนสู่มืออาชีพ” เมื่อนักเรียนสำเร็จการศึกษาแล้วสามารถบรรจุทำงานได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือศึกษาต่อเนื่อง เราพร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้พัฒนาอาชีพและให้ความรู้ความสนใจทั้งในประเทศและขยายไปต่างประเทศ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือครั้งนี้จะขยายตัวไปทั่วประเทศ นักเรียนสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ และเราพร้อมที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้วย

สกร.พร้อมจัดสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เริ่ม เม.ย.นี้

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยอิงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดเดียวกันกับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560 เสร็จแล้ว และได้นำเสนอหลักสูตรดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อให้การรับรองและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน ซึ่งทาง สอศ.ตอบกลับมาว่าไม่ติดใจเรื่องของการเทียบระดับ แต่ถ้าเป็นการสอบรายวิชาแล้วนำมาเทียบมีระบียบของ สอศ.รองรับอยู่แล้ว แต่เป็นอำนาจของสถานศึกษาที่มีข้อพิจารณาแตกต่างกัน จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่าเพื่อให้การดำเนินงานราบรื่น ควรออกเป็นประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องเทียบหลักสูตรมารองรับ ขณะที่ สพฐ.ได้มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงเนื้อหา เพื่อให้มีความรอบครอบรัดกุม ซึ่ง สกร.ก็ได้ดำเนินการปรับปรุงตามข้อเสนอแนะเรียบร้อยแล้ว และได้หารือกับ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะมา 2 ข้อ คือ 1.ให้ สกร.จัดทำประกาศ ศธ.เรื่องการเทียบหลักสูตร เพื่อให้ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาลงนามประกาศใช้ และ 2.ให้ สกร.มาวางแผนไทม์ไลน์ระยะเวลาการดำเนินงาน

อธิบดี สกร. กล่าวต่อไปว่า สกร.ได้ดำเนินการตามข้อแสนอแนะแบบคู่ขนานไปพร้อมๆกับการเตรียมเริ่มต้น (kick-off ) ดำเนินการเทียบระดับการศึกษา ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน 2568 นี้ โดยมีขอบข่ายเนื้อหาจัดสอบใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้ 1. ภาษาไทย 2. คณิตศาสตร์ 3. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 4. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 5. สุขศึกษาและพลศึกษา 6. ศิลปะ 7. การงานอาชีพ  และ 8. ภาษาต่างประเทศ ทั้งนี้ สำหรับระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สามารถเลือกแผนการสอบได้ทั้งแผนทั่วไป และแผนวิทย์ – คณิต

“ สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัคร ต้องเป็นนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไปที่มีสัญชาติไทย ไม่จำกัดอายุ แต่ในกรณีอายุต่ำกว่า 20 ปี ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง , เป็นผู้มีคุณวุฒิในระดับการศึกษาที่ต่ำกว่าระดับที่ประสงค์จะขอสอบเทียบหนึ่งระดับ ยกเว้นขอสอบเทียบวัดระดับอยู่ในระดับประถมศึกษา การสมัครสามารถสมัครด้วยรูปแบบออนไลน์ได้ที่  http://ekas.dole.go.th หรือ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอำเภอเมืองทุกจังหวัด และศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับเขตคลองเตย กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 77 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเงื่อนไขในการรับวุฒิการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบ คือ 1.ต้องสอบผ่านทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 2.เข้าร่วมสัมมนาวิชาการ เพื่อประเมินการอ่าน คิดวิเคราะห์ และเขียนการประเมินคุณลักษณะ อันพึงประสงค์ และผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทั้งนี้ มั่นใจได้ว่าผู้ได้รับวุฒิการศึกษาด้วยวิธีการสอบเทียบ มีคุณภาพเช่นเดียวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นที่ยอมรับ และสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้ ” อธิบดี สกร.กล่าว

นายธนากร กล่าวด้วยว่า การเทียบระดับการศึกษา ด้วยวิธีการสอบเทียบวัดระดับความรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเป้าหมายสำคัญเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องเรียนแต่ในห้องเรียนเท่านั้น โดยเชื่อว่าทุกคนสามารถมีวุฒิการศึกษาขั้นพื้นฐานได้ และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในเรื่องการพัฒนาระบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย และการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาสนับสนุน และสอดคล้องกับนโยบายการจัดการศึกษาของ พล.ต.อ. เพิ่มพูน ในด้านการลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงนโยบายการจัดการศึกษาที่เท่าเทียม พัฒนาคนไทยทุกคนในทุกช่วงวัย ให้ผู้เรียน “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” พัฒนา ส่งเสริม และสร้างความเสมอภาคเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มคุณภาพการศึกษา.

เสมา 1 เอาจริง ลงนามประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า กำชับปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2568 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ลงวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2568 โดยระบุว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้ามีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของนักเรียนและนักศึกษา ซึ่งในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรีเห็นขอบตามที่นายกรัฐมนตรีเสนอ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดมาตรการป้องกันการเข้าถึงและใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาทุกระดับ

ด้วยปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 รวมทั้งบุคคลที่มีไว้ในครอบครองหรือรับไว้ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และเพื่อให้สอดคล้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดประเภทหรือชื่อของสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน และยานพาหนะ ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของสถานที่และยานพาหนะ เป็นเขตปลอดบุหรี่หรือเขตสูบบุหรี่ในเขตปลอดบุหรี่ พ.ศ. 2561

ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันการเข้าถึงและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษาและสถานที่ทำงานในพื้นที่บริเวณส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศกำหนดมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้

1. สร้างความตระหนักรู้เท่าทันพิษภัยและโทษของบุหรี่ไฟฟ้าทั้งต่อสุขภาพร่างกายและโทษทางอาญาให้แก่นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหารทุกระดับ และเจ้าหน้าที่ อาทิ สอดแทรกเนื้อหาหรือหลักสูตรการเรียนการสอน กิจกรรม สื่อประซาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ
2. ให้ผู้รับผิดชอบสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน จัดให้มีเครื่องหมายแสดงไว้ให้เห็นได้โดยชัดเจนว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
3. ให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นสอดส่อง ดูแลหรือป้องกันมิให้นักเรียน นักศึกษา ข้าราชการครู บุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่ เข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าทั้งการสูบ จำหน่าย มีไว้ในครอบครอง หรือสนับสนุนอย่างหนึ่งอย่างใด
4. หากมีกรณีตรวจพบ หรือมีการร้องเรียนกล่าวหา หรือกรณีเป็นที่สงสัยว่าข้าราชการ ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้บริหาร รวมทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ใดเช้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ทันที

กระทรวงศึกษาธิการขอกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดและองค์กรในกำกับกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ถือปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

ยุคไก่ตัวเมียมาวิน

หยอก หยอก วันที่ 12 มีนาคม 2568 *** วันนี้ขอยกสุภาษิต “วัวสันหลังหวะ” คนที่มีความผิดติดตัวทําให้ต้องคอยหวาดระแวง ว่าเขาจะว่าตัวเอง *** มาเข้าเรื่องกันดีกว่า…งวดเข้ามาแล้วสำหรับการคัดเลือกผู้บริหารระดับต้น 9 ตำแหน่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. รองเลขาธิการ ก.ค.ศ. 2 ตำแหน่ง และ รองศึกษาธิการภาค อีก 5 ตำแหน่ง ที่รับสมัครกันไปเรียบร้อยแล้ว และ กำลังจะเข้าสู่กระบวนการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง หรือ สัมภาษณ์ ในอีกไม่กี่วันนี้ *** ใครมีสิทธิสมัครก็กระโดดขึ้นเวทีแข่งขันกันไปเรียบร้อยแล้ว รู้ทั้งรู้ว่าใครจะได้ แม้จะมีฝีมือดี แต่จะสู้คนมีของได้รึเปล่าก็ต้องลองสู้ไปก่อน … แต่ที่แน่ ๆ งานนี้ ธนากร ดอนเหนือ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกข้าราชการ เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จะลอยตัว หรือจะปวดหัว คนเก่งจริงก็ยังมีความหวัง เพราะข่าวแว่วมาว่า “เสมา 1” พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ ได้ฝากข้อคิดไว้ว่า “การคัดเลือกคนที่จะมาทำงานใหญ่ สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณธรรม ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน เพราะถ้าไม่มีความยุติธรรม และ คุณธรรม จะสร้างปัญหาในอนาคตได้ การเลือกคนไม่ใช่ถูกใจใครแล้วเอามาเลย แล้วก็ไม่ใช่ว่าคนนี้เป็นคนของใคร แต่ต้องเลือกคนที่มีผลงาน สามารถทำงานได้ รวมถึงความอาวุโส ถ้าอาวุโสแต่ทำงานไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ … พูดมาขนาดนี้ชักอยากเห็นหน้าตา ผู้บริหารระดับต้นรุ่นใหม่แล้วล่ะ *** อ้อ.. ช่วงหลังมานี้ เมื่อมีการลงสนามแข่งขันหรือคัดเลือก ไก่ตัวผู้มักจะตีสู้ไก่ตัวเมียไม่ได้ เพราะอะไรก็ต้องสอบถามกันเอาเอง…เรื่องนี้หยอก หยอก จะไม่ยุ่ง…5555 *** นี่ก็อีกข่าวที่ หยอก หยอก แทบจะไม่อยากเชื่อ เพราะเป็นหน่วยงานที่เงียบเหลือเกิน แต่มีพรายกระซิบมาว่า หน่วยงานนี้เป็นเหมือนแดนสนธยา ภายนอกเห็นเงียบ ๆ ไม่มีอะไรหวือหวา ข่าวสารประชาสัมพันธ์เงียบกริ๊บ แต่ที่ไหนได้ข่าวว่าข้างในครุกรุ่น เละ ยิ่งกว่า….โหว งานนี้ ชักเริ่มสนุกแล้วสิ *** มีชี้เป้าถึงขั้นการขึ้นตำแหน่งใหญ่ไม่ต้องจ่ายค่าขนมเองหลายสิบกิโล มีคนจ่ายให้ เรื่องแบบนี้ก็พอรู้กันอยู่เพราะมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่สุดท้ายก็อยากให้เลือกคนที่ได้ทั้งบู๊และบุ๋นอยู่ดี เพราะคนที่มีคุณสมบัติรอบด้านจะมาเป็นขุนพลทะลวงแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ *** ในการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แม้ว่าจะไม่มีชื่อ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ เสมา 1 ก็ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมข้อมูลให้พร้อมหากถูกพาดพิง ถือว่าเป็นนักรบที่พร้อมรบตลอดเวลา…นับถือ นับถือ*** แต่ก็อย่าลืมซ้อมรับมือม็อบลูกจ้างเหมา สพฐ.ที่บอกข่าวมาว่าจะเดินทางมาทวงคำตอบที่รับปากไว้ในวันที่ 18 มีนาคมนี้ ด้วยละกัน *** เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผู้รับผิดชอบต้องช่วยกันคิด คือ ขณะนี้การจัดพิมพ์หนังสือแบบเรียนองค์การค้าของ สกสค.ยังไม่เดินหน้าไปไม่ถึงไหน ตามปฏิทินที่เคยบอกว่าจะเริ่มส่งหนังสือเรียนของปีการศึกษา 2568 ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2568 ซึ่งวันนี้ก็ 12 มีนาคม 2568 แต่ก็ไม่เห็นวี่แววของการส่งหนังสือเรียน แบบนี้เขาว่าพูดพอพ้นตัวหรือเปล่าน่อ…พูดแล้วก็ไป…5555