“ธนากร” ชูจุดเน้นงานด่วนปีงบฯ 68 ลุยขับเคลื่อนประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัด สกร.

นายธนากร ดอนเหนือ อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งลงนามโดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งส่งผลให้ สกร.มีมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ที่ยึดหลักการจัดการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คำนึงถึงความเท่าเทียม และความเสมอภาคของการเข้าถึงการศึกษา นำไปใช้เป็นหลักสำหรับการเทียบเคียงการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพทางการศึกษาให้แก่สถานศึกษาในสังกัด ซึ่งมาตรฐานการศึกษาเพื่อการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาสังกัด สกร. แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้ 1.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต 2.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ 3.มาตรฐานการศึกษาสำหรับสถานศึกษาที่จัดการเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งนำมาตรฐานการศึกษา แต่ละประเภทไปกำหนดเป็นมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับหน้าที่ และอำนาจของสถานศึกษา และสามารถพัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาขึ้นเพิ่มเติม จากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานการศึกษาแต่ละประเภทได้

อธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายใน เป็นหนึ่งในจุดเน้นการดำเนินงานเร่งด่วนที่ สกร. ได้ประกาศเป็นจุดเน้นการดำเนินงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยภายในเดือนมีนาคมนี้ สกร.จะดำเนินการจัดทำแนวทางและคู่มือที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาและการนำมาตรฐานการศึกษาไปสู่การปฏิบัติในระดับสถานศึกษา และจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงและพัฒนาศักยภาพบุคลากรภายในหน่วยงานและสถานศึกษาโดยคำนึงถึงบริบทและความแตกต่างกันของสถานศึกษา เพื่อให้การดำเนินงานด้านการประกันคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาเป็นไปอย่างมีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ

“ ขอให้ทุกคนตระหนักร่วมกัน ว่า ‘การขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา ไม่ได้เป็นหน้าที่ของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่ต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องร่วมกันดำเนินงานตามบทบาทหน้าที่ที่ต้องกำหนดไว้ร่วมกันนำไปสู่การดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน แล้วนำผลการดำเนินงานของแต่ละบุคคล ในแต่ละส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เปรียบเสมือนการร่วมกันต่อภาพจิ๊กซอว์ให้เป็นภาพใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นภาพกว้างในการดำเนินงานของสถานศึกษา และเพื่อให้มีผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลสำหรับนำไปใช้ประกอบในการประเมินคุณภาพการศึกษา หรือสะท้อนภาพการดำเนินงานของสถานศึกษา’  อย่างไรก็ตามเพื่อให้ทราบถึงผลการดำเนินงานและเพื่อให้มีข้อมูลสำหรับ สกร.นำไปใช้ในการวางแผนส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่มุ่งประสิทธิภาพ ในแต่ละปีงบประมาณ สกร.จะจัดให้มีการติดตามผล และจะกำหนดให้มีโครงการ หรือกิจกรรมที่มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุนการดำเนินงานของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของสถานศึกษา รวมถึงนโยบายด้านการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ด้วย ” นายธนากร กล่าว.

“เสมา1”แนะใช้คะแนนโอเน็ตเข้ามหาวิทยาลัยและสอบเข้าเรียนม.1ม.4 แต่ไม่บังคับ-ทิ้งคำถามเมื่อนำงบฯมาใช้แล้วต้องทำให้เกิดประโยชน์ได้

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 พล.ตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารศธ.ว่า สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้รายงานผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในปีนี้สูงทุกสังกัด และมีคะแนนสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผู้บริหารศธ.มีการปรับเปลี่ยนและช่วยกันทำงานส่งผลให้คุณภาพการศึกษามีการพัฒนาที่ดีขึ้น ส่วนที่ยังไม่ดีขึ้นก็ต้องช่วยกันปรับปรุงและช่วยกันเติมเต็ม ซึ่งในส่วนของผลสอบโอเน็ต จะนำไปใช้ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งในส่วนของรายบุคคลและสถานศึกษา ซึ่งตนขอฝากผู้บริหารทุกคน ให้ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมขององค์กรและให้คุณค่าในการประเมินผลโอเน็ต เพื่อวัดระดับการศึกษาของนักเรียน และนำผลมายกระดับคุณภาพสถานศึกษา

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ส่วนที่จะนำคะแนนโอเน็ต  ไปใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือสอบเรียนต่อนั้น ถือเป็นอีกมิติหนึ่งในการนำคะแนนโอเน็ตไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งขอให้เป็นไปตามความสมัครใจ แต่ถ้าเมื่อนำเงินงบประมาณมาใช้แล้วผลการทดสอบต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เพราะโอเน็ตเป็นมาตรฐานกลาง ที่ต้องประเมินอยู่แล้ว หากใช้ประกอบในการคัดกรองหรือชี้ให้เห็นถึงความถนัดของเด็ก ก็จะช่วยในการเลือกสาขาในการเรียนได้ รวมถึงสถานศึกษาต่าง ๆ ที่อาจนำผลสอบโอเน็ตไปใช้ในการเข้าเรียนต่อชั้นม. และม.4 ซึ่งทุกอย่างขอให้เป็นไปโดยความสมัครใจ เพราะเราเป็นประชาธิปไตยไม่ใช่การบังคับ ส่วนมาตรฐานข้อสอบนั้น ก็เชื่อว่ามีมาตรฐานและมีการปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและขณะนี้มีการปรับปรุงให้อิงกับมาตรฐานการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติหรือ พิซ่า ที่ไม่ใช่การวัดความรู้ความจำเท่านั้น แต่เป็นการวัดการอ่าน และการคิดเชิงวิเคราะห์

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับรายงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบหรือTHAILAND Zero Dropout โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  (สกศ.) รายงานผลการดำเนินงานการติดตามเด็กนอกระบบการศึกษาเชิงระบบ โดยข้อมูลเด็กวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ณ 10 มีนาคม 2568 พบว่ามีเด็กนอกระบบการศึกษาจำนวน 1,025,514 คน  ติดตามแล้ว 980,588 คน คิดเป็น ร้อยละ 95.62 สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาในประเทศ 320,724 คน คิดเป็น ร้อยละ 31.27 และ ยังไม่ได้ติดตาม 44,926 คน คิดเป็น ร้อยละ 4.38การติดตามข้อมูลเด็กในวัยเรียนที่อยู่นอกระบบการศึกษา ภาคบังคับ อายุ 6-15 ปี สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้ 73,744 คน คิดเป็นร้อยละ 16.65 ดังนั้น ตนจึงขอให้ติดตามเด็กกลับมาให้ได้มากที่สุด และอย่าให้หลุดจากระบบการศึกษาอีก และในปีการศึกษาหน้า ในเรื่องการติดตามเด็กน่าจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองในพื้นที่ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นคนติดตามให้ ส่วนครูมีหน้าที่สอนเพียงอย่างเดียว

“การาประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวานนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนที่ประสบภัยพิบัติ กรณีสถานการณ์อุทกภัยและโกดังเก็บสินค้าดอกไม้เพลิงระเบิด จำนวน 10 โรงเรียน ในวงเงิน 1,985,151 บาท  และเห็นชอบแต่งตั้งนายวีระพงษ์  แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (สสวท.)และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสสวท. รวม 13 ราย

“ธีร์ รองเลขาธิการกพฐ.”ร่วมประชุม”สินามิ”ระดับโลกที่ญี่ปุ่น เตรียมหารือนำแอปพลิเคชันเตือนภัย

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 ดร.ธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทางสำนักงาน โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นดีพี) ไทยแลนด์ ได้เชิญตนให้เป็นตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)และประเทศไทย ไปร่วมการประชุมระดับโลก เรื่อง “สึนามิ” ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยตนได้ไปเล่าถึงการทำงาน และการตั้งรับสถานการณ์การเกิดสึนามิ ที่ประเทศไทย ในพื้นที่ความเสี่ยงสูง  6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทยอย่างต่อเนื่องมาหลายปี โดยต้องขอขอบคุณยูเอ็นดีพี และ ยูเอ็นดีพี ไทยแลนด์ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ให้การสนับสนุนเรื่องนี้มาโดยตลอด

“ตอนนี้ในพื้นที่บริเวณรอบ 6 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามันของไทย ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล และตรัง มีเด็กประมาณ 7 พันกว่าคนที่รับรู้และเข้าใจเรื่องนี้ ขณะเดียวกันก็มีครูอีก 471 คน ได้สร้างการรับรู้ และเข้าใจในเรื่องการเกิดสึนามิแล้วเช่นกัน ซึ่งก็ยังคงต้องรักษาสภาพความเข้าใจและการเตรียมพร้อมรับมือนี้ไว้ เพราะพื้นที่นี้ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก”รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า  เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ สพฐ.เอาใจใส่ และ ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ.ก็ได้กำชับให้ฝ่ายการศึกษาในจังหวัดโดยรอบพื้นที่เฝ้าระวังให้เป็นปกติ  และตอนนี้มีเรื่องที่น่าสนใจ คือ ยูเอ็นดีพี ได้ร่วมกับ ประเทศอินโดนีเซียทำแอปพลิเคชันประเมินสถานการณ์และเตือนภัยสึนามิ  ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่มีประโยชน์มาก โดยตนจะหารือกับเลขาธิการ กพฐ.ว่า จะสามารถนำมาใช้ในประเทศไทยจะได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นแอปพลิเคชันที่ยูเอ็นดีพีพัฒนาขี้นมา

“มทร.กรุงเทพ”จับมือ 4 มหาวิทยาลัยดัง และ วิทยุการบิน ยกระดับกำลังคนกลุ่มอุตสาหกรรมการบิน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

มทร.กรุงเทพ-มก.-สจล.-มช.-มทส. ร่วมมือ วิทยุการบิน ขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพยกระดับกำลังคนด้านอากาศยานและการบิน สู่การสร้างนวัตกรรมด้านการบินตอบโจทย์การพัฒนาประเทศยุคดิจิทัล

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2568 รศ.ดร.พิชัย จันทร์มณี อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)กรุงเทพ เปิดเผยว่า มทร.กรุงเทพ ได้กำหนดทิศทางในการขับเคลื่อนแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในด้านโลจิสติกส์และอากาศยานของกลุ่มอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งมุ่งหวังที่จะช่วยยกระดับศักยภาพและทักษะของกำลังคนด้านอากาศยานและการบินในประเทศให้เพิ่มสูงขึ้น โดยเบื้องต้นได้ร่วมมือกับบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ในการขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนตามกรอบอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านอากาศยานการเดินอากาศอัจฉริยะ และอวกาศ โดยมีจุดมุ่งหมายในการพัฒนานวัตกรและนวัตกรรมด้านการบินแบบมุ่งเน้นความร่วมมือ (Innovator and Innovation Development Collaboration Initiative) โดยใช้รูปแบบและกระบวนการในการพัฒนานวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) สอดคล้องกับแนวทางของการพัฒนาระดับสากล Next Generation of Aviation Professionals (NGAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เพื่อยกระดับการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีความสอดคล้องกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ซึ่งกำลังเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมการบินอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดแนวคิดในการก้าวข้ามการพัฒนากำลังคนในรูปแบบดั้งเดิม ไปสู่แนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ภายใต้หลักการที่เรียกว่า “NGAP-Digital Transformation”

อธิการบดี มทร.กรุงเทพ กล่าวว่า การดำเนินการเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม โดยนำโจทย์ความต้องการเชิงนวัตกรรมจากภาคอุตสาหกรรมการบินเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนา เพื่อต่อยอดให้เกิดเป็นนวัตกรรมด้านการบิน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญ (Skill and Expertise)ในหลากหลายมิติเพื่อเชื่อมโยงองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญที่มีเข้าด้วยกันจนเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ และนำไปสู่การพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรที่สนใจให้มีศักยภาพสำหรับงานด้านอุตสาหกรรมการบินโดยเฉพาะ เช่น การพัฒนาช่างซ่อมบำรุงอากาศยานให้มีทักษะขั้นสูง การพัฒนาระบบ Simulator ด้านการบินที่ทันสมัย ตลอดจนการบ่มเพาะความรู้ด้าน AI และ Robotics รวมถึงเทคโนโลยีโดรน เป็นต้น

“จากความร่วมมือเบื้องต้นดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตัวแทนจาก 5 มหาวิทยาลัยประกอบด้วย ดร.นวทัศน์ ก้องสมุทร หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรม การบินและอวกาศ มก. ผศ.ดร.เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) ดร.อรรณพ ธนัญชนะ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบริการวิชาการนานาชาติวิทยาลัยนานาชาตินวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) ผศ.ดร.สุรเดช ตัญตรัยรัตน์ หลักสูตรวิศวกรรมอากาศยาน สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) และ มทร.กรุงเทพ ได้มีการประชุมหารือและลงนามความร่วมมือกับ ดร.ณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโครงการด้านการบริการการศึกษาในทักษะและความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนานวัตกรรมด้านการบิน (NGAP-Digital Transformation) ซึ่งครอบคลุมใน 12 สาขาความเชี่ยวชาญ (Knowledge Areas) ที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการจราจรทางอากาศ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว” อธิการบดี มทร.กรุงเทพกล่าวและว่า ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 – 7 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีพิธีเปิดปฐมฤกษ์ของความร่วมมือดังกล่าวผ่านกิจกรรมโครงการ “Aviation X” หรือ “ก้าวใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมการบิน” ณ ห้อง Slope ชั้น 4 อาคารสิรินธร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ

สพฐ.เตือนนักเรียนระวังมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นครูแนะแนว/เจ้าหน้าที่ กยศ.ขอข้อมูลและหลอกให้โอนเงิน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่า ที่ประชุมได้รับทราบเกี่ยวกับโรคไข้อีดำอีแดงที่กำลังระบาดในเด็กวัย 5-15 ปี ในขณะนี้  โดย สพฐ.ได้ประสานกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้การดูแลย่างใกล้ชิด หากมีเด็กเจ็บป่วยด้วยโรคไข้อีดำอีแดง ก็ขอให้ทำการรักษาโดยด่วน ขณะเดียวกันก็ให้มีการกำชับแจ้งเตือนให้เด็ก ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาร่วมกับล้างมือก่อนและหลังสัมผัสผู้ป่วยหรือของใช้ของผู้ป่วย อย่าใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย โดยเฉพาะของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น

รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีมีมิจฉาชีพแอบอ้างเป็นครูแนะแนว และเจ้าหน้าที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) หลอกเงินนักเรียนที่จังหวัดตรัง โดยใช้วิธีการเข้าไลน์โอเพ่นแชทแนะแนว กยศ.ของโรงเรียน แล้วเปลี่ยนชื่อโปรไฟล์เป็นชื่อผู้ปฏิบัติงาน และหลอกถามข้อมูลนักเรียน ม.6 ที่กู้เงิน กยศ. ปรากฏว่า มีผู้เสียหาย 25 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เด็กให้ข้อมูลส่วนตัว หมายเลขบัญชี จำนวนคงเหลือในบัญชี แต่ยังไม่ได้โอนเงิน จำนวน 17 ราย และกลุ่มที่ 2 ให้ทั้งข้อมูลส่วนตัว หมายเลขบัญชี จำนวนเงินคงเหลือในบัญชี แล้วก็โอนเงินไป จำนวน 8 ราย รวมเป็นเงิน 48,140 บาท ซึ่งตอนนี้โรงเรียนได้แจ้งระงับกลุ่มไลน์นี้ไปแล้ว เพื่อระงับการทำงานธุรกรรมต่าง ๆ  สพฐ.จึงได้แจ้งไปยังเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขต เพื่อให้ประชาสัมพันธ์แจ้งไปโรงเรียนต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีนักเรียนที่กู้เงิน กยศ.เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำอีก

“ส่วนเรื่องการยื่นคำร้องขอย้ายข้าราชการครู ผ่านระบบ TRS (Teacher Rotation System)ที่ผ่านมา ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นการตรวจสอบข้อมูล เพื่อเข้าคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล และนำเสนอคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(อ.ก.ค.ศ.)เขตพื้นที่การศึกษาต่อไป ซึ่งตามปฏิทินจะดำเนินการภายในเดือนมีนาคม และออกคำสั่งย้ายได้ภายในเดือนเมษายน อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ ตามระบบยังไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องดูว่าจะมีปัญหาหลังจากการย้ายแล้วหรือไม่”นายพัฒนะกล่าว

“สพฐ.”ทำเต็มที่แล้ว ลูกจ้างเหมาฯกว่า1,000 คน เตรียมเดินทางทวงถามข้อเรียกร้องสิทธิประกันสังคมและความมั่นคงในชีวิต

ตามที่ กลุ่มผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ครูธุรการ ครูวิกฤต ครูวิทย์-คณิต ครูพี่เลี้ยงเด็กพิการ และครูนักการภารโรง ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ได้เข้าพบและประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการการศึกษาธิการ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี นายโสภณ ซารัมย์ เป็นประธาน เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาลูกจ้าง สพฐ. ที่ปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างเป็นจ้างเหมาบริการและตัดเงินสมทบประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ส่งผลให้ลูกจ้างกว่า 72,044 คน ทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ อาทิ การรักษาพยาบาล การคลอดบุตร การรับเงินสงเคราะห์ เป็นต้น นั้น

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า หลังจากสพฐ.ได้เข้าชี้แจงต่อ กรรมาธิการการศึกษา(กมธ.)ถึงข้อเรียกร้องของลูกจ้างฯ ขอเปลี่ยนจากการจ้างเหมาบริการ เป็นวิธีการจ้างลูกจ้างชั่วคราว พร้อมเงินสมทบประกันสังคมทุกตำแหน่ง,ขอปรับเพิ่มอัตราเงินเดือนตามนโยบายรัฐบาล ที่ปรับฐานเงินเดือนตามคุณวุฒิปริญญาตรี ปีที่ 1 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 16,500 บาท ปีที่ 2 มีผลวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 18,150 บาท คุณวุฒิต่ำกว่า ป.ตรี ปีที่ 1 วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 เงินเดือน 10,340 บาท วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เงินเดือน 11,380 บาท และขอปรับตำแหน่งความมั่นคงในอาชีพลูกจ้าง สพฐ.ทุกตำแหน่ง ซึ่งขณะนี้ สพฐ. ได้ทำหนังสือหารือและทำความตกลงกับกระทรวงการคลังแล้วรอกระทรวงการคลังตอบกลับมาก่อน ว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนจากจ้างเหมา เป็นลูกจ้างชั่วคราวได้หรือไม่ ถ้ากระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบ ก็ให้ทำหนังสือกลับไปที่สำนักงาน ก.พ.เพื่ิอขอเปิดกรอบอัตรากำลัง พร้อมกันนี้ สพฐ.ก็จะทำหนังสือเสนอคณะรัฐมนตรี( ครม.)เพื่อขออนุมัติขอปรับเงินเดือนกลุ่มลูกจ้าง ให้เทียบเคียงข้าราชการทั่วไป คือ ครั้งแรกพฤษภาคม 2567 จาก 15,050 เป็น 16,560 บาท ตามมติครม. และครั้งที่2 วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เป็น 18,000 บาท ซึ่งลูกจ้างประจำ และลูกจ้างชั่วคราว ไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์นี้อยู่แล้ว แต่สพฐ. จะทำเทียบเคียงเพื่อชดเชยให้บุคลากรกลุ่มนี้

นายพัฒนะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนสิทธิประกันสังคม ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้นั้น ทางสพฐ. ได้เสนอเปรียบเทียบเงินเดือนให้แล้ว ซึ่งผู้ที่ต้องการใช้สิทธิประกันสังคมต่อเนื่องก็สามารถจ่ายเงินสมทบได้ในมาตรา 39 และมาตรา40 เนื่องจากขณะนี้สำนักงบประมาณ ไม่ได้จัดสรรเงินในส่วนนี้ให้กับ สพฐ.แล้ว อย่างไรก็ตาม ที่พูดมาทั้งหมดนี้ต้องรอต้องรอหนังสือตอบกลับจากกระทรวงการคลังก่อน  จึงจะสามารถดำเนินการตามขั้นตอนได้ ส่วนจะใช้เวลาเท่าไรนั้น ไม่สามารถตอบได้ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ว่าสพฐ.จะเพิกเฉย แต่ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอน

ด้าน นายวรวิทย์ อัคราภิชาต ผู้แทนสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและกลุ่มลูกจ้าง สังกัดสพฐ. กล่าวว่า มติที่ประชุมลูกจ้างเหมาทั้ง 5 ตำแหน่ง จะเดินทางมาทวงถามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ในวันที่ 18 มีนาคม นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีตัวแทนสมาพันธ์ฯ กว่า 1 พันคน เพราะที่ผ่านมาทางสพฐ. รับปากจะหารือกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน( ก.พ.) เพื่อหาแนวทางแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า

“สิทธิประกันสังคมของกลุ่มลูกจ้างจะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม ทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เคยได้รับถูกเพิกถอน ทำให้กลุ่มลูกจ้างกว่า 7 หมื่นคนทั่วประเทศ มีความกังวล โดยที่ผ่านมา ทราบว่า ทางคณะกรรมาธิการการศึกษา (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้เร่งรัดให้ สพฐ. ไปหารือกระทรวงการคลัง และก.พ. เพื่อขอกรอบอัตรากำลัง แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆ จากสพฐ. “นายวรวิทย์  กล่าว

“โรงพิมพ์รุ่งศิลป์”โต้ องค์การค้าฯอย่าด่วนสรุปความโปร่งใส“ศาลปกครองกลาง” สั่งรวมคดีไว้พิจารณาพิพากษา

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายนัทธพลพงศ์ จิวัจฉรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด ได้ยื่นฟ้อง คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (บอร์ด สกสค.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (องค์การค้าของ สกสค.) และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (เลขาธิการ สกสค.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-3 ต่อศาลปกครองกลาง กรณีดำเนินโครงการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 จำนวน 145 รายการ วงเงินงบประมาณ 1,060 ล้านบาท ด้วยวิธีคัดเลือก โดยมิชอบ เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนประกาศประกวดราคา และทีโออาร์ที่เกี่ยวข้อ และได้ขอให้ไต่สวนโดยเร่งด่วนเพื่อระงับการประกาศประกวดราคานั้น ความเดิมศาลได้ประทับรับฟ้องคดีที่บริษัทฯ ยื่นฟ้องบอร์ด สกสค.และพวก กรณีดำเนินโครงการประกวดราคาจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียน ปีการศึกษา 2568 ด้วยการประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding และศาลได้ประทับรับฟ้องเป็นคดีดำที่ 27/2568 แต่ภายหลังองค์การค้าของ สกสค.ได้ยกเลิกการประกวดราคาด้วยวิธี e-bidding ก่อนเปลี่ยนมาเป็นวิธีคัดเลือก ทางบริษัทฯ จึงยื่นคำร้องต่อศาลอีกครั้ง

“แม้ศาลจะไม่มีคำสั่งทุเลาการดำเนินการตามที่บริษัทฯ ร้องขอไป บริษัทฯ ก็น้อมรับคำสั่งศาลในเรื่องดังกล่าว แต่ศาลก็ได้สั่งให้คัดสำเนาทั้ง 2 คดีเป็นคดีเดียวกันเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป จึงต้องถือว่าคดียังไม่เป็นที่สิ้นสุด” นายนัทธพลพงศ์ กล่าวและว่า ส่วนกรณีที่ นายภกร รงค์นพรัตน์ รองผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดขอบเขตงาน (Term of reference: TOR) การจ้างพิมพ์หนังสือแบบเรียนปีการศึกษา 2568 อ้างว่า ศาลไม่ได้มีคำสั่งทุเลาตามที่บริษัทฯ ยื่นคำร้อง องค์การค้าของ สกสค. จึงสามารถดำเนินการโครงการต่อได้นั้น ก็ไม่สามารถสรุปได้ว่า โครงการมีความโปร่งใส เป็นธรรม ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมาย เพราะเมื่อศาลรับคำร้องเพื่อพิจารณาพิพากษา จึงต้องรอให้คดีถึงที่สุดก่อนถึงจะสามารถกล่าวอ้างได้ ไม่ควรนำคำสั่งศาลมาบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

“ล่าสุดในการประชุม กมธ.ป.ป.ช. (คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร) ที่ติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ก็พูดอย่างชัดเจนว่า ทีโออาร์โครงการพิมพ์แบบเรียนปี 68 ขององค์การค้าของ สกสค. ทั้งด้วยวิธี e-bidding หรือวิธีคัดเลือก เข้าข่ายขัดต่อมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ 2560” นายนัทธพลพงศ์ กล่าว

อาชีวะจับมือ 4 หน่วยงานเร่งผลิตนายช่างสำรวจ-รังวัด คุณภาพสูง รองรับความต้องการตอบโจทย์ความขาดแคลน เรียนจบมีโอกาสได้งานทันที

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง เพื่อรองรับอัตรากำลังที่ขาดแคลน ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) กรมที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมธนารักษ์  โดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และมี นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุเทพ แก่งสันเทียะ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) กรมที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และกรมธนารักษ์ และข้าราชการ เจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิธี

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน กล่าวว่า รัฐบาลส่งเสริมการผลิตกำลังคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ และนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) “เรียนดี มีความสุข” เน้นย้ำส่งเสริมการจัดการอาชีวศึกษาให้ตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคต รวมถึงสร้างโอกาสให้ผู้เรียนมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ โดยความร่วมมือระหว่าง สอศ. สำนักงาน ก.พ. กรมที่ดิน ส.ป.ก. และกรมธนารักษ์ ในครั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรรองรับอัตรากำลังขาดแคลนของหน่วยงาน ด้านนายช่างรังวัด และนายช่างสำรวจ ซึ่งจะดำเนินความร่วมมือเป็นระยะเวลา 5 ปี (2568 – 2572) โดย สอศ.ทำหน้าที่ในการผลิตกำลังคนสายวิชาชีพได้เพิ่มรายวิชาใหม่ “การรังวัดที่ดิน” รองรับเทคโนโลยีการสำรวจยุคปัจจุบันและตรงกับความต้องการของ กรมที่ดิน ส.ป.ก. และกรมธนารักษ์ ผลิตบุคลากรในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาเทคนิควิศวกรรมสำรวจ ระบบทวิภาคี คือ เรียนทฤษฎี 1 ปีที่สถานศึกษาและฝึกอาชีพในหน่วยงาน 1 ปี เมื่อผู้เรียนผ่านการศึกษาในโครงการนี้จะได้รับการยกเว้นสอบ ภาค ก. ของสำนักงาน ก.พ.(ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความรู้ที่บรรจุไว้ในหลักสูตร) และมีโอกาสเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุเข้ารับราชการใน 3 หน่วยงานดังกล่าว ตามเงื่อนไขที่กำหนด

“ขอบคุณทุกหน่วยงานที่สนับสนุนน้อง ๆ อาชีวะ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการพัฒนาอาชีวศึกษา ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพื่อให้ภาครัฐได้บุคลากรที่มีความสามารถ และส่งเสริมให้ผู้เรียนมีศักยภาพสูงขึ้น สำหรับผู้จบการศึกษาในโครงการนี้ จะมีโอกาสได้รับการคัดเลือกบรรจุเข้ารับราชการในสังกัด กรมที่ดิน ส.ป.ก. และกรมธนารักษ์ ตามเงื่อนไขที่หน่วยงานกำหนด ถือเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างบุคลากรคุณภาพ และเกิดประโยชน์กับภาครัฐอย่างยั่งยืน” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีสถานศึกษาในสังกัด สอศ.เข้าร่วม 8 แห่ง โดยกรมที่ดิน ส.ป.ก. และ กรมธนารักษ์ มีอัตราบรรจุรองรับผู้สำเร็จการศึกษา รวม 225 อัตรา ในช่วง 3 รุ่น ตั้งแต่ปี 2570 – 2572  ทั้งนี้สอศ.ได้เปิดรับสมัครผู้เรียนระหว่างวันที่ 1 – 31 มีนาคม 2568 ผ่านทางเว็บไซต์ sv.ovec.go.th และ ที่วิทยาลัยเทคนิค 8 แห่ง  โดยผู้สมัครต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ปวช. สาขาสำรวจ หรือกำลังศึกษาระดับ ปวช.ชั้นปีที่ 3 ในสาขาดังกล่าว ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนการผลิตกำลังคนที่มีทักษะ พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

ด้าน นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการ ก.พ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นวิธีการทำให้หน่วยงานราชการสามารถให้บริการประชาชนได้เร็วขึ้น เนื่องจากกระบวนการนี้เป็นเหมือนนำกระบวนการพัฒนาบุคลากรไปให้ตั้งแต่ตอนเรียน เมื่อจบออกมาก็สามารถทำงานได้จริง เพราะน้อง ๆ จะเรียนที่สถานศึกษา 1 ปี แล้วไปฝึกปฏิบัติที่หน่วยงานอีก 1 ปี ซึ่งทางหน่วยงานก็จะเทรนเรื่องกฎระเบียบ เครื่องไม้ เครื่องมือที่เกี่ยวข้องให้ ถือว่าดีกว่าการฝึกงานทั่วไป เมื่อเรียนจบกลับมาก็ทำงานได้เลยเพราะจะมีความเข้าใจกฎระเบียบ เข้าใจเครื่องมือ เข้าใจสภาพงาน

“ในอดีตราชการเวลารับคนเข้าทำงาน จะให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาเป็นหลัก แต่ต่อไปนี้จะต้องให้ความสำคัญกับทักษะมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงจากที่เมื่อก่อนเราอยากรับแต่คนดีคนเก่ง ต่อไปก็เติมผลงานเข้าไปด้วย หมายความว่า เข้ามาแล้วทำผลงานได้จริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งทางราชการและประชาชนที่เข้ามารับบริการ”เลขาธิการ ก.พ.กล่าว

“เสมา2”ให้กำลังใจพร้อมชื่นชมตัวแทนนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์โครงการ พสวท.สร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ เป็นประธาน เปิดโครงการพัฒนาศักยภาพนักเรียนของนักเรียนโครงการห้องเรียนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(พสวท.)สู่ความเป็นเลิศ ผ่านกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ “ฟิสิกส์สัประยุทธ์” ประจำปี พ.ศ. 2568 ณ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) โดยมี นายธีระเดช เจียรสุขสกุล ผู้อำนวยการ สสวท. นางกัญญาพัชญ์ กานต์ภูวนันต์ ผอ.โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) คณะกรรมการดำเนินงานทุกฝ่าย ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ร่วมให้การต้อนรับ

นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ พสวท.  ประจำปี พ.ศ. 2568 สำหรับนักเรียนโครงการห้องเรียน พสวท.ในวันนี้​ ขอชื่นชม สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโรงเรียนศูนย์ พสวท. และโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่ตระหนักถึงความสำคัญ ของการจัดโครงการ พัฒนาศักยภาพนักเรียนของนักเรียนโครงการห้องเรียน พสวท. (สู่ความเป็นเลิศ) ผ่านกิจกรรมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ โดยการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ เป็นกิจกรรมส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ ของนักเรียนที่มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านฟิสิกส์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และยังเป็นกิจกรรม ที่บูรณาการสมรรถนะที่สำคัญ ทั้งสมรรถนะการแก้ปัญหา และสมรรถนะการสื่อสาร อันจะเป็นประโยชน์ ทั้งในการดำเนินชีวิต และการประกอบอาชีพต่อไป

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ขอเป็นกำลังใจให้ ลูกๆ นักเรียน ทั้ง 50 คน ที่เป็นตัวแทนเข้าร่วมการแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นนักเรียน จากโรงเรียนศูนย์พัฒนาและส่งเสริมนักเรียน ที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการห้องเรียน พสวท.(สู่ความเป็นเลิศ) ทุกภูมิภาคในประเทศไทย จำนวน 10 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ศูนย์โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนศรีบุญยานนท์ ศูนย์โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม ศูนย์โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนสุรนารีวิทยาลัย ศูนย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย  และศูนย์โรงเรียนเบญจมราชูทิศนครศรีธรรมราช  และขอให้ลูกๆนักเรียนทุกคนได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ให้ได้มากที่สุดเพราะทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต ทั้งนี้ขอขอบคุณ คณะกรรมการดำเนินงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ร่วมจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับเด็ก ๆ

“ได้ฤกษ์”แต่งตั้ง ผู้อำนวยการ สมศ.คนใหม่ “ศ.ดร.องอาจ นัยพัฒน์”มาวิน หลังดองตำแหน่งมา 4 ปี

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการสรรหาผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ.ที่มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นประธาน ได้ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาและแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ได้รับการสรรหา และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ สมศ. คนใหม่ ตามคำสั่งคณะกรรมการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ครั้งที่  3/2568 โดย ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้อำนวยการ สมศ. ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม 2568

ประวัติ ศาสตราจารย์ ดร.องอาจ นัยพัฒน์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก (Ph.D.: Educational Administration with a Concentration in Research and Evaluation): Illinois State University (ISU), ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวิจัยและการประเมินคุณภาพการศึกษา เคยดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิชาศึกษาศาสตร์ (อนุสาขาการวิจัยการศึกษา) สังกัดภาควิชาการวัดผลและวิจัยการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว)  ดำรงตำแหน่งรองประธาน (คนที่ 1) คณะอนุกรรมการการบริหารโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (พ.ศ. 2559 – 2568) อนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.วิสามัญ) เกี่ยวกับการสรรหาและเลือกสรรทรัพยากรบุคคลของราชการ สำนักงาน ก.พ. (พ.ศ. 2560 – 2563) อนุกรรมการ (ผู้ทรงคุณวุฒิ) ด้านประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (พ.ศ. 2565 – 2568) และอุปนายก (คนที่ 1) สมาคมวิจัยและพัฒนาอุดมศึกษา (พ.ศ. 2565 – 2568)